น่าสนใจไม่น้อยสำหรับการที่บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ได้จัดแถลงทิศทางธุรกิจประจำปี 2567 ภายใต้การนำของแม่ทัพคนใหม่อย่าง พิทยา วรปัญญาสกุล ซึ่งเหล่าผู้บริหารที่ขึ้นเวทีต่างเป็น ‘ผู้หญิงล้วน’ ที่เรามักไม่ได้พบเห็นกันบ่อยนักในองค์กรขนาดใหญ่
ไม่ว่าจะเป็น ประณยา นิถานานนท์ ผู้บริหารสูงสุด สายงานการตลาดบัตรเครดิต, พิชามน จิตรเป็นธรรม ผู้บริหารสูงสุด สายงานสินเชื่อบุคคล, เรือนแก้ว เกษมสวัสดิ์ศรี ผู้บริหารสูงสุด สายงานสินเชื่อรถยนต์, อุษณีย์ เลาหะวรนันท์ ผู้บริหารสูงสุด สายงานสื่อสารการตลาดและธุรกิจ MAAI รวมถึง รจนา อุษยาพร ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายบัญชีการเงิน และรักษาการผู้บริหารสูงสุด สายงานการเงิน ที่ได้ออกมาตอบคำถามในบางช่วงด้วย
ก่อนจะไปพูดถึงทิศทางภายใต้แม่ทัพคนใหม่ ระเฑียร ศรีมงคล ผู้ทำหน้าที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมานับ 10 ปี และจะหมดวาระลงในช่วงสิ้นปี 2566 ได้ออกมากล่าวว่า การเลือกซีอีโอคนใหม่นั้นมาจากสิ่งสำคัญที่ว่า ผู้ที่รับช่วงต่อต้องเข้าใจความเป็น KTC ธุรกิจของเรามีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง มีทีมงานที่ดี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ระเฑียร ศรีมงคล คาดหวัง แม่ทัพคนใหม่ของ KTC จะนำพา ‘กำไรหมื่นล้าน’ ให้เกิดขึ้นจริงภายในปี 2570
- รองรับนักช้อปต่างชาติไม่หยุด! KTC เปิดตัว Alipay+ หนุนร้านค้าในไทยเปิดรับชำระเงินข้ามชาติ
- KTC ฟันกำไรครึ่งปีแรก 3,678 ล้านบาท หลังยอดใช้จ่ายผ่านบัตรโต 16.3%
“ไม่ว่าใครมานั่งในตำแหน่งนี้เรามั่นใจว่าทุกอย่างจะไม่เปลี่ยนแปลงไป และกำไรของเราจะเพิ่มอยู่ตลอด” ระเฑียรกล่าว พร้อมกับย้ำว่า “แม้จะเป็นบริษัทที่แข็งแรงอยู่แล้ว แต่บางครั้งถ้าไม่ได้ผู้นำที่ดีพอ ความแข็งแกร่งและทีมที่สร้างมานั้นอาจจะไม่บรรลุเป้าหมายที่เคยวางไว้ก็ได้”
การตัดสินใจเลือกพิทยานั้นนอกจากดูจากประสบการณ์ในสายงานการตลาดกับ KTC มายาวนานถึง 26 ปี และมีบทบาทสำคัญในการร่วมผลักดัน KTC ให้เติบโตอย่างยั่งยืน ปัจจุบันพิทยาดำรงตำแหน่งรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส กลุ่มงานการตลาดและสื่อสารองค์กร (Chief Marketing & Communications Officer) ที่ KTC โดยดูแลสายงานการตลาดบัตรเครดิต การตลาดดิจิทัลและช่องทางออนไลน์ รวมทั้งสื่อสารการตลาดและประชาสัมพันธ์องค์กร ซึ่งมองว่ามีทั้ง Hard Skills และ Soft Skills ที่เหมาะกับการเป็นผู้นำองค์กร
พิทยาระบุว่า พร้อมจะสานต่อวิสัยทัศน์และความสำเร็จที่ผ่านมา ผ่านข้อได้เปรียบในการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่านิยมองค์กร (Core Value) ที่ KTC ยึดถือเป็นแนวทางในการทำงาน ได้แก่
- กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง
- ทำให้ง่าย ไม่ซับซ้อน และ
- ทำสิ่งที่มีความหมายและเป็นประโยชน์
รวมทั้งปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรแห่งความไว้วางใจ (Trusted Organization) เพื่อส่งต่อความเชื่อมั่นจากภายใน KTC ไปสู่สมาชิก องค์กร ผู้ถือหุ้น และสังคมขณะที่กลุ่มผู้บริหารหญิงล้วนนั้น “เราได้ฝึกฝนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่ได้มองแค่ประสบการณ์อย่างเดียว แต่ยังเข้าใน DNA ของ KTC ที่พร้อมจะแสดงฝีมือต่อไปในอนาคต”
KTC ยังมองเห็นโอกาสในการเติบโตของธุรกิจสินเชื่อทั้ง 3 ธุรกิจ คือธุรกิจบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล และสินเชื่อ KTC พี่เบิ้ม รถแลกเงิน เพราะเชื่อว่ายังมีผู้บริโภคที่ต้องการสินเชื่ออยู่อีกมาก โดยจะเน้นขยายฐานสมาชิกไปยังผู้ที่มีความต้องการสินเชื่อเป็นหลัก และไม่ชักจูงให้สมาชิกมีภาระหนี้ที่เกินความจำเป็น
ในส่วนของธุรกิจบัตรเครดิต KTC ซึ่งมีการเติบโตที่ดีมาตลอดปี 2566 เชื่อมั่นว่ายังสามารถที่จะขยายฐานลูกค้าใหม่ได้ต่อไป สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลจะยังเติบโตได้จากฐานลูกค้าใหม่และพอร์ตปัจจุบัน ซึ่งเป็นพอร์ตที่นับว่ามีคุณภาพ ส่วนของสินเชื่อ KTC พี่เบิ้ม รถแลกเงิน เป็นผลิตภัณฑ์ที่เห็นศักยภาพที่จะเติบโตได้มากในปี 2567 จากความร่วมมือในการขยายฐานสมาชิกกับธนาคารกรุงไทย
ส่วนธุรกิจ MAAI by KTC ซึ่งเป็นธุรกิจที่ให้บริการระบบบริหารจัดการความสัมพันธ์กับลูกค้า (Customer Relationship Management: CRM) และแพลตฟอร์มรอยัลตี้แบบครบวงจรแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (Loyalty Platform) ที่บ่มเพาะมาระยะหนึ่ง ก็ถือเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่เรามุ่งจะสร้างการเติบโตในปีหน้า
KTC ยังเล็งเห็นโอกาสในการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาเพิ่มศักยภาพขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงวิธีการที่ปัจจุบัน KTC ได้ใช้ AI อยู่แล้วให้ใช้งานได้ดีขึ้น หรือการเริ่มศึกษาทดลองและใช้ Generative AI ในกระบวนการทำงานต่างๆ ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างประสบการณ์ที่ดีต่อสมาชิก หรือเพื่อปรับปรุงคุณภาพของพอร์ตสินเชื่อ
สำหรับแผนกลยุทธ์ในการทำธุรกิจต่างๆ ในปี 2567 จะประกอบไปด้วย
ธุรกิจบัตรเครดิตตั้งเป้ามีสมาชิกบัตรใหม่เพิ่มขึ้น 230,000 ใบ และมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรเติบโต 15% จากปี 2566 โดยในปี 2567 จะเป็นปีที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัย รวมทั้งต่อยอดผลิตภัณฑ์ KTC Digital Credit Card ให้ตอบโจทย์การใช้งานออนไลน์มากขึ้น
สำหรับการบริหารพอร์ตสมาชิกบัตรเครดิตจะทำงานแบบเชิงรุก เพื่อให้สมาชิกมีการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง และเป็นพอร์ตลูกค้าที่มีคุณภาพ โดยใช้ระบบ Marketing Automation เป็นเครื่องมือการตลาด เจาะกลุ่มลูกค้าแบบเซ็กเมนต์ เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ บริการ และสื่อสารให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย อย่างไรก็ดี เรายังคงเน้นทำการตลาดในกลุ่มผู้มีรายได้ต่อเดือน 50,000 บาทขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่ทำให้การใช้จ่ายโดยรวมของเราเติบโตได้ดี
สินเชื่อส่วนบุคคลยังเป็นธุรกิจที่เราเน้นการเติบโตทางธุรกิจควบคู่ไปกับการบริหารพอร์ตสินเชื่อคุณภาพ โดยในปี 2567 ตั้งเป้าเติบโต 5% จำนวนสมาชิกบัตรกดเงินสด KTC PROUD เพิ่มขึ้น 100,000 ราย ด้วยแผนกลยุทธ์หลัก 2 เรื่อง คือ
- สรรหาสมาชิกใหม่ที่มีคุณภาพ เน้นการรับสมัครผ่านช่องทางสมัครสินเชื่อออนไลน์ E-Application และ
- สร้างประสบการณ์ที่ดีในการใช้บัตรกดเงินสดให้กับสมาชิกกว่า 700,000 ราย
ธุรกิจสินเชื่อ KTC พี่เบิ้ม รถแลกเงิน ยังคงเน้นการขยายตัวของพอร์ตสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้ายอดอนุมัติสินเชื่อใหม่ปี 2567 ที่ 6,000 ล้านบาท ด้วย 3 กลยุทธ์หลัก คือ
- เน้นสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้ผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี
- ผนึกกำลังกับธนาคารกรุงไทยในการขยายฐานลูกค้าผ่านสาขาธนาคารกว่า 900 แห่งเป็นหลัก เสริมด้วยแพลตฟอร์มออนไลน์ของธนาคาร และ
- ตอกย้ำและเสริมความแกร่งให้กับจุดแข็งของผลิตภัณฑ์ KTC พี่เบิ้ม รถแลกเงิน ในฐานะผู้บริการรายเดียวที่ให้วงเงินใหญ่สูงสุด 1 ล้านบาท อนุมัติสินเชื่อภายใน 1 ชั่วโมง พร้อมรับเงินทันที
ส่วนของ MAAI by KTC ในปี 2567 มีแผนจะขยายจำนวนพันธมิตรธุรกิจขนาดกลางและใหญ่อีกไม่ต่ำกว่า 20 ราย ซึ่งจะเป็นการเพิ่มจำนวนสมาชิก MAAI ประมาณ 2 ล้านราย โดยพันธมิตรเป้าหมายของแพลตฟอร์ม MAAI จะอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่เน้นสร้างความถี่ในการกลับมาซื้อสินค้าหรือใช้บริการ
ในส่วนของการบริหารต้นทุนทางการเงิน ในปี 2567 KTC จะยังคงรักษาระดับให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจและความเสี่ยงที่ยอมรับได้ โดยมีแผนจะระดมเงินกู้ยืมระยะยาวประมาณ 13,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของพอร์ตสินเชื่อ รวมถึงรองรับหุ้นกู้และเงินกู้ยืมระยะยาวที่จะครบกำหนดประมาณ 11,850 ล้านบาท ทำให้สัดส่วนเงินกู้ยืมระยะสั้นต่อเงินกู้ยืมระยะยาว (Original Term) อยู่ที่ประมาณ 20:80 และต้นทุนทางการเงินอยู่ที่ประมาณ 3.1% สูงขึ้นจากสิ้นปี 2566 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 2.8%
“เชื่อมั่นว่าต่อไป KTC จะทำ New High ทุกปีเหมือนเดิม ก่อนที่จะขยับไปยังเป้าหมายกำไร 10,000 ล้านบาท ซึ่งเราจะทำให้เกิดขึ้นให้ได้” พิทยากล่าว