พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ประเมินว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 29 กันยายนนี้ จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% แม้ว่าในการประชุมรอบที่ผ่านมา กนง. จะปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้จาก 1.8% ลงมาเหลือ 0.7% และมีแนวโน้มที่จะปรับลดเพิ่มเป็น 0.4-0.5% ในการประชุมรอบนี้ แต่จะยังไม่มีน้ำหนักมากพอที่จะโน้มน้าวให้คณะกรรมการที่โหวตคงดอกเบี้ยในครั้งก่อนเปลี่ยนใจมาโหวตลดดอกเบี้ย โดยเชื่อว่า กนง. จะเลือกรอดูทิศทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจต่อไปอีกระยะหนึ่ง
“อีกหนึ่งประเด็นที่ทำให้มองว่า กนง. น่าจะคงดอกเบี้ย คือการส่งสัญญาณจากฝั่งรัฐบาลที่ดูไม่ Aggressive ไม่ได้แสดงท่าทีที่ชัดเจนว่าต้องการเห็นการปรับลดดอกเบี้ย ก่อนหน้านี้แบงก์ชาติได้เสนอให้มีการกู้ยืมเพิ่มเติม แต่ดูเหมือนจะไม่มีเสียงตอบรับมากนัก” พูนกล่าว
พูนกล่าวอีกว่า ในการประชุมครั้งก่อน กนง. ระบุชัดเจนว่า จะติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศ การแจกจ่ายวัคซีน ปัญหา Supply Disruption ที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออก และความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐในการช่วยเหลือธุรกิจอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ หากดูประเด็นการแพร่ระบาดในประเทศจะพบว่า ยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่ แม้ว่าจะมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์แล้วก็ตาม แต่เป็นการผ่อนคลายภายใต้เงื่อนไขที่แตกต่างจากต่างประเทศ เช่น ในอินเดียและสหราชอาณาจักรผ่อนคลายเมื่อยอดผู้ติดเชื้อลดลงเหลือ 10% ของจุดพีก ขณะที่ไทยผ่อนคลายโดยยอดผู้ติดเชื้อยังอยู่ที่ 80% ของจุดพีก ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ใน 3-4 สัปดาห์ข้างหน้า
อย่างไรก็ดี การกระจายวัคซีนในประเทศปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน โดยอัตราการฉีดได้เพิ่มขึ้นมาเป็น 6 แสนโดสต่อวัน ซึ่งหากไทยสามารถรักษาอัตราการฉีดไว้ที่ระดับนี้ได้ จะทำให้จำนวนประชากรที่ได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้นเป็น 50% ภายในสิ้นปีตามเป้าหมาย
ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะประสบปัญหา Supply Disruption จากการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ และการที่โรงงานบางส่วนต่อหยุดการผลิตชั่วคราวจากการแพร่ระบาด ขณะเดียวกันการขนส่งสินค้าในท่าเรือต่างๆ ก็มีแนวโน้มจะเจอปัญหาคอขวดไปจนถึงตรุษจีนปีหน้า ทำให้ภาพรวมการส่งออกไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ที่ 12%
ในด้านความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐในการช่วยเหลือธุรกิจมองว่า ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนมากนัก แต่คาดว่าภาครัฐจะมีการขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% ของ GDP เนื่องจากในปีนี้ครบวาระที่จะต้องทบทวนเรื่องนี้ทุกๆ 3 ปีพอดี
“แม้เรามองว่า กนง. จะคงดอกเบี้ยในรอบนี้ แต่หากในช่วง 20 วันที่เหลือก่อนการประชุมเกิดการระบาดระลอกใหม่ขึ้นมา ยอดผู้ติดเชื้อกลับไปแตะระดับ 20,000 คนต่อวัน ก็มีโอกาสที่ กนง. จะลดดอกเบี้ยได้เช่นกัน เราคงต้องจับตาดูสถานการณ์ในประเด็นต่างๆ ก่อนถึงวันประชุม ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด” พูนกล่าว
สงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า การลงมติที่ไม่เป็นเอกฉันท์ของ กนง. ในการประชุมรอบที่ผ่านมา ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่ามีโอกาสที่จะปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมรอบนี้ อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการฉีดวัคซีนที่ทำได้ดีขึ้น รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ได้ทำให้ตลาดเริ่มประเมินว่าการปรับลดดอกเบี้ยน่าจะยังไม่เกิดขึ้น
“เหตุผลที่จะทำให้ กนง. ปรับลดดอกเบี้ยยังมีอยู่ ทั้งเรื่องการส่งออกที่อาจถูกดิสรัปต์จากปัจจัยต่างๆ ความเสี่ยงของการแพร่ระบาดรอบใหม่ แต่จะเพียงพอโน้มน้าวใจให้คณะกรรมการโหวตลดดอกเบี้ยถึง 4 เสียงได้สำเร็จหรือไม่ คิดว่าคงไม่สำเร็จ” สงวนกล่าว
สงวนประเมินว่า หากดอกเบี้ยนโยบายถูกปรับลดลง 0.25% จะช่วยลดภาระของลูกหนี้ในระบบถูกธนาคารคิดอัตราดอกเบี้ย MOR MRR และ MLR ได้ราว 1.5 หมื่นล้านบาทจากปริมาณหนี้ทั้งหมด 6 ล้านล้านบาท