ธนาคารกรุงไทยโชว์ผลประกอบการ 6 เดือนแรก ปี 2566 มีกำไรสุทธิ 20,223 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% เฉพาะไตรมาส 2 มีกำไรสุทธิ 10,156 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% จากรายได้การดำเนินงาน การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายและบริหารคุณภาพสินทรัพย์
ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2566 มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยมีแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 เติบโตดีกว่าที่คาด ทำให้ทั้งปี 2566 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีโอกาสแตะระดับ 29-30 ล้านคน ทยอยขยายวงพื้นที่การกระจายตัว สนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติมากขึ้น ส่งผลดีต่อการจ้างงาน รายได้ครัวเรือน และอุปสงค์ภายในประเทศ ให้สามารถประคับประคองการฟื้นตัวได้ในระยะข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังเผชิญความท้าทายจากการเปลี่ยนผ่านเชิงนโยบายเพื่อกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทั้งการทยอยลดบทบาทมาตรการภาครัฐ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สอดคล้องกับแนวโน้มและความเสี่ยงในระยะข้างหน้า ในขณะที่ภาคธุรกิจยังต้องเผชิญแรงกดดันจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกกดดันภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว รวมถึงภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ธนาคารกรุงไทย จึงให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง และบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างใกล้ชิด เพื่อรักษาระดับของ Coverage Ratio ในระดับสูง รองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ
สำหรับผลการดำเนินงานในงวด 6 เดือนแรกของปี 2566 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 20,223 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.0 โดยมีกำไรจากการดำเนินงานเท่ากับ 43,308 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.9% จากในช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์เพื่อสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน รายได้รวมจากการดำเนินงานขยายตัวอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง 20.0%
ทั้งจากการเติบโตในกลุ่มสินเชื่อที่เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนโดยรวมปรับตัวดีขึ้น รวมถึงการขยายตัวของรายได้จากการดำเนินงานอื่นๆ ธนาคารให้ความสำคัญกับการขยายการลงทุนเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่ออนาคตเพื่อรองรับการให้บริการแก่ลูกค้า ประกอบกับการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในองค์รวมอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ Cost to Income Ratio เท่ากับ 39.0% ลดลงจาก 41.9% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลตามฤดูกาลที่ Cost to Income Ratio ในช่วงที่เหลือของปีจะสูงขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มขึ้นเพื่อรักษาระดับของ Coverage Ratio ในระดับสูงเพื่อรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ
ขณะที่ผลการดำเนินงานในงวดไตรมาส 2 ปี 2566 เทียบกับไตรมาส 2 ปี 2565 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 10,156 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.5% จากในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 28.0% จากการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์เพื่อสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน รายได้รวมจากการดำเนินงานขยายตัวอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง 21.2% ทั้งจากการเติบโตในกลุ่มสินเชื่อที่เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนโดยรวมปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการขยายตัวของรายได้จากการดำเนินงานอื่นๆ
นอกจากนี้ จากการที่ธนาคารให้ความสำคัญกับการขยายการลงทุนเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่ออนาคตเพื่อรองรับการให้บริการแก่ลูกค้า ประกอบกับการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในองค์รวมอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ Cost to Income Ratio เท่ากับ 39.3% ลดลงจาก 42.5% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลตามฤดูกาล ที่ Cost to Income Ratio ในช่วงที่เหลือของปีจะสูงขึ้นกว่าไตรมาสที่ผ่านมา ถึงแม้ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ จะขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มขึ้น 36.8% โดยพิจารณาถึงการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน และยังคงรักษา Coverage Ratio ในระดับสูงที่ 177.4% พร้อมทั้งบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างระมัดระวัง โดยมีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (NPLs Ratio) 3.11% ลดลงจากสิ้นปี 2565
เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2566 กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคารเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสที่ผ่านมา ทั้งนี้ รายได้รวมจากการดำเนินงานขยายตัวใกล้เคียงกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น โดยมี Cost to Income Ratio เท่ากับ 39.3% ทั้งนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยพิจารณาโดยหลักความระมัดระวังจึงยังคง Coverage Ratio ในระดับสูงที่ 177.4% ตามกรอบที่ได้วางไว้ เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจแม้จะตั้งสำรองลดลง
ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 ธนาคาร (งบเฉพาะธนาคาร) มีเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 16.86% และมีเงินกองทุนทั้งสิ้น 20.06% ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับเกณฑ์ของ ธปท. รวมถึงมีสภาพคล่องในระดับที่เพียงพอโดยรักษาระดับของ Liquidity Coverage Ratio (LCR) อย่างต่อเนื่อง สูงกว่าเกณฑ์ที่ ธปท. กำหนด