×

วิจัยกรุงศรีหั่น GDP ปีนี้เหลือ 0.6% หลังเดลตาระบาดรุนแรง เริ่มกระทบภาคการผลิต คาดกรณีเลวร้ายไทยอาจล็อกดาวน์ถึงเดือน พ.ย.

31.08.2021
  • LOADING...
Thai economy

สำนักวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา หรือวิจัยกรุงศรี ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือ 0.6% จากเดิมที่ 1.2% เพื่อสะท้อนสถานการณ์การระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตาที่เลวร้ายและรุนแรงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ 

 

วิจัยกรุงศรีระบุว่า แม้รัฐบาลจะประกาศผ่อนคลายมาตรการควบคุมบางส่วนตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนนี้เป็นต้นไป แต่ 29 จังหวัดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดหรือพื้นที่สีแดงเข้มจะยังอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวด นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมการผลิตยังเริ่มพบปัญหาขาดแคลนแรงงานจากการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลตา 

 

ปัญหาการขาดแคลนแรงงานและมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดในพื้นที่สีแดงเข้มที่ยืดเยื้อออกไป จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจไทย เนื่องจากปัจจุบัน 77% ของธุรกิจ และ 65% ของการจ้างงานใน 9 อุตสาหกรรมสำคัญ ประกอบด้วยก่อสร้าง อาหารและที่พัก ศิลปะและวัฒนธรรม บันเทิงและสันทนาการ ขนส่งและโกดังสินค้า ค้าปลีก ค้าส่ง ฯลฯ อยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม

 

ดังนั้น หากไม่มีมาตรการช่วยเหลือและเยียวยา คาดว่า 27.6% ของธุรกิจในพื้นที่ดังกล่าวจะเผชิญปัญหาขาดแคลนกระแสเงินสด และแรงงาน 9.3 ล้านคนอาจถูกปรับลดค่าจ้างหรือถูกเลิกจ้าง

 

วิจัยกรุงศรีประเมินว่า การแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลตาและผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อภาคการผลิต จะทำให้ GDP ไทยปรับตัวลดลงราว -0.9% อย่างไรก็ดี แผนการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่าราว 5 หมื่นล้านบาทของรัฐบาลในปีนี้อาจช่วยเพิ่มการเติบโตของ GDP ได้ราว 0.3% เมื่อนำมาหักลบกันทำให้ผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยรวมจะอยู่ที่ -0.6% ทำให้กรุงศรีปรับลดคาดการณ์ GDP ในปีนี้จาก 1.2% เป็น 0.6%

 

นอกจากนี้ วิจัยกรุงศรียังปรับลดคาดการณ์ตัวเลขนักท่องเที่ยวในปีนี้ จาก 210,000 คน เหลือ 150,000 คน พร้อมปรับลดคาดการณ์การบริโภคของภาคเอกชนลง จาก 1.1% เหลือ 0.5% และการลงทุนของภาคเอกชนลด จาก 3.9% เหลือ 3.7% 

 

ด้านการส่งออก มองว่าจะได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการอ่อนค่าของเงินบาท อย่างไรก็ดี ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิตอาจเป็นปัจจัยฉุดรั้งให้ขยายตัวได้อย่างจำกัด ทำให้วิจัยกรุงศรียังประเมินตัวเลขส่งออกในปีนี้ไว้ที่ 15% 

 

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกรุงศรีได้จัดทำแบบจำลองวิเคราะห์สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิดระลอกที่ 3 ในประเทศไทย โดยพบว่า ในกรณีฐาน (Base Case) อัตราการเสียชีวิตรายวันคาดว่าจะถึงจุดพีกในช่วงกลางเดือนกันยายน โดยจะมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 201-250 คนต่อวัน ทำให้การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์จะเริ่มทำได้ในช่วงปลายเดือนกันยายน

 

ตัวเลขในกรณี Base Case ถูกประเมินภายใต้สมมติฐานว่าไทยสามารถฉีดวัคซีนได้อย่างน้อย 250,000 โดสต่อวัน หรือ 55 ล้านโดสภายในสิ้นปี 2564 ประสิทธิภาพของวัคซีนอยู่ที่ 50% และมาตรการล็อกดาวน์ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ 40% ของการล็อกดาวน์ในเดือนเมษายน ปี 2563

 

ทั้งนี้ ข้อมูลทางสถิติของศูนย์วิจัยกรุงศรีพบว่า แม้วัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันจะไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ แต่ก็สามารถป้องกันอัตราการเสียชีวิตได้พอสมควร ดังนั้น ในระยะต่อไปแม้จำนวนผู้ติดเชื้ออาจจะยังคงอยู่ในระดับสูง แต่อัตราการเสียชีวิตอาจจะลดลงได้หากมีผู้ฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นถึงระดับหนึ่งแล้ว

 

อย่างไรก็ดี ในกรณีเลวร้าย (Worst Case) ที่ไทยสามารถฉีดวัคซีนได้อย่างน้อย 250,000 โดสต่อวัน หรือ 55 ล้านโดสภายในสิ้นปี 2564 แต่ประสิทธิภาพของวัคซีนอยู่ที่ 40% และมาตรการล็อกดาวน์ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ 25% ของการล็อกดาวน์ในเดือนเมษายน ปี 2563  

 

กรณีดังกล่าว ศูนย์วิจัยกรุงศรีประเมินว่าอัตราการติดเชื้อต่อวันจะอยู่ในระดับตลอดช่วงที่เหลือของปี ส่งผลให้การควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบเข้มงวดของภาครัฐอาจจะยังคงมีต่อไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน

 

วิจัยกรุงศรียังระบุด้วยว่า แม้ว่ามาตรการล็อกดาวน์มีแนวโน้มจะถูกยุติลงในช่วงไตรมาสที่ 4 แต่เศรษฐกิจไทยในช่วงหลังจากนั้นจะฟื้นตัวได้ไม่มากและฟื้นตัวแบบไม่เท่าเทียม

 


 

เตรียมพบกับฟอรัมที่ผู้บริหารต้องดูก่อนวางแผนกลยุทธ์ปีหน้า! The Secret Sauce Strategy Forum คัมภีร์กลยุทธ์ฝ่าวิกฤตปี 2022


📌
เฟรมเวิร์กกลยุทธ์ใช้ได้จริง
📌
ฉากทัศน์เศรษฐกิจไทยโลก
📌
เทรนด์ผู้บริโภคการตลาด
📌
เคสจริงจากผู้บริหาร

 

ซื้อบัตรได้แล้วที่ www.zipeventapp.com/e/the-secret-sauce

 

#TheSecretSauceStrategyForum2022

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X