×

‘กรุงศรี’ เผย ญี่ปุ่นสนลงทุนในสตาร์ทอัพไทย หวังใช้ต่อยอดสู่ตลาดอาเซียน เล็งช่วยจับคู่ธุรกิจอย่างน้อย 10 ดีลภายใน 3 ปี

09.06.2023
  • LOADING...
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

ธนาคารกรุงศรีอยุธยาร่วมมือกับพันธมิตร ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและองค์กรธุรกิจชั้นนำของไทย ญี่ปุ่น และอาเซียน เช่น กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่น, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa), Techo Startup Center และ Khmer Enterprise หน่วยงานภายใต้กระทรวงเศรษฐกิจและการคลังของประเทศกัมพูชา จัดงาน Japan-ASEAN Startup Business Matching Fair 2023 เพื่อจับคู่เจรจาธุรกิจสตาร์ทอัพในอาเซียน 

 

โดยในงานดังกล่าวมีสตาร์ทอัพดาวรุ่งมากกว่า 60 ราย จาก 9 ประเทศ ประกอบด้วยไทย, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์, กัมพูชา, สปป.ลาว, อินโดนีเซีย, สิงคโปร์, ญี่ปุ่น และฟินแลนด์ ในหลากหลายกลุ่มธุรกิจ เช่น เฮลท์เทค, มาร์เก็ตเพลส, ฟินเทค, โลจิสติกส์ และคาร์บอนเครดิต มาพบปะเจรจาการค้าและนำเสนอแผนงานธุรกิจ (Pitching) กับนักลงทุนมากกว่า 160 บริษัทชั้นนำจาก 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย, ญี่ปุ่น, กัมพูชา, เวียดนาม, อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และต่อยอดการเติบโตให้ไปได้ไกลกว่าระดับอาเซียน 

 

บุนเซอิ โอคุโบะ ประธานกลุ่มธุรกิจธนกิจพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติ (JPC/MNC Banking) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ธนาคารคาดว่าการจัดงานในครั้งนี้จะช่วยให้เกิดดีลทางธุรกิจอย่างน้อย 10 ดีล ภายในระยะเวลา 3 ปี และจะช่วยส่งเสริมการสร้าง Ecosystem ให้สตาร์ทอัพด้วยการสนับสนุนด้านเงินทุน ความรู้ด้านเทคโนโลยี และข้อมูลธุรกิจ จนสามารถต่อยอดการคิดค้นนวัตกรรมหรือเทคโนโลยี เพื่อแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ ของโลก รวมถึงมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจของภูมิภาคให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

 

“งานนี้มีสตาร์ทอัพไทยเข้าร่วมถึง 18 บริษัท ในฐานะที่กรุงศรีอยู่ในเครือของ มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) เราอยากเห็นดีลระหว่างสตาร์ทอัพไทยกับนักลงทุนญี่ปุ่นเกิดขึ้น” โอคุโบะกล่าว

 

ขณะที่ แซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมลงทุน (Corporate Venture Capital: CVC) ภายใต้ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาการลงทุนระหว่างญี่ปุ่นและกรุงศรีเคยเกิดขึ้นมาแล้ว 3 ดีล และคาดหวังว่าการจัดงานจับคู่ธุรกิจในครั้งนี้จะทำให้มีดีลเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากบริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีมุมมองต่อสตาร์ทอัพไทยในเชิงบวกคือ มีความแข็งแกร่งที่สามารถนำเทคโนโลยีของตัวเองมาต่อยอด เพื่อขยายออกสู่ตลาดอาเซียนได้

 

แซมเปิดเผยอีกว่า ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ กรุงศรี ฟินโนเวตมีแผนจะเปิดตัวและเสนอขายกองทุนสตาร์ทอัพใหม่อีก 1 กองทุน มูลค่ากองทุนราว 1,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนในสตาร์ทอัพไทยที่อยู่ระหว่างการสร้างการเติบโต (ตั้งแต่ซีรีส์ C จนถึงก่อนซีรีส์ A) โดยกลุ่มเป้าหมายนักลงทุนที่จะเสนอขายกองทุนคือ นักลงทุนทั่วไป ประเภท High Net Worth ซึ่งคาดว่าอัตราผลตอบแทนน่าจะสูงกว่ากองทุนสตาร์ทอัพซีรีส์ A ทั่วไป เนื่องจากมีความเสี่ยงมากกว่า 

 

“เรามีแผนจะทำโรงเรียนสอนสตาร์ทอัพขึ้นมาด้วย รายไหนที่สอบผ่านก็จะได้รับเงินทุนไปตั้งต้น สาเหตุที่เราต้องทำ เพราะปัจจุบัน VC ส่วนใหญ่ไปให้ความสำคัญกับสตาร์ทอัพตั้งแต่ซีรีส์ A เป็นต้นไป เพราะความเสี่ยงต่ำ ดังนั้น ถ้าเราไม่ทำโรงเรียนเพื่อฟูมฟักสตาร์ทอัพตั้งแต่เขายังอยู่ในช่วงตั้งไข่ ต่อไปก็จะไม่มีสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ๆ ให้เราลงทุน” แซมกล่าว

 

สำหรับความคืบหน้ากองทุนฟินโนเวนเจอร์ ฟันด์ I (Finnoventure Private Equity Trust I) ซึ่งเป็นกองทุนเพื่อลงทุนในสตาร์ทอัพครั้งแรกของไทย ที่จัดตั้งเมื่อปลายปี 2564 นั้น ปัจจุบันมีมูลค่ากองทุนอยู่ราว 2,700 ล้านบาท โดยในปี 2565 กองทุนฟินโนเวนเจอร์ ฟันด์ I ได้ใส่เงินลงทุนไปแล้วใน 9 กิจการ ซึ่งสามารถทำผลตอบแทนได้ที่ 14% ต่อปี

 

“ในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า เราจะเพิ่มทุนในสตาร์ทอัพประมาณ 3-4 ราย และในปีนี้เราจะออกไปลงทุนในสตาร์ทอัพต่างประเทศด้วย เช่น ในเวียดนามและอินโดนีเซีย เป็นการร่วมลงทุนกับ MUFG จึงเน้นไปที่กลุ่มฟินเทค เพื่อเสริมสร้างธุรกิจที่ MUFG เข้าไปซื้อกิจการ โดยในระยะยาวเราอยากเห็นผลตอบแทนของกองทุนเพิ่มขึ้นเป็น 20-25% ต่อปี เพราะเราลงทุนในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ผลตอบแทนจึงควรจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยโดยทั่วไปที่ 15%” แซมระบุ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X