×

ลูกค้าบัตรเครดิตกรุงศรีรูดใช้จ่ายในญี่ปุ่นเพิ่ม 250% ในปี 2023 กรุงศรี คอนซูมเมอร์ คาด ยอดใช้จ่ายเพิ่มต่ออีก 50% ในปีนี้

01.04.2024
  • LOADING...
Krungsri Consumer

กรุงศรี คอนซูมเมอร์ (Krungsri Consumer) เผยยอดใช้จ่ายบัตรเครดิตในเครือกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ที่ญี่ปุ่นโตถึง 250% ในปี 2023 ตั้งเป้าโตต่อเนื่องในปีนี้อีก 50% ทะลุ 2,950 ล้านบาท ผ่านการขยายพันธมิตรกว่า 600 แบรนด์

 

สมหวัง โตรักตระกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท บัตรกรุงศรีอยุธยา จำกัด เปิดเผยว่า ยอดใช้จ่ายบัตรเครดิตในเครือกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ที่ญี่ปุ่นในปี 2023 มีมูลค่าการใช้จ่ายรวม 2,200 ล้านบาท เติบโตขึ้นถึง 250% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จากลูกค้าที่เดินทางและใช้จ่ายประมาณ 106,000 คน (หรือมียอดการใช้จ่ายโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 20,755 บาทต่อคน)

 

ทำให้ในปีที่ผ่านมา ‘ญี่ปุ่น’ กลายเป็นประเทศที่ลูกค้าในเครือบัตรกรุงศรีให้ความนิยมเป็นอันดับหนึ่ง โดยคิดเป็นสัดส่วนถึง 37% ของมูลค่าการใช้จ่ายรวมในต่างประเทศทั้งหมด รองลงมาคือ เกาหลีใต้ ฮ่องกง สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ และไต้หวัน ตามลำดับ

 

นอกจากนี้กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ยังเปิดเผยด้วยว่า ยอดใช้บัตรในต่างประเทศ ‘ทั้งหมด’ ในปี 2023 อยู่ที่ 5,500 ล้านบาท เติบโตขึ้น 97% เมื่อเทียบกับปี 2022 จากจำนวนลูกค้าประมาณ 183,000 คน

 

ข้อมูลดังกล่าวยังสอดคล้องกับกระแสการท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งหลังช่วงการระบาดใหญ่ โดยตามข้อมูลจากองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (JNTO) ที่ระบุว่า ตลอดปี 2023 มีคนไทยเดินทางท่องเที่ยวญี่ปุ่นถึง 995,000 คน เพิ่มขึ้น 402% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2022

 

สำหรับตัวอย่างบัตรเครดิตในเครือกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ได้แก่ บัตรกรุงศรี เฟิร์สช้อยส์, บัตรเซ็นทรัล เดอะวัน เฟิร์สช้อยส์, บัตรโฮมโปร เฟิร์สช้อยส์ และบัตรเมกาโฮม เฟิร์สช้อยส์ เป็นต้น

 

สมหวัง โตรักตระกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท บัตรกรุงศรีอยุธยา จำกัด

 

ตั้งเป้าดันยอดใช้จ่าย ‘ทุกบัตร’ เพิ่มต่อเนื่องอีก 50% ในปีนี้

 

สมหวังยังตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการใช้จ่ายอีก 50% สู่ระดับ 2,950 ล้านบาทภายในสิ้นปีนี้ พร้อมกล่าวเสริมว่า ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรในญี่ปุ่นมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของตลาดดังกล่าว บัตรเครดิตในเครือกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ในฐานะบริษัทในเครือกรุงศรี หนึ่งในเครือของมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) 

 

“เราเตรียมต่อยอดแคมเปญ ‘เรื่องญี่ปุ่น ต้องกรุงศรี’ ที่เปิดตัวไปเมื่อปีที่ผ่านมา โดยในปีนี้บริษัทได้ขยายความร่วมมือกับเครือข่ายทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของ MUFG และพันธมิตรทั้งในญี่ปุ่นและไทยเพิ่มเติมรวมกว่า 600 แบรนด์ นำเสนอสิทธิประโยชน์ที่หลากหลายยิ่งขึ้น”

 

นอกจากนี้กรุงศรี คอนซูเมอร์ ยังเตรียมใช้กลยุทธ์การเสนอทางเลือกการชำระเงินที่หลากหลายร่วมด้วย เช่น การออกโปรโมชันผ่อน 0% บนแอปพลิเคชัน UCHOOSE, การใช้คะแนนสะสมแลกส่วนลดหรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ และการพัฒนารูปแบบการชำระผ่าน Wallet ในญี่ปุ่น

 

เปิดเป้าผลประกอบการ ‘กรุงศรี คอนซูมเมอร์’ ปีนี้

 

ขณะที่ อธิศ รุจิรวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเนอรัล คาร์ด เซอร์วิสเซส จำกัด กล่าวว่า ในปี 2024 บริษัทตั้งเป้ายอดใช้จ่ายผ่านบัตร 393,000 ล้านบาท ยอดสินเชื่อใหม่ 100,000 ล้านบาท ยอดสินเชื่อคงค้าง 151,000 ล้านบาท

 

เป้าดังกล่าวเกิดขึ้นจากผลประกอบการของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ในปี 2023 เติบโตเป็นที่น่าพอใจ โดยมียอดใช้จ่ายผ่านบัตร 365,000 ล้านบาท (+10%) ยอดสินเชื่อใหม่ 92,000 ล้านบาท (+6%) เทียบกับปีก่อน

 

สำหรับในไตรมาสแรกคาดว่า ผลประกอบการจะเติบโตต่อเนื่องและเป็นไปตามเป้าหมาย โดยในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2024 มียอดใช้จ่ายผ่านบัตร 62,000 ล้านบาท (+10%) ยอดสินเชื่อใหม่ 15,000 ล้านบาท (+8%) ยอดสินเชื่อคงค้าง 142,000 ล้านบาท (+3%) หมวดใช้จ่ายที่เติบโตสูง

 

อธิศ รุจิรวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเนอรัล คาร์ด เซอร์วิสเซส จำกัด และประธานชมรมธุรกิจบัตรเครดิต สมาคมธนาคารไทย

 

ตั้งเป้าโตแรงท่ามกลางความท้าทายทางกฎระเบียบ

 

อธิศยอมรับว่า การตั้งเป้าเพิ่มยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรอีก 9% ในปีนี้ค่อนข้างท้าทาย แต่กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ได้พิจารณาจากปัจจัยต่างๆ รอบด้านแล้ว รวมไปถึงหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

 

“ในเครือกรุงศรี คอนซูเมอร์ ให้ความสำคัญกับ Responsible Leading มานานแล้วตั้งแต่ก่อนที่แบงก์ชาติจะเริ่มออกเกณฑ์ดังกล่าว เช่น การให้ความรู้ (Educate) แก่ลูกค้าและผู้บริโภค เกี่ยวกับการใช้สินเชื่ออย่างเหมาะสมและถูกต้อง ดังนั้น Responsible Leading จึงไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับกรุงศรี คอนซูเมอร์ และเชื่อว่าเราจะปรับตัวได้ นอกจากนี้เรามีหน่วยงานบริหารความเสี่ยงที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในตลาด”

 

หวั่นเพิ่มอัตราชำระบัตรเครดิตขั้นต่ำ อาจนำไปสู่การผิดนัดได้

 

กระนั้น อธิศ รุจิรวัฒน์ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานชมรมธุรกิจบัตรเครดิตด้วย ยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับการเพิ่มอัตราชำระบัตรเครดิตขั้นต่ำจาก 5% เป็น 8% เมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมาว่า อาจนำไปสู่การผิดนัดชำระได้

 

โดยอธิศอธิบายว่า หลายคนอาจคิดว่าการปรับขึ้นดังกล่าวไม่เยอะ แต่ในมิติของลูกค้าเชื่อว่ามีผลกระทบแน่นอน โดยหากเทียบจากการปรับขึ้นในแต่ละครั้งในอดีตพบว่า ส่งผลกระทบค่อนข้างเยอะกับลูกค้าในบางกลุ่ม นอกจากนี้ตามสถิติแล้วผู้บริโภคไทย 1 คนถือหลายบัตรเครดิตหลายใบ ย่อมทำให้ภาระเพิ่มขึ้นไปด้วย

 

“การปรับขึ้นอัตราจ่ายขั้นต่ำเพิ่งเริ่ม 2 เดือน ยังไม่เห็นผลกระทบเต็มที่ แต่ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาก็เห็นแนวโน้มการผิดนัดชำระที่เพิ่มขึ้นแล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มรากหญ้าที่เป็นฐานพีระมิดของสถาบันการเงินยังมีอัตราการฟื้นตัวต่ำจะได้รับผลกระทบสูง เหมือนว่าตอนนี้เรากำลังขอให้คนที่ยังไม่ฟื้นจ่ายมากขึ้น” อธิศกล่าว

 

อธิศยืนยันอีกว่า ได้พูดคุยกับ ธปท. มาตลอด โดยหลังจากการปรับขึ้นการจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตเป็น 8% ครบ 6 เดือน ก็จะประเมินอีกทีว่าจะส่งผลกระทบอย่างไร เพื่อนำไปพูดคุยกับ ธปท. อีกครั้ง ก่อนที่กำหนดอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำที่ 10% จะมีผลบังคับใช้ในปี 2025 

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันอัตราส่วนคงค้างของสินเชื่อของลูกหนี้ที่มีค่างวดค้างชำระเกินกว่า 90 วันของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ อยู่ที่ระดับ 1.14% สำหรับบัตรเครดิต และ 2.5% สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อผ่อนชำระ ซึ่งนับว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในธุรกิจ

 

ด้าน อธิป ศิลป์พจีการ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารธุรกิจกรุงศรี เฟิร์สช้อยส์ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด และประธานชมรมสินเชื่อส่วนบุคคล ภายใต้สมาคมธนาคารไทย ระบุว่า หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ย่อมมีผลกระทบกับธุรกิจสินเชื่อแน่นอน อย่างไรก็ดี กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ได้ให้ความสำคัญกับ Responsible Leading มาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ดังนั้นสิ่งที่เหลือที่ต้องทำเพียงแค่ปรับกระบวนทัพให้เข้ากับกฎระเบียบล่าสุดเท่านั้น

 

อธิปยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันลูกค้ากรุงศรี คอนซูมเมอร์ ที่เข้ากลุ่มลูกหนี้เรื้อรัง (Severe Persistent Debt: Severe PD) ‘ไม่สูง’ อยู่ที่ 7% ของลูกค้าสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งหมดเท่านั้น อย่างไรก็ตาม อธิประบุว่า ยังต้องเฝ้าระวังและบริหารจัดการอย่างรัดกุม

 

โดยตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนเป็นต้นไป กรุงศรี คอนซูมเมอร์ เตรียมจะเริ่มการสื่อสารกับลูกค้าในกลุ่มผ่านทุกช่องทางตามกำหนดการของ ธปท. เพื่อแจ้งสถานะว่าลูกค้าเหล่านี้อยู่ในกลุ่มลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรัง (Severe Persistent Debt) ภายใต้คำนิยามของ ธปท. เพื่อให้ทางเลือกลูกค้าปิดหนี้ผ่านโครงการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษที่ 15% ต่อปี ผ่อนชำระนานสูงสุด 5 ปี ตามเงื่อนไขที่กำหนด

 

อย่างไรก็ตาม อธิปคาดว่าลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรังจะเข้าร่วมโครงการไม่ถึง 10% หรืออยู่ในระดับใกล้เคียงกับการโครงการช่วยเหลือรีไฟแนนซ์เมื่อช่วงโควิด เนื่องจาก ลูกค้าน่าจะยังมีความต้องการสินเชื่อหมุนเวียนอยู่ โดยจะมีผู้ที่ตั้งใจเลิกใช้บริการเท่านั้นที่จะเลือกเข้าร่วมโครงการ

 

อธิป ศิลป์พจีการ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารธุรกิจกรุงศรี เฟิร์สช้อยส์ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด และประธานชมรมสินเชื่อส่วนบุคคล ภายใต้สมาคมธนาคารไทย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising