เหตุย้ายครูกายแก้ว เมื่อ รฟท. สั่งปรับ 1.3 ล้านบาท
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 28 ธันวาคมปีที่แล้ว ก่อนสิ้นปี 2566 มีเรื่องราวเกิดกับ ‘ครูกายแก้ว’ รูปปั้นที่กลายเป็นปรากฏการณ์สังคมก่อนหน้านี้ หลังมีการตั้งโต๊ะแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน นำโดย ไพโรจน์ ทุ่งทอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สวนลุมไนท์บาซาร์ รัชดาภิเษก จำกัด และเจ้าของโรงแรมเดอะบาซาร์ แบงค็อก พร้อมคณะผู้บริหาร รวมถึงได้นิมนต์พระภิกษุมาทำพิธีทางศาสนา เพื่อดำเนินการเคลื่อนย้ายรูปปั้นองค์ครูกายแก้ว และองค์อื่นๆ รวม 8 องค์ ออกจากพื้นที่
เหตุดังกล่าวสืบเนื่องจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้มีคำสั่งให้ย้ายรูปปั้นทั้งหมดออกจากพื้นที่ภายใน 30 วัน หรือภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2566 พร้อมกับให้บริษัทจ่ายค่าปรับเป็นจำนวนเงินกว่า 1,300,000 บาท โดยให้เหตุผลว่าพื้นที่ดังกล่าวห้ามมีการก่อสร้างใดๆ ตามกฎหมายควบคุมอาคาร ทั้งนี้ ทางบริษัทได้จ่ายค่าปรับไปแล้วเมื่อวันที่ 22 ธันวาคมที่ผ่านมา
ขณะที่รูปปั้นองค์ครูกายแก้วถูกย้ายมาตั้งที่บริเวณหน้าโรงแรมดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2566 โดยบริษัท ครูกายแก้ว จำกัด ได้ทำสัญญาแบบระยะยาว 20 ปี เช่าเดือนละ 2 แสนบาท รวมเวลา 1 ปี มูลค่า 2.4 ล้านบาท
พบตั้งอยู่ที่ใหม่ ตลาด The One Ratchada
ล่าสุดวันนี้ (3 มกราคม) ทีมช่างภาพข่าวของ THE STANDARD ได้ลงพื้นที่ไปที่ตลาด The One Ratchada พบรูปปั้น ‘ครูกายแก้ว’ ถูกย้ายมาวางที่นี่ พร้อมกับมีการนำต้นไม้มาวางประดับที่ฐาน มีนักท่องเที่ยวบางส่วนแวะดูและถ่ายภาพ
อย่างไรก็ตาม ยังไม่ปรากฏข้อมูลหรือมีผู้ยืนยันว่าจะวางรูปปั้นครูกายแก้วไว้ที่นี่เพื่อรอเคลื่อนย้าย หรือวางไว้เป็นระยะเวลานานแค่ไหน
‘ครูกายแก้ว’ กลายเป็นประเด็นสังคมถกเถียง
เมื่อย้อนกลับไปตั้งแต่รูปปั้นดังกล่าวเคลื่อนย้ายมา ได้สร้างประเด็นให้สังคมพูดถึงตั้งแต่วันเดินทาง จนกระทั่งย้ายมาตั้งที่หน้าโรงแรม ได้มีหลายหน่วยงานและสังกัดแวะเวียนเข้ามาตรวจเยี่ยม อาทิ กรุงเทพมหานคร ที่ต้องตรวจสอบว่าผิดข้อบังคับสิ่งปลูกสร้างหรือไม่
หรือแม้แต่กลุ่มสภาศิลปินส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทยฯ ที่ให้ความเห็นว่าควรย้ายรูปปั้นออกจากพื้นที่ เพราะทำให้ประชาชนที่พบเห็นเสียขวัญกำลังใจ
เรื่องของครูกายแก้วยังเคยมีประเด็นวิธีการบูชาที่ผิดแปลก เช่น นำลูกแมวมากราบไหว้ ซึ่งต่างไปจากการบูชาองค์เทพอื่นๆ ทำให้เวลาต่อมาผู้ที่เคารพศรัทธาองค์ครูกายแก้วเองต้องออกมาชี้แจงว่าไม่มีการบูชาด้วยวิธีการนั้น ขอให้สังคมอย่าโจมตีความเชื่อ ความศรัทธาในองค์ครูกายแก้ว
ครูกายแก้ว วิกฤตการเมืองและสังคมไทย
พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงปรากฏการณ์ครูกายแก้วไว้ว่า ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองที่ไม่มีใครแน่ใจว่าทิศทางของบ้านเมืองจะเดินไปทางไหน การเมืองในระดับสถาบันก็มีความอึมครึม และเศรษฐกิจของไทยที่อาจไม่ได้ดีจริงตามที่เห็น ผู้คนจึงแห่กันไปบูชาครูกายแก้วเพื่อหวัง ‘การเงิน การงาน และโชคลาภ’
อำนาจของครูกายแก้วนี้ดูจะมีจุดร่วมกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ผ่านมาอีกประการหนึ่งคือ เป็นอำนาจที่ยึดโยงตนเองเข้ากับอำนาจของกษัตริย์โบราณ ซึ่งคือแหล่งของอำนาจที่ทั้งน่าใกล้ชิดและร้อนดังดวงตะวัน
ถ้าครูกายแก้วเป็นผีป่าก็จะวิ่งมาสิงเมืองดังเช่นที่หลายท่านกล่าวถึงกัน แต่คำถามคือ อะไรเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้ผีป่าวิ่งเข้าสิงเมืองได้ง่ายดายเช่นนี้มาร่วมเกือบสองทศวรรษแล้ว ผีตัวจริงจึงอาจไม่ใช่ครูกายแก้วอย่างที่คิด
อ้างอิง: