×

‘อย่าหมดหวังกับชีวิตเด็ดขาด’ บันทึกชีวิตหมอกฤตไท #สู้ดิวะ อาจารย์แพทย์หนุ่ม ผู้ถูกมะเร็งปอดพรากไปในวัย 29 ปี

โดย THE STANDARD TEAM
05.12.2023
  • LOADING...
กฤตไท ธนสมบัติกุล

เช้าวันนี้ (5 ธันวาคม) ไทภัทร ธนสมบัติกุล บิดาของ นพ.กฤตไท ธนสมบัติกุล เจ้าของแฟนเพจ #สู้ดิวะ ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความระบุว่า “เดินทางปลอดภัยครับลูกชาย” ซึ่งเป็นการแจ้งข่าวต่อสาธารณชนว่า บุตรชายของเขาได้จากไปอย่างสงบในเวลา 10.59 น. หลัง นพ.กฤตไท ต้องต่อสู้กับโรคมะเร็งปอดมากว่า 1 ปี และการรักษาไม่สามารถทำให้มะเร็งปอดที่ลุกลามไปทั่วร่างกายของเขาสงบลงได้

 

ขณะที่เพจ นักเกรียน สวนกุหลาบ ได้โพสต์ข้อความ “เช้าวันนี้ น้องกฤตไทได้จากพวกเราไปแล้ว ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวและเพื่อนๆ ของน้องด้วยครับ ขอบคุณสำหรับสิ่งดีๆ ที่น้องได้ทำให้พวกเรา สวนกุหลาบไม่ลืมน้องครับ”⁣

 

ชีวิตหมอกฤตไท

นพ.กฤตไท ธนสมบัติกุล ในวัยอายุ 29 ปี จบการศึกษาคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก่อนเข้าบรรจุทำงานเป็นอาจารย์ประจำศูนย์ระบาดวิทยาคลินิกและสถิติศาสตร์คลินิก ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

“ผมเกิดในครอบครัวใหญ่ครับ นึกภาพครอบครัวที่มีอากงอาม่า กับหลานๆ หลายสิบชีวิตครับ ผมมีชีวิตวัยเด็กที่มีความสุขมากๆ ครับ กินเก่ง เล่นเก่ง พูดเยอะ เป็นเด็กน้อยตาตี่อ้วนกลมที่อารมณ์ดีมากๆ

 

“แต่ชีวิตผมก็มีจุดเปลี่ยนตรงช่วงมัธยมต้น ครอบครัวผมมีปัญหานิดหน่อย พ่อแม่ผมท่านได้ตัดสินใจอยู่ห่างกัน ซึ่งดีต่อท่านทั้งสองจริงๆ แต่ในมุมของผมมันทำให้ผมต้องเติบโตอย่างก้าวกระโดด เพราะต้องอยู่กับแม่และน้องสาว ผมต้องเป็นผู้ใหญ่ทันที

 

“ผมมีช่วงชีวิต 6 ปีที่ทรงคุณค่าที่สุดในโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ผม OSK 131 ครับ” หลังจากจบจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เขาสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รุ่น 56

 

“ชีวิตได้ขึ้นเหนือในวัย 18 ปี เป็นจุดเปลี่ยนชีวิตที่สำคัญเลยครับ จากเด็กกรุงเทพฯ ย้ายมาใช้ชีวิตอยู่ในประเทศเชียงใหม่

 

ก่อนเรียนต่อเฉพาะทางอีก 3 ปี ในสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว (Family Medicine) และระหว่างที่เรียนเฉพาะทางก็ไปศึกษาสาขาเฉพาะทางอีกสาขาหนึ่งคือ ระบาดวิทยาคลินิก (Clinical Epidemiology and Clinical Statistic) 

 

ยิ่งไปกว่านั้นเขายังเรียนปริญญาโท สาขาวิทยาการข้อมูล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Data Science) อีกใบพร้อมกันไปเลย 

 

“ผมจบแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ครอบครัว และปริญญาโทวิทยาการข้อมูล ผมได้บรรจุเป็นอาจารย์ประจำศูนย์ระบาดวิทยาคลินิกและสถิติศาสตร์คลินิก ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผมทำงานได้ 2 เดือนแล้วครับ ผมค่อนข้างมีทักษะในเรื่องการเล่าเรื่องและการสอนครับ”

 

ตรวจพบมะเร็งปอดระยะ 4

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 นพ.กฤตไท ในวัย 28 ปี โพสต์ข้อความผ่านแฟนเพจ สู้ดิวะ ครั้งแรก บอกเล่าชีวิตของหมอหนุ่มคนหนึ่งที่ผ่านเส้นทางการศึกษาจนกระทั่งได้รับการบรรจุและกำลังจะมีชีวิตที่จะได้เริ่มวิ่งตามความฝันตามแผนที่วางไว้

 

“ผมชอบออกกำลังกายมากครับ เนื่องจากเป็นนักกีฬาด้วย เข้ายิมด้วย ดูแลสุขภาพดีมากๆ ครับ ให้ความสำคัญกับอาหารและการนอนหลับ ชอบอ่านหนังสือ

 

“แล้วผมก็เป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้ายครับ”

 

จากการที่เขาเริ่มมีอาการไอทั้งแบบมีเสมหะและแห้ง ตรวจโควิดแล้วก็ไม่เจอ และรักษาไปทางกรดไหลย้อน ผ่านไป 2 เดือน ระหว่างนี้ยังสามารถเล่นกีฬาได้ตามปกติ ทำงาน ใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่มีแค่เรื่องไอที่ไม่หายสักที ไอจนรบกวนการสอน จึงตัดสินใจไปตรวจจริงๆ จังๆ

 

เขาเล่าว่าตรวจพบว่าปอดด้านขวาหายไปครึ่งหนึ่ง ซึ่งประกอบไปด้วยการมีก้อนขนาดใหญ่ถึง 8 เซนติเมตร และมีน้ำในปอดร่วมด้วย รวมถึงก้อนเล็กๆ ในปอดด้านซ้ายด้วยอีกหลายก้อน และในด้านขวาบนเองก็มีก้อนเล็กๆ เช่นกัน

 

“ก้อนขนาดใหญ่แบบนี้มีการกระจายไปยังปอดอีกฝั่ง และมีน้ำในปอดแบบนี้ ในฐานะหมอแล้ว ผมทราบดีครับ

 

“แผ่นเอ็กซเรย์แผ่นแรกบอกผมว่า ชีวิตผมจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว”

 

หลังจากผ่านการตรวจทุกอย่างมาแล้ว ทั้งเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ผ่าตัดเข้าไปเพื่อเอาชิ้นเนื้อมาตรวจ ตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่สมอง ผลมันก็คือเป็นมะเร็งปอด และเป็นระยะสุดท้ายด้วย ตัวก้อนหลักขนาดเกือบ 8 เซนติเมตรที่ปอดด้านขวา 

 

นอกจากนี้ตัวมะเร็งยังมีการกระจายไปที่เยื่อหุ้มปอดและปอดข้างซ้ายอีกหลายจุด ที่สำคัญคือมันกระจายไปที่สมองถึง 6 ก้อนด้วยกัน แต่ละก้อนก็ใหญ่ซะด้วย โชคดีที่ไม่มีอาการทางสมองอะไร ทั้งที่ตำแหน่งที่มันกระจายไปสามารถทำให้แขนขาอ่อนแรง ชา เดินไม่ตรง ทรงตัวไม่ได้ หรือแม้แต่เสียการมองเห็นไปเลย

 

ในเวลานั้นเขาบอกว่า “ผมได้รับการรักษาที่ดีที่สุด ณ ตอนนี้แล้วครับ ขอบพระคุณอาจารย์ทุกท่านจากใจจริงครับที่ให้ความช่วยเหลือผมมากขนาดนี้ ทั้งทีมผ่าตัด ทีมดมยา ทีมอาจารย์โรคมะเร็ง รวมถึงพี่พยาบาลเจ้าหน้าที่ทุกท่านที่ดูแลอย่างดี ผมได้รับ Chemotherapy, Immunotherapy และได้รับการฉายแสงที่ศีรษะทันทีที่เจอก้อน”

 

28 ปีที่มีความหมายของหมอกฤตไท

นพ.กฤตไท ยังโพสต์ข้อความในวันเดียวกันนี้ว่า “ตลอดชีวิตที่ผ่านมา ผมเป็นคนที่เชื่อสุดหัวใจว่า ถ้าเรามีเป้าหมายและวางแผน พยายามทุ่มเท อดทน มันจะได้มาซึ่งสิ่งที่เราต้องการได้ ผมเชื่อว่าเราสามารถควบคุมชีวิตเราได้ พัฒนาตัวเอง ดูแลสุขภาพ อ่านหนังสือ ลงทุน ใช้ชีวิตให้ยอดเยี่ยมมาเสมอ

 

“ผมมีสุขภาพที่โคตรแข็งแรง มีการงานที่โคตรมั่นคง และมีอนาคตสดใส ผมมีสังคมและความสัมพันธ์ที่อบอุ่นมากๆ รายล้อมไปด้วยผู้คนที่สุดยอดและน่ารัก 

 

“ผมจั่วได้การ์ดที่ชื่อว่ามะเร็งระยะสุดท้าย

การ์ดที่ถึงผมจะไม่อยากได้ แต่ผมก็มีมันอยู่ในมือ

เป็นวันที่ตระหนักว่าจริงๆ แล้ว มนุษย์เรามันโคตรเปราะบางเลยครับ

 

“ผมไม่รู้จริงๆ ว่าโลกจะให้เวลากับผมเท่าไร และผมไม่สามารถพยายามอะไรได้เลย ทำได้แค่ภาวนาให้ยาตอบสนอง ให้โรคสงบ ให้ไม่มีผลข้างเคียงอะไรเกิดขึ้น ภาวนาให้มีชีวิตอยู่อย่างปกติไปได้อีกสักวัน หรืออีกสักเดือน

 

“แต่คุณเชื่อไหมผมไม่เสียดายชีวิตที่ผ่านมาเลยนะ ผมมีช่วงชีวิตที่ผ่านมาที่โคตรดี ดีแบบไม่มีอะไรเสียใจ ไม่มีอะไรที่อยากย้อนกลับไปทำเลย ไม่มีอะไรที่อยากกลับไปแก้ไขในอดีตเลย แปลว่าที่ผ่านมาใช้ชีวิตมาได้น่าพอใจมากๆ เลยแหละ คือไม่ได้รู้สึกว่า รู้งี้ทำแบบนั้นตอนนั้นดีกว่า หรือย้อนกลับไปเปลี่ยนทางเดินชีวิตอะไรเลย 

 

“ไม่ได้อยากมีอะไรที่มากไปกว่าที่ชีวิตตอนนี้มีอยู่เลย ผมว่าผมมีชีวิตที่ดีมากแล้วจริงๆ 28 ปีที่ผ่านมาของผมมันยอดเยี่ยมและมีคุณค่ามากพอที่จะเรียกว่าชีวิตที่มีความหมายแล้ว”

 

สถานการณ์การรักษาที่เลวร้ายลงต่อเนื่อง

หลังการตรวจพบมะเร็งปอดในช่วงเดือนตุลาคม 2565 และรักษาตัวเรื่อยมา กระทั่งเกือบ 1 ปีให้หลังจากนั้น เดือนกันยายน 2566 การรักษาของเขากลับมีสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง 

 

หลังได้รับการฉายแสงที่สมองและหลังหลายรอบ ได้รับคีโมแล้วเกิดอาการแทรกซ้อนมากมาย การได้รับยาสเตียรอยด์ปริมาณมากและเป็นเวลานาน ทำให้ต่อมหมวกไตทำงานบกพร่อง หมอต้องเจอก้อนเนื้อก้อนใหม่ขนาดใหญ่

 

“5 เดือนที่ผ่านมานี้ เป็นช่วงเวลาที่ตัวโรคดุร้ายและไม่ใจดีกับผมเหมือน 6 เดือนแรกเลย”

 

“โหดร้ายขนาดที่ผมเองเกิดความคิดว่า ผมจะทนกับความเจ็บปวดนี้ไปทำไมนะ”

 

นอกจากนี้ยังได้เปิดตัวหนังสือสู้ดิวะ เพื่อบันทึกเรื่องราวและบทเรียนที่เขาบอกว่าเป็นบทเรียนอันล้ำค่าจากคุณหมอผู้เป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ซึ่งค้นพบความหมายของการมีชีวิตอยู่

 

“ผมไม่รู้จริงๆ ว่าวันที่ สู้ดิวะ วางขายตามร้านหนังสือ ผมจะยังอยู่ไหม เอาจริงๆ ผมไม่สนด้วยซ้ำครับ ผมสนแค่ว่าตัวแทนของความคิดผมได้เกิดขึ้นมาแล้วจริงๆ”

 

งานแต่งงานของหมอกฤตไท

22 ตุลาคม 2566 นพ.กฤตไท ได้จัดงานแต่งงานกับ พีม แฟนสาวของเขาตามที่เคยใฝ่ฝัน โดยมีเพียงครอบครัวและคนสนิทที่ร่วมงาน

 

เขากล่าวกับแฟนสาวว่า “การที่เธออยู่ข้างๆ เขามันทำให้เขามีความหมายมากขึ้นจริงๆ นะ และเราก็ว่าการที่เธอทำให้ชีวิตเรามีความหมายนี่แหละ มันสำคัญมากเลย”

 

“พีมว่าพีมโชคดีมากๆ จริง คือพี่ไทจะพูดตลอดเลยว่า เธอโชคร้ายหรือเปล่า เธอโชคร้ายหรือเปล่า พีมก็จะตอบพี่ไททุกครั้งเลยว่า พีมโชคร้ายที่พีมไม่รู้ว่าพีมจะอยู่กับพี่ไทไปถึงเมื่อไร พีมโชคร้ายแค่นั้นเลย

 

“ที่เหลือ ตั้งแต่ที่พีมพบพี่ไท พีมรู้สึกมาตลอดเลยว่าพีมโชคดี ที่เจอคู่ชีวิตได้เร็วขนาดนี้ ไม่ว่าเรื่องมันจะไปทางไหน ไม่ว่าเรื่องมันจบยังไง ตอนนี้โชคดีที่สุดแล้วค่ะ” แฟนสาวเขากล่าวตอบรับ

 

จากหมอกฤตไทถึงผู้คน

5 พฤศจิกายน 2566 นพ.กฤตไทโพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า “ผมคงอยู่ได้อีกไม่นานแล้ว ใครมีอะไรอยากพูด อยากบอกผม เชิญได้เลย 

 

“ผมน่าจะไปช่วงกลางเดือนหน้า จากนั้นไว้เจอกันใหม่นะครับ ขอบคุณสำหรับทุกอย่างตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ขอโทษถ้าผมทำให้ใครไม่พอใจ”

 

กระทั่งเวลา 10.59 น. ของวันที่ 5 ธันวาคม นพ.กฤตไท ได้จากไปอย่างสงบในวัยเพียง 29 ปี

 

เขาเคยฝากข้อความสำคัญถึงแฟนเพจของเขาว่า “ถ้าคนแบบผมเป็นมะเร็งได้ ทุกคนมีโอกาสเป็นได้จริงๆ ครับ โลกเราตอนนี้มันไม่ปกติครับ ทั้งมลภาวะ อากาศ น้ำ รังสีต่างๆ ยีนเรามันพร้อมกลายพันธุ์ครับ

 

“ชีวิตไม่แน่นอน สุดท้ายเราทุกคนจะต้องตาย อยู่กับปัจจุบัน ใช้แต่ละวันให้เหมือนวันสุดท้าย ถ้ามีอะไรที่ทำเพื่อคนอื่นได้ก็แบ่งปันความโชคดีให้เขาบ้าง และไม่ว่าชีวิตจะเลวร้ายแค่ไหน อย่าหมดหวังกับชีวิตเด็ดขาด”

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X