×

เศร้าอย่างไรให้กลายเป็นผลงาน ถอดรหัสความคิด กฤช วิรยศิริ หรือ อาร์ต 7thSCENE จากอัลบั้ม ‘ที่แล้ว’

08.03.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 MINS READ
  • กฤช วิรยศิริ อดีตมือกีตาร์วง 7thSCENE เคยพบกับความผิดหวังในความรักครั้งใหญ่ถึงขนาดป่วยเป็นโรคซึมเศร้า และเมื่อผ่านพ้นช่วงเวลานั้นมาได้ เขาเลือกที่จะกลับไปดึงความรู้สึกเหล่านั้นกลับมาสร้างสรรค์เป็นบทเพลง
  • อาร์ตเชื่อว่าสิ่งสำคัญในการทำแบบนั้นได้ต้องแยกให้ออกระหว่างโรคซึมเศร้าและความเศร้า โรคต้องรีบรักษาให้หาย และถ้าเราเข้าใจความเศร้ามากพอ นี่แหละคือวัตถุดิบชั้นดีในการสร้างงานศิลปะ
  • ทุกวันนี้อาร์ตยังมีภาวะซึมเศร้ากลับมาหาบ่อยๆ แต่เขามองความรู้สึกนั้นเหมือนแมวจร และตั้งชื่อให้ว่า พอล เพื่อแสดงให้เห็นว่าเขาควบคุมมันได้
  • อาร์ตอยากให้เพลงในอัลบั้ม ‘ที่แล้ว’ เป็นเหมือนเพื่อนที่บอกกับทุกคนที่เศร้าว่า อย่างน้อยก็ยังมีเขาเป็นเพื่อนที่เข้าใจ และเคยรู้สึกเช่นเดียวกัน

เมื่อ ‘ความเศร้า’ เข้ามาเกาะกินพื้นที่ในหัวใจ ใครต่อใครล้วนมีวิธีการพาตัวเองออกไปจากสภาวะนั้นที่แตกต่างกันต่อไป

 

เช่นเดียวกับที่ครั้งหนึ่ง กฤช วิรยศิริ หรืออาร์ต อดีตมือกีตาร์วง 7thSCENE เคยจมดิ่งไปกับความผิดหวังจากความรัก ถึงขนาดป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจนรู้สึกไม่อยากทำอะไรต่อไปในชีวิต และต้องใช้เวลาเยียวยาอาการนั้นมากกว่า 1 ปี

 

หากแต่วิธีการที่เขาเลือกใช้คือ การจดบันทึกทุกความรู้สึกเหล่านั้นเอาไว้ และใช้เป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์ผลงานเพลง เพื่อสร้าง ‘คุณค่า’ ให้กับตัวเองอีกครั้ง รวมทั้งแบ่งปันช่วงเวลาเหล่านั้นให้กับคนที่ตกอยู่ในสภาวะเช่นเดียวกับเขา ผ่าน 6 บทเพลงในอัลบั้ม ‘ที่แล้ว’ (The Romantic Remedy) ภายใต้ชื่อ a.r.t ที่เขาชวนเพื่อนร่วมวงการหลายคนอย่าง น็อต-วรุตม์ พิทักษ์สรยุทธ, คิว วง Flure, ป๊อด Moderndog, กอล์ฟ ฟักกลิ้งฮีโร่ มาร่วมถ่ายทอด

 

เขาบอกว่านี่คืออัลบั้มที่เหมือน ‘กรีดเลือด’ ออกมาทำเพลง เพราะทุกๆ ตัวโน้ตได้พาเขากลับไปสู่ช่วงเวลายากที่จะลืมเหล่านั้น ที่ถึงแม้อาจจะทำให้เจ็บปวด แต่เขาก็ภูมิใจที่ได้สร้างผลงานที่บอกทุกคนที่กำลังเศร้าอยู่ว่า อย่างน้อยก็ยังมีเขาอีกหนึ่งคนเป็นเพื่อนที่เคยรู้สึกแบบนั้นไม่ต่างกัน  

 

 

กระบวนการเยียวยาตัวเองจากความผิดหวังในความรักครั้งใหญ่จนคุณป่วยเป็นโรคซึมเศร้า และใช้สิ่งเหล่านั้นมาเป็นวัตถุดิบในการทำเพลงเกิดขึ้นได้อย่างไร

 

ช่วง 1 ปีแรกยังไม่ได้ออกมาเป็นเพลงนะ เพราะใช้ชีวิตแนวตั้งแค่ตอนกินข้าว ที่เหลือนอนอยู่บ้าน กินยา เป็นคนป่วย ไม่มีความอยากทำอะไรเลย จะมีที่ต้องออกไปข้างนอกคือตอนสอนหนังสือ เพราะเป็นความรับผิดชอบที่ต้องไป เป็นเรื่องที่ดีนะ เพราะมีกิจกรรมให้ทำ แต่ก็มีบางทีที่พอถึงช่วงพัก เราก็เข้าห้องน้ำ ปิดประตูร้องไห้ แล้วก็ออกมาสอนต่อ แต่นอกเหนือจากนั้นไม่ได้ทำอะไรเลย งานก็ไม่ได้รับ

 

แต่ระหว่างนั้นก็จดความคิดความรู้สึกตอนนั้นตลอด เพราะมีสิ่งที่อยากพูดอยากบรรยายเยอะไปหมดเลย มันเป็นวัตถุดิบที่ดีในการทำเพลงมากเลยนะ แต่พอเวลาผ่านไปจะเริ่มรู้ว่ามันคือความคิดของเราตอนที่ยังไม่นิ่ง มีบางอย่างที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ควร เหมือนเป็นแค่ความเสียใจ ความสับสนแบบเกรี้ยวกราด ถ้าทำเพลงตั้งแต่ตอนนั้นก็จะไม่ออกมาเป็นแบบนี้ ซึ่งนับว่าโชคดีเพราะทำให้เรามีเวลากลั่นกรองความคิดได้มากขึ้น

 

จุดไหนที่รู้สึกว่าผ่านพ้นความเศร้า หรือความสับสนนั้นไปได้ และเริ่มเอาความรู้สึกนั้นมาทำเป็นเพลงได้จริงๆ

 

ผ่านไปปีกว่าๆ จากการไปพบแพทย์อยู่ตลอด เราคิดว่าส่วนนั้นน่าจะช่วยได้ประมาณ 30% คือเป็นช่วงที่อาการป่วยดีขึ้นจริงๆ นะ แต่ก็คิดว่าส่วนที่เหลือเราต้องพยายามรักษาตัวเองด้วย ความคิดที่จะเขียนเพลงคือหนึ่งในกระบวนการที่เราคิดได้ตอนนั้น

 

แล้วไปถึงจุดหนึ่งที่กลับมามองเห็นอารมณ์ของตัวเองว่า เฮ้ย เราไม่มีความสุขมาเป็นเวลาปีกว่าๆ แล้วเหรอ แล้วรู้สึกว่าชีวิตของเราช่วงนั้นมันไร้ค่ามาก เลยคิดขึ้นว่าถ้าจะแก้ความรู้สึกไร้ค่านั้นได้ ต้องมีอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันออกมาแล้วจนกลายเป็นเพลง มัง ออกมา  

 

ตอนที่ทำออกมาผมไม่ได้คิดถึงเรื่องฟีดแบ็กอะไรเลยนะ แต่อย่างน้อยความรู้สึกกับตัวเองมันดีขึ้นมาทันที เพราะอย่างน้อยเราก็ได้ตื่นขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง เราดิ้นรนเพื่อตัวเองมากขึ้น อันนี้ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีมากเลยนะ

 

มิวสิกวิดีโอเพลง มัง

 

หลังจากนั้นก็เริ่มเข้าสู่กระบวนการดึงความเศร้า ความรู้สึกช่วงนั้นมาแปลเป็นเพลงในอัลบั้ม ‘ที่แล้ว’ แบบเต็มตัวเลยหรือเปล่า

 

ใช่ครับ แต่ไม่ถึงขนาดว่าทุ่มเทเวลาให้กับการทำอัลบั้มอย่างเดียว เพราะผมก็เริ่มกลับมารับงานฟรีแลนซ์ ใช้ชีวิตตามปกติไปด้วย เลยใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าอัลบั้มจะเสร็จทั้งหมด ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาทั้งหมด ผมชอบมากเลยนะ ถ้าพูดตรงๆ ก็คือมันลากผมกลับไปอยู่ในความรู้สึกช่วงที่เกิดเรื่อง ผมเลยเรียกว่าเป็นชุดที่กรีดเลือดออกมาเขียน (หัวเราะ) เป็นไดอะรีเล่มเก่าที่เราอยากเอามาเปิดให้คนอ่านในเวลานี้

 

เคยได้ยินมาว่ามีคนทำงานศิลปะบางคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า แต่พยายามรักษาสภาวะนั้นไว้ เพราะรู้สึกว่าเป็นวัตถุดิบที่เอามาใช้เป็นแรงขับในการทำงานได้ดี

 

ผมว่าต้องแยกระหว่างโรคซึมเศร้ากับความซึมเศร้าออกจากกันก่อน พอเป็นโรคเป็นอาการป่วยยังไงก็ไม่มีทางดีอยู่แล้ว มันทำให้เราไม่อยากทำอะไรอย่างอื่นนอกจากนอน ไม่ใช่ความเศร้าที่เอามาทำงานได้แน่ๆ ต้องรักษา และเมื่อผ่านจุดนั้นมาได้ มันจะเหลือแค่ความเศร้าที่เราสามารถดึงเอาอารมณ์ตรงนั้นมาใช้ทำงานได้จริงๆ

 

แต่ไม่ได้หมายความว่าหายขาดแล้วนะ มันจะมีช่วงที่ภาวะนั้นกลับมาเรื่อยๆ แต่จะไม่เอาโรคนี้มาขยายเป็นความรู้สึกเลอะเทอะ หรือเชื่อมโยงเรื่องราวที่เกิดขึ้น เราจะหยุดแค่รู้ว่ามันมาอีกแล้ว ซึ่งแต่ละคนก็จะมีอาการแตกต่างกันไปกันนะ บางคนอาจจะหนักที่อก แต่ของผมจะรู้สึกเหมือนหัวใจถูกเคลือบด้วยอะไรร้อนๆ อยู่ เราก็ปล่อยให้มันเคลือบไป เออ ร้อนว่ะ เหมือนเป็นแผลแล้วรู้สึกรำคาญก็รำคาญไป แต่พยายามไม่ให้มันขึ้นมาครอบงำความคิดเรา

 

 

มีวิธีในการควบคุมภาวะซึมเศร้าที่ยังกลับมาหาคุณอยู่บ่อยๆ บ้างไหม

 

ผมตั้งชื่อให้มันด้วยนะ (หัวเราะ) ตั้งชื่อว่า พอล มีอยู่ตอนหนึ่งผมฟังเพลง Hey Jude ของ The Beatles อยู่ แล้วมันมาพอดี ก็เลยเรียกว่า Hey Paul บ้าง (หัวเราะ) ถ้ามีคนใกล้ตัวหรือแฟนโทรมาถามว่าวันนี้เป็นยังไงบ้าง แล้วผมบอกว่าวันนี้พอลมา ก็เป็นอันรู้กันว่า อ๋อ ตอนนี้กำลังเศร้าอยู่

 

ไม่รู้ว่าช่วยได้จริงหรือเปล่านะ แต่ก็พยายามเรียกให้ดูน่ารัก แล้วการตั้งชื่อให้มันเหมือนกับว่าเราอยู่เหนือมัน กำลังควบคุมมันอยู่ ไหนๆ ความรู้สึกนี้ต้องอยู่กับเราอยู่แล้ว เดี๋ยวมา เดี๋ยวไป ผมมองเขาเหมือนแมวจรนะ ถ้าเรามีอาหารให้เดี๋ยววันดีคืนดีเขาก็มา

 

ถ้ามองในมุมแมวจร สู้เราไม่ให้อาหารหรือไล่พอลไปเลยไม่ดีกว่าเหรอ

 

เพราะยังไงเขาไม่ไปไหนอยู่แล้ว ถ้าเรายิ่งไปไล่อันนั้นล่ะเราจะทุกข์เอง โคตรทุกข์เลย แต่ถ้าไม่ไล่ ถึงเราจะทำอะไรไม่ได้นะ แต่เขาก็ทำอะไรเราไม่ได้เหมือนกัน ก็นั่งขนานกันไปเรื่อยๆ ยังไงเราต้องอยู่ตรงนี้ของเรา ก็มองหน้ากันเป็นเรื่อยๆ เดี๋ยวเขาเบื่อเขาก็ไปเอง (หัวเราะ) ทุกวันนี้ก็ยังมาๆ ไปๆ อยู่นะ

 

แต่ยังต้องกินยาอยู่นะครับ ผมเคยมีช่วงที่รักษาจนเหมือนกับว่าหายแล้วก็เลิกกินยาไป จนพอเวลาสักพักอาการนอนไม่หลับกลับมา คงเป็นผลต่อเนื่องของอะไรสักอย่าง ก็เลยกลับไปหาหมออีกรอบ แต่คราวนี้ไม่ได้ไปแบบเล่าปัญหาชีวิต หรือปรึกษาอะไรแล้ว คือไปเพื่อรับยาอย่างเดียวเลย เพราะรู้ว่าตอนนั้นเป็นความผิดปกติของสารเคมีในร่างกาย

 

เคยได้ยินมาเหมือนกันว่ามีหลายคนที่รักษาจนหายแล้ว แต่ไม่ยอมกินยาต่อ เพราะคิดว่าการกินยาแสดงให้เห็นว่ายังไม่หายจากโรคซึมเศร้าจริงๆ

 

ไม่เกี่ยวเลยครับ กินไปเถอะ เพราะถ้าอาการกลับมาอีกแล้วไปรักษาตอนนั้น กว่ายามันจะเข้าสู่ระบบร่างกายก็ต้องใช้เวลา 2 สัปดาห์เป็นต้นไป ในเมื่อกินไปแล้วไม่ได้มีผลเสียอะไร หมอก็บอกว่าไม่มีผลข้างเคียง แล้วคุณจะยอมให้ชีวิตกลับไปเป็นแบบนั้นอีกเหรอ

 

ระหว่างทำเพลงอื่นๆ ในอัลบั้ม ที่ยังต้องดึงความเศร้าในช่วงเวลาต่างๆ ออกมาใช้ มีครั้งไหนบ้างไหมที่รู้สึกว่าเกือบควบคุมความรู้สึกเศร้าเอาไว้ไม่ได้

 

ไม่มีนะ อย่างที่บอกว่าถึงแม้ตอนนั้นจะเป็นแค่ไหน แต่มันเป็นความรู้สึกที่เราผ่านมาหมดแล้ว เราจดเอาไว้แล้วค่อยมาขยายเป็นเพลง เหมือนช่วยให้เราได้ทบทวนตัวเองมากกว่าไปจมอยู่กับมันด้วยซ้ำนะ แล้วคิดว่าทำให้เราเห็นภาพรวมของเพลงได้ง่ายกว่าช่วงที่เรายังวนอยู่ในความรู้สึกนั้นอยู่

 

เชื่อเลยนะว่าถ้าผมยังเศร้าอยู่ เพลงที่เขียนออกมามันจะเป็นอีกแบบหนึ่งเลย คงมีแต่รายละเอียด มีแต่ความรู้สึก มีแต่เรื่องของเราตรงนั้น มันจะพูดกับใครไม่ได้เลย แต่ความตั้งใจของผมคือ ผมอยากเล่าเรื่องราวเหล่านี้ มวลบรรยากาศและความรู้สึกตรงนี้ออกไปให้คนอื่นรับรู้เลย วิธีการเลยไม่ใช่ใส่แต่ความรู้สึกตอนนั้น เราต้องเดินออกมาจากมันก่อน อยู่เหนือมันให้ได้ แล้วมองให้เห็นว่ามันมีความรู้สึกก้อนไหนบ้างที่เอามาใช้ได้แค่นั้นพอ

 

 

คุณเคยบอกว่าการเรียงเพลงในอัลบั้ม ‘ที่แล้ว’ ตรงกับทฤษฎีของเบลอร์-รอสส์ ที่ว่าด้วย 5 ขั้นตอนในการเผชิญกับความเศร้าเมื่อเกิดการสูญเสีย (ปฏิเสธ, โกรธ, ต่อรอง, ซึมเศร้า และยอมรับ) คิดว่าความรู้สึกขั้นตอนไหนที่หยิบเอามาใช้เป็นวัตถุดิบในการเขียนเพลงได้ดีที่สุด

 

ช่วงกลางๆ (ต่อรอง) ถัดจากช่วงเกรี้ยวกราดมาแล้ว เป็นช่วงที่มีเหตุการณ์และความรู้สึกเกิดขึ้นหลายอย่างมากที่สามารถดึงมาเขียนได้ ซึ่งเพลงป๊อป อกหักในปัจจุบันส่วนใหญ่ก็จะดึงมาจากสเตจนี้ล่ะ ถ้าในอัลบั้มนี้ก็คือเพลง มัง กับ คนใหม่ แล้วมีอีกหลายเรื่องเลยแต่ไม่ได้เอามาใช้อัลบั้มนี้ แต่ยังเก็บไว้อยู่นะ เป็นวัตถุดิบสำหรับอนาคตที่อาจจะเอาไปใช้แต่งให้คนอื่นก็ได้ ซึ่งถ้าใครสนใจติดต่อมาได้เลยนะครับ ผมว่ามีให้ได้ทั้งอัลบั้ม 10 เพลงรวดเลย (หัวเราะ) แต่อันนี้หมายถึงสเตจอื่นๆ ด้วยนะ ไม่ใช่แค่ช่วงของการต่อรองอย่างเดียว

 

ความพิเศษของสเตจนี้ มันจะอยู่ที่ความก้ำกึ่งของความรู้สึกที่ยังหลุดไม่พ้นจากความโกรธ แต่เวลาก็ผ่านไปนานจนเริ่มเข้าใจอะไรต่างๆ มากขึ้น เราอยากให้ชีวิตของเราไปต่อแล้ว แต่มันยังไปไม่ได้ เพราะมีความรู้สึกแบบนี้ติดอยู่ ตอนที่อยู่ตรงนั้นจริงๆ มันไม่ดีนะ ยากมาก

 

แต่พอผ่านมาได้ มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายในชีวิตเหมือนการผจญภัย เป็นช่วงที่ผมเริ่มกลับมาใช้ชีวิตในสังคมเหมือนเดิมแล้ว แต่ภาวะก็ยังไม่ได้ปกติเต็มที่ ลองไปทำอะไรใหม่ๆ ไปเจอคนใหม่ๆ เริ่มเปลี่ยนมุมมองใหม่ๆ อะไรอีกเยอะแยะมากมายที่พอมองกลับไปมันสนุกมากเลย

 

มีคู่มือการฟังอะไรบ้างไหม สำหรับคนที่เศร้ามากๆ หรืออาจจะเป็นภาวะหรือป่วยเป็นโรคซึมเศร้าอยู่ แล้วมาฟังอัลบั้ม ‘ที่แล้ว’ ที่เต็มไปด้วยเพลงเศร้าของคุณ

 

คงไม่ใช่อัลบั้มที่ให้ความรู้สึกจมจ่อมไปกับความเศร้าขนาดนั้นนะ แต่ผมอยากให้ฟังในลักษณะให้เพลงเหล่านี้เป็นเพื่อนคุณ เวลาเศร้าไม่มีใครอยากรู้สึกแบบนั้นคนเดียวอยู่แล้ว ถ้าได้ยินเพลงในอัลบั้มนี้แล้วเศร้า ก็ให้รู้ว่าอย่างน้อยก็ยังมีคนคนหนึ่งบนโลกที่ประสบภาวะเดียวกันแล้วก็บันทึกมันเอาไว้

 

เราไม่ได้มากดให้คุณเศร้านะ เพียงแต่เราเคยมีภาวะแบบนี้จริงๆ ตอนนี้คุณอาจจะเศร้า ฟังเพลงที่หนึ่งแล้วก็ยิ่งเศร้า เพลงต่อไปมันอาจจะเศร้าอีก แล้วเมื่อไรที่ความรู้สึกมันเศร้าที่สุด อย่างน้อยให้นึกว่ามันมีคนหนึ่งที่เคยเศร้าแบบนั้น มันเศร้ามากๆ จนลงไปถึงจุดต่ำสุดแล้ว เมื่อลงไปมากกว่านั้นไม่ได้ ทางเดียวที่จะไปต่อได้ก็คือการดึงความรู้สึกขึ้นมา โดยมีเพลงเหล่านี้ มีผม และใครอีกหลายคนที่เคยเศร้าเป็นเพื่อนคุณ

 

Lyric Video เพลง ปัจจุบัน

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

FYI
  • Kübler-Ross Model คือทฤษฎีที่ว่าด้วย 5 ขั้นตอนของความรู้สึกโศกเศร้าที่เกิดขึ้นเมื่อใครคนหนึ่งต้องเผชิญหน้ากับความสูญเสียครั้งสำคัญ ประกอบด้วย

 

ขั้นที่ 1 การปฏิเสธ (Denial) มักจะเกิดจากภาวะช็อก เมื่อความสูญเสียเกิดขึ้นโดยไม่ทันทั้งตัว การปฏิเสธความจริงว่า การสูญเสียนั้นไม่เคยเกิดขึ้น เป็นกระบวนการหนึ่งในการปกป้องความรู้สึกจากความเจ็บปวด

 

ขั้นที่ 2 โกรธ (Anger) เมื่อไม่อาจปฏิเสธความสูญเสียนั้นได้อีกต่อไป ขั้นตอนที่ 2 คือการเสียสูญทางความรู้สึก และมักจะกล่าวโทษทุกสิ่งอย่างที่มีส่วนทำให้ความสูญเสียนั้นเกิดขึ้น

 

ขั้นที่ 3 ต่อรอง (Bargain) เป็นช่วงเริ่มผ่านพ้นจากความโกรธ รับความจริงได้มากขึ้น แต่ยังไม่สามารถสลัดความรู้สึกได้ทั้งหมด สิ่งที่เกิดขึ้นในขั้นนี้คือ การพยายามหาอะไรบางอย่างเพื่อยึดเหนี่ยว ต่อรอง ไปจนถึงวิงวอนขอพร เพื่อให้ชีวิตสามารถดำเนินไปข้างหน้าต่อไปได้

 

ขั้นที่ 4 ซึมเศร้า (Depress) เป็นภาวะต่อเนื่อง และช่วงเวลาที่รู้สึกแย่ที่สุด เพราะไม่สามารถทำอะไรได้อีกต่อไปแล้ว ความคิดในช่วงนั้นจะกลับไปวนเวียนอยู่กับความสูญเสียที่เกิดขึ้น เพียงแค่มองเห็นปัจจัยกระตุ้นเพียงเล็กน้อยก็พร้อมที่จะทำให้ความเศร้า และความเจ็บปวดหวนกลับมาได้ทันที

 

ขั้นที่ 5 ยอมรับ (Acceptance) เป็นภาวะหลังจากความรู้สึกแย่จากการสูญเสียจมดิ่งลงไปมากที่สุด และเมื่อถึงจุดหนึ่ง เวลาเริ่มเยียวยาหัวใจ และเข้าใจว่าความสูญเสียเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ทุกขณะ

 

*หมายเหตุ – ลำดับขั้นตอนความรู้สึกของแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป อาจมีบ้างที่สลับข้อกัน หรืออาจไม่จำเป็นต้องมีครบทั้ง 5 ข้อ หรือในบางคนอาจจะเกิดขั้นตอนที่ 1-4 วนเวียนไปมาอยู่หลายครั้ง ก่อนจะเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการยอมรับก็ได้

  • สามารถรับฟังเพลงทั้งหมดในอัลบั้ม ‘ที่แล้ว’ ได้บนช่องทางออนไลน์ทั้ง Fungjai, Spotify, iTunes, และ Joox
  • นอกจากเขียนเพลงแล้ว อาร์ตยังเป็นคนเขียนหนังสือสนุก และยังเป็นคอลัมนิสต์ให้กับ THE STANDARD ติดตามผลงานของเขาได้ที่ thestandard.co/author/krit/ และเฟซบุ๊กเพจ @listentoart
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising