×

‘ถูกหลอกง่าย-พึ่งพายุติธรรมไม่ได้’ คุยกับทนายอาชีพ กฤษฎางค์ นุตจรัส ปมทนายหลงแสง

18.11.2024
  • LOADING...

ขณะมีข่าวดัง ทนายความตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยเสียเอง อันเนื่องมาจากผลประโยชน์มหาศาลรูปแบบต่างๆ ในยุคโซเชียลมีเดีย ในวงการทนายอาชีพยังมีทนายความที่เลือกใช้ชีวิตอยู่กับอาชีพนี้ ทำทั้งคดีที่ได้รับค่าตอบแทนและคดีที่ไม่ได้รับค่าตอบแทน แถมมีราคาที่ต้องจ่าย แต่ทำมานานด้วยความสมัครใจ

 

THE STANDARD สัมภาษณ์ กฤษฎางค์ นุตจรัส หรือทนายด่าง ทนายความวัย 67 ปี เจ้าของ ‘สำนักงานกฎหมายและบัญชีกฤษฎางค์ นุตจรัส’ ผู้อยู่ในอาชีพนี้มาตั้งแต่ปี 2522 หลังเรียนจบคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากเป็นทนายว่าความคดีที่มีค่าตอบแทนแล้ว เขายังว่าความในคดีที่ไม่ได้รับค่าตอบแทน ทั้งคดีสิ่งแวดล้อม คดีการเมือง ซึ่งมีราคาต้องจ่ายโดยถูกจับตาจากรัฐ หรือถูกยกเลิกงานจากลูกความบางรายที่เห็นเขาปรากฏตัวเป็นทนายว่าความให้เยาวชนนักกิจกรรมทางการเมือง ปัจจุบันทนายความผู้นี้ยังเดินอยู่บนเส้นทางเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

 

 

มองปรากฏการณ์ทนายความดังในโลกโซเชียล กับผลประโยชน์จากการ ‘หาแสง’ อย่างไร

 

กฤษฎางค์: วงการทนายความก็มีคนทุกแบบเหมือนๆ กับในทุกๆ อาชีพ ในหลักการทนายความเป็นแค่ตัวแทนของลูกความ ทำแทนโจทก์ ทำแทนจำเลย ยกเว้นการรับสารภาพต้องให้ลูกความทำเอง และทนายความจะต้องไม่มีตัวตนของตัวเองเวลาทำงาน เพราะฉะนั้นทนายความจะไปพูดแทนลูกความเขาในเรื่องอื่นๆ ไม่ได้

 

ส่วนกรณีที่เกิดขึ้น ทนายความดังในโลกโซเชียล เป็นเพราะกระบวนการยุติธรรมในสังคมไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้ประชาชนได้ เช่น คนหวังพึ่งตำรวจไม่ได้ คนหวังพึ่งศูนย์ร้องเรียนของรัฐไม่ได้ ก็ไปหาองค์กรมูลนิธิต่างๆ หรือไปหาทนายคนดังในโลกออนไลน์ที่คิดว่าจะแก้ไขความทุกข์ยากของเขาได้ ส่วนเรื่องราวความขัดแย้งที่ตามมาหลังจากนั้นซึ่งมีการกล่าวหากัน ก็เป็นเรื่องยังต้องพิสูจน์กันต่อไป

 

 

เมื่อลูกความให้ความเชื่อถือทนายความของตัวเองมาก ก็จะเจอปัญหาแบบหนึ่ง ประชาชนจะสามารถตรวจสอบทนายความของตัวเองอย่างไร

 

กฤษฎางค์: ปัญหาเรื่องการหลอกลวงกันมีในทุกวงการ โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมไม่ยุติธรรมตั้งแต่ต้น ทำให้คนถูกหลอกง่าย เช่น สมมติทนายความไปบอกลูกความว่า “ทนายรู้จักตำรวจตำแหน่งนี้ สามารถทำให้ได้รับการประกันตัวได้นะ หรือทำคดีสั่งไม่ฟ้องได้นะ ถ้าลูกความจ่ายสตางค์มา” เรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในหลักการที่ถูกต้อง แต่ในประเทศไทยมีเหตุการณ์ ‘วิ่งเต้น’ เกิดขึ้น คนจึงเชื่อเรื่องการวิ่งเต้น

 

เช่นเดียวกัน หากเราถามว่าในประเทศนี้มีการวิ่งเต้นเพื่อขอตำแหน่ง ป.ป.ช. หรือไม่ มีการวิ่งเต้นเพื่อขอตำแหน่งเลื่อนยศตำรวจเลื่อนยศทหารหรือไม่ แน่นอนมีคนพยายามทำแบบนี้ และเนื่องจากประเทศเป็นแบบนี้ จึงทำให้มีคนเชื่อเรื่องแบบนี้

 

ขณะที่คำว่า “สู้ไปตามหลักการ ถ้าเชื่อว่าไม่ผิด” กลับกลายเป็นคำที่ไม่มีใครเชื่อ เพราะถ้าเชื่อก็อาจจะทำไม่สำเร็จ คือสู้ไม่ชนะ แล้วคนที่เชื่อเรื่องการวิ่งเต้นอาจจะเคยชนะจากการวิ่งเต้นมาแล้ว การวิ่งเต้นให้ประโยชน์สำหรับเขา แต่สำหรับบ้านเมืองก็จะเกิดความเสื่อมโทรม ผมไม่เห็นด้วยอยู่แล้วกับสิ่งที่เป็นอยู่นี้ 

 

ที่กล่าวมาเพื่อที่จะบอกว่า ทำไมจึงมีกรณีคนยอมจ่ายเงินในจำนวนที่สูงมากโดยไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องความชอบธรรมหรือหลักการตามระบบ ดังนั้นผู้คนจึงถูกหลอกง่าย เพราะระบบหลักการไม่สามารถทำให้ประชาชนเชื่อถือได้

 

การหลอกกันมีทุกวงการ ไม่เฉพาะทนายกับลูกความ เป็นปัญหาเรื่องการศึกษาเป็นหลัก การปฏิรูประบบกระบวนการยุติธรรมอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่ก็มีประเด็นอีกว่า ถ้าคนฉลาดก็จะทำให้ปกครองยาก หากผู้มีอำนาจต้องการใช้อำนาจที่ผิด

 

ระบบการศึกษา ระบบการเมืองการปกครองของสังคมไทยทำให้เกิดปรากฏการณ์ล้าหลังแบบนี้

 

 

เลือกเป็นทนายความ ไม่เลือกเส้นทางข้าราชการ ไม่สอบเป็นผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ ราชทัณฑ์

 

กฤษฎางค์: ในกระบวนการยุติธรรม จะมีตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษา ราชทัณฑ์ และทนายความ ผมเลือกเป็นทนายความ ไม่เลือกเป็นอย่างอื่นในกระบวนการเหล่านี้ ผมไม่เคยสอบเป็นผู้พิพากษา ไม่เคยสอบเป็นข้าราชการ

 

ผมรู้สึกอาชีพนี้อิสระ แล้วก็คิดว่าตัดสินใจไม่ผิด เลือกชีวิตแบบนี้มีความสุขกับงานที่ทำ

 

หากสังเกตในกระบวนการยุติธรรม จะเห็นได้ว่าส่วนต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดยกเว้นทนายความ จะเป็นข้าราชการทั้งหมด ทั้งอัยการ ผู้พิพากษา ตำรวจ ราชทัณฑ์ เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้กระบวนการยุติธรรมไม่ก้าวหน้า ขณะในบางประเทศมีลูกขุนคือประชาชนธรรมดา ผู้พิพากษาบางรัฐมาจากการเลือกตั้ง อัยการบางแห่งก็มาจากการเลือกตั้ง มีโครงสร้างที่ปรับปรุงไป แต่ของไทยไม่ได้เป็นเช่นนั้น 

 

ระบบราชการมีสายบังคับบัญชา ดังนั้นโดยโครงสร้างแล้วประชาชนที่มีปัญหากับรัฐจึงชนะได้ยาก นอกจากคนที่เคยอยู่ในอำนาจรัฐเขาลงจากอำนาจนั้นแล้ว

 

 

ทนายความกับลูกความ และค่าตอบแทน

 

กฤษฎางค์: เรายึดถือตามอาชีพเรา เมื่อมีคนมาหาเราก็ให้คำปรึกษาและช่วยเหลือทางคดี เรียกค่าทนายความตามความสามารถและตามเหตุตามผล ผมเป็นทนายความมาตั้งแต่ปี 2522 อัตราค่าว่าจ้างของทนายความจะคล้ายงานศิลปะกับวิชาชีพทั่วไป เช่น งานสถาปัตยกรรม แพทย์ ขึ้นอยู่กับแต่ละคนจะตีค่าตัวอย่างไรในการทำงานตอบแทนผลประโยชน์ที่ตัวความหรือลูกความได้รับ ซึ่งอาจจะมีตั้งแต่ว่าความให้ฟรีเช่นเดียวกับหมอที่ช่วยคนฟรี หรือถ้าเป็นธุรกิจก็มีค่าตอบแทนกันไป เช่น คดีแพ่งทนายความฝรั่งแบ่งครึ่งกับลูกความจากเงินที่ได้จากการฟ้อง ส่วนทนายไทยอาจจะตกลงกันที่ 30-40% บางคนอาจจะได้เยอะ เช่น ถ้ารับว่าความให้ธนาคาร สถาบันการเงิน หรือเศรษฐี คดีหลายร้อยล้านคิดเงิน 10-20% ก็ได้เยอะแล้ว เพราะฉะนั้นค่าทนายความไม่มีเรตตายตัว

 

 

คดีที่ทำโดยไม่คิดค่าตอบแทน

 

กฤษฎางค์: ผมเริ่มต้นมาไม่เหมือนคนอื่น เพราะตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือและทำกิจกรรม ผมฝันไว้ว่าจะเอาอาชีพนี้มาช่วยคน พอคิดว่าจะเอามาช่วยคน เราก็คิดว่ามีเกณฑ์ของเราที่ทำโดยไม่คิดค่าตอบแทน คือคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐ คนที่ถูกรังแก ซึ่งจะมองว่าเป็นคดีการเมืองด้วยก็ได้ เพราะทุกอย่างก็เป็นการเมืองหมด

 

ชาวบ้านบ่อนอก ประชาชนสู้เพื่อสิ่งแวดล้อม ก็การเมือง ชาวบ้านตากใบ ก็เรื่องการเมือง ผมไม่ได้ว่าความคดีตากใบ แต่ชื่นชมทนายที่ว่าความคดีนี้ ส่วนคนที่มาด้วยเรื่องคดีอาชญากรรม ผมก็แนะนำให้เขาไปคุยกับคนที่เชี่ยวชาญกว่าผม เพราะคดีที่ทำอยู่และคดีจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (Thai Lawyers for Human Rights-TLHR) ก็มีเยอะมาก บางคดีจึงส่งไปมูลนิธิต่างๆ หรือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

 

ช่วงหลังรัฐประหาร 2557 ผมเป็นทนายคดี 14 นักศึกษาและนักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ซึ่งรวมถึง รังสิมันต์ โรม สส. พรรคประชาชน ในปัจจุบัน

 

นอกจากนั้นยังเป็นทนายให้เพื่อนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างกัน แต่เขาก็ต่อสู้อำนาจรัฐ เรายึดหลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แม้เขาคิดไม่เหมือนเรา อย่าง อาจารย์กิตติศักดิ์ ปรกติ ในคดีกบฏ เนื่องจากขึ้นไฮด์พาร์กบนเวที กปปส. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แล้วผมก็เป็นทนายให้ อาจารย์แก้วสรร อติโพธิ ด้วย

 

ปัจจุบันเป็นทนายความให้เยาวชนนักกิจกรรมทางการเมือง เช่น เพนกวิน, รุ้ง, เบนจา, ตะวัน, แบม, บุ้ง และใบปอ เขาแต่งตั้งให้เป็นทนายความ ซึ่งคดีการเมืองจำนวนมากจะมาจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

 

ลูกความผมที่เป็นเยาวชน ผู้ต้องหาคดีทางการเมือง ผมก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมศาลไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว ขณะรัฐธรรมนูญเขียนว่า การคุมขังผู้ต้องหา (ชั้นตำรวจ) หรือจำเลย (ชั้นศาล) คดีอาญา กระทำได้เท่าที่จำเป็น เพียงไม่ให้เขาหลบหนี การปล่อยตัวชั่วคราวเป็นหลัก ไม่ใช่ขังเป็นหลัก เพราะถ้าเขาสู้คดีชนะ แม้ได้เงินก็ไม่คุ้ม อย่างคดีตากใบ ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะมาพูดว่าจ่ายสตางค์แล้วก็จบ เพราะเป็นเรื่องเสรีภาพของคน สิ่งที่เขาเสียไปในชีวิตหากเขาสู้คดีแล้วเขาชนะ เขาไม่ผิด

 

คนไปติดคุก มีเรื่องตรอมใจ ไม่ได้คุยกับทนายเต็มที่ หาพยานหลักฐานไม่ได้ ต้องขึ้นศาลแล้วติดคุก ไม่รู้วันเดือนปีที่จะออกมา แล้วคุกไทยก็แตกต่างจาก ‘ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ’ ทำไมคุณทักษิณ ชินวัตร ได้ไปอยู่ ผมพยายามส่งลูกความไปยังไม่ได้เลย เป็นปัญหาของระบบราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม รวมถึงศาลด้วย เพราะศาลสั่งขัง ถ้าไม่มีหมายขังก็ไม่ติดคุก ส่วนโรงพยาบาลตำรวจก็ของตำรวจ ไม่ได้หมายความว่าคุณทักษิณผิดหรือไม่ แต่เป็นคำถามที่ผู้คนสงสัย ขณะที่คุณทักษิณไม่เคยติดคุกจนได้รับการปล่อยตัว

 

ฉะนั้น เนื่องจากปัญหาระบบเรื่องความยุติธรรม ทำให้เราได้ทนายความ, ตำรวจ, อัยการ และผู้พิพากษา อย่างที่เป็นอยู่

 

 

ไม่ใช่ทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน แต่ทำงานร่วมกันในฐานะเครือข่าย

 

กฤษฎางค์: ที่ศูนย์ทนายฯ จะมีทนายบางคนที่เป็นทนายประจำ เขามีเงินเดือนจากที่นี่ ส่วนตัวผมไม่ได้สังกัดศูนย์ทนายฯ ไม่ได้รับเงินเดือน แต่มาทำงานร่วมกันในฐานะทนายเครือข่าย

 

เมื่อศูนย์ทนายฯ รับคดีมา ก็จะมาเลือกเรื่องที่เหมาะสมสำหรับทนายแต่ละคน เขาก็ส่งให้เราทำ ส่วนศูนย์ทนายฯ ได้รับบริจาคโดยองค์กรที่บริจาคช่วยเหลือ

 

ทนายความที่รัฐจัดให้ประชาชน

 

กฤษฎางค์: องค์กรของรัฐที่จัดทนายให้ประชาชน เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กรณีคดีอาญา ถ้าจำเลย (ชั้นศาล) หรือผู้ต้องหา (ชั้นตำรวจ) ไม่มีทนาย รัฐต้องจัดหาทนายให้ เรียกว่า ‘ทนายขอแรง’

 

ทุกคนที่ไปศาลอาญาต้องรู้ ไม่ว่าจะคดีเล็กคดีน้อย ศาลจะถามก่อนว่ามีทนายไหม ถ้าไม่มีทนายศาลจะจัดหาให้ ศาลก็เอางบประมาณรัฐไปจ้าง แต่ก็มีองค์กรช่วยเหลืออื่นๆ เช่น เนติบัณฑิตยสภาฯ ก็มีทนายช่วยเหลือประชาชน สภาทนายความฯ ก็มี ศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรืออัยการก็จะมีให้คำปรึกษาได้ แต่เขาจะมีเกณฑ์หรือเงื่อนไขของแต่ละแห่ง

 

ส่วนอัยการจะเป็นผู้ว่าความให้รัฐ เช่น รัฐกล่าวหาคดีตากใบ อัยการไปฟ้องข้าราชการที่ถูกกล่าวหาว่าผิด

 

 

การรักษาความยุติธรรมกับการรักษาผลประโยชน์ลูกความ จะชั่งน้ำหนักอย่างไรหากทราบว่าลูกความตัวเองกระทำผิด

 

กฤษฎางค์: ตั้งแต่เป็นทนายความมา เรื่องนี้ก็เป็นปัญหาโลกแตก คนจะถามว่า ถ้ารู้ว่าลูกความผิดจะทำคดีให้หรือเปล่า คำถามนี้อยู่ในใจทุกคน ผมอยากจะบอกอย่างนี้ว่า หลักการที่มีทนายความมาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงหลักกฎหมายทั่วไปในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR)

 

ผู้ต้องหาคดีอาญาทุกคนพึงได้รับโอกาสในการต่อสู้คดีเต็มที่ และที่สำคัญคือ ทนายความต้องมีมรรยาททนายความ เหมือนหมอมีจรรยาบรรณแพทย์ เช่น หมอต้องช่วยชีวิตคนโดยไม่สนว่าเป็นโจรหรือไม่ เขาต้องรักษาให้หาย แม้หลังจากนั้นจะถูกประหารชีวิตก็ต้องรักษาให้หายก่อน แต่ทนายความมีเรื่องที่ลึกกว่านั้นคือ โดยวิชาชีพ ไม่สันนิษฐานว่าลูกความตัวเองผิด แม้เราจะเชื่อเขาหรือไม่ก็ตาม ถ้าลูกความบอกว่าเขาไม่ได้ทำผิด เราก็ต้องต่อสู้ให้เขาบนแนวทางกฎของทนายความคือ ไม่สร้างพยานหลักฐานเท็จ ไม่โกหกคน เราฟังสิ่งที่เขาพูด เช่น เขาบอกว่าเขาไม่ได้อยู่ที่เกิดเหตุ ถ้าพยานอีกฝ่ายยืนยันว่าเขาอยู่ก็ต้องต่อสู้คดีไป

 

ทนายความพึงฟังลูกความอย่างที่เขาอยากบอก ทนายความมีความจำเป็นเพื่อให้คนมีโอกาสต่อสู้คดีเท่าเทียมกันหมด เราไม่ได้อยู่ในระบบให้ลุยไฟหรือทุบตีให้รับสารภาพ ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ จะปฏิบัติเสมือนเขาเป็นผู้กระทำความผิดแล้วไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องให้โอกาสคนได้ต่อสู้

 

ส่วนกรณีลูกความยอมรับกับทนายความว่าทำผิดจริง เช่น ฆ่าคนจริงๆ หรือโกงจริงๆ ทำจริงๆ แบบนี้ทนายความก็ต้องคุยกับเขาว่าจะเลือกอย่างไร จะสู้คดีก็ทำคดีให้ โดยไม่สร้างพยานหลักฐานเท็จ ซึ่งลูกความต้องติดคุก แต่เรามีคำแนะนำ ถ้ารับสารภาพการรับโทษจะเป็นอย่างไร เช่น จากโทษประหารชีวิตถ้ารับสารภาพจะเป็นจำคุกตลอดชีวิต หรือ 50 ปี และมีการลดหย่อนต่างๆ ตามกฎหมาย

 

การรักษาผลประโยชน์ของลูกความ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำเรื่องผิดให้เป็นถูก เรื่องนี้ห้ามและตามกฎหมายก็ทำไม่ได้อยู่แล้ว

 

 

เป็นทนายนักกิจกรรมก็มีราคาที่ต้องจ่าย

 

กฤษฎางค์: มี เพราะคนที่เป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา ยกตัวอย่าง คดี ม.112 บางคนเขาก็ขอเปลี่ยนจากเราเป็นทนายคนอื่น เขาก็ไปจ้างทนายอื่น เพราะเขาเห็นว่าเราเป็นตัวอันตราย เกเรในสายตารัฐ

 

ลูกความเปลี่ยนทนาย ไม่เลือกเราเพราะเขามีความเห็นอีกแบบหนึ่งก็มี บางทีเขาบอกว่าคดีนี้ไม่เอาคุณกฤษฎางค์เพราะไปขึ้นศาลแล้วจะถูกมองว่าเป็นเสื้อสีอะไร

 

ตั้งใจสอบเข้าธรรมศาสตร์เรียนกฎหมาย ก่อนเป็นทนายความ

 

กฤษฎางค์: ตั้งแต่เรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ก็เป็นนักกิจกรรมตั้งแต่ปี 2517 ต่อมาเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2518-2521 ทำกิจกรรมต่อต้านรัฐบาลทหาร จึงถูกมองว่าเป็นฝ่ายซ้าย เป็นคอมมิวนิสต์ เราทำกิจกรรมมาตลอดเพราะอยากทำ

 

ก่อนเข้ามหาวิทยาลัยตั้งใจจะเรียนกฎหมายตั้งแต่แรก เพราะครอบครัวเป็นข้าราชการ คุณพ่อเป็นนายอำเภอ พ่อเรียนโรงเรียนเตรียมปริญญา มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ต.ม.ธ.ก.) รุ่นที่ 7 (มัธยมปลายในสมัยนั้น) รุ่นเดียวกับคุณสัมผัส พึ่งประดิษฐ์ ต่อมาเรียนนายร้อย จปร. เป็นทหาร แล้วเรียนนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมัยเป็นตลาดวิชา มีความคิดอิสระ จากนั้นเป็นนายอำเภอ แล้วญาติพี่น้องส่วนใหญ่เรียนธรรมศาสตร์ 

 

ตอนเราเด็กๆ ก็ฟังครอบครัวคุยกันถึงอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เราก็รู้สึกว่าธรรมศาสตร์เป็นหัวก้าวหน้า ผมอ่าน ปีศาจ ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ แล้วก็ชื่นชม สาย สีมา นักสู้สามัญชน แล้วเวลาดูภาพยนตร์ต่างประเทศมีทนายเก่งๆ ก็ชื่นชอบ

 

พ่ออยากให้เป็นผู้พิพากษา ตอนนั้นก็ยังไม่รู้ด้วยว่าถ้าเป็นผู้พิพากษาจะเจอสภาพแบบไหน ตอนนี้ก็ยังรู้สึกตัดสินใจถูก ถ้าเป็นผู้พิพากษาคงเป็นได้ไม่เกิน 3 ปีโดนไล่ออก เพราะระบบราชการ ข้าราชการบางคนมีความกล้าหาญก็ต้องบาดเจ็บจากการถูกลงโทษ มีบางคนยิงตัวตายที่เห็นในข่าว

 

ตอนผมเรียนมัธยมปลาย โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ตั้งใจจะสอบเข้าเรียนกฎหมายแล้วก็ได้เข้าเรียน ปีนั้นปีการศึกษา 2518 อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ใช้วิธีให้นักศึกษาธรรมศาสตร์ ปี 1 ทั้งหมดเป็นนักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ แล้วแยกคณะปี 2 ตอนแยกคณะผมก็อยู่นิติศาสตร์ ทำกิจกรรมมาตลอด ระหว่างเรียนปริญญาตรีเป็นนักศึกษาคนหนึ่งที่ผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 

 

เคยลงสมัครและได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2 สมัย ในปีการศึกษา 2518-2519 ต่อมาในปีการศึกษา 2521 ได้รับการเลือกตั้งเป็น ‘นายกสโมสรนักศึกษาธรรมศาสตร์’ คนแรกและคนสุดท้าย เพราะตำแหน่งนี้มีเพียงปีเดียว จึงเป็นนายกสโมสรนักศึกษาธรรมศาสตร์คนเดียว ตำแหน่งคล้ายองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) เพราะสถานการณ์การเมืองในประเทศปีนั้นทำให้ภายในมหาวิทยาลัยไม่สามารถมีสภานักศึกษาและ อมธ. ได้ หลังจากปีนั้นจึงมีสภาและ อมธ. ตามปกติ

 

 

เหตุผลที่ยังเป็นทนายความ ไม่เปลี่ยนเส้นทางไปมีตำแหน่งทางการเมือง 

 

กฤษฎางค์: ผมไม่เชื่อในระบบ แม้มีคนมาชวนไปสมัคร สส. สว. ซึ่งอาจจะไม่ได้รับเลือกก็ได้นะ แต่ส่วนตัวไม่เชื่อในระบบกติกาการเลือกตั้งแบบนี้ ไม่เชื่อการไปดีลในรัฐสภา ซึ่งเป็นสิทธิของแต่ละคนที่เขาจะเชื่อแบบไหน 

 

ส่วนตัวผมก็ไปเลือกตั้งทุกครั้ง แต่ถ้าจะต้องไปอยู่ในเวทีแบบนั้น ก็เลือกไม่เอาตัวเองไปอยู่ตรงนั้น 

 

ผมเป็นทนายว่าความให้ สส. นักการเมืองพรรคอนาคตใหม่ ก้าวไกล ประชาชน ผมได้รับการจ้างให้เป็นทนาย มีการหักภาษี ผมไม่ได้ทำให้ฟรี ตอนนี้ก็ยังเป็นทนายในคดีแต่ละคน เช่น ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, ปิยบุตร แสงกนกกุล, รังสิมันต์ โรม และ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แต่คดีที่ดูแลอยู่ก็ไม่เยอะแล้ว

 

ผมไม่คิดจะไปเป็นนักการเมือง ส่วนทนายความที่เคยว่าความในคดีการเมืองแล้วตอนนี้ไม่เป็นทนายความแล้ว เปลี่ยนไปเป็นนักการเมืองแล้ว ก็อาจจะมีทั้งคนที่เปลี่ยนใจเพราะผลประโยชน์ หรือเปลี่ยนเพราะเดิมเขาเป็นคนแบบนั้นอยู่แล้ว นี่รวมถึงนักการเมืองเพื่อนผมซึ่งเป็น ‘คนเดือนตุลา’ ที่ไปเป็นนักการเมืองด้วยนะ เขาอาจเปลี่ยนเพราะผลประโยชน์ หรือเพราะเดิมเขาเป็นคนแบบนั้นอยู่แล้วก็ได้ เป็นการเลือกใช้ชีวิตของแต่ละคน 

 

 

 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising