คณะกรรมการ ส.อ.ท. มีมติเป็นเอกฉันท์เลือก ‘เกรียงไกร เธียรนุกุล’ นั่งประธาน ส.อ.ท. สมัยที่ 2 จากที่ก่อนหน้านี้ สมโภชน์ อาหุนัย รองประธาน ส.อ.ท. และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ท้าชิงกลางเทอม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มีมติเลือก เกรียงไกร เธียรนุกุล เป็นประธาน ส.อ.ท. วาระปี 2567-2569 โดยมีคณะกรรมการจำนวนทั้งสิ้น 366 คน ซึ่งมาจากผู้แทนสมาชิกประเภทสามัญจากทั่วประเทศจำนวน 244 คน กรรมการประเภทแต่งตั้งที่มาจาก 46 กลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท. และจาก 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ รวม 122 คน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘สมโภชน์ อาหุนัย’ ท้าชิงประธาน ส.อ.ท. ชูมายด์เซ็ต ‘ประเทศไทยหมดยุคทำของถูกขายแล้ว’
- เกิดอะไรขึ้นกับอุตสาหกรรมไทย? FDI อินโดฯ-เวียดนามพุ่ง สวนทาง ‘ไทย’ หากเดินช้าเสี่ยงหลุดสถานะผู้นำเศรษฐกิจอาเซียน
- ไขคำตอบ ทำไมเสน่ห์และความสามารถในการแข่งขันไทยค่อยๆ เลือนหาย ‘กับดักเศรษฐกิจไทย (บางเรื่อง)’ กำลังกลายเป็นแผลอักเสบเรื้อรัง
เกรียงไกรกล่าวว่า นโยบายจากนี้ 2 ปีที่ดำรงตำแหน่งจะยังคงเดินหน้าเรื่องของ ONE FTI ซึ่งตลอด 2 ปีที่ผ่านมาได้วางพื้นฐานไว้แล้ว และปีนี้จะเป็นการเริ่มโครงการอย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ ภารกิจแรกและเป็นภารกิจเร่งด่วน สิ่งที่เร่งดำเนินการให้เร็วที่สุดคือการแก้ปัญหาสินค้าด้อยคุณภาพ สินค้าต่างชาติ และสินค้าจีนทะลัก ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้ผู้ประกอบการหลายรายต้องปิดกิจการ ยุติการผลิต เหลือไว้แต่การตลาดเพื่อการขายเท่านั้น
“น่าห่วงมากว่าสินค้าที่ด้อยคุณภาพที่ทะลักเข้ามาจะใช้วิธีนำเข้าและปิดป้ายแบรนด์ นับว่าเป็นสัญญาณอันตรายมากของผู้ประกอบการไทย”
อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนจำเป็นต้องหารือกับทางกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่ดูเรื่องด่านศุลกากร, กระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) รวมถึงกระทรวงพาณิชย์ ที่ประกาศใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) และมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard Measure: SG)
ทั้งนี้ หลังจากนี้ ส.อ.ท. จะมีการปรับโครงสร้างใหม่โดยกรรมการบริหาร รวมถึงการเพิ่มสายงานอีก 2-3 สายงาน เช่น สายงานด้านครีเอทีฟ, อุตสาหกรรมกีฬา, การออกแบบ, AI และ Innovation ส่วนแผนการผลักดันระยะยาวคือสร้างขีดความสามารถแข่งขันอุตสาหกรรมแห่งอนาคต, S-Curve และ BCG
“2 ปีจากนี้จะให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาภาค SMEs อย่างจริงจัง โดยร่วมมือกับภาครัฐในการหามาตรการต่างๆ ที่จะช่วยผลักดัน SMEs ทั่วประเทศในการเปลี่ยนผ่านจาก SMEs ธรรมดาสู่ Smart SMEs ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมาทำได้ส่วนหนึ่งแล้ว แต่จะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จในอีก 2 ปีข้างหน้า”
เกรียงไกรระบุอีกว่า ส.อ.ท. อยากเห็นการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 10 เมษายนนี้ ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจไทยไม่ดี หนี้ครัวเรือนและค่าครองชีพสูง การลดดอกเบี้ยจะช่วยให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนได้ เพราะต้นทุนทางการเงินของผู้บริโภคและผู้ประกอบการต่ำลงทันที ถือว่าดีต่อประเทศ
“หากมองทิศทางธนาคารสหรัฐอเมริกา (Fed) คงต้องบอกว่าถ้าดูเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขณะนี้มีการจ้างงานที่แข็งแกร่งมาก หาก Fed ลดดอกเบี้ยลง ไทยเองก็ควรพิจารณา เพราะจะช่วยภาคเอกชนได้อย่างมาก รวมไปถึงดิจิทัลวอลเล็ตที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ กำลังซื้อ ซึ่งคงต้องรอดูผลการหารือพรุ่งนี้ ส่วนที่มาเงินกู้นั้น คาดว่าแหล่งที่มารัฐบาลอาจปรับมาใช้งบประมาณปี 2567-2568”