×

ผู้จัดการ ตลท. คนใหม่ ชูโมเดลตลาดหุ้นเกาหลี-ญี่ปุ่น ใช้โปรแกรม Corporate Value-up และ Corporate Governance Reform เพิ่มมูลค่า บจ.ไทย

03.10.2024
  • LOADING...

ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยคนใหม่เปิดวิสัยทัศน์เป็นทางการกับสื่อมวลชนเป็นครั้งแรก มีหนึ่งในแผนกลยุทธ์สำคัญช่วง 3 ปีข้างหน้าของตลาดหลักทรัพย์ฯ คือการนำโปรแกรม Corporate Value-up และ Corporate Governance Reform มาใช้เพิ่มมูลค่าของ บจ.ไทย

 

อัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยวิสัยทัศน์ในงานแถลงข่าว ‘Meet the Press ทำความรู้จักกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่ 14’ หลังจากมาเริ่มงานในวันที่ 1 สิงหาคม 2567 เพื่อเตรียมการก่อนเข้ารับตำแหน่งกรรมการและผู้จัดการอย่างเป็นทางการในวันที่ 19 กันยายน 2567 ว่า ปัจจุบันผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างขั้นตอนในการจัดทำแผนกลยุทธ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ระยะ 3 ปีข้างหน้า (ปี 2568-2570) คาดว่าจะทำเสร็จสามารถนำเสนอต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้ และประกาศแผนกลยุทธ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ดังกล่าวออกมาอย่างเป็นทางการในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ 

 

โดยส่วนหนึ่งของแผนงานมีนโยบายที่ต้องการพัฒนายกระดับคุณภาพและเพิ่มมูลค่าให้กับบริษัทจดทะเบียน (บจ.) โดยขณะนี้ทีมงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ศึกษาตลาดหลักทรัพย์ฯ ในภูมิภาคที่มีโปรแกรมในการดำเนินการเรื่องนี้อยู่แล้ว ทั้งตลาดหุ้นเกาหลีใต้ที่มีโปรแกรม Corporate Value-up Program ส่วนตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่มีโปรแกรม Corporate Governance Reform ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดี 

 

โดยตนเองกับทีมงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ เตรียมเสนอแผนโปรแกรมลักษณะนี้ต่อเสนอต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) อยู่ในแผนกลยุทธ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ระยะ 3 ปีข้างหน้า เพื่อสร้างแรงจูงใจกับ บจ. เพิ่มมูลค่ากิจการของบริษัท โดยจะต้องมีการร่วมกันทำงานกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวมทั้งรัฐบาลด้วย

 

ทั้งนี้ เพื่อทำให้ บจ. สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน และให้ผลตอบแทนที่ดีกับผู้ลงทุน ซึ่งยอมรับว่ามีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หลายบริษัทที่สามารถเพิ่มมูลค่าได้ผ่านการลงทุนและการคิดนอกกรอบในการแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ซึ่งทางตลาดหลักทรัพย์ฯ จะส่งเสริมในเรื่องนี้ รวมถึงการมองหาธุรกิจที่เป็น New Economy เข้ามาในตลาดหลักทรัพย์ฯ มากขึ้น เพื่อสร้างความน่าสนใจในการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ 

 

อีกทั้งมีนโยบายดึงดูดบริษัทจดทะเบียนในภูมิภาคอาเซียนให้เข้ามาระดมทุนและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางการระดมทุนของภูมิภาค (Listing Hub) 

 

สำหรับวิสัยทัศน์หลักในฐานะผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ 2 ข้อมีดังนี้ 

 

  1. สร้างให้ตลาดทุนไทยเพื่อส่วนรวม โดยคำนึงถึงผลประโยชน์และสร้างสิ่งที่ดีให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้ตลาดทุนไทยสามารถสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทย และทุกคนที่เกี่ยวข้อง พร้อมรับฟังเสียงจากรอบด้าน เพื่อนำมาปรับปรุงพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

  1. สร้างตลาดทุนให้เกิดความเท่าเทียมในหลายมิติ เพื่อเป็นการสร้างโอกาสเข้าถึงตลาดทุนของทุกคนทั้งนักลงทุนและภาคธุรกิจ ในการที่ใช้ตลาดหลักทรัพย์เป็นเครื่องมือในการระดมทุนและการลงทุน

 

 อีกทั้งมีรายละเอียดของการพัฒนาตลาดทุนจำนวน 5 ด้าน ได้แก่

  1. สมดุลเท่าเทียม (Fairness)
    2. เข้าถึง ทั่วถึง (Inclusiveness)
  2. ตอบโจทย์อนาคต แข่งขันได้ (Re-imagine)
  3. รับโอกาสและความท้ายจากกระแสความยั่งยืน (Sustainability)
  4. เสริมความเชื่อมั่นตลาดทุนไทย (Trust & Confidence)

 

เดินหน้าฟื้น Trust & Confidence

 

สำหรับด้าน Trust & Confidence ในฐานะที่ตนเองเพิ่งมารับตำแหน่ง ยอมว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นซึ่งมีผลกระทบทำให้ความเชื่อมั่นในตลาดทุนไทยลดลง 

 

อย่างไรก็ดี ทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ และหน่วยงานกำกับดูแลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันออกมาตรการ รวมทั้งแผนงานหลายด้านออกมา เพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้คืนกลับ ดังนั้นตนเองในฐานะผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงมีหน้าที่ในการเชื่อมต่อแผนให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม

 

ขณะที่แผนด้านการสร้าง Trust & Confidence ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังคงเดินหน้าทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อทำให้กระบวนการทำงานต่างๆ เมื่อมีเหตุการณ์ผิดปกติเกิดขึ้น ต้องมีการดำเนินการที่รัดกุมรวดเร็ว และทำให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ลงทุน และทำให้ผู้ลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น 

 

รวมถึงการหาแนวทางลดความเสี่ยงต่างๆ ที่มีโอกาสเกิดขึ้นในการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยล่าสุด 3 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงาน ปปง., สำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ลงนามบันทึกความตกลงร่วมกัน (MOU) ยกระดับความร่วมมือในการป้องปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ฯ ซึ่งเป็นแนวคิดที่คล้ายกับวิสัยทัศน์ที่ตนเองเคยนำเสนอในช่วงสัมภาษณ์กับบอร์ดของตลาดหลักทรัพย์ฯ  

 

แจงเข้าทำงานที่ดีลอยท์หลัง STARK ไม่ใช้ดีลอยท์เป็นผู้สอบบัญชีแล้ว

 

อัสสเดชชี้แจงต่อถึงกรณีที่ตนเองเคยมีประสบการณ์ทำงานที่ดีลอยท์ระบุว่า

 

“เมื่อพูดถึงดีลอยท์ หลายคนคงมีคำถามค้างคาใจ ซึ่งผมเข้าทำงานที่ดีลอยท์หลังจากที่ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น หรือ STARK เปลี่ยนผู้สอบบัญชี ซึ่งไม่ได้ใช้ดีลอยท์เป็นผู้สอบบัญชีแล้ว ส่วนหน่วยงานของผมที่ทำในดีลอยท์เป็นส่วนของการดูแลด้าน Financial Advisory เป็นงานที่ปรึกษาทางการด้าน M&A มากกว่า ไม่ใช่งานด้านตรวจสอบบัญชี และปัจจุบันผมไม่ได้ถือหุ้นในดีลอยท์แล้ว”

 

สำหรับมุมมองตลาดหุ้นไทยในช่วงที่เหลือของปี 2567 นี้ มองว่ามีทิศทางที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับอานิสงส์บวกจากเม็ดเงินของกองทุนรวมวายุภักษ์ที่เข้ามา และในปลายปีนี้จะมีเม็ดเงินจากกองทุน ThaiESG เข้ามาเสริม อีกทั้งปัจจุบันรัฐบาลมีเสถียรภาพ ทำให้การขับเคลื่อนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนต่างๆ ออกมาได้ต่อเนื่อง ช่วยหนุนต่อเศรษฐกิจไทยให้ดีขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่หนุนต่อตลาดหุ้นไทย แม้ว่าปัจจัยภายนอกจะมีความผันผวนจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X