×

‘กอบศักดิ์’ มองตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ถือเป็นข่าวดีแม้สูงกว่าคาดการณ์ เตือนตลาดยังไม่ปลอดภัย Fed อาจต้องขึ้น ดบ. สูงกว่า 5%

14.09.2022
  • LOADING...
กอบศักดิ์ ภูตระกูล

‘กอบศักดิ์’ มองเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ลดลงเป็นเดือนที่สองติดต่อกันเป็นข่าวดีและสัญญาณเชิงบวก ชี้ราคาสินทรัพย์ร่วงแรงเพราะตลาดคาดการณ์ผิด เตือนนักลงทุนระวังถูกเซอร์ไพรส์อีกเป็นระยะ หลัง Fed อาจต้องขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 5% เพื่อคุมเงินเฟ้อ  

 

กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย และกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Kobsak Pootrakool ถึงการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนสิงหาคมของสหรัฐฯ ที่ออกมาสูงกว่าคาดการณ์ของตลาด จนส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ต่างๆ ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง โดย Bitcoin -10.0% หรือ -2,250 ดอลลาร์ ลงมาอยู่ที่ 20,150 ดอลลาร์ ขณะที่ ดัชนี Nasdaq -5.2% หรือ -633 จุด Dow -3.9% หรือ -1,276 จุด ส่วนทองคำลดลงมาต่ำกว่า 1,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และค่าเงินสกุลต่างๆ ทั้ง ยูโร เยน ปอนด์ ดอลลาร์แคนาดา ดอลลาร์ออสเตรเลีย ดอลลาร์นิวซีแลนด์ พากันอ่อนยวบ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


โดยระบุว่า ข้อมูลเงินเฟ้อที่ออกมานั้นโดยรวมแล้วถือว่าเป็นข่าวดี เนื่องจากตัวเลขปรับลดจาก 8.5% ในเดือนก่อนหน้ามาอยู่ 8.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี แม้เงินเฟ้อจะยังดื้อแพ่ง ไม่ยอมลงมามากอย่างที่คาดกันไว้ที่ 8.1% ทำให้ตลาดไม่ชอบใจ คิดว่าดีไม่พอ จึงร่วมใจกันเทสินทรัพย์ต่างๆ อีกรอบ

 

แต่จากมุมมองนักเศรษฐศาสตร์ ต้องบอกว่าการปรับตัวของเงินเฟ้อสหรัฐฯ กำลังเป็นไปในทิศทางที่เรียกว่า ‘Right Direction’ ลดลงต่อเนื่อง ไม่เพิ่มขึ้นไปเหมือนกรณียุโรป

 

นอกจากนี้ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหรือ MoM เงินเฟ้อยังเพิ่มขึ้นแค่ 0.1%

 ไม่ใช่ 1.0-1.3% เช่น ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน จากการลดลงของราคาน้ำมันที่ปั๊มในสหรัฐฯ โดยเฉพาะ Gasoline ที่ลดลง -10.6% และ Fuel Oil -5.9% เข้ามาช่วย จะมีก็เพียงเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 5.9% มาที่ 6.3% (YoY) ซึ่งเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เพิ่มขึ้นที่ +0.6% จากการเพิ่มขึ้นของราคาในหมวดรถยนต์ใหม่ (+0.8%) ที่อยู่อาศัย (+0.7%) และบริการการแพทย์ (+0.8%)

 

แต่เมื่อดูโดยละเอียดแล้ว ต้องบอกว่าการเพิ่มขึ้นของเดือนล่าสุดใกล้เคียงกับช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณ +0.6-0.7% ทำให้ไม่น่ากังวลใจมาก เพราะหมวดที่เป็นตัวดึงขึ้นเหล่านี้ เมื่อเศรษฐกิจชะลอลงก็จะไม่เพิ่มในอัตรานี้ นอกจากนี้ โดยปกติแล้วการปรับตัวของเงินเฟ้อจะเริ่มที่ Headline Inflation ก่อน พอเงินเฟ้อตัวรวมลงมาระยะหนึ่ง เงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ก็จะค่อยๆ ดีขึ้นตามในช่วงต่อไป จึงกล่าวได้ว่า ตัวเลขเงินเฟ้อเมื่อคืนนี้ถือว่าเป็นข่าวดี ที่ช่วยย้ำว่าเงินเฟ้อน่าจะ Peak ในช่วงปลายปีนี้ตามที่คาดกันไว้

 

อย่างไรก็ดี การที่ราคาสินทรัพย์ในตลาดปรับลดลงมาระเนระนาดอีกรอบในครั้งนี้ ปัญหาอยู่ที่นักลงทุนคาดไว้ผิด พยายามเดาทางธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) คงจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยแรงปลอบใจกัน พยายาม Convince กันเองว่าถ้าเงินเฟ้อลงมาเร็ว Fed ก็จะขึ้นดอกเบี้ยไป 4% นิดๆ แล้วก็จะจบรอบ ครั้นพอเห็นเงินเฟ้อดื้อแพ่งลงมาช้าก็เลยกลัวใจ Fed ว่าจะต้องใช้ยาแรงขึ้นดอกเบี้ยไปอีก มากกว่าที่ตลาดคาดไว้ ทำให้ที่ตลาดเคยคิดกันว่าปลอดภัยแล้ว ลงทุนได้แล้วอาจจะไม่จริง ทำให้นักลงทุนต้องแย่งกันออกอีกรอบ

 

กอบศักดิ์ประเมินว่า ในช่วงต่อไปเรื่องในลักษณะนี้คงเกิดขึ้นอีกเป็นระยะๆ เนื่องจากคงไม่ใช่เรื่องง่ายที่เงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ระดับ 8-9% จะกลับมาที่กรอบเป้าหมายที่ 2% และการปรับขึ้นดอกเบี้ย 4% ไม่มีทางที่จะเอาเงินเฟ้อที่สูงขนาดนั้นอยู่ คิดง่ายๆ ว่าหากไฟโหมทั้งป่าแล้วมีรถดับเพลิงแค่ 2-3 คัน คงยากจะดับได้ ดังนั้นดอกเบี้ยที่ Fed จะต้องขึ้นไปนั้นยังอีกมากพอสมควร อย่างน้อยต้องมากกว่า 5% ขึ้นไป

 

โดยทุกๆ 6-8 สัปดาห์ หลังประชุมเสร็จ Fed จะส่งสัญญาณเพิ่มว่าดอกเบี้ยที่ขึ้นมานั้นยังไม่พอ ยังไม่จบรอบเงินเฟ้อที่เริ่มลง ยังลงมาไม่มากพอ Fed ยังนอนใจไม่ได้ ยังต้องสู้ต่อไป ทำให้นักลงทุนที่พยายามเก็งว่า Fed จะจบรอบแล้วถูกเซอร์ไพรส์เป็นระยะๆ จนกระทั่ง Fed เริ่มชะลอการขึ้นดอกเบี้ยจาก 0.75% มาที่ 0.5% มาที่ 0.25% และ Fed คิดว่าพอแล้ว ตลาดก็จะสงบขึ้น

 

แต่ถึงจุดนั้นตลาดก็จะต้องเรียนรู้อีกรอบว่า พอขึ้นดอกเบี้ยสูงพอแล้ว ไม่ได้หมายความว่าดอกเบี้ยจะลงทันที เพราะ Fed คงต้องแช่ยา แช่ดอกเบี้ยไว้ระดับสูงนานกว่าที่ตลาดคาด เพื่อสยบเงินเฟ้อให้ได้ ทำให้เกิดความผันผวนในตลาด ดัชนีขึ้นลงเป็นระลอกๆ ขึ้นจากการคาดการณ์ดีเกิน และลงจากการต้องปรับตัวรับข่าวจาก Fed ตลาดคงเป็นอย่างนี้ไปอีกระยะ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X