×

Klarna วางแผนลดพนักงานอีก 50% โดยใช้ AI เข้ามาแทนที่ แต่ย้ำเงินเดือนจะพุ่งแรงสำหรับมนุษย์ที่รอด

30.08.2024
  • LOADING...

Klarna บริษัทที่ให้บริการ ‘ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง’ (Buy Now Pay Later) ชั้นนำของโลก วางแผนลดจำนวนพนักงานลงเกือบครึ่งหนึ่งในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยอ้างถึงประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนในเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)

 

ปัจจุบัน Klarna มีพนักงาน 3,800 คน ลดลงจาก 5,000 คนในปีที่ผ่านมา และตั้งเป้าลดลงเหลือ 2,000 คน โดยจะใช้ AI ด้านการตลาดและการบริการลูกค้า

 

ซีอีโอของบริษัทอย่าง Sebastian Siemiatkowski ให้สัมภาษณ์กับ BBC ว่า การลดพนักงานจะช่วยให้ Klarna จ่ายเงินเดือนให้พนักงานที่เหลืออยู่ได้มากขึ้น แต่เขาก็เตือนว่ารัฐบาลควรพิจารณาถึงผลกระทบของ AI ต่อการจ้างงานและสังคม โดยมองว่า AI จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อตลาดแรงงานในอนาคต

 

การที่ AI เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้เกิดการถกเถียงถึงประโยชน์และความเสี่ยงของเทคโนโลยีนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เคยเตือนว่า AI อาจส่งผลกระทบต่องานเกือบ 40% ทั่วโลก และอาจทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจรุนแรงขึ้น ในขณะที่ในบางอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมเกม นักพัฒนาก็กังวลว่า AI กำลังแย่งงานของพวกเขาไป

 

สหภาพแรงงานก็ออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับการเลิกจ้างงานที่อาจเกิดขึ้นจำนวนมาก เพราะ AI เติบโต และเรียกร้องให้มีการออกกฎหมายเพื่อปกป้องแรงงาน

 

Klarna เปิดเผยแผนลดพนักงานในขณะที่ประกาศผลประกอบการระหว่างกาล ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้น 27% เป็น 1.33 หมื่นล้านโครนาสวีเดน (ประมาณ 4.4 หมื่นล้านบาท) โดยบริษัทระบุว่า การลงทุนกับ AI ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและเพิ่มกำไรขั้นต้น

 

Siemiatkowski กล่าวว่า Klarna จะลดจำนวนพนักงานผ่าน ‘การลดลงตามธรรมชาติ’ (Natural Attrition) ซึ่งหมายถึงการไม่จ้างพนักงานใหม่มาทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง เขายืนยันว่า AI จะเข้ามาแทนที่ตำแหน่งงานเหล่านี้ และอาจเป็น ‘การพัฒนาในเชิงบวก’ ที่มีศักยภาพสำหรับพนักงานบางคนที่อาจได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้น

 

อย่างไรก็ดี เป็นที่เข้าใจกันว่า Klarna กำลังลดขนาดกำลังคนก่อนเตรียมเสนอขายหุ้นต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก (IPO) ซึ่งการที่ Klarna แสดงให้เห็นว่าเป็นผู้สนับสนุน AI อาจทำให้นักลงทุนสนใจหุ้นของบริษัทมากขึ้นเมื่อเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising