×

KKP ชี้ เศรษฐกิจไทยไม่โตเพราะอำนาจผูกขาด ย้ำ 3 ปัจจัยเร่งสร้างเทคโนโลยี

10.11.2020
  • LOADING...
KKP ชี้ เศรษฐกิจไทยไม่โตเพราะอำนาจผูกขาด ย้ำ 3 ปัจจัยเร่งสร้างเทคโนโลยี

แม้ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 จะเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างชัดเจนเพราะโควิด-19 แต่ต้องยอมรับว่าปัญหาของเศรษฐกิจไทยไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นใน 1-2 ปีนี้ เห็นได้จากปัญหาการส่งออกของไทยที่ขยายตัวลดลงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการลงทุนจากต่างชาติน้อยลง และการพัฒนาเทคโนโลยีที่อยู่ในระดับต่ำมาเกือบทศวรรษ 

 

ด้าน KKP Research เกียรตินาคินภัทร ระบุว่าปัญหาใหญ่ของไทยยังคงหนีไม่พ้น 3 ความเสี่ยงพื้นฐาน ได้แก่ 

1. ธุรกิจเดิมที่ไม่เปลี่ยนแปลงอาจล้มลงอย่างไม่ทันตั้งตัว เช่น ธุรกิจสื่อ ธุรกิจธนาคาร และการเข้ามาของโมเดิร์นเทรด


2. เศรษฐกิจไทยจะดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศได้น้อยลง และความเสี่ยงการย้ายฐานการผลิตออกไปประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มมากขึ้นมาจากประชากรวัยทำงานหดตัวลง ค่าแรงไทยสูงเป็นอันดับต้นๆ ของอาเซียน และประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามที่กลายเป็นเป้าหมายการลงทุนทางตรง (FDI) ของหลายประเทศ เพราะได้สิทธิประโยชน์ทางการค้าเสรี ซึ่งทำให้แนวโน้มความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเพิ่มสูงขึ้นด้วย 

 

3. ไทยจะไม่สามารถหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางได้ ทั้งจากปัญหาประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัยและแรงงานที่ลดลงตั้งแต่ปี 2558 มีทางเดียวที่ไทยจะก้าวข้ามปัญหานี้คือการพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรมผ่านการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาอย่างเข้มข้น เช่น เพื่อนบ้านในภูมิภาคอย่างเกาหลีใต้ จีน หรือสิงคโปร์ ที่มีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนามากกว่า 2% ของขนาดเศรษฐกิจ สูงกว่าการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของไทยที่มีอยู่ต่ำกว่าเพียง 1% ของ GDP เท่านั้น

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

ดังนั้นสอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจหลายประเทศต้องพึ่งพาเทคโนโลยีเป็นหลัก สะท้อนได้จากประเทศพัฒนาแล้วทั้งในเอเชียและตะวันตกในตลาดหุ้นที่ล้วนมีสัดส่วนหุ้นเทคโนโลยีในระดับสูง โดยมีข้อชี้ชัดว่าเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงจึงเห็นการฟื้นตัวของตลาดหุ้นในสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ในอัตราที่เร็วกว่าประเทศไทย 

 

ความแตกต่างในการฟื้นตัวนี้ทำให้เห็นโครงสร้างของตลาดหุ้นไทยที่ยังขาดบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยี โดยปัจจุบันมีสัดส่วนหุ้นกลุ่มนี้เพียง 3% ของตลาด ขณะที่ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐฯ มีสัดส่วนหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีสูงถึง 28% ส่วนไต้หวันมีสัดส่วนที่ 57% โดยในตลาดหุ้นไทย 10 อันดับแรกเป็นบริษัทที่มีธุรกิจดั้งเดิม 

 

ขณะที่ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ความสามารถด้านการแข่งขันในการส่งออกของไทยลดลงอย่างชัดเจน อัตราการเติบโตด้านการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเหลือเพียงหลักเดียว (5% ต่อปีในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา) ในขณะที่ประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามโตเฉลี่ย 20% ต่อปี ส่วนหนึ่งมาจากระดับการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในภาคการผลิตของไทยอยู่ที่ 23% แทบไม่มีการพัฒนาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ส่วนเวียดนามนั้นปัจจุบันพุ่งสู่ระดับ 40% โดยเริ่มแซงหน้าไทยตั้งแต่ปี 2555 

 

 

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าแม้ภาครัฐของไทยจะมีแนวคิดในการย้ำและตระหนักว่าต้องพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เห็นได้จากปี 2558 ที่เริ่มใช้นโยบาย Thailand 4.0 แต่ยังไม่เห็นประสิทธิผลที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยทาง KKP Research มี 3 สาเหตุที่สนับสนุนการยกระดับเทคโนโลยีของไทย ได้แก่ 

 

1. ไทยขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะในด้านการศึกษาและบุคลากร
2. ไทยขาดทั้งการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่จะช่วยต่อยอดทางเทคโนโลยี 
3. ไทยขาดทั้งการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่จะช่วยต่อยอดทางเทคโนโลยี

 

โดยข้อ 3 นี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ไทยไม่สามารถยกระดับเทคโนโลยีหรือมีสตาร์ทอัพหลากหลาย เพราะเมื่อดูในเชิงโครงสร้างไทย หลายอุตสาหกรรมมีผู้เล่นน้อยราย มีอุปสรรคสูงในการเข้าสู่ตลาด (Barrier to Entry) และมีการกระจุกตัวของผลกำไรสูง

 

ทั้งนี้ในงานวิจัยที่ผ่านมาเห็นชัดว่าการมีอำนาจตลาดสูงเป็นข้อจำกัดของการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพราะบริษัทใหญ่ที่มีรายรับและกำไรสูงจากอำนาจตลาดจะไม่มีแรงจูงใจในการลงทุนเพื่อประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนานวัตกรรม และมีแนวโน้มที่จะเลือกแสวงหาและรักษาอำนาจตลาดผ่านกลไกและเครือข่ายต่างๆ ทั้งในและนอกตลาดมากกว่าลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรม

 

สุดท้ายนี้ สิ่งที่ภาครัฐต้องเร่งทำคือควรลดอำนาจตลาดของผู้เล่นรายใหญ่ และลดกฎระเบียบให้ผู้เล่นรายใหม่สามารถเข้าสู่ตลาดได้ การสร้างระบบการศึกษาที่หลากหลายและมีส่วนร่วมเพื่อสร้างแรงงานที่ตอบโจทย์ และส่งเสริมให้เกิดการลงทุนทางเทคโนโลยีในประเทศ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่เป็นจุดแข็งของไทย เช่น ธุรกิจอาหารและบริการอาหาร การท่องเที่ยวและสุขภาพ ฯลฯ

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising