จากปัญหาการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ชะลอลงในระยะหลัง รวมทั้งหนี้ครัวเรือนในระบบที่สูงขึ้น ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) เปิดเผยว่า การปล่อยสินเชื่อทั้งระบบของธนาคารพาณิชย์หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี ในไตรมาส 3 ปีก่อน และคาดว่าจะหดตัวต่อเนื่องในไตรมาส 4 ที่ผ่านมา โดยข้อมูล ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2567 สะท้อนความกังวลของภาคการเงิน
ทั้งนี้ การปล่อยสินเชื่อในระบบหดตัวต่อเนื่องตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 ก่อนจะหดตัวเพิ่มขึ้นเป็น 2.6% ในเดือนพฤศจิกายน โดยเฉพาะสินเชื่อรายย่อยที่หดตัวมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม สินเชื่อธุรกิจและ SMEs ยังขยายตัวได้เล็กน้อย ประมาณ 1.6% ในเดือนพฤศจิกายน 2567
ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้นโยบายขาดดุลทางการคลัง เช่น มาตรการแจกเงินซึ่งยังไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก ขณะที่หนี้สาธารณะของไทยเสี่ยงที่จะทะลุเพดานที่กำหนดไว้ 70% ในอีก 2 ปีข้างหน้า ทำให้การใช้จ่ายทางการคลังมีข้อจำกัดมากขึ้น
“ที่ผ่านมาจะเห็นว่าค่าใช้จ่ายสวัสดิการของภาครัฐเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 19% เป็น 29% ระหว่างปี 2557-2566 ทำให้ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น การลงทุน การกระตุ้นเศรษฐกิจทำได้น้อยลง ขณะที่รายได้ของรัฐบาลก็ลดลงเช่นกัน”
นอกจากนี้อัตราดอกเบี้ยของไทยยังค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับเงินเฟ้อ ทำให้มีโอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะลดดอกเบี้ยลงอีกได้ในปีนี้
สินเชื่อรถยนต์ฉุดกำไรร่วง 2 ปีติด
หนึ่งในอุตสาหกรรมที่น่าห่วงท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงคืออุตสาหกรรมยานยนต์ เมื่อปี 2567 ยอดผลิตรถยนต์ในไทยอยู่ที่ 1.46 ล้านคัน ลดลง 19.95% จากปีก่อนหน้า โดยเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 4.59 แสนคัน ลดลง 33.09% และส่งออก 1 ล้านคัน ลดลง 12.07%
อภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) เปิดเผยว่า กำไรของบริษัทหดตัว 2 ปีติดต่อกัน สาเหตุสำคัญมาจากอุตสาหกรรมรถยนต์ที่หดตัว ซึ่งเลี่ยงไม่ได้ที่จะกระทบต่อธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์
“จากภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ต้องเรียกว่าวิกฤต เนื่องจากราคารถยนต์ที่ตกต่ำ กระทบต่อการเกิด NPL ใหม่ๆ และ Credit Cost ที่สูงขึ้นจากการยึดรถ” อภินันท์กล่าว
สำหรับปีนี้คาดว่าการหดตัวของยอดปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์โดยรวมน่าจะยังหดตัวใกล้เคียงกับปีก่อนที่ประมาณ 11% เนื่องจากบริษัทเข้มงวดในการปล่อยมากขึ้น เน้นลูกค้าที่มีความเสี่ยงจะเป็นหนี้เสียน้อย และคัดกรองรุ่นรถ อายุรถ รวมทั้งดีลเลอร์ อย่างเข้มงวดมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม สินเชื่อในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้าน ยังอยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมได้ ขณะที่รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยซึ่งมาจากธุรกิจอื่นๆ ยังคงเติบโตได้ค่อนข้างดี เช่น ธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) ยังคงเติบโตดี โดยมีสินทรัพย์ภายใต้การแนะนำ (AUA) และสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) รวมเกินกว่า 1 ล้านล้านบาท ในปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะเติบโตเกินกว่า 10% ได้ในปีนี้
โดยภาพรวม KKP ตั้งเป้าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 4.8-4.9% ส่วน NPL คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 4.1-4.3% และต้นทุนเครดิต (Credit Cost) ที่ 2.20-2.40% ขณะที่อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROE) ที่ระดับ 9-10% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 8.4%
แม้รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยของบริษัทจะยังเติบโตได้ดี แต่ก็ยังไม่สามารถจะเข้ามาชดเชยรายได้ดอกเบี้ยที่ชะลอตัวได้ สิ่งสำคัญคือการพยายามบริหารต้นทุนต่างๆ ให้ลดลง
นอกจากนี้ธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงินก็ได้รับผลกระทบจากภาวะตลาดหุ้นไทยที่ชะลอลงเช่นกัน และด้วยความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกก็ทำให้ดีลต่างๆ ชะลอออกไป อย่างกรณีการเป็นที่ปรึกษาของการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (IPO) ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทก็ไม่ได้มีดีลเหล่านี้ สิ่งสำคัญคือการพยายามกระจายธุรกิจไปยังหลากหลายส่วน รวมทั้งกระจายออกไปต่างประเทศมากขึ้น