งานศพในไทยมีการจัดต่อเนื่องยาวนานหลายวันหลายคืน มีมหรสพร้องรำทำเพลง ดีดสีตีเป่าสนุกสนานด้วยฆ้องกลองปี่
ทั้งหลายนี้ล้วนเกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องขวัญในศาสนาผีของอุษาคเนย์หลายพันปีมาแล้ว
มีข้อสันนิษฐานว่าภาพเขียนถ้ำลายแทง อ. ภูกระดึง จ. เลย (ด้านบน) น่าจะเป็นงานศพหรือพิธีกรรมเกี่ยวกับความตายยุคดึกดำบรรพ์เมื่อหลายพันปีก่อน
ภาพนี้บอกอะไรมากมายที่เชื่อมโยงและส่งต่อมาถึงพิธีศพของไทยในปัจจุบัน
ชุมชนยุคแรกเริ่มเมื่อหลายพันปีมาแล้ว มีคนต่างระดับ ได้แก่ คนตระกูลผู้นำ กับคนธรรมดาสามัญชนทั่วไป ด้วยเหตุนี้พิธีศพของคนในสังคมจึงต่างกัน
พิธีศพตระกูลผู้นำ ได้แก่ หมอผี หัวหน้าเผ่า จะมีพิธีกรรมกำหนดกฎเกณฑ์เป็นแบบแผน ในหลุมศพพบโครงกระดูกและเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ซึ่งทำจากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในเวลานั้น เช่น เครื่องมือโลหะสำริด เหล็ก ฯลฯ
ขณะที่พิธีศพของคนทั่วไป เข้าใจว่าเมื่อเสร็จสิ้นพิธีเรียก ‘ขวัญ’ น่าจะทิ้งร่างไว้กลางทุ่งหรือกลางป่า ปล่อยให้แร้งกากินซากศพ
ในย่อหน้าที่แล้ว คุณน่าจะสังเกตเห็นคำว่า ‘ขวัญ’ ซึ่งเป็นความเชื่อของคนพื้นเมืองอุษาคเนย์ที่นับถือศาสนาผีตั้งแต่หลายพันปีมาแล้วสืบจนทุกวันนี้
ซึ่งเชื่อว่า ‘คนตายเพราะขวัญหาย’ จากร่างของคนแล้วหาทางกลับร่างไม่ถูก
ถ้าเรียกขวัญคืนร่างได้ คนก็ฟื้นคืนเป็นปกติ จึงมีพิธีเรียกขวัญต่อเนื่องหลายวันหลายคืน ขอให้ขวัญกลับเข้าร่าง
ดังนั้นเมื่อมีคนตาย เครือญาติพี่น้องต้องเชิญหมอผีหมอขวัญมาขับลำคำคล้องจองทำพิธีเรียกขวัญหลายวันหลายคืน ทั้งชุมชนจะตีเกราะเคาะไม้ประโคมฆ้องกลองปี่ร้องรำทำเพลงเต้นฟ้อนสนุกสนานเฮฮา ส่งเสียงอึกทึกกึกก้องให้ดังที่สุดให้ขวัญได้ยิน ขวัญจะได้กลับถูกทางและคืนร่าง
ระหว่างการเรียกขวัญจะใช้ ‘คำเรียกขวัญ’ (ปัจจุบันเรียก ‘บทส่งผี’) ขับลำนำในงานศพ ซึ่งมีโครงสร้างสำคัญ 2 ส่วนคือ
ส่วน ‘เรียกผีขวัญกลับ’ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ในป่า บนบก ในน้ำ ขอให้ผีขวัญกลับเรือนและบอกให้ผีขวัญ (ขวัญที่แยกตัวหนีไป) รู้ตัว
และส่วน ‘บอกทางผีขวัญไปเมืองฟ้า’ (ขึ้นไปบนฟ้า รวมพลังกับผีบรรพชนที่สิงสถิตอยู่ที่นั่นก่อนแล้ว เพื่อปกป้องคุ้มครองชุมชนกับเครือญาติที่ยังมีชีวิตอยู่ในโลกมนุษย์)
หมอผี หรือหมอขวัญ จะสวดส่วนที่หนึ่งหลายวันหลายคืนเพื่อเรียกผีขวัญกลับร่าง ครั้นสวดนานจนเห็นว่าขวัญไม่กลับถาวรแล้วจึงสวดส่วนบอกทางผีขวัญไปเมืองฟ้า
มหรสพที่มีการตีเกราะเคาะไม้ประโคมฆ้องกลองปี่ร้องรำในพิธีเรียกขวัญคืนร่างคนตายเรียกว่า ‘งันเฮือนดี’ หมายถึง การละเล่นรื่นเริงบนเรือนที่มีคนตาย
ต่อมางันเฮือนดีหลายวันหลายคืนถูกปรับเปลี่ยนเป็นสวดอภิธรรมเมื่อหลังรับศาสนาและอารยธรรมจากอินเดีย-ลังกาสืบจนทุกวันนี้ โดยยกศาสนาพุทธมาเคลือบผี เพราะตามประเพณีในอินเดียไม่มีสวดอภิธรรมศพ “เมื่อมีผู้วายชนม์ก็จะห่อหุ้มศพด้วยผ้าประดับดอกไม้วางบนแคร่ และนำไปประชุมเพลิงทันที” (จากบทความเรื่อง พิธีเกี่ยวกับความตายในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู โดย คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 21-27 ตุลาคม 2559 หน้า 81)
จะเห็นว่างันเฮือนดีในอีสานและในกลุ่มไทเป็นพิธีกรรมสืบเนื่องจากชุมชนดึกดำบรรพ์หลายพันปี ก่อนจะส่งทอดไม่ขาดสายและนับเป็นต้นทางงานศพของไทยซึ่งพบได้ทั่วไป
มีปรากฏในวรรณกรรมราชสำนักกรุงรัตนโกสินทร์ เช่น
‘อิเหนา’ บทละครพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 พรรณนาการละเล่นสนุกสนานเฮฮางานพระเมรุที่เมืองหมันหยา
‘ขุนช้างขุนแผน’ แต่งหลังรัชกาลที่ 2 พระพันวษาสั่งประหารชีวิตนางวันทอง แล้วมีงานศพที่มีการละเล่นมหรสพหลายอย่าง คนดูทุกชนชั้นสนุกโลดโผนเฮฮา
หลังเสร็จสิ้นพิธีเรียกขวัญซึ่งใช้เวลานานจนเนื้อหนังคนตายเน่า ขวัญก็ยังไม่กลับมา จากนั้นจึงเอาศพฝังดินโดยใส่ในภาชนะต่างๆ เช่น ดินเผา (ยังไม่มีโลงศพ) แล้วฝังใต้ถุนเรือนหรือลานกลางบ้าน ด้วยหวังว่าขวัญจะคืนร่าง
ภาชนะดินฝังศพมีทั้งรูปร่างก้นกลมมน (เหมือนหม้อดินเผา) และทรงกระบอกยาว (เหมือนแคปซูล) ส่วนการฝังจะฝังศพนั่ง มัดศพท่างอตัว บรรจุทั้งร่างในภาชนะดินเผาทรงกลม มีสิ่งของอุทิศขนาดเล็กๆ ใส่รวมด้วย ปิดฝา และฝังดินในแนวตั้ง
ทั้งนี้ภาชนะใส่ศพหรือใส่กระดูกคนตาย (ที่ขุดขึ้นมาหลังเนื้อหนังเน่าเปื่อยหมดแล้ว) มีรูปร่างคล้ายผลน้ำเต้าที่ทั้งกลมและยาว แต่ผลที่กลมรีมีเอวคอดดูคล้ายมดลูกของแม่ ซึ่งเสมือนคืนสู่ครรภ์มารดา และสอดคล้องกับคำบอกเล่าดั้งเดิมว่าคนมีกำเนิดจากผลน้ำเต้า ล้วนเป็นต้นแบบ ‘โกศ’ สมัยหลังๆ จนปัจจุบัน
เมื่อขวัญหายไปถาวร คนตายไม่ฟื้น ต้องทำพิธีส่งขวัญขึ้นเมืองฟ้า เชิญผีขวัญล่องแพไปทางน้ำอันเป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับเมืองฟ้า
มากกว่า 2,500 ปีมาแล้ว คนเชื่อว่าหมาเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่ให้กำเนิดคน และมีอำนาจนำทางผีขวัญที่ไม่คืนร่างไปรวมพลังกับผีบรรพชนที่อยู่บนฟ้า
ความเชื่อเมืองฟ้าไปทางน้ำหลังรับพุทธและพราหมณ์ยังสืบเนื่องในงานพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินไปทางน้ำโดยเรือนาคตั้งแต่ราวหลัง พ.ศ. 1000 กระทั่งหลัง พ.ศ. 2000 ยุคต้นอยุธยา (ก่อนมีพระเมรุมาศ)
ต่อมาเมื่อเกิดประเพณีออกพระเมรุมาศ การไปเมืองฟ้าไม่จำเป็นต้องไปทางเรืออีก เพราะจัดที่ลานสนามหน้าจักรวรรดิ (ด้านตะวันออกของวังหลวง อยุธยา) หรือที่กรุงเทพฯ เรียกว่าสนามหลวง
ส่วนพาหนะที่เชิญพระบรมศพหรือพระโกศ แม้จะสร้างเป็นราชรถ แต่ส่วนหัวและหางยังเป็นลวดลายสัญลักษณ์ของนาคเหมือนเดิม
ในท้องถิ่นอีสานทุกวันนี้ งานศพพระสงฆ์จะเชิญศพด้วยรถที่แต่งเป็นนาค แม้ตามวัดวาอารามปัจจุบันที่มีเมรุเผาศพ จะมีรถเชิญศพแต่งเป็นรูปนาคเช่นกัน
ในบทสรุปตอนท้ายของบทความ ‘คนตายเพราะขวัญหาย ต้องทำพิธีเรียกขวัญนานหลายวัน: งานศพปัจจุบันสืบทอดพิธีกรรมหลายพันปีมาแล้ว’ ซึ่งผู้เรียบเรียงได้คัดย่อมา สุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้เขียนระบุว่า
“ความเชื่อเรื่องขวัญยังเป็นแกนสำคัญเหมือนเดิมไม่หมดไป แม้เปลี่ยนจากฝังศพลงดินเป็นเผาศพด้วยไฟตามประเพณีใหม่ในศาสนาพราหมณ์-พุทธ…”
และ
“พิธีศพไทยปัจจุบันมีหลักฐานและร่องรอยทางประวัติศาสตร์โบราณคดีสนับสนุนหนักแน่นว่าสืบเนื่องนับพันๆ ปีมาแล้ว จากพิธีกรรมของสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์
“เท่ากับคนไทยไม่ได้มาจากไหน? แต่อยู่ที่นี่ ที่อุษาคเนย์”
พร้อมกับขยายความคำว่า ‘ไทย’
“ไทย เป็นชื่อทางวัฒนธรรม ไม่ใช่ชื่อเชื้อชาติ เพราะเชื้อชาติไทยบริสุทธิ์ ไม่เคยมีในโลกตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน คนไทยเป็นลูกผสมนานาชาติพันธุ์ร้อยพ่อพันแม่ อยู่บริเวณสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์ มีประเพณีเกี่ยวกับความตายอย่างเดียวกันกับบรรพชนคนสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์เมื่อหลายพันปีมาแล้ว”
ทั้งนี้บรรทัดสุดท้ายของบทความ ผู้เขียน (สุจิตต์ วงษ์เทศ) ได้ขอบคุณ รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล, พิพัฒน์ กระแจะจันทร์, ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ นักวิชาการร่วมสมัยที่ก้าวหน้าและกรุณาแนะนำข้อมูลความรู้เพิ่มเติมหลายอย่าง
ส่วนผมในฐานะผู้เรียบเรียง ต้องขอขอบคุณทุกท่านที่ผู้เขียนได้กล่าวถึงไปแล้ว และคณะผู้จัดทำหนังสือ เสด็จสู่แดนสรวง ศิลปะ ประเพณี และความเชื่อในงานพระบรมศพและพระเมรุมาศ ที่กรุณาทำหนังสือที่รวบรวมความรู้เกี่ยวกับพระราชพิธีพระบรมศพและพระเมรุด้วยความอุตสาหะ
ซึ่งผู้ที่สนใจศึกษาเพิ่มเติมหรือต้องการอ่านบทความฉบับเต็ม สามารถดาวน์โหลดหนังสือเล่มนี้ได้ฟรีที่ drive.google.com/file/d/0B5BpTtXUXhCeX09XYkRHbm1OZGc/view