×

รื้อฟื้นลมหายใจ ‘หุ่นหลวง’ นาฏศิลป์ชั้นครูที่รวมทุกศาสตร์ความประณีตแห่งสกุลช่างไทย ในงานมหรสพสมโภชออกพระเมรุ

16.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • หุ่นหลวงมีมาตั้งแต่ครั้งอยุธยา เป็นหุ่นสำหรับพระมหากษัตริย์ที่เล่นเฉพาะในวังหลวง เฉพาะหน้าพระพักตร์ หรือในงานมหรสพสมโภชสำคัญต่างๆ เช่น งานออกพระเมรุ ชาวบ้านจึงไม่ค่อยได้มีโอกาสเห็นนัก นี่อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้หุ่นหลวงสูญหายไปตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 5
  • การรื้อฟื้นหุ่นหลวง ที่จะจัดแสดงในงานมหรสพสมโภชออกพระเมรุวันที่ 26 ตุลาคมนี้ มีต้นแบบมาจากหุ่นหลวงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ตำราลึกลับ ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนัง และคำบอกเล่าของบุตรีเจ้ากรมมหรสพ เป็นการแสดงครั้งแรกในรอบ 150 ปี ในนามของกรมศิลปากร
  • การสร้างกลไกเชิดหุ่นหลวงต้องใช้ศาสตร์ของ ‘ช่างพยนต์’ ซึ่งถือเป็นที่สุดในช่างสิบหมู่ เพราะต้องวางกลไกให้หุ่นสามารถขยับเคลื่อนไหวได้ราวกับคนจริงๆ

     หลังจากที่ความสนุกสนานของหุ่นกระบอกได้ถือกำเนิดขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ความอ่อนช้อยเนิบช้าตามธรรมเนียมการเชิดหุ่นหลวงจึงค่อยๆ ถูกกลืนหาย ประกอบกับความซับซ้อนในการสร้างหุ่นหลวงที่ต้องระดมช่างทุกหมู่ ไหนจะเป็นการเชิดที่ต้องใช้ทักษะนาฏศิลป์ชั้นครู ภายหลังเมื่อมีการยุบกรมมหรสพลงไป ก็ยิ่งทำให้หน้าประวัติศาสตร์ของหุ่นหลวงเหมือนถูกปิดตายไร้ผู้สืบทอด แม้แต่วิธีการขึงสายหรือเชิดหุ่นก็ไม่มีบันทึกไว้

     กระทั่งกลางปี พ.ศ. 2559 กรมศิลปากรได้จัดทำโครงการสร้างหุ่นหลวงเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนา การสร้างหุ่นหลวงตามขนบโบราณจึงถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่โดยสำนักช่างสิบหมู่ แต่ยังไม่ทันที่หุ่นหลวงจะเสร็จสมบูรณ์ เหตุการณ์อันแสนหม่นเศร้าก็ได้เกิดขึ้นเสียก่อนกับข่าวการสวรรคตของรัชกาลที่ 9 และด้วยเหตุที่หุ่นหลวงได้รับการฟื้นฟูขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ หุ่นหลวงจึงได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในนาฏศิลป์ชั้นครูที่จะจัดแสดงในงานออกพระเมรุ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บนเวที 2 ในค่ำคืนของวันที่ 26 ตุลาคม 2560

 

ภาพหุ่นหลวงโบราณ ฝีมือแกะฝีพระหัตถ์รัชกาลที่ 2

โดยกรมเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร

 

จากตำราโบราณสู่การชุบชีวิตนาฏศิลป์ชั้นครู

     “หุ่นหลวงมีมาตั้งแต่ครั้งอยุธยา เป็นหุ่นสำหรับพระมหากษัตริย์ที่เล่นเฉพาะในวังหลวง เฉพาะหน้าพระพักตร์ หรือในงานมหรสพสมโภชสำคัญต่างๆ เช่น งานออกพระเมรุ ชาวบ้านจึงไม่ค่อยได้มีโอกาสเห็นนัก นี่อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้หุ่นหลวงสูญหายไปตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 5 อีกทั้งตำราในการสร้างหุ่นหลวงก็ไม่มีบันทึกไว้ การรื้อฟื้นครั้งนี้ทางสำนักช่างสิบหมู่จึงใช้ต้นแบบของ กระสวน หรือ สัดส่วน มากจากหุ่นในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ซึ่ง อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต เป็นผู้ซ่อมแซมไว้ ส่วนฉากและวิธีการเล่นมีให้เห็นบนจิตกรรมฝาผนังวัดมัชฌิมาวาส (จังหวัดสงขลา) จังหวะดนตรีมาจากคำบอกเล่าของ อาจารย์เจริญใจ สุนทรวาทิน ลูกเจ้ากรมมหรสพ สุดท้ายวิธีการขึงเชือกสร้างกลไกให้หุ่นสามารถขยับได้นำมาจากตำราโบราณที่ผมได้รับมาด้วยความบังเอิญที่จังหวัดเพชรบุรี”

 

อาจารย์กมล การกิจเจริญ

ผู้ศึกษาเรื่องหุ่นหลวงมานับสิบปี

 

     อาจารย์กมล การกิจเจริญ ครูอัตราจ้าง โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย นครปฐม (พระตำหนักสวนกุหลาบมัธยม) ผู้ศึกษาเรื่องหุ่นหลวงมานับสิบปีบอกเล่าถึงการนำภาพความทรงจำอันเลือนรางของหุ่นหลวง ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ตามที่ต่างๆ มาประกอบสร้างเป็นตัวหุ่นใหญ่ความสูง 1 เมตร เสริมแต่งด้วยความประณีตของช่างศิลป์ไทยทุกหมู่ และแม้อาจารย์กมลจะเป็นอาจารย์ภาควิชาสังคม แต่กลับมีความสนใจในหุ่นหลวงมาตั้งแต่ครั้งยังเป็นนักเรียนครูที่สถาบันราชภัฏเพชรบุรี ด้วยความตั้งใจออกตามหาหุ่นหลวงซึ่งเป็นงานศิลป์ที่สูญหาย ทำให้อาจารย์กมลได้ไปเจอตำราสร้างกลไกหุ่นด้วยความบังเอิญ จากนั้นจึงได้ศึกษาและทดลองสร้างหุ่นหลวง ตัวนางด้วยตนเอง

     “เป็นเรื่องยากที่จะเชื่อว่าตำราหุ่นหลวงเล่มนี้ได้มาจากคนสติไม่ดีคนหนึ่งที่ยื่นให้ผมเพื่อแลกข้าว ผมอ่านไม่ออกเพราะเป็นภาษาบาลี แต่มีรูปวาดคล้ายกับตัวหุ่นปรากฏอยู่ ผมจึงนำไปให้หลวงพ่อวัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรีดู ปรากฏว่าเป็นตำราที่บอกถึงวิธีการขึงสายของหุ่นหลวง เท่านั้นหลวงพ่อท่านก็เรียกประชุมพระทั้งวัดมาช่วยกันถอดความภาษาบาลีและเขียนบันทึกทับกลับลงไปใหม่ เพราะตัวหนังสือเริ่มจางมากจากการที่ตำราเปียกน้ำ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มที่ทำให้ผมได้มีโอกาสศึกษาวิธีการสร้างหุ่นหลวง และได้ทดลองเชิดด้วยเทคนิคต่างๆ”

 

ตำราหุ่นหลวงโบราณที่อาจารย์กมล การกิจเจริญ ได้มาอย่างบังเอิญอย่างไม่น่าเชื่อ

 

การกลับมาของ ‘ช่างพยนต์’

     เหตุที่หุ่นหลวงมีความยากในการรื้อฟื้นก็ด้วยความประณีตของหุ่นที่ประกอบไปด้วยงานช่างแขนงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานไม้สำหรับแกะเป็นโครงหุ่น ซึ่งแต่ละส่วนก็ใช้ไม้ต่างชนิดกัน โดยในเรื่องงานแกะไม้นี้ปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติว่า รัชกาลที่ 2 ทรงมีความชำนาญในการแกะหุ่นหลวงเป็นอย่างมาก และทรงแกะไม้รักเป็นหุ่นหลวงพระยารักใหญ่ และพระยารักน้อย ซึ่งก็คือ พระราม พระลักษณ์

     งานช่างต่อมาที่ใช้สร้างหุ่นหลวง คือ งานจิตรกรรมเขียนหน้าหุ่น ช่างกลึงยอดชฎา ช่างรัก ช่างปักผ้าเป็นชุดของหุ่น ช่างบุโลหะสำหรับทำเครื่องประดับชิ้นเล็ก ทว่าต้องใส่ลวดลายอย่างครบถ้วนไม่ต่างจากเครื่องประดับจริงของนางรำ และที่สำคัญที่สุด ได้แก่ ‘ช่างหุ่น’ หรือที่เรียกว่า ‘ช่างพยนต์’ หมายถึงผู้ใส่กลไกให้หุ่นสามารถขยับได้ราวกับมีคาถาอาคม ว่ากันว่าช่างพยนต์นี้ถือเป็นที่สุดของงานช่าง และด้วยความที่หุ่นหลวงหนึ่งตัวต้องประกอบด้วยฝีมือจากช่างหลากหลายแขนง ทำให้การแสดงหุ่นหลวงในงานออกพระเมรุครั้งนี้ ทางสำนักช่างสิบหมู่สามารถสร้างหุ่นขึ้นมาได้เพียง 3 ตัว คือ ตัวพระ ตัวนาง และหนุมาน ซึ่งทั้งสามถือว่าเป็นที่สุดของหุ่นหลวงที่มีความซับซ้อนด้านกลไก

 

ตัวพระ ตัวนาง และหนุมาน ที่สุดของหุ่นหลวงที่มีความซับซ้อนด้านกลไก

 

     ทั้งนี้หุ่นหลวงหนึ่งตัวต้องใช้เชือกยึดโยงเข้ากับฐานด้านล่างมากกว่า 16 เส้น จึงจะสามารถสร้างกลไกให้หุ่นขยับได้ทุกส่วน ทุกข้อต่อ ไม่เว้นแม้แต่เอว หรือปลายนิ้วราวกับมีชีวิตจริง และด้วยความที่อาจารย์กมลในขณะที่ยังเป็นนักเรียนครูอยู่ ต้องทำหน้าที่สัปเหร่อเพื่อหาเงินเรียนควบคู่กันไป อาจารย์จึงนำกลไกการทำงานของเส้นเอ็นมนุษย์ที่ได้เรียนมาจากการทำศพ เข้ามาประกอบกับกลไกช่างพยนต์ที่ปรากฏในตำราลึกลับเล่มนั้น

     “หุ่นหลวงต่างจากหุ่นกระบอกตรงที่การเชิด หุ่นกระบอกมีไม้ตะเกียบซ้าย-ขวา คอยบังคับ แต่หุ่นหลวงต้องใช้นิ้วทั้งสิบบังคับเชือกที่ซ่อนอยู่ใต้ฐานล่างของหุ่นโดยที่คนดูจะมองไม่เห็นผู้เชิด หุ่นที่มีลักษณะการเชิดคล้ายกับหุ่นหลวงมากที่สุดคือหุ่นวังหน้า แต่จะตัวเล็ก เชิดง่าย ไม่ซับซ้อนเท่า หุ่นหลวงหนึ่งตัวประกอบด้วยเชือกที่ขึงเป็นกลไกซึ่งเรียกว่าเส้นแม่ประธาน มีตั้งแต่ 16 เส้นขึ้นไป 20 เส้นก็มี แต่แม้จะมีมากเส้น ทว่าหุ่นหลวงกลับถูกออกแบบให้เชิดได้เพียงแค่คนเดียวเท่านั้น ถ้าเชิดหลายคนเชือกจะพันกันทันที แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนเดียวจะดึงพร้อมกันทุกเส้น มากสุดคือดึงพร้อมกัน 5 เส้นก็ถือว่ายากแล้ว”

 

ภาพการซ้อมหุ่นหลวงในวาระสำคัญที่กำลังจะมาถึง

 

ใส่ชีวิตหุ่นด้วยหัวใจคนเชิด

     นอกจากขนบในการสร้างกลไกที่ซับซ้อนแล้ว ขนบในการเชิดและการใส่ท่วงทำนองดนตรีไทยเข้าไปประกอบก็มีความพิเศษแตกต่างออกไปด้วย หลายคนอาจจะเคยเห็นหุ่นหลวงชุดของ ครูไก่-ดร.สุรัตน์ จงดา ที่เคยแสดงในงานต่างๆ มาบ้าง ทว่ามีความแตกต่างตรงจากหุ่นหลวงของกรมศิลปากรตรงที่หุ่นหลวงคณะครูไก่เน้นความสนุกสนานตามขนบละครนอก ที่เนื้อเรื่องกระชับ มีการนำละครพื้นบ้านอย่าง สังข์ทอง มาเล่น ในขณะที่หุ่นหลวงของกรมศิลปากรนั้นเล่นในท้องเรื่อง รามเกียรติ์ เป็นหลัก พร้อมทั้งเน้นความอ่อนช้อยเนิบช้า แบบฉบับละครดึกดำบรรพ์ เพื่อโชว์ทักษะการร่ายรำของหุ่น และความละเอียดของเครื่องดนตรี

     ด้านทำนองเพลงไทยเดิมที่ใช้สำหรับการเชิดหุ่นหลวงในงานออกพระเมรุครั้งนี้ยึดตามคำแนะนำของ อาจารย์เจริญใจ สุนทรวาทิน ซึ่งได้นำความทรงจำในอดีตจากคำบอกเล่าของบิดา คือ เจ้ากรมมหรสพ มาถ่ายทอดให้อาจารย์กมลได้ฟัง จนมาลงตัวที่การปรับจังหวะดนตรีไทย จากท่วงทำนองไทยมาตรฐานที่มีแค่ 3 ชั้น ก็ให้ยืดออกไปเป็น 4 ถึง 5 ชั้น

     ที่พิเศษยิ่งกว่าคือการนำท่ารำของหุ่นมาเปลี่ยนเป็นโน้ตดนตรีเพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ โดยมี คุณอัญชลิกา หนอสิงหา นาฏศิลป์อาวุโส สำนักการสังคีต กรมศิลปากร เป็นผู้หญิงคนเดียวในคณะที่ทำหน้าที่เชิดหุ่นตัวนาง ซึ่งก็คือ นางวารินทร์ ตามท้องเรื่อง รามเกียรติ์ ตอน หนุมานเข้าห้องนางวารินทร์

     “ปกติทำหน้าที่เชิดหุ่นกระบอก และก็มีทักษะการรำอยู่แล้ว แต่หุ่นหลวงต้องเพิ่มทักษะการอ่านโน้ตดนตรีเข้ามาด้วย เพราะอาจารย์กมลได้เปลี่ยนท่ารำให้เป็นโน้ตดนตรีเพื่อให้จำได้ง่ายขึ้น ตอนซ้อมใหม่ๆ ท้อมาก ดึงจนเชือกขาดทุกครั้ง อาจารย์ก็บอกให้เราถ่ายทอดจิตวิญญาณของเราเข้าไปในหุ่น ให้รู้สึกว่าเราเป็นนางวารินทร์จริงๆ ไม่ใช่แค่ผู้เชิด

     “ความยากที่สุดของการเชิดหุ่นหลวงคือการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างดนตรี หุ่น และผู้เชิด ถ้าแขนหุ่นยกขึ้นไม่ตรงจังหวะดนตรีก็ไม่สวย คนเชิดดี แต่หุ่นไม่ได้รับการดูแล ขึงเชือกทุกครั้งก่อนขึ้นแสดงก็อาจจะทำให้สายขาดกลางงานได้ หรือต่อให้หุ่นสมบูรณ์ วงดนตรีพร้อม แต่คนเชิดไม่มีสมาธิอยู่ที่หุ่น การร่ายรำก็จะออกมาแข็งเป็นหุ่น แต่นั่นไม่ใช่วัตถุประสงค์ของหุ่นหลวงที่ได้ใส่กลไกเพื่อให้หุ่นสามารถร่ายรำได้อย่างสมจริงเหมือนนางรำจริงๆ คนหนึ่ง”

     นาฏศิลป์หญิงอาวุโสกล่าว พร้อมกับเตรียมขึงเชือกประธานทั้ง 16 เส้น และเปิดผ้าที่ปิดตาหุ่นออกเพื่อให้ตำนานความอัศจรรย์ของหุ่นหลวงกลับมามีชีวิตอีกครั้งในรอบ 150 ปี

 

ทีมเชิดหุ่นหลวงของกรมศิลปากร

คุณอัญชลิกา หนอสิงหา นาฏศิลป์อาวุโส (คนที่สองจากซ้าย)

 

ภาพ : ศรัณยู นกแก้ว, ฐานิส สุดโต

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising