×

9 คำพ่อสอน ที่คนไทยในยุค Digital Disruption ควรน้อมนำมาพิจารณา

05.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ความรับผิดชอบ คือสิ่งที่สมเด็จย่าทรงเน้นย้ำเป็นเรื่องหลัก ดังพระบรมราโชวาทของรัชกาลที่ 9 ตอนหนึ่งว่า “ในครอบครัวเรา ความรับผิดชอบเป็นของที่ไม่ต้องคิด เป็นธรรมชาติ สิ่งที่สอนอันแรกคือ เราจะทำอะไรให้เมืองไทย ถ้าไม่มีความรับผิดชอบ จะไปช่วยเมืองไทยได้อย่างไร…”
  • “…ความสุขความสวัสดีของข้าพเจ้า จะเกิดมีขึ้นได้ก็ด้วยบ้านเมืองของเรามีความเจริญมั่นคงเป็นปกติสุข …จึงขอให้ท่านทั้งหลาย …ทำความเข้าใจในหน้าที่ของตนให้กระจ่าง แล้วตั้งจิตตั้งใจให้เที่ยงตรงหนักแน่นที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด” คือหนึ่งในพระราชดำรัสที่รัชกาลที่ 9 ตรัสแก่ประชาชนของพระองค์

     มีเรื่องเล่าว่า ทุกครั้งที่สมเด็จย่าตรัสสอนไม่ว่าเรื่องใด รัชกาลที่ 9 จะทรงนำกระดาษมาจด และมีพระราชดำรัสตอบว่า

     “อยากฟังแม่สอนอีก”

     …อยู่เสมอ

 

     คุณธรรมและจริยธรรมในด้านความรับผิดชอบ คือ สิ่งที่สมเด็จย่าทรงเน้นย้ำเป็นเรื่องหลัก

     ดังพระบรมราโชวาทของรัชกาลที่ 9 ตอนหนึ่งว่า

     “ในครอบครัวเรา ความรับผิดชอบเป็นของที่ไม่ต้องคิด เป็นธรรมชาติ สิ่งที่สอนอันแรกคือ เราจะทำอะไรให้เมืองไทย

     “ถ้าไม่มีความรับผิดชอบ จะไปช่วยเมืองไทยได้อย่างไร…”

 

     ในวันที่ ‘พ่อ’ ไม่อยู่ ประเทศไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับกระแสความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในทุกมิติ

     เทคโนโลยีกำลัง disrupt ทุกธุรกิจและทุกสาขาอาชีพ

     รัฐบาลพยายามก้าวให้ทันความเปลี่ยนแปลง ด้วยการเดินหน้ายกเครื่องประเทศด้วยยุทธศาสตร์ 20 ปี

     องค์กรขนาดเล็กและใหญ่ต่างเร่งปรับตัว เพราะหวั่นไหวกับอนาคตที่ไม่อาจคาดเดา

     คนตัวเล็กๆ ต่างหาทักษะใหม่ๆ เพราะหวั่นใจว่าอาชีพที่ทำกำลังตกอยู่ในความไม่แน่นอน

 

     หากอนาคตที่ไม่แน่นอนและไม่อาจคาดเดา คือ ความมืด

     ‘พระบรมราโชวาท’ หรือคำสอนที่พ่อทิ้งไว้ คงเปรียบได้ดั่ง แสงเทียน ที่ส่องสว่างให้เราได้เห็นหนทางเบื้องหน้า

     เพราะ ‘คำที่พ่อสอน’ คือผลผลิตจากปัญญาอันลึกซึ้งที่หยั่งถึงความจริง

     นี่คือมรดกล้ำค่าที่พ่อได้ทิ้งไว้

 

     แม้ว่าไม่มีกระดาษและดินสอ แต่เมื่อใดที่เห็นคำสอนพ่อ หลายคนก็อดไม่ได้ที่จะจดบันทึกไว้ในหัวใจ

     และในบางห้วงเวลา ใครบางคนอาจพูดกับตัวเองในใจเบาๆ ว่า

     “อยากฟังพ่อสอนอีก”

 

“…เราเป็นนักเรียน เราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ…”


     “…เราเป็นนักเรียน เราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ… ถ้าหากว่าในด้านไหนก็ตาม เวลาไปปฏิบัติให้ถือว่าเราเป็นนักเรียน ชาวบ้านเป็นครู หรือ ‘ธรรมชาติเป็นครู’ การท่ีท่านทั้งหลายจะออกไป ก็จะไปหลายๆ ด้าน …ก็จะต้องเข้าใจว่า เราอาจจะเอาความรู้ไปให้เขา แต่ก็ต้องนับถือความรู้ของเขาด้วย จึงจะมีความสําเร็จ…”


พระบรมราโชวาท

พระราชทานแก่บัณฑิตอาสาสมัครพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดําริ อําเภอเมือง จังหวัด สกลนคร

22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2528

 

“…เมื่อทำงาน ต้องมุ่งถึงจุดหมายที่แท้ของงาน…”


     “…เมื่อทำงาน ต้องมุ่งถึงจุดหมายที่แท้ของงาน งานจึงจะสำเร็จได้รับประโยชน์ครบถ้วน ทั้งประโยชน์ของงานและประโยชน์ของผู้ทำ ถ้าทำงานเพื่อจุดมุ่งหมายอื่นๆ เช่น เพื่อประโยชน์ส่วนตัว แม้จะได้ผลมากมายเพียงใด งานก็ไม่สำเร็จ แต่ทำให้เสียทั้งงานเสียทั้งคน…”

 

พระบรมราโชวาท

พระราชทานแก่ข้าราชการพลเรือน เนื่องในวันข้าราชการพลเรือน

1 เมษายน พ.ศ. 2532

 

“…มีเงินเดือนเท่าไร จะต้องใช้ภายในเงินเดือน…”


     “…มีเงินเดือนเท่าไร จะต้องใช้ภายในเงินเดือน… กู้เงินนั้น เงินจะต้องให้เกิดประโยชน์ มิใช่กู้สําหรับ ไปเล่น ไปทําอะไรที่ไม่เกิดประโยชน์…”

พระราชดํารัส

ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

4 ธันวาคม พ.ศ. 2540

 

“…ต้องมีความแตกต่างกัน แต่ต้องทำงานให้สอดคล้องกัน…”


“…สามัคคีหรือการปรองดองกัน ไม่ได้หมายความว่าคนหนึ่งพูดอย่างหนึ่ง คนอื่นต้องพูดเหมือนกันหมด ลงท้ายชีวิตก็ไม่มีความหมาย ต้องมีความแตกต่างกัน แต่ต้องทำงานให้สอดคล้องกัน แม้จะขัดกันบ้าง ก็ต้องสอดคล้องกัน ถ้าไม่สอดคล้องกัน พัง…”

 

พระราชดำรัส

พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต

4 ธันวาคม พ.ศ. 2536

 

 

“…เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย…”


     “…คนเราถ้าพอในความต้องการ มันก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย พอเพียงอาจมีมาก อาจมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น…”

พระราชดํารัส

พระราชทานในโอกาสที่คณะบุคคลเข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล เฉลิมพระชนมพรรษา

4 ธันวาคม พ.ศ. 2541

 

“…การดำเนินชีวิตโดยใช้วิชาการอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ จะต้องอาศัยหลักศีลธรรมประกอบด้วย…”


     “…การดำเนินชีวิตโดยใช้วิชาการอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ จะต้องอาศัยความรู้รอบตัว และหลักศีลธรรมประกอบด้วย ผู้ที่มีความรู้ดี แต่ขาดความยั้งคิดนำความรู้ไปใช้ในทางมิชอบ ก็เท่ากับเป็นบุคคลที่เป็นภัยแก่สังคมของมนุษย์…”

 

พระบรมราโชวาท

ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

18 กันยายน พ.ศ. 2504

 

“…หลักของคุณธรรมคือ การคิดด้วยใจที่เป็นกลาง…”


     “…หลักของคุณธรรมคือ การคิดด้วยจิตใจที่เป็นกลาง ก่อนจะพูดจะทําสิ่งใด จําเป็นต้องหยุดคิดเสียก่อน เพื่อรวบรวมสติให้ตั้งมั่น และจิตสว่างแจ่มใส ซึ่งเมื่อฝึกหัดคุ้นเคยชํานาญแล้ว จะกระทําได้คล่องแคล่วช่วยให้สามารถแสดงความรู้ ความคิดในเรื่องต่างๆ ให้ผู้ฟังได้เข้าใจได้ง่าย ได้ชัด ไม่ผิด ทั้งหลักวิชา ทั้งหลักคุณธรรม…”

พระบรมราโชวาท

ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

10 กรกฎาคม พ.ศ. 2535

 

“…ความสุขความสวัสดีของข้าพเจ้า จะเกิดมีขึ้นได้ก็ด้วยบ้านเมืองของเรามีความเจริญมั่นคงเป็นปกติสุข …จึงขอให้ท่านทั้งหลาย …ทำความเข้าใจในหน้าที่ของตนให้กระจ่าง แล้วตั้งจิตตั้งใจให้เที่ยงตรงหนักแน่นที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด”


     “…ความสุขความสวัสดีของข้าพเจ้า จะเกิดมีขึ้นได้ก็ด้วยบ้านเมืองของเรามีความเจริญมั่นคงเป็นปกติสุข ความเจริญมั่นคงทั้งนั้น จะสำเร็จผลเป็นจริงได้ ก็ด้วยทุกคนทุกฝ่ายในชาติ มุ่งที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนให้เต็มกำลังด้วยสติรู้ตัว ด้วยปัญญารู้คิด และด้วยความสุจริตจริงใจ โดยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมยิ่งกว่าส่วนอื่น

     “จึงขอให้ท่านทั้งหลายในที่นี้ ซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่สำคัญอยู่ในสถาบันหลักของประเทศ และชาวไทยทุกหมู่เหล่า ทำความเข้าใจในหน้าที่ของตนให้กระจ่าง แล้วตั้งจิตตั้งใจให้เที่ยงตรงหนักแน่นที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด เพื่อให้สำเร็จประโยชน์ส่วนตัวอันไพบูลย์ คือชาติบ้านเมือง อันเป็นถิ่นที่อยู่ที่ทำกินของเรา

     “มีความเจริญมั่นคงยั่งยืนสืบไป…”

 

พระราชดำรัส

ในการเสด็จออกมหาสมาคม ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา

พุทธศักราช 2552 ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย

5 ธันวาคม พ.ศ. 2552

 

“…จงใช้ความพิจารณาให้รอบคอบ ก่อนที่จะประกอบกิจใดๆ แม้แต่ถ้อยคำที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วนั้น ก็ควรจะได้รับการพิจารณา…”


     “…การพิจารณานั้นเป็นการหยุดยั้งชั่งใจ ก่อนที่จะปฏิบัติการใดลงไป เสมือนกับได้ปรึกษากับตนเองก่อน ถ้าหากทำสิ่งใดโดยมิได้พิจารณาแล้ว ก็อาจจะตกเป็นเหยื่อแห่งอารมณ์ บังเกิดความประมาทขึ้น อันจะเป็นผลเสียหายแก่กิจการนั้นๆ ได้

     “ฉะนั้นขอให้ทุกคนจงใช้ความพิจารณาให้รอบคอบ ก่อนที่จะประกอบกิจใดๆ แม้แต่ถ้อยคำที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วนั้น ก็ควรจะได้รับการพิจารณาเช่นเดียวกันด้วย…”

 

พระบรมราโชวาท

ในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตร นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย

15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501

 

 

ภาพประกอบ: ธีรวัฒน์ เฑียรฆประสิทธิ์

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising