×

สะท้อนความสุขของพ่อผ่านบทเพลงพระราชนิพนธ์และดนตรีแจ๊ซทรงโปรด (ตอนที่ 2)

05.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • ความรักเป็นจุดเริ่มต้นของบทเพลงจำนวนไม่น้อยบนโลกใบนี้ และนี่เป็นธรรมชาติของมนุษย์เรา ไม่เว้นแม้แต่กษัตริย์หนุ่มที่ใช้บทเพลงเป็นเครื่องมือสื่อสารความในใจไปถึงผู้หญิงอันเป็นที่รัก
  • เทวาพาคู่ฝัน (Dream of Love Dream of You) เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 9 ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อวันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 ขณะประทับ ณ เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยเป็นเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์หลังจากเพลง อาทิตย์อับแสง (Blue Day) ซึ่งถ่ายทอดความรู้สึกที่เฝ้าฝันถึงคนรัก

     เสียงเพลงที่เราได้ยินตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมา และโดยเฉพาะในช่วงเวลานี้คือบทเพลงพระราชนิพนธ์จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พ่อหลวงของแผ่นดินที่ทรงพระอัจฉริยภาพทางด้านดนตรี บทเพลงพระราชนิพนธ์เหล่านี้ สะท้อนความสุขของพระองค์เอาไว้อย่างชัดเจน โดยตลอดพระชนม์ชีพได้ทรงพระราชนิพนธ์บทเพลงไว้จำนวน 48 เพลง ซึ่งเป็นผลงานที่จะคงอยู่นิรันดร์ในจิตใจของประชาชนชาวไทย

     THE STANDARD รวบรวมความรัก-ความทรงจำของรัชกาลที่ 9 ผ่านบทเพลงที่เกิดขึ้นในหลายเหตุการณ์สำคัญ เพลงที่ได้แรงบันดาลใจในการทรงพระราชนิพนธ์จากผู้หญิงอันเป็นที่รัก รวมถึงดนตรีแจ๊ซทรงโปรด

     ติดตาม ตอนที่ 1 สะท้อนความสุขของพ่อ ผ่านบทเพลงพระราชนิพนธ์ และดนตรีแจ๊ซทรงโปรด (ตอนที่ 1)

 

เมื่อบทเพลงแห่งความรักเริ่มขับขาน

     ความรักเป็นจุดเริ่มต้นของบทเพลงจำนวนไม่น้อยบนโลกใบนี้ และนี่เป็นธรรมชาติของมนุษย์เรา ไม่เว้นแม้แต่กษัตริย์หนุ่มที่ใช้บทเพลงเป็นเครื่องมือสื่อสารความในใจไปถึงผู้หญิงอันเป็นที่รัก

     ในปี พ.ศ. 2491 นับเป็นจุดเริ่มต้นของการพบกันระหว่างพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์​ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ซึ่งในขณะนั้นคือหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร บุตรีของหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส

     บ่ายวันนั้นเป็นงานสำคัญ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ ยังโรงงานต่อรถยนต์ในฝรั่งเศส ทรงขับรถด้วยพระองค์เองจากสวิตเซอร์แลนด์ไปยังเมืองฟงแตนโบล ชานกรุงปารีส ครอบครัวของหม่อมเจ้านักขัตรมงคล เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีสได้มาเฝ้าฯ รับเสด็จด้วย พร้อมทั้งหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร

     บันทึกของท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เล่าถึงการพบกันครั้งแรกไว้ว่า ทรงถ่ายรูปหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ในวันแรกที่พบกัน โดยเป็นรูปหมู่บุคคลที่เข้าเฝ้าฯ  ณ สถานทูต และหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์อยู่เป็นคนสุดท้าย เมื่อเห็นหน้าไม่ชัดจึงรับสั่งว่า “ยู้ฮู คนข้างหลังโผล่หน้ามาหน่อยสิ”

     ภายหลังการรับเสด็จที่กรุงปารีส ครอบครัวของหม่อมเจ้านักขัตรมงคลมีโอกาสได้รับเสด็จรัชกาลที่ 9 อีกหลายครั้ง เนื่องจากสวิตเซอร์แลนด์อยู่ห่างจากกรุงปารีสในระยะทางไม่ไกลนัก และยังทรงมีภารกิจเกี่ยวกับรถยนต์พระที่นั่งคันใหม่ไม่แล้วเสร็จ ระหว่างที่เสด็จฯ มาฝรั่งเศสก็ได้ประทับอยู่ที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ด้วยเหตุนี้เองความสัมพันธ์อันงดงามจึงค่อยๆ เกิดขึ้น

     แต่แล้วก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2491 รัชกาลที่ 9 ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่เมืองมอนเนย์ สวิตเซอร์แลนด์ จนได้รับบาดเจ็บที่พระพักต์ พระเนตรขวา และพระเศียร เมื่อฟื้นคืนสติขึ้นมา สิ่งแรกที่พระองค์ทำคือทรงหยิบรูปถ่ายของหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ออกมาจากกระเป๋า พร้อมรับสั่งกับสมเด็จพระบรมราชชนนีที่เฝ้าอยู่ข้างๆ ว่า “แม่เรียกสิริมาที”

 

 

     หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ในขณะนั้นกำลังตั้งใจเรียนเปียโนเพื่อเตรียมสอบเข้าวิทยาลัยดนตรีที่มีชื่อเสียงที่สุดของกรุงปารีส ซึ่งเป็นที่พอพระราชหฤทัย เพราะพระองค์ก็ทรงมีความสนใจในดนตรีเช่นเดียวกัน หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ไม่ทราบมาก่อนว่าตนเป็นที่พอพระทัยของพระองค์ ดังเช่นที่เคยพระราชทานสัมภาษณ์ในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ‘ขวัญของชาติ’ ทางสถานีโทรทัศน์ BBC เอาไว้ว่า

     “ข้าพเจ้าไม่ทราบมาก่อนว่าพระองค์ท่านทรงรักข้าพเจ้า… เพราะเวลานั้นอายุเพิ่งย่าง 15 ปี ตั้งใจไว้ว่าจะเป็นนักเปียโน… ตอนประทับอยู่ที่โรงพยาบาลหลังประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ มีพระอาการหนักมาก ตำรวจเขาโทรศัพท์ไปกราบบังคมทูลสมเด็จพระราชชนนีฯ พระองค์ท่านก็รีบเสด็จไปทันที แต่แทนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะมีปฏิสันถารกับพระองค์ ท่านกลับทรงหยิบรูปข้าพเจ้าออกมาจากกระเป๋า โดยที่ข้าพเจ้าไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่าพระองค์ทรงมีรูปข้าพเจ้าอยู่”

     ท่านผู้หญิงบุษบา (กิติยากร) สธนพงศ์ พระกนิษฐภคินีของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ในนิตยสาร พลอยแกมเพชร ว่า “ท่านไปเฝ้ากันทุกวัน ท่านจับพระหัตถ์สมเด็จฯ ไว้นานๆ ทุกครั้ง ทรงให้สมเด็จฯ อ่านนิยาย อาหรับราตรี เป็นภาษาไทยถวาย ก็ไม่ได้รู้เรื่อง ไม่ได้คิดอะไร ถึงเวลาต้องกลับแล้ว สมเด็จพระศรีฯ (สมเด็จย่า) มาที่โรงแรมที่เราอยู่ ท่านทรงมาขอให้สมเด็จฯ ศึกษาอยู่ที่สวิสฯ​ ท่านจะทรงเป็นผู้ออกค่าเล่าเรียนให้ทั้งหมด ท่านรับสั่งว่าพระเจ้าอยู่หัวท่านโปรด ท่านทรงพอพระทัย อยากให้อยู่”

     หลังจากนั้นสมเด็จพระบรมราชชนนีได้เป็นธุระจัดการให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เข้าศึกษาในโรงเรียน Pensionnat Riante Rive ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำแห่งหนึ่งของโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

 

 

     ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงหายจากพระอาการประชวรแล้วก็ได้ทรงหมั้นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เป็นการภายในเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 และในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2492 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จฯ ร่วมงานฉลองวันคล้ายวันเกิดอายุครบ 17 ปีของหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ณ สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอน

     หลังมื้อค่ำในคืนนั้น นอกจากเจ้าของวันเกิดจะขับร้องบทเพลงพระราชนิพนธ์ Blue Day หรือ อาทิตย์อับแสง และเพลง Dream of Love Dream of You หรือ เทวาพาคู่ฝัน ยังเป็นช่วงเวลาที่รัชกาลที่ 9 ทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์อย่างเป็นทางการ โดยพระราชทานพระธำมรงค์เพชรหนามเตยรูปหัวใจ ซึ่งเป็นวงเดียวกับที่สมเด็จพระบรมราชชนกหมั้นสมเด็จพระบรมราชชนนี

 

 

     เพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ในปี พ.ศ. 2492 ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับความรู้สึกของพระองค์ในขณะนั้นประกอบด้วยเพลง อาทิตย์อับแสง (Blue Day), เทวาพาคู่ฝัน (Dream of Love Dream of You), คำหวาน (Sweet Words) และ แก้วตาขวัญใจ (Lovelight in My Heart)

 

     อาทิตย์อับแสง (Blue Day) เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 8 ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อวันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 ขณะประทับ ณ เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ขณะที่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์อยู่ที่เมืองโลซานน์ ความรู้สึกราวกับพระอาทิตย์อับแสงเมื่อต้องจากไกลจากผู้หญิงที่ทรงรัก ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงพระนิพนธ์คำร้องทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย

     “Blue day

     There’s no sunshine.

     Why must you go away,

     Leaving me here alone?”

     – Blue Day

 

     เทวาพาคู่ฝัน (Dream of Love Dream of You) เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 9 ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อวันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 ขณะประทับ ณ เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยเป็นเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์หลังจากเพลง อาทิตย์อับแสง (Blue Day) ถ่ายทอดความรู้สึกที่เฝ้าฝันถึงคนรัก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงพระนิพนธ์คำร้องทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย

     “A home for two

     With roses all in bloom, and lovely you.

     In my kingdom of dreams,

     You are my queen.”

     – Dream of Love Dream of You

 

 

     นอกจากนี้ ในงานคีตรัตน์บรมราชานุสรณ์ ธ สถิตกลางในราษฎร์นิรันดร์ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2559 ดร. ภาธร ศรีกรานนท์ สมาชิกวงดนตรี อ.ส. วันศุกร์ ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเพลงพระราชนิพนธ์ที่พระราชทานแก่สมเด็จพระราชินี ในรัชกาลที่ 9 ว่าจริงๆ แล้วมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่เพลงที่โดดเด่นจริงๆ มีอยู่ 5 เพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ทั้งทำนองและเนื้อร้องเป็นภาษาอังกฤษ โดยเป็นบทเพลงที่หวาน ได้แก่ Still on my mind, Old-fashioned Melody, No Moon, Dream Island และ Echo

     “ผมเรียกว่าเป็นเพลงรักทั้งห้า เป็นเพลงที่อยู่จุดสูงสุดของพระองค์ เพราะว่าพระองค์ท่านทรงพระราชนิพนธ์เนื้อร้องเอง แล้วเนื้อร้องมีความหมายดี ทั้งยังเป็นบทกลอนที่สมบูรณ์แบบมาก แล้วยังทรงพระราชนิพนธ์ทำนองที่เข้ากันในเวลาเดียวกัน ทำให้มันเป็นงานศิลปะที่เต็มตัว”

 

     ในดวงใจนิรันดร์ (Still on My Mind) เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2508 ทรงพระราชนิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เองเป็นเพลงแรก ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ศ.ดร. ประเสริฐ ณ นคร ประพันธ์คำร้องภาษาไทยถวาย และกลายเป็นเพลงที่อยู่ในหัวใจของใครหลายคน

 

     เตือนใจ (Old-Fashioned Melody) ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองและคำร้องภาษาอังกฤษใน พ.ศ. 2508 ต่อมาใน พ.ศ. 2510 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค และหม่อมหลวงประพันธ์ สนิทวงศ์ ประพันธ์คำร้องภาษาไทยถวาย

 

     ไร้จันทร์ (No Moon) ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองและคำร้องภาษาอังกฤษพร้อมกันใน พ.ศ. 2508 ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายอาจินต์ ปัญจพรรค์ ประพันธ์คำร้องภาษาไทยถวาย ชื่อ ‘ไร้จันทร์’ ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค และหม่อมหลวงประพันธ์ สนิทวงศ์ ประพันธ์คำร้องภาษาไทยถวายชื่อ ‘ไร้เดือน’

 

     เกาะในฝัน (Dream Island) ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองและคำร้องภาษาอังกฤษพร้อมกันใน พ.ศ. 2508 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค และหม่อมหลวงประพันธ์ สนิทวงศ์ ประพันธ์คำร้องภาษาไทยถวาย

 

     แว่ว (Echo) ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองและคำร้องภาษาอังกฤษพร้อมกันใน พ.ศ. 2508 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ศ.ดร. ประเสริฐ ณ นคร ประพันธ์คำร้องภาษาไทยถวาย เพลงนี้วงดนตรีสุนทราภรณ์นำออกบรรเลงเป็นครั้งแรกในงานสังคีตมงคล ครั้งที่ 1 ณ บริเวณพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2509

 

 

เสด็จนิวัติประเทศไทย การเริ่มต้นของสถานีวิทยุ อ.ส.

     นอกเหนือจากบทเพลงที่พระราชทานแก่สมเด็จพระราชินี ในรัชกาลที่ 9 บทเพลงส่วนใหญ่หลังจากนิวัติประเทศไทยก็ทรงพระราชนิพนธ์เพื่อเป็นขวัญกำลังใจและสร้างความสุขแก่พสกนิกรชาวไทย ไม่ว่าจะเป็นเพลง ยิ้มสู้ (2495), พรปีใหม่ (2495), ความฝันอันสูงสุด (2514) ฯลฯ

     นอกเหนือจากพระราชกรณียกิจเพื่อประเทศชาติ หลังจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จนิวัติประเทศไทยใน พ.ศ. 2494 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการรวมนักดนตรีสมัครเล่น ประกอบด้วยพระราชวงศ์มาร่วมเล่นดนตรีทุกเย็นวันศุกร์ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต โดยตั้งเป็นวงดนตรีส่วนพระองค์ขึ้นเป็นครั้งแรก และพระราชทานนามว่า ‘วงลายคราม’ สมาชิกของวง ได้แก่ หม่อมเจ้าวิมวาทิตย์ รพีพัฒน์, หม่อมเจ้าแววจักร จักรพันธ์, หม่อมเจ้ากัมปลีสาน ชุมพล, หม่อมเจ้าชุมปกบุตร ชุมพล, หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช, หม่อมราชวงศ์พงศ์อมร กฤดากร, หม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์, หม่อมหลวงอุดม สนิทวงศ์, หม่อมหลวงประพันธ์ สนิทวงศ์,​ นายสุรเทิน บุนนาค และ ดร. แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ โดยมีนักร้องประจำวง ได้แก่ หม่อมเจ้ามูรธาภิเศก โสณกุล และหม่อมเจ้าขจรจบกิติคุณ กิติยากร

 

 

     ใน พ.ศ. 2495 ทรงจัดตั้งสถานีวิทยุ อ.ส. ที่ย่อมาจากพระที่นั่งอัมพรสถาน ตามชื่อสถานที่ดำเนินการของสถานีเพื่อใช้เป็นสื่อกลางความบันเทิงและสาระประโยชน์แก่ประชาชน จนภายหลังรัชกาลที่ 9 ได้ตั้งวงดนตรี อ.ส. วันศุกร์ ที่ได้นักดนตรีรุ่นใหม่มาทดแทน เนื่องจากสมาชิกวงลายครามเริ่มอายุมากขึ้น

     บทเพลงพระราชนิพนธ์จำนวนหนึ่งที่พระราชทานแก่วงลายครามและวง อ.ส. วันศุกร์ เช่น Friday Night Rag (2497) เพลงประจำวงดนตรีลายคราม ประพันธ์คำร้องโดย หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช, Lay Kram Goes Dixie (2498) เป็นเพลงที่พระราชทานให้วงลายคราม, ไกลกังวล (2500) เพลงประจำวงดนตรี อ.ส. วันศุกร์ มักใช้บรรเลงเป็นเพลงสุดท้ายก่อนเลิกเล่นดนตรีในวันนั้น, Blues for Uthit (2522) เพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์เพื่อระลึกถึงการเสียชีวิตของอุทิศ ทินกร ณ อยุธยา สมาชิกวง อ.ส. วันศุกร์ ตำแหน่งเทนเนอร์ แซกโซโฟน และ รัก (2537) ที่พระราชทานให้วง อ.ส. วันศุกร์ บรรเลงทุกวันศุกร์และอาทิตย์ตลอดเดือนธันวาคมปีนั้น ทั้งยังใช้ในการทรงดนตรีร่วมกับวง อ.ส. วันศุกร์ในงานพระราชทานเลี้ยงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ พ.ศ. 2538 พระราชนิพนธ์คำร้องโดย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

 

https://www.youtube.com/watch?v=uSYxWLSL4NM

คลิปวิดีโอจากเพจ Pathorn Srikaranonda de Sequeira

 

     ดร. ภาธร เป็นบุตรชายของ ดร. แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ สมาชิกคนสำคัญของวงลายคราม และ อ.ส. วันศุกร์ โดย ดร. ภาธร เป็นสมาชิกวง อ.ส. วันศุกร์ที่อายุน้อยที่สุดในขณะนั้นคือ 14 ปี  ทั้งยังได้รับทุนการศึกษาไปเรียนด้านดนตรีที่สหรัฐอเมริกาจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก และเป็นข้าราชบริพารที่ทำงานใกล้ชิดของรัชกาลที่ 9

     ดร. ภาธรได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “พระองค์ท่านทรงมีพระทัยกว้างมาก พระองค์จะทรงพระราชนิพนธ์เพลงเป็น lead sheets ก็คือมีทำนอง มีคอร์ด ถ้ามีเนื้อร้องก็จะมีเนื้อร้องใส่ไว้ด้วย แค่นี้เอง เวลาเราจะนำเอาเพลงพระราชนิพนธ์ไปเล่น ก็ต้องนำไปเรียบเรียงเพื่อให้เป็นไปตามสไตล์นั้นๆ มันขึ้นอยู่กับผู้เรียบเรียง เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่รู้จักเพลงพระราชนิพนธ์ ไม่รู้ว่าพระองค์ทรงคิดอะไรอยู่ในแต่ละเพลง โอกาสที่จะถ่ายทอดเพลงออกมาผิดมันก็จะมี ถ้าจะถามว่าต้องถูกตามเมโลดี้ทุกอย่างไหม มันข้ึนอยู่กับสไตล์ เวลาเรานำเพลงพระราชนิพนธ์ไปเล่นก็อยากจะให้ทำให้ถูกต้องตามพระราชประสงค์

     “เพราะมันไม่ผิดเลย ถ้าจะพูดว่าเพลงพระราชนิพนธ์แต่ละเพลงมีหัวใจของพระองค์ท่านอยู่”

 

เพลง Still on my mind บันทึกการแสดงสด โดย The Count Basie Orchestra

 

https://www.youtube.com/watch?v=x7fZ8lZ6Ffc

เพลง ในดวงใจนิรันดร์ โดยวง อ.ส. วันศุกร์

 

อ้างอิง:

FYI

ลำดับเพลงพระราชนิพนธ์

ข้อมูลจากหนังสือประมวลเพลงพระราชนิพนธ์ ชุด ‘ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์’

ในวงเล็บคือ พ.ศ. ที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองหรือออกบรรเลงครั้งแรก

(หรือปี พ.ศ. ที่ผู้ประพันธ์คำร้อง ได้ประพันธ์คำร้องเพิ่มเติมอีกแบบ)

ซึ่งคำร้องสองภาษาอาจได้รับการประพันธ์ขึ้นคนละ พ.ศ. ก็ได้

 

ลำดับที่ 1 แสงเทียน (เมษายน 2489) / Candlelight Blues (2496)

ลำดับที่ 2 ยามเย็น (เมษายน 2489) / Love at Sundown (2489)

ลำดับที่ 3 สายฝน (พฤษภาคม 2489) / Falling Rain (2489)

ลำดับที่ 4 ใกล้รุ่ง (พฤษภาคม 2489) / Near Dawn (2489)

ลำดับที่ 5 H.M. Blues (2489) / ชะตาชีวิต (2489)

ลำดับที่ 6 Never Mind The Hungry Men’s Blues (2489) / ดวงใจกับความรัก (2489)

ลำดับที่ 7 อาทิตย์อับแสง (2491) / Blue Day (2491)

ลำดับที่ 8 เทวาพาคู่ฝัน (2491) / Dream of Love Dream of You (2491)

ลำดับที่ 9 มหาจุฬาลงกรณ์ (2492) – เพลงประจำสถาบัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ลำดับที่ 10 คำหวาน (2493) / Sweet Words (2493)

ลำดับที่ 11 แก้วตาขวัญใจ (2493) / Lovelight in My Heart (2493)

ลำดับที่ 12 เมื่อโสมส่อง (2494) / I Never Dream (2494)

ลำดับที่ 13 ยิ้มสู้ (2495) / Smiles (2495)

ลำดับที่ 14 พรปีใหม่ (2495)

ลำดับที่ 15 Love Over Again (2495) / รักคืนเรือน (2495)

ลำดับที่ 16 มาร์ชธงไชยเฉลิมพล (The Colours March) (2495)

ลำดับที่ 17 ยามค่ำ (2496) / Twilight (2496)

ลำดับที่ 18 มาร์ชราชวัลลภ (Royal Guards March) (2496)

ลำดับที่ 19 ลมหนาว (2497) / Love in Spring (2497)

ลำดับที่ 20 ศุกร์สัญลักษณ์ (2497) / Friday Night Rag (2497)

ลำดับที่ 21 Oh I Say (2498)

ลำดับที่ 22 Can’t You Ever See (2498)

ลำดับที่ 23 Lay Kram Goes Dixie (2498)

ลำดับที่ 24 ค่ำแล้ว (2498) / Lullaby (2498)

ลำดับที่ 25 สายลม (2500) / I Think of You (2500)

ลำดับที่ 26 ไกลกังวล (2500) / When (2506) / เกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย (2514)

ลำดับที่ 27 แสงเดือน (2501) / Magic Beams (2501)

ลำดับที่ 28 Somewhere Somehow (2502) / ฝัน (2502) / เพลินภูพิงค์ (2509)

ลำดับที่ 29 มาร์ชราชนาวิกโยธิน (Royal Marines March) (2502)

ลำดับที่ 30-32 Kinari Suite (Nature Waltz + The Hunter + Kinari Waltz) (มโนห์รา) (2502)

ลำดับที่ 33 Kinari Suite (A Love Story) (2502) / ภิรมย์รัก (2502)

ลำดับที่ 34 Alexandra (2502) / แผ่นดินของเรา (2516)

ลำดับที่ 35 พระมหามงคล (2502) – เพลงประจำวงดนตรีสุนทราภรณ์

ลำดับที่ 36 ยูงทอง (2506) – เพลงประจำสถาบัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ลำดับที่ 37 Still on My Mind (2508) / ในดวงใจนิรันดร์ (2508)

ลำดับที่ 38 Old-Fashioned Melody (2508) / เพลงเตือนใจ (2510)

ลำดับที่ 39 No Moon (2508) / ไร้จันทร์ (2508) / ไร้เดือน (2512)

ลำดับที่ 40 Dream Island (2508) / เกาะในฝัน (2508)

ลำดับที่ 41 Echo (2509) / แว่ว (2509)

ลำดับที่ 42 เกษตรศาสตร์ (2509) – เพลงประจำสถาบัน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ลำดับที่ 43 ความฝันอันสูงสุด (2514)

ลำดับที่ 44 เราสู้ (2516)

ลำดับที่ 45 เรา-เหล่าราบ 21 (We-Infantry Regiment 21) (2519)

ลำดับที่ 46 Blues for Uthit (2522)

ลำดับที่ 47 รัก (2537)

ลำดับที่ 48 เมนูไข่ (2538)

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising