×

บทเพลงช่วงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ การตีความใหม่ของสามัญชนในรัชกาลที่ 9

18.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • บทความนี้คัดย่อและเรียบเรียงจากบทความ ‘ดนตรีในพระราชพิธีพระบรมศพ’ โดย ดร. สายป่าน ปุริวรรณชนะ ที่ตีพิมพ์ในหนังสือ เสด็จสู่แดนสรวง ศิลปะ ประเพณี และความเชื่อในงานพระบรมศพและพระเมรุมาศ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ เป็นบรรณาธิการ จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมิวเซียมสยาม

     ดนตรีมีบทบาทหน้าที่เชิงพิธีกรรมเกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์มาตั้งแต่สมัยบรรพกาล โดยเฉพาะในพิธีศพ

     สุจิตต์ วงษ์เทศ ตั้งข้อสังเกตว่า คนโบราณใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับ ‘ขวัญ’ ทั้งเพื่อใช้ในการเรียกขวัญ เนื่องจากคนแต่ครั้งดึกดำบรรพ์เชื่อว่า คนตายเพราะขวัญหายออกจากร่าง

     ระหว่างพิธีกรรม จะมีการตีเกราะเคาะไม้ประโคมฆ้องกลองปี่ร้องรำ ส่งเสียงอึกทึกกึกก้องเพื่อให้ขวัญได้ยิน ขวัญจะได้กลับถูกทางและคืนร่าง

     ด้วยเหตุนี้ การบรรเลงดนตรีในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ถ้าพิจารณาตามรากความเชื่อดั้งเดิมแล้ว จึงเปรียบเสมือนกับดนตรีเรียกขวัญส่งขวัญนั่นเอง

พนักงานประโคมที่ทิม ในงานพระเมรุมาศสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (ภาพจากจดหมายเหตุงานพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี กรมศิลปากร 2541)

 

     บทความ ‘ดนตรีในพระราชพิธีพระบรมศพ’ โดย ดร. สายป่าน ปุริวรรณชนะ ที่ผู้เรียบเรียงได้นำมาคัดย่อในบทความนี้ ได้พูดถึงหน้าที่ของดนตรีใน 2 ส่วน ได้แก่ ดนตรีประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพโดยตรง และดนตรีที่เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน

     ซึ่งในแบบหลังนี้ ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นจากความต้องการถวายความอาลัยและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพสกนิกรแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

     และเป็นเนื้อหาที่ผู้เรียบเรียงจะเขียนถึงในบทความ

 

ภาพในมิวสิกวิดีโอ ‘ในหลวงของแผ่นดิน’ จัดทำโดย บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) 

 

     นับตั้งแต่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 เห็นได้ชัดว่า มิได้มีแต่ดนตรีไทยตามจารีตราชสำนักบรรเลงในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพเท่านั้น แต่ยังมีการบรรเลงดนตรีในพิธีถวายความอาลัยโดยภาคประชาชน

     ผู้เขียนพิจารณาว่าปรากฏการณ์นี้มีเหตุมาจากความสัมพันธ์ใกล้ชิดของสถาบันกษัตริย์กับประชาชน

     พิธีกรรมที่เคยจำกัดอยู่ในราชสำนัก จึงแพร่ขยายไปในหมู่สามัญชนผู้จงรักภักดี โดยเฉพาะการแต่งเพลงถวายอาลัย ซึ่งศิลปินนักแต่งเพลงถ่ายทอดความรู้สึกลงไปในเพลงที่ตนแต่ง

 

‘โครงการเพลงรักชาติร่วมสมัย’ ชุด ‘รัก…พ่อ’ จัดทำโดย บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) และกระทรวงวัฒนธรรม ดาวน์โหลดบทเพลงทั้งหมดได้ที่  www.m-culture.go.th/mculture_th/main.php?filename=song1

 

โศกอาลัยจากใจสู่ ‘คำร้อง-ทำนอง’ เพลง

     ‘โอ้พระคืนสรวง’ คำร้อง-ทำนอง ประพันธ์โดย รศ.ดร. เชษฐ์ ติงสัญชลี คือตัวอย่างเพลงที่ผู้เขียนระบุว่า แต่งตามขนบวรรณคดียอพระเกียรติ

 

โอ้พระคืนสรวง

     โอ้พระภูมิบาละพุทธางกูร พระประดุจดวงสูรย์ส่องในฟ้า

     พระเสด็จคืนสู่แดนสรวงดุสิดา ดุจความมืดคลุมฟ้าโศกใจ

 

     โอ้พระหน่อ พระนาถษิติราชะองค์ใด มาแต่จุฑาลัยโลกเลอฟ้า

     ยังซึ่งความเกษมแด่มวลปวงประชา แล้วเสด็จคืนฟ้าสุราลัย

 

     เมื่อพระนิราศยังแดนสรวงแสนไกล อัสสุชลแห่งชาวไทยท่วมท้นฟ้า

     หลั่งออกมาจากหัวใจแห่งมวลประชา ปวงเหล่าข้าขอกราบลาด้วยหัวใจ

 

     แม้เสด็จสู่สรวงแมนใด พระเกียรติยังเกริกไว้ชั่วดินฟ้า

     พระสิริยังคงอยู่ในใจข้าฯ ขอกราบลาพระนาถาด้วยหัวใจ

 

     ส่วนเพลง ‘ฟ้าร้องไห้’ คำร้อง-ทำนอง ประพันธ์โดย ครูชลธี ธารทอง เป็นเพลงที่แต่งแบบวัฒนธรรมประชานิยม

 

ฟ้าร้องไห้

     แล้วพ่อก็จากลูกไป จากไปไม่เอ่ยคำลา

     แม้ทำใจเอาไว้ล่วงหน้า ถึงเวลากลั้นน้ำตาไม่ไหว

 

     เสียงครวญคร่ำไปทั่วขวานทอง ความหม่นหมองครอบครองอยู่ทั่วไทย

     แม้แต่ฟ้าก็ยังร้องไห้ เหมือนรู้ใจ คนไทยอาลัยอาวรณ์

 

     พ่อเหนื่อยมานานนัก งานหนักไม่ค่อยได้พักผ่อน

     พันยอดดอยร้อยทุ่งนาป่าดอน พ่อห่วงหาอาทรพสกนิกรของพ่อ

 

     นับตั้งแต่นี้ต่อไป คงไม่ได้เห็นหน้าพ่ออีกหนอ

     ด้วยผลบุญพ่อก่อ เป็นสะพานทอดรอ นำพ่อสู่สรวงสวรรค์

 

     ขาดพ่อเหมือนเรือถ่อหัก เราจงรักสามัคคีกันไว้

     ทำตามคำสอนของพ่อ ชาติไทยก็เดินต่อไปได้

 

     พ่อคอยจับจ้องมองมา จากชั้นฟ้าสวรรคาลัย

     ถ้าลูกทุกคนรักพ่อ จงสานต่อตามรอยพ่อไป

 

     รักษาบ้านเมืองเอาไว้ รักษาบ้านเมืองเอาไว้

     ให้พ่อภูมิใจว่าเป็นลูกพ่อ

 

     แม้การให้นิยามเพลงทั้งสองแบบข้างต้นจะ ‘ดูวิชาการ’ แต่ทั้งสองเพลงมีจุดร่วมกันคือการใช้คำที่แสดงถึงความโศกเศร้าอันเนื่องมาจากการสวรรคต

     เช่น “…ดุจความมืดคลุมฟ้าโศกใจ…” และ “…อัสสุชลแห่งชาวไทยท่วมท้นฟ้า…” ในเพลง ‘โอ้พระคืนสรวง’

     หรือ “…ความหม่นหมองครอบครองอยู่ทั่วไทย แม้แต่ฟ้าก็ยังร้องไห้…” ในเพลง ‘ฟ้าร้องไห้’

     นอกจากความโศกอาลัยของศิลปินผู้ถ่ายทอด ผู้ขับร้องและผู้ฟังยังแสดงออกถึงความโศกซึ้ง ซึ่งบทเพลงเหล่านี้ได้สะท้อนความรู้สึกที่ประชาชนมีต่อพระมหากษัตริย์ในรัฐสมัยใหม่

     และบอกเล่าบรรยากาศทางสังคมและการเมืองไทยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

 

 

รัก ภักดี ซาบซึ้ง ความรู้สึกที่สะท้อนผ่าน ‘เพลงพระราชนิพนธ์’

     หน้าที่ของเพลงหลังการเสด็จสวรรคตของรัชกาลที่ 9 ในบางมิติได้ก้าวผ่านการแสดงความอาลัยสู่การแสดงความรัก ภักดี และซาบซึ้งในพระอัจฉริยภาพทางดนตรี โดยให้ความหมายต่อ ‘เพลงพระราชนิพนธ์’ ในฐานะสิ่งแทนพระองค์

 

 

     ยกตัวอย่างเช่น การจัดฉายภาพยนตร์เรื่อง ‘พรจากฟ้า’ ในช่วงปีใหม่ พ.ศ. 2559 เพื่อสื่อว่าเพลงพระราชนิพนธ์จะยังคงอยู่เป็นพรของประชาชนไทยตราบนานเท่านาน

 

เพลงพระราชนิพนธ์ ‘พรปีใหม่’ โดย ธงไชย แมคอินไตย์ และ วิโอเลต วอเทียร์ Ost.พรจากฟ้า

     การจัดแสดง คอนเสิร์ตการกุศลโตโยต้า คลาสสิคส์ ครั้งที่ 28 เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2560 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ภายใต้แนวคิด ‘ทุกท่วงทำนอง ก้องกังวาลในดวงใจไทยนิรันดร์’ ก็สะท้อนถึงการแสดงความ ‘ซาบซึ้ง’ ถึงพระอัจฉริยภาพทางดนตรีได้อย่างชัดเจน*

 

‘ทุกท่วงทำนอง ก้องกังวาลในดวงใจไทยนิรันดร์’ คอนเสิร์ตการกุศลโตโยต้า คลาสสิคส์ ครั้งที่ 28

 

บทเพลงที่มี ‘เพลงพระราชนิพนธ์’ มากที่สุด

     อีกลักษณะคือ การนำชื่อเพลงพระราชนิพนธ์มาร้อยเรียงเป็นบทเพลงถวายอาลัย โดยให้ ‘ชื่อเพลง’ เหล่านั้นสื่อถึงรัชกาลที่ 9 แม้ว่าเนื้อเพลงจะมิได้กล่าวถึงพระองค์โดยตรงก็ตาม

     อย่างเพลง ‘เสียงในใจ’ ที่ ทิวา สาระจูฑะ บรรณาธิการนิตยสาร ‘สีสัน’ เป็นผู้แต่งเนื้อร้อง และ จ่าอากาศเอก ธรรมรัตน์ อภิรดี เป็นผู้แต่งทำนอง

 

‘เสียงในใจ’ โดย คณาคำ อภิรดี

 

     ‘ยามเย็น’ ผ่าน ‘ยามค่ำ’ โอ้ ‘ค่ำแล้ว’

     ‘สายลม’ ‘แว่ว’ คล้ายคำฝากจากสวรรค์

     นี้ ‘แผ่นดินของเรา’ เราร่วมกัน

     ‘ในดวงใจนิรันดร์’ จงมั่นใจ

 

     คือ ‘ความฝันอันสูงสุด’ ให้ ‘เราสู้’

     ให้เรารู้ ‘รัก’ ‘ฝัน’ อย่าหวั่นไหว

     แม้ ‘แสงเทียน’ วูบลับดับแสงไป

     จง ‘ยิ้มสู้’ ด้วยใจ ‘ไกลกังวล’

 

     เช่น ‘ชะตาชีวิต’ ลิขิตเขียน

     ‘ลมหนาว’ เปลี่ยนร้อนคลายสู่ ‘สายฝน’

     ถึง ‘อาทิตย์อับแสง’ ไป ‘เตือนใจ’ ตน

     วันจะวน ‘ใกล้รุ่ง’ ทุกพรุ่งนี้

 

บทเพลง ที่เปลี่ยนบทบาท

     หลังเสด็จสวรรคต เพลงที่เคยแต่งเพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ เช่น เพลง ‘ต้นไม้ของพ่อ’ เพลง ‘พระราชาผู้ทรงธรรม’ เพลง ‘ในหลวงของแผ่นดิน’ ก็มักนำมาขับร้องในพิธีจุดเทียนถวายความอาลัย

 

ในหลวงของแผ่นดิน

 

     บทเพลงเหล่านี้ได้เปลี่ยนบทบาทไปสู่บทเพลงถวายความอาลัย เพื่อถ่ายทอดความโศกเศร้า ทำให้ประชาชนได้ย้อนรำลึกถึงช่วงเวลาในรัชสมัยของพระองค์

 

เพลงเก่า เล่าใหม่

     ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจอีกประการในการถวายความอาลัยด้วยเพลงและดนตรี คือการนำเอาเพลงที่มีอยู่เดิมมา ‘ตีความใหม่’ ซึ่งมีทั้งเพลงไทยและเพลงสากล

     ตัวอย่างเช่นในการแสดง คอนเสิร์ต ในดวงใจนิรันดร ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ได้นำเอาเพลงที่เกี่ยวกับความตาย เช่น เพลง ‘They are at Rest’ ของเอ็ดเวิร์ด เอลการ์ (Edward Elgar) และเพลง ‘Rest’ ของราล์ฟ วอห์น วิลเลียมส์ (Ralph Vaughan Williams) มาขับร้องประสานเสียงเพื่อถวายความอาลัย

 

‘They are at Rest’ by Edward Elgar (1857-1934)

 

 

‘Rest’ by Ralph Vaughan Williams

 

 

     หรือใน งานจุฬาฯ ๑๐๐ ปี ศตวรรษแห่งความภูมิใจ วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2560 ทางมหาวิทยาลัยได้นำเพลง ‘ลาแล้วจามจุรี’ ซึ่งปกติมีความหมายถึงความอาลัยอาวรณ์มหาวิทยาลัยของผู้ที่กำลังจะสำเร็จการศึกษามาตีความให้ ‘จามจุรี’ หมายถึงร่มพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

     โดยมีสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความคิดดังกล่าวผ่านการถวายบังคมของคณะผู้แสดงลีลาประกอบเพลงในตอนจบการแสดง

 

‘ลาแล้วจามจุรี’ โดย ศรัณย่า ส่งเสริมสวัสดิ์

 

     ดนตรีในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพที่มีรากฐานจากพิธีกรรมเกี่ยวกับความตายในสังคมบรรพกาล ผันผ่านกาลเวลาและยุคสมัย

     จากดนตรีที่เคยประกอบแค่ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ หลังการเสด็จสวรรคตของรัชกาลที่ 9 ได้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ ประชาชนชาวไทยต่างร่วมกันถวายความอาลัยผ่านเสียงดนตรี ทั้งประพันธ์เพลง ขับร้อง บรรเลง ฯลฯ

     เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย

 

     *หมายเหตุ: ย่อหน้าที่พูดถึง คอนเสิร์ตการกุศลโตโยต้า คลาสสิคส์ ครั้งที่ 28 เป็นข้อมูลที่ผู้เรียบเรียงเพิ่มเติม ไม่มีในบทความต้นฉบับ

 

 

     ผู้เรียบเรียงขอขอบคุณคณะผู้จัดทำหนังสือ เสด็จสู่แดนสรวง ศิลปะ ประเพณี และความเชื่อในงานพระบรมศพและพระเมรุมาศ ที่กรุณาทำหนังสือรวบรวมความรู้เกี่ยวกับพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพและพระเมรุมาศด้วยความอุตสาหะ

     ผู้ที่สนใจศึกษาเพิ่มเติมหรือต้องการอ่านบทความฉบับเต็ม ดาวน์โหลดหนังสือเล่มนี้ฟรีได้ที่ https://drive.google.com/file/d/0B5BpTtXUXhCeX09XYkRHbm1OZGc/view

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising