×

พ่อของแผ่นดินในฐานะ ‘ทูลกระหม่อมพ่อ’

05.12.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins read
  • THE STANDARD รวบรวมเหตุการณ์และพระราชดำรัสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในแง่มุมต่างๆ เพื่อรำลึกถึงพระองค์ในฐานะ ‘ทูลกระหม่อมพ่อ’

ช่วงเวลาวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ของทุกปี คนไทยจะรอเฝ้าชมพระบารมี ยามเมื่อเสด็จฯ ยังศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชทานพระบรมราโชวาท เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา

 

‘คำพ่อสอน’ เป็นสิ่งที่คนไทยรอฟังด้วยใจจดจ่อเสมอ แม้ในขวบปีหลังๆ ของพระชนม์ชีพจะทรงประชวรและไม่ได้เสด็จฯ ออกให้พสกนิกรเฝ้าชมพระบารมีก็ตาม ทว่า วันที่ 5 ธันวาคม ก็ยังคงเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ในหัวใจคนไทยอยู่เช่นเดิม

 

5 ธันวาคมปีนี้ เป็นปีแรกที่จะมิได้มีสถานะเป็นเพียง ‘วันพ่อแห่งชาติ’ เท่านั้น ด้วยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้วันนี้เป็น ‘วันคล้ายวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช’ และเป็น ‘วันชาติ’ เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ที่ทรงทุ่มเทพระวรกายเพื่อพสกนิกรของพระองค์มาตลอด 70 ปี

 

คนไทยที่มีปีเกิดนับแต่ พ.ศ. 2493 เป็นต้นมา คงมีความรู้สึกคล้ายคลึงกันเมื่อนึกถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คือทรงเป็น ‘พ่อของแผ่นดิน’ ผู้ทรงมอบความอุ่นใจให้ลูกๆ ที่แม้บางครั้งจะดื้อบ้าง เกเรบ้าง แต่ก็รู้ว่าพ่อจะเข้าใจให้อภัยและเมตตาเสมอ เรามีพระองค์เป็นพ่อมายาวนาน จนบางครั้งก็อาจลืมคิดไปว่า ทรงมิได้เป็นเพียงพ่อของแผ่นดินเท่านั้น หากยังทรงเป็น ‘ทูลกระหม่อมพ่อ’ ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้ง 3 พระองค์เช่นกัน

 

 

บทบาท ‘พ่อ’ ของพระองค์เป็นอย่างไร สะท้อนชัดผ่านพระราชดำรัสของทั้งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอในแง่มุมต่างๆ ดังเช่นกระแสพระราชดำรัสตอบของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (พระอิสริยยศในขณะนั้น) เมื่อมีผู้กราบบังคมทูลถามถึงความรู้สึกของพระองค์ที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในฐานะบุตร ในวันที่ 14  ธันวาคม พ.ศ. 2518

 

“ข้าพเจ้าไม่อาจเอื้อมที่จะวิจารณ์ความรู้สึกของพระองค์ท่าน ข้าพเจ้าก็เป็นข้าพระบาทคนหนึ่งของพระเจ้าอยู่หัวที่ต้องเคารพบูชาพระองค์เช่นเดียวกับท่านทั้งหลาย ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่งสุดจะพรรณนา ก็ตอบได้แต่เพียงเท่านี้”

 

หรือดังเช่น พระโอวาทตอนหนึ่งที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี พระราชทานแก่ หน่วยแพทย์ พอ.สว. จ.นครนายก วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2560 ความว่า

 

“จริงๆ แล้วพวกเราน่ะได้ประโยชน์จากพ่อแม่ โดยเฉพาะข้าพเจ้าได้ประโยชน์จากทั้งพ่อทั้งแม่มาก พระเจ้าอยู่หัวท่านเป็นพ่อที่ดีเหลือเกิน ไม่มีขาดตกบกพร่องตรงไหนเลย ตั้งแต่การให้ความรักความอบอุ่นแก่ลูก ให้วิชากับลูก สอนการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง สอนให้ทำประโยชน์ให้สังคม จริงๆ แล้ว ข้าพเจ้าก็ว่า ข้าพเจ้าพูดไปจนรุ่งเช้าก็ยังไม่จบเลย เรื่องความดีของท่าน”

 

 

รู้ปัญหาอย่างถ่องแท้เพื่อแก้ไขอย่างถูกต้อง

 

หนึ่งในตัวอย่างแนวทางการอภิบาลพระราชโอรสพระราชธิดาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่มีทั้งศาสตร์และศิลป์ สะท้อนทั้ง ‘การแสวงหาคำตอบตามหลักวิทยาศาสตร์’ เริ่มตั้งแต่ตั้งคำถาม วิธีหาคำตอบ และการทดลอง จนนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ถูกต้อง และ ‘การรู้จริงต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง’ ปรากฏในบทความ ‘บทเรียนจากการนับข้าวสาร’ ในหนังสือ ความสุขของสมเด็จพระเทพฯ โดยโกวิท วงศ์สุรวัฒน์ ความว่า   

 

เมื่อครั้งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระชนมายุ 8 พรรษา ได้ทูลถามทูลกระหม่อมพ่อว่า “ข้าวสาร 1 กระสอบ มีกี่เม็ด”

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตรัสอธิบายตอบว่า “ข้าวสาร 1 กระสอบ มีน้ำหนัก 100 กิโลกรัม กิโลกรัมหนึ่งมีเครื่องชั่งวัดได้ 10 ขีด ดังนั้นก็เอาภาชนะไปตวงข้าวสารมาชั่งได้ 1 ขีด แล้วก็นับข้าวสารที่ตวงมานั้นมีกี่เม็ด แล้วก็เอา 10 คูณ เสร็จแล้วเอา 100 คูณผลลัพธ์อีกที ก็จะได้จำนวนเม็ดข้าวใน 1 กระสอบ”

 

เมื่อได้ฟังดังนั้น สมเด็จพระเทพฯ ตรัสว่า “ไม่อยากรู้แล้ว”

 

พระองค์จึงตรัสสอนว่า “ไม่ได้หรอก หากถามก็แสดงว่าอยากรู้ ดังนั้นจงไปหาข้าวสารมาตวงและนับเสีย เมื่อได้ผลเป็นอย่างไรให้มาบอกด้วยว่าข้าวสารหนึ่งกระสอบมีกี่เม็ด เพราะว่าก็อยากรู้เหมือนกัน”

 

ทั้งวิธีคิดอย่างมีหลักเกณฑ์ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้อง และการเกาะติดปัญหาอย่างไม่ปล่อย ได้กลายเป็นแนวทางในการทรงงานด้านการพัฒนา ที่ถ่ายทอดสู่พระราชโอรสพระราชธิดาจนหมดสิ้น และกลายเป็นแนวทางให้พสกนิกรน้อมนำไปปฏิบัติในชีวิตด้วย

 

ความรักความอบอุ่นจาก ‘ทูลกระหม่อมพ่อ’

เมื่อครั้งที่ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯ อยู่ในภาวะโทมนัสอย่างยิ่ง เนื่องจากสูญเสียพระโอรส คุณพุ่ม เจนเซน จากเหตุการณ์สึนามิ ที่อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา วันที่ 26 ธันวาคม 2547 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จประทับพระราชอาสน์ในงานพระราชทานเพลิงศพที่วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร จนกระทั่งเสร็จสิ้นพิธี พระองค์ทรงจับพระอังสา (ไหล่) และประคองพระพักตร์ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯ ที่ทรงกันแสงต่อหน้าพระพักตร์อย่างอ่อนโยนด้วยความรักความห่วงใย      

 

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ภูมิพลอดุลยเดชทรงสอนว่า การทำงานด้วยความมุ่งมั่น และการทำตัวให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น จะช่วยทำให้ความเศร้าโศกจางเบาลง ทำให้สภาพจิตใจเราดีขึ้น ท่านสอนตอนที่ฉันสูญเสียน้องพุ่ม” ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯ ทรงถ่ายทอดข้อความลงในอินสตาแกรมส่วนพระองค์ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2559       

 

พระผู้ทรงเป็นแรงใจ

พระปรีชาสามารถในกีฬาเรือใบของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯ เป็นตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนถึงความสัมพันธ์พ่อ-ลูก ผ่านกิจกรรมกีฬา

 

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดลุยเดชทรงสนพระราชหฤทัยในการแล่นเรือใบเมื่อพระชนม์ปลาย 30 พรรษา ต่อต้น 40 พรรษา โดยทรงเริ่มจากการหัดต่อเรือก่อนจะทรงเรียนรู้การแล่นเรือใบอย่างจริงจัง และเมื่อครั้งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 พ.ศ. 2510 พระองค์ทรงร่วมแข่งเรือใบกับทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯ และทรงชนะเลิศได้รับรางวัลเหรียญทองร่วมกัน

 

แรงบันดาลใจด้านกีฬาได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการก่อตั้งโครงการทูบีนัมเบอร์วัน (TO BE NUMBER ONE) โครงการรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในโรงเรียน องค์กร และชุมชน โดยใช้กีฬาและการออกกำลังกายเป็นหลักในการส่งเสริมเยาวชนให้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

 

ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯ ประทานสัมภาษณ์ถึงทูลกระหม่อมพ่อในด้านการอบรมสั่งสอนว่า

 

“ปกติจะไม่ได้สอนกันตรงๆ แต่จะทรงปฏิบัติพระองค์เป็นแบบอย่างให้ลูกๆ ได้เรียนรู้จากการตามเสด็จฯ”

 

 

เดิมพันคือทุกข์สุขของพสกนิกร  

ครั้นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีโอกาสตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ไปยังท้องถิ่นทุรกันดารต่างๆ ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เพื่อดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้รับสั่งถึงทูลกระหม่อมพ่อว่า

 

“พระองค์ก็คงทรงเหนื่อยเหมือนกัน แต่ทรงไม่บ่น ทรงงาน 365 วัน ตลอด 24 ชั่วโมง โดยจะมีเสียงวิทยุดังมาตลอด และยังมีอุปกรณ์สำหรับติดตามข่าวสารสารพัดอย่าง พระองค์ก็ทรงพยายามสอนถ่ายทอดให้ฉัน เช่น ไฟฟ้ากี่แอมแปร์ กี่วัตต์ กี่โวลต์ พระองค์ทรงฟังคลื่นวิทยุหลายเครือข่าย ถึงทรงรู้ว่ามีน้ำท่วม ไฟไหม้ตรงไหน มีอะไรพระองค์ก็ทรงให้ความช่วยเหลือได้ทันท่วงที ตรงนี้คงไม่เรียกว่าพัฒนา เป็น ‘บรรเทาสาธารณภัย’ มากกว่า

 

“…พระองค์ทรงงานแบบนี้จนรู้สึกว่าเป็นชีวิตประจำวันของพระองค์ จะทรงมีของพระราชทานวางไว้ตามกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนตลอด พอเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลัน ก็สามารถนำไปมอบให้ชาวบ้านได้ทันที แต่ว่าตอนหลังๆ พาหนะอาจจะชำรุดไปบ้าง ก็กำลังให้เขาซ่อมและทำใหม่ ขณะเดียวกันก็พยายามหาเครือข่ายในการทำงานร่วมกัน”

 

ตลอดการติดตามเสด็จฯ ไปยังท้องถิ่นทุรกันดาร สมเด็จพระเทพฯ สยามบรมราชกุมารี มีรับสั่งว่าทรงคุ้นเคยอยู่กับคำสองคำคือ ‘การพัฒนา’ และ ‘การทำบุญกุศล’ โดยมีผู้ให้อรรถาธิบายว่า ถ้าอยากช่วยแล้วบริจาคเงินหรือสิ่งของโดยไม่หวังผลกำไร จะเรียกว่าเป็น ‘ทำบุญ’ แต่ถ้าหวังว่าสิ่งที่ดำเนินการจะเจริญก้าวหน้าต่อไป เรียกว่า ‘พัฒนา’ หลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คืออย่างหลัง โดยมีหลักการว่า ทรงทำทุกอย่างที่จะช่วยเหลือประชาชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน  

 

ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯ ทรงสะท้อนภาพความเป็นกษัตริย์ผู้ทรงงานหนักที่สุดในโลกของทูลกระหม่อมพ่อไว้เช่นกันว่า  

 

“…ท่านทำงานหนักมาก ทรงเสียสละมาก เป็นตัวอย่างที่ดีของลูกๆ ท่านไม่เคยคิดถึงความสุขของตัวเอง ท่านไม่เสด็จฯ ออกนอกประเทศนานแล้ว เพราะทรงห่วงประเทศมาก ท่านจะทรงคิดถึงแต่ประชาชนของท่าน และจะทรงสอนลูกๆ เสมอว่า ให้นึกถึงคนอื่นก่อนตัวเอง ก่อนจะไปสอนคนอื่นได้ เราต้องทำตัวให้เป็นที่น่าเชื่อถือ…”

 

แม้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจะเสด็จสู่สวรรคาลัยไปแล้ว หาก 5 ธันวาคม จะยังคงเวียนมาบรรจบในทุกปี ถึงพระวรกายจะจากลา ทว่าคำสอนของพ่อ และบทบาทของพระองค์ในฐานะพ่อจะยังคงอยู่กับเราเสมอไป  

     

Photos: หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช, สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

อ้างอิง:

  • สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. 2554. พระมหากษัตริย์นักพัฒนา เพื่อประโยชน์สุขสู่ปวงประชา. กรุงเทพฯ: ศูนย์การพิมพ์เพชรรุ่ง.
  • โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. 2554. บทความ บทเรียนจากการนับข้าวสาร ใน ความสุขของสมเด็จพระเทพฯ. กรุงเทพฯ: พี.วาทิน พับลิเคชั่น
  • อัครวัฒน์ โอสถานุเคราะห์. 2554. สองธรรมราชา ในหลวงครองราชย์ สังฆราชครองธรรม. กรุงเทพฯ : กรีน ปัญญาญาณ  
  • winbookclub.com/wormtalkdetail.php?topicid=2739
  • www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9590000120016
  • www.posttoday.com/kingbhumibol/news/463875  
  • www.matichon.co.th/news/348405

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X