ความโศกาดูรของคนไทยทั้งแผ่นดินมีมากเหลือประมาณ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ได้มีแถลงการณ์จากสำนักพระราชวังว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงเป็นมิ่งขวัญของปวงประชาสวรรคต นำความวิปโยคในหัวใจมาสู่พสกนิกรที่อาศัยอยู่ภายใต้ร่มเศตวรฉัตรของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ที่ทรงครองราชย์ยาวนานกว่า 70 ปี
62 ปีในชีวิตของ ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ในฐานะพสกนิกร นับว่าเป็นบุญกุศลล้นเหลือที่บันดาลให้ได้ใช้ชีวิตตั้งแต่แรกเกิดมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยความร่มเย็นเป็นสุขภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย
THE STANDARD สนทนากับ ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ผู้เป็นอดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี อดีตอาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย และเป็นผู้หนึ่งที่ได้ใช้ชีวิตในฐานะ ‘ข้าราชการ’ รับสนองพระมหากรุณาธิคุณ ทำหน้าที่ของตนเองเพื่อบ้านเมือง โดยมี รัชกาลที่ 9 เป็นดั่งหลักชัยในชีวิตของพสกนิกรที่ชื่อ ‘ธงทอง’
เวลาที่เราไม่อยากให้มาถึงมันได้เข้ามาใกล้มากเต็มทีแล้ว และหลังจากที่มีแถลงการณ์จากสำนักพระราชวังออกมาแล้ว ความหวังที่เราต่างเหลืออยู่ไม่ว่าจะกี่เปอร์เซ็นต์ก็ตาม มันคือจุดที่ได้วางลงไป คือจุดที่มันหยุดลงแล้ว
13 ตุลาคมนี้ จะครบรอบ 1 ปีสวรรคต 1 ปีที่ผ่านไปของอาจารย์ ผ่านมาได้มากน้อยขนาดไหน
เดี๋ยวนี้ก็ค่อยยังชั่วขึ้น แต่เวลาที่ยากมากคือช่วงหนึ่งเดือนแรก ผมคิดว่าเป็นความเข้าใจของทุกคนว่า สุดท้ายแล้วเราก็ไม่สามารถหนีจากเหตุการณ์นี้ได้ แต่ในอีกมุมหนึ่ง แค่ในเวลานี้ เราก็ยังอยากที่จะอยู่ใกล้ที่สุดเท่าที่จะทำได้
ผมคิดว่าอารมณ์ของคนไทยในวันที่ 12, 13, 14 เป็นอารมณ์ที่เราไม่เคยอยู่ในเหตุการณ์นั้นมาก่อนเลย ถ้าเรานึกย้อนกลับไปวันที่ 12 มีความกังวลและมีข่าวลือเกิดขึ้นตลอดทั้งวัน ความหวาดหวั่น ความรู้สึกว่าจริง ไม่จริง ไม่อยากให้จริง มีอยู่ในใจของเรา
ผมใช้สื่อโซเชียลมีเดีย ย้อนกลับไปดูในเช้าวันที่ 13 เฟซบุ๊กของทุกคนขึ้นเป็นพื้นสีชมพูและมีข้อความคล้ายๆ กัน เราแต่ละคนนั้นรักพระองค์ท่าน ค่ำวันที่ 12 ตอนค่ำ เราก็ไม่ได้มีความรู้สึกที่ดี ในตอนนั้นเป็นการแถลงพระอาการเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่พระองค์จะเสด็จสวรรคต
ถ้าเราไปอ่านข้อความในแถลงการณ์วันที่ 12 พระอาการไม่เป็นที่วางใจได้เลย สำหรับเราท่ามกลางอารมณ์ทั้งปวง เราก็ยังมีความหวัง ตลอดวันที่ 13 เราก็ยังอยากที่จะบอกตัวเองว่ายังไม่ใช่เวลานะ แต่เมื่อเราทั้งหลายย้อนดู ความหวังของเราก็ริบหรี่ลงไปเรื่อยๆ
ในช่วงบ่ายของวันที่ 13 ก่อนที่จะมีแถลงการณ์ของสำนักพระราชวังในตอนค่ำ เดี๋ยวนี้ข้อมูลข่าวสารไปได้เร็ว การปิดการลงนามถวายพระพรในเวลาประมาณบ่าย 3 โมง สิ่งเหล่านี้ก็เป็นสัญญาณที่เราสามารถจะรับรู้ การที่เจ้านายทุกพระองค์เสด็จฯ ไปที่โรงพยาบาลศิริราช สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งซึ่งบอกเราได้ว่า เวลาที่เราไม่อยากให้มาถึงมันได้เข้ามาใกล้มากเต็มทีแล้ว และหลังจากที่มีแถลงการณ์จากสำนักพระราชวังออกมาแล้ว ความหวังที่เราต่างเหลืออยู่ไม่ว่าจะกี่เปอร์เซ็นต์ก็ตาม มันคือจุดที่ได้วางลงไป คือจุดที่มันหยุดลงแล้ว
วันนั้นผมกลับบ้านไปก็ไม่รู้จะกินข้าวอย่างไร มันคือความรู้สึกที่ไม่เคยพบมาก่อน ค่ำวันนั้นไม่รู้ว่าจะนอนอย่างไร ในวันที่ 13 นั้น ก่อนที่ผมจะกลับบ้าน ทุกคนยังคงแต่งตัวด้วยสีเสื้อผ้าตามปกติ แต่ในวันที่ 14 เมื่อผมได้ออกจากบ้านมาไม่เหลือผ้าสีเลย มีแต่คนแต่งตัวสีดำ
แม่ผมทันเมื่อตอนรัชกาลที่ 8 เสด็จสวรรคต แม่บอกว่าคนไว้ทุกข์ทั้งเมือง วันนั้นแต่เช้าผมก็รีบไปที่วัด ซึ่งผมก็คิดถูกแล้ว เพราะถ้าหลังจากเที่ยงมาแล้วคนก็แน่นขนัดจนไม่เหลือที่แล้ว คนมากมายมหาศาลเต็มไปหมด ตอนนั้นจะเหลือก็แต่พื้นถนนเท่านั้นที่ยังว่างอยู่ เลยอาศัยความที่เรามากันเป็นหมู่คณะร่วมสิบคน ก็นั่งพื้นถนนกันเป็นหมู่แรก ตำรวจเขาก็จดๆ จ้องๆ เขาก็ไม่ว่าอะไร พอเรานั่งนำแล้วคนอื่นก็เริ่มมานั่งตามต่อกันไปเรื่อยๆ ไม่เกินชั่วโมงก็เต็มพื้นที่ไปแล้ว นั่งอยู่ตั้งแต่ก่อนบ่ายโมง นั่งไปจนขบวนพระบรมศพฯ มาถึงก็น่าจะประมาณห้าโมงแล้ว
ตอนนั้นทำไมจึงตัดสินใจที่จะไปนั่งเฝ้ารอขบวนพระบรมศพฯ ที่ริมถนน
ผมนึกมาตั้งแต่ค่ำวันที่ 13 ว่าผมควรทำอย่างไร การนั่งอยู่กับบ้านผมทำไม่ได้แน่นอน จึงคิดได้ว่าผมมีทางเลือกอยู่แค่สองทาง หนึ่งคือแต่งเครื่องแบบเต็มยศ เข้าไปในพระบรมมหาราชวัง ก็คงมีที่นั่งบ้างตามแต่กรณี แต่อีกมุมหนึ่งคือผมเป็นคนนอกราชการ ผมเกษียณแล้ว การไปถวายบังคมพระบรมศพฯ อยู่ที่ริมถนนน่าจะเป็นความทรงจำที่ผมอยากจะเก็บไว้ในใจของผมมากกว่า ผมคิดเช่นนี้จึงไป
ผมเคยรับเสด็จพระองค์หนแรกอยู่ริมถนน บ้านผมอยู่ริมถนนพหลโยธิน ตอนนั้นพระองค์เสด็จฯ ไปยังวังที่พระนคร จากการเสด็จประพาสยุโรปและอเมริกามาหลายเดือน ประชาชนที่ไปรับเสด็จก็มีเยอะ ผมก็เป็นเด็กคนหนึ่งที่ไปรับเสด็จอยู่ริมถนน
อาจารย์เคยเล่าไว้ว่า เสมือนย้อนกลับไปสู่ความทรงจำในวัยเด็ก ในการเฝ้ารับเสด็จ
ผมเคยรับเสด็จพระองค์หนแรกอยู่ริมถนน บ้านผมอยู่ริมถนนพหลโยธิน ตอนนั้นพระองค์เสด็จฯ ไปยังวังที่พระนคร จากการเสด็จประพาสยุโรปและอเมริกามาหลายเดือน ประชาชนที่ไปรับเสด็จก็มีเยอะ ผมก็เป็นเด็กคนหนึ่งที่ไปรับเสด็จอยู่ริมถนน จนเมื่องานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เมื่อปี 2549 ผมเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่แล้ว จึงไปยืนอยู่ในงานที่ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ก็ได้เห็นพระองค์ท่านเกิดปิติในใจ
แต่ก็มีงานอื่นที่ผมไม่ได้เกี่ยวข้อง เช่น งานที่ทรงนำพระราชอาคันตุกะทั้งหลายไปดูขบวนเรือที่หอประชุมกองทัพเรือ ผมก็ไปรอเฝ้ารับเสด็จอยู่ที่เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า ผมได้มีโอกาสไปยืนรอรับเสด็จที่ริมถนนอยู่หลายครั้ง
ดังนั้น ในฐานะที่ผมเป็นคนไทยคนหนึ่งที่ได้มีโอกาสในหลายวาระนั้น ในโอกาสสุดท้ายที่จะได้เฝ้าพระองค์ท่าน การได้ไปอยู่ ณ ที่ริมสะพานพระปิ่นเกล้า น่าจะดีที่สุดแล้ว
ซึ่งผ่านมาถึงทุกวันนี้ก็ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องแล้ว เพราะหากผมไปอยู่ในพระบรมมหาราชวัง เรื่องของมุมและการได้ทำในสิ่งที่ผมอยากจะทำ ความรู้สึกนั้นก็คงแตกต่างกัน เมื่อไปที่วัด พระท่านก็หาธูปเทียนให้ แต่เมื่อถือไปก็ไม่รู้ว่าจะไปจุดตรงไหน และไม่รู้ว่าจะจุดไปแล้วไปปักตรงไหนเพราะคนก็แน่นไปหมด
เรื่องการ ‘จุดเทียน’ เป็นวิธีแบบโบราณเหมือนในเรื่อง สี่แผ่นดิน
ถ้าได้ไปอ่านเรื่อง สี่แผ่นดิน ก็จะพบว่าการเชิญพระบรมศพฯ จากพระราชวังดุสิตไปพระบรมมหาราชวังนั้นเกิดขึ้นในเวลาที่ค่ำแล้ว แม้มีไฟฟ้าแล้วก็จริง แต่ต้องตัดสายไฟ เพราะเห็นว่าพระบรมโกศสูง
แม้แม่พลอยจะเป็นตัวละคร แต่คนที่เห็นจริงคือหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านได้บันทึกไว้และนำสิ่งนั้นไปถ่ายทอดเป็นประสบการณ์ของแม่พลอย คือภาพของทุกคนที่จุดธูปเทียนขึ้นถวายบังคม เพราะฉะนั้นโบราณนั้นคือ ใช้วิธีจุดธูปเทียนเพื่อถวาย ผมก็ได้รับความเมตตาจากพระท่านในการเตรียมให้ แต่ก็ไม่ได้จุด เพราะหนึ่งไม่รู้จะจุดอย่างไร เนื่องจากคนแน่นเต็มไปหมด สองก็คือไม่รู้จะไปปักที่ไหน
สุดท้ายก็ตั้งใจกลับมาจุดที่บ้าน แล้วก็ถวายบังคมไปในทิศของพระบรมมหาราชวัง
เหตุการณ์สวรรคตอาจจะทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งที่เราเคยมีมากกว่าตอนที่เรามีพระองค์อยู่กับเรา เมื่อไม่มีพระองค์อยู่แล้ว จากนี้จะไม่มีใครมาคอยบอกเราได้อีกแล้ว เราต้องดีได้ด้วยสิ่งที่พระองค์ทรงเคยทำให้เราดู ในสิ่งที่ทรงเคยตรัสให้กับเรา
การไปรับเสด็จท่านในวัยเด็ก จนมาถึงการเฝ้าส่งเสด็จ ถ้าผมจะสรุปคืออาจารย์อยากจะทำหน้าที่ให้ครบถ้วน
ผมรู้สึกว่าชีวิตผมจะครบวงจรได้นั้น มันเริ่มต้นด้วยการเฝ้าพระองค์ในฐานะประชาชน และเมื่อมาถึงในวันสุดท้ายของรัชกาล ผมก็เป็นประชาชนคนหนึ่งที่อยากจะทำหน้าที่ในฐานะพสกนิกรเพียงเท่านั้น
เมื่อเวลาได้ผ่านมาแล้ว 1 ปี อาจารย์คิดว่าประชาชนควรผ่านเหตุการณ์โศกาดูรนี้ไปอย่างไร
ผมอาจพูดได้ แต่ตัวผมจะทำได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ เราก็คงต้องช่วยกัน คงมีสองประเด็น หนึ่ง คือ ยังนึกถึงพระองค์ไหม ไม่ผิดที่เราจะนึกถึง และเรายังมีโอกาสสนองพระเดชพระคุณของพระองค์ไหม ก็ยังมี ทำบุญ ทำกุศล ทำอะไรก็ตามที่เราจะอุทิศถวายเป็นราชสักการะได้ เราก็คงทำสิ่งนี้ไปเรื่อยๆ
ส่วนที่สองคือ เราจะนำบทเรียน จากสิ่งที่พระองค์ปูทางไว้ สิ่งที่พระองค์มีพระราชดำรัสด้วยถ้อยพระวาจากับเรา นำสิ่งเหล่านั้นมาใช้เป็นแนวทางในการใช้ชีวิตของเราจากนี้ไป
เหตุการณ์สวรรคตอาจจะทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งที่เราเคยมีมากกว่าตอนที่เรามีพระองค์อยู่กับเรา เมื่อไม่มีพระองค์อยู่แล้ว จากนี้จะไม่มีใครมาคอยบอกเราได้อีกแล้ว เราต้องดีได้ด้วยสิ่งที่พระองค์ทรงเคยทำให้เราดู ในสิ่งที่ทรงเคยตรัสให้กับเรา
สิ่งเหล่านี้คือตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่าพระองค์เป็นขวัญของเรา ถ้าพระองค์มีความสุขเราก็มีความสุขไปด้วย และในทางกลับกัน โดยเฉพาะรัชกาลที่ 9 ก็อาจกล่าวได้ว่า ถ้าประชาชนมีความสุข พระองค์ก็มีความสุขด้วย
อาจารย์เคยได้บันทึกเรื่องราวของพระองค์ไว้เป็นหนังสือ อะไรคือสิ่งที่ทำให้อาจารย์ตัดสินใจบันทึกเรื่องราวเหล่านี้ไว้
ผมเคยอ่าน รามเกียรติ์ ฉบับพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 1 มีคำกลอนอยู่บทหนึ่ง ‘อันพระนครทั้งหลาย ก็เหมือนกับกายสังขาร กษัตริย์คือจิตวิญญาณ เป็นประธานแก่ร่างอินทรีย์’ บ้านอื่น เมืองอื่น เขาอาจมีวัฒนธรรมที่แตกต่าง แต่สำหรับเมืองไทยแล้ว โดยเฉพาะรัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงเป็นพระมิ่งขวัญของเรา เมื่อเราได้ข่าวว่าพระองค์ไม่สบาย เราก็ไม่สบายใจ เราได้ข่าวว่าพระองค์พระอาการดีขึ้น เสด็จฯ ไปหัวหินได้ เราก็ดีใจ อาจไม่ต้องเสด็จฯ ไปถึงหัวหิน อาจแค่พระองค์เสด็จฯ ทอดพระเนตรแม่น้ำได้ เราก็มีความสุขแล้ว สิ่งเหล่านี้คือตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่าพระองค์เป็นขวัญของเรา ถ้าพระองค์มีความสุขเราก็มีความสุขไปด้วย และในทางกลับกัน โดยเฉพาะรัชกาลที่ 9 ก็อาจกล่าวได้ว่า ถ้าประชาชนมีความสุข พระองค์ก็มีความสุขด้วย ในขณะที่เราสุขเพราะผ่านฟ้าสุขสมบูรณ์ พระองค์ก็สุขเพราะไพร่ฟ้าสุขสมบูรณ์ด้วยเช่นกัน
ผมโชคดีกว่าคนรุ่นหลัง ผมได้ใช้ชีวิตผ่านมากว่า 60 ปีในรัชกาลของพระองค์ เพราะฉะนั้นบางทีก็ได้ขีดได้เขียน ด้วยความเป็นคนช่างอ่าน จึงพานให้เป็นคนช่างเขียนด้วย หลังสวรรคตก็ได้กลับมานั่งอ่านงานเก่าๆ ที่เราเขียนไว้ถึงพระองค์ ซึ่งผมก็ไม่อยากให้มันหายไป หากจะมีใครสักคนมารววมมันไว้ได้สักเล่มก็ไม่เลว และตั้งชื่อเป็นหนังสือ ‘บุญเหลือ เมื่อได้เกิดแผ่นดินนั้น’
งานเหล่านี้ก็เป็นงานที่มีอายุกว่า 30 ปีแล้ว คือเขียนไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2530 ดังที่ผมบอกว่าผมนั้นโชคดี ที่ได้อยู่ในรัชกาลของพระองค์มากว่า 60 ปี ผมอาจจะเขียนบันทึกความทรงจำของตัวเอง เพราะเห็นว่าเมื่ออายุมากขึ้นกว่านี้ มันก็จะเริ่มเลอะเลือนไปเรื่อยๆ จึงตัดสินใจว่าจะเขียนหนังสืออีกเล่มหนึ่ง บันทึกความทรงจำที่เกิดขึ้นกับตัวเองใช้เวลาร้อยวันแรก เขียนเสร็จออกมาในวันบำเพ็ญพระราชกุศลร้อยวัน ที่จริงแล้วก็ไม่ถึงร้อยวัน เพราะกว่าจะตัดสินใจได้ก็กินเวลาไปเกือบเดือนแล้ว และใช้เวลาอีกสองเดือนเขียนขึ้นมา ก็เป็นหนังสือ ‘ความสุข ความทรงจำในรัชกาลที่ 9’ หนังสือสองเล่มนี้ก็ตั้งใจ ตกลงกับสำนักพิมพ์ว่าอย่าให้แพง เพราะอยากให้คนอ่าน และค่าลิขสิทธิ์เท่าที่ได้มาทั้งหมดก็จะนำไปบริจาคถวายเป็นพระราชกุศลทั้งหมด
ตลอดกว่า 30 ปี เรื่องพระราชพิธีต่างๆ ที่ผ่านมาเราได้ถ่ายทอดให้คนทั่วไปได้เข้าใจได้สมความตั้งใจบ้างหรือยัง
ผมคิดว่าผมมีโอกาสทำงานมาต่อเนื่องหลายวาระ ตั้งแต่งานพระเมรุมาศสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 เมื่อประมาณปี 2528-2529 ซึ่งก็กว่า 30 ปีมาแล้ว และมาทำหน้าที่ในมุมต่างๆ ในหลายวาระด้วยกัน
ที่จริงแล้วผมได้ทำหน้าที่เป็นผู้บรรยายโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยสองคราวเท่านั้น คืองานสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 ครั้งหนึ่ง และงานสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี อีกครั้งหนึ่งเท่านั้น งานเมื่อคราว สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ กับ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ผมไม่ได้เป็นผู้บรรยาย เพราะว่าผมไปทำหน้าที่ต่างๆ เมื่อตอนที่เป็นงานพระเมรุ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ผมก็เป็นผู้ใหญ่ทางราชการมากแล้ว ได้ไปทำหน้าที่เป็นกรรมการหลายชุด และได้ไปนั่งอยู่ในงาน พอถึงคราวสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ผมก็เป็นคู่เคียงพระมหาพิชัยราชรถในวันนั้น และเป็นกรรมการอีกหลายชุด
หนนี้ก็เช่นเดียวกัน ผมก็เป็นกรรมการอีกหลายชุด เป็นกรรมการประชาสัมพันธ์ เป็นกรรมการการประชุมร่วม เป็นกรรมการจัดทำจดหมายเหตุ หนังสือที่ระลึก เป็นมุมที่ได้ผ่านประสบการณ์มา ในเรื่องของการบรรยายถ่ายทอดนั้น ช่วงแรกๆ อาจจะทำอยู่บ้าง และก็ทำร่วมกันกับผู้ประกาศของหลายๆ ช่อง ก็มีความมั่นใจว่า เขาสามารถทำหน้าที่เหล่านี้ได้ดี และผมก็มีการฝึกอบรม มีการเตรียมการทำงานในลักษณะที่เป็นพี่ หรือเป็นครูที่ผ่านประสบการณ์มา ในวันงานจริงตัวเองจะทำอะไรอยู่ที่ไหนก็ยังไม่ทราบ
ได้ถ่ายทอดความรู้เรื่องการบรรยายให้วิทยากร ใช้เวลาในการถ่ายทอดนานแค่ไหน
ที่จริงไม่ใช่เฉพาะแค่เรื่องการมานั่งคุยในลักษณะที่เป็นห้องเรียนเท่านั้นที่ผมได้ทำงานมาด้วยกันตลอดเวลา ไม่ใช่เฉพาะงานนี้ แต่ยังมีงานอื่นๆ ที่เราได้ผ่านร่วมกันมา เพราะฉะนั้นผมก็ถือว่ามันก็เป็น On the Job Training เหมือนกัน คือทำงานกับน้องๆ ทั้งหลายมา ผมจึงตอบไม่ได้ว่ามันใช้เวลากี่ชั่วโมง เพราะเราทำงานด้วยกันมาหลายวาระแล้ว แต่เรารู้ว่าคนที่จะมาทำหน้าที่ตรงนี้แทนนั้นมีความสามารถพอ
อาจารย์ได้สั่งสมความรู้เรื่องโบราณราชประเพณีตลอด 30 ปีนี้อย่างไร
ตั้งแต่เด็กด้วยซ้ำ ไม่ใช่แค่ 30 ปี ที่ผมสนใจเรื่องประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี ภาษาไทย ก็ได้อ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก ที่ต้องการอ่านหนังสือนั้นก็เพราะว่าการอ่านนั้นมันเป็นต้นทางแห่งความรู้ที่ดีที่สุด ฉะนั้นจึงได้ตะลุยอ่านมาเรื่อย และก็โชคดีว่าเมื่อเติบโตขึ้น จังหวะชีวิตที่ได้เข้ามหาวิทยาลัยปีเดียวกันนั้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ท่านทรงเป็นนิสิตในคณะอักษรศาสตร์อยู่ด้วย เพราะฉะนั้นผมจึงได้มีโอกาสถวายตัวกับพระองค์ในตอนที่ผมอยู่ปี 4 ก็ได้อาศัยพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อม ทำให้มีโอกาสได้รู้ได้เห็นอะไรที่เป็นประสบการณ์ตรงเพิ่มเติมขึ้นจากการอ่านหนังสือ
ในการฉลองพระนคร 200 ปี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานอำนวยการบูรณปฏิสังขรณ์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระบรมมหาราชวัง และได้เสด็จฯ ไปทรงตรวจการซ่อมการบูรณปฏิสังขรณ์ทุกสัปดาห์ ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผมเป็นหนึ่งในคณะที่ทำหน้าที่เป็นผู้จดรายงานในขณะที่เสด็จฯ ดังนั้นที่เคยอ่านหนังสือมาก็ได้เห็นกับตาตัวเอง ก็ได้ความรู้เพิ่มพูนขึ้นมาก
ตัวอย่างที่ไปเป็นผู้บรรยายงานพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 ก็เป็นงานที่เกิดขึ้นในความทรงจำเป็นงานแรก ตอนนั้นผมอายุ 30 ปีแล้ว และทีวีก็เริ่มมีแล้ว แต่แรกท่านก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผมเป็นผู้ประสานงานวิทยุโทรทัศน์ทุกฝ่ายในการเตรียมข้อมูล เพราะเป็นเรื่องใหม่สำหรับทุกคน ผมเป็นผู้จัดข้อมูลให้ จึงต้องค้นคว้าเป็นอย่างมากเกี่ยวกับงานพระบรมศพฯ ทั้งหลาย งานพระเมรุเก่าทั้งหลาย ค้นไปค้นมา ได้พูดคุยกันเขาก็บอกว่า ให้ผมไปบรรยายเองก็แล้วกัน แล้วก็ไม่ใช่ผมคนเดียว ก็มีผู้ที่ไม่ได้เป็นคนของช่องทีวีต่างๆ อีกท่านหนึ่ง คือท่านรองนายกฯ วิษณุ เครืองาม เพราะว่าท่านก็สนใจในเรื่องเหล่านี้ และในตอนนั้นท่านก็ยังคงทำงานอยู่ในคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ที่พบกันอยู่บ่อยๆ ในช่วงนั้น การประสานงานก็สะดวกใกล้ชิด
เพราะฉะนั้น นั่นคือการมีโอกาสได้นำเรื่องราวที่ตัวเองสั่งสมด้วยความสนใจ มานำไปใช้งาน อีกประเด็นหนึ่งที่ผมอยากจะเรียนเป็นข้อพิจารณาส่วนตัวหนึ่งก็คือ ความเป็นครู หรือการที่เรามีอาชีพในการสอนหนังสือนั้น การจะทำให้เราสามารถถ่ายทอดเรื่องที่ยากให้กลายเป็นเรื่องที่ง่ายต่อความเข้าใจ การเรียงลำดับเรื่องก่อนหลัง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์
ณ เวลานั้น รู้สึกอย่างไรที่ได้ถวายความรับใช้
ตอนนั้นก็เป็นเรื่องที่รู้สึกว่าเป็นโอกาสหนึ่งในชีวิต เพราะตอนเป็นเด็กไม่เคยมีโอกาสเห็นงานพระเมรุ ความสนใจของผมก็ไม่ได้เจาะจงเฉพาะงานพระเมรุเท่านั้น ก็สนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ทั่วไป วัฒนธรรม ประเพณีไทย เรื่องพระเมรุจึงได้ผ่านตามาบ้าง แต่พอถึงเวลา เมื่อมีงานพระเมรุเกิดขึ้นจริง จะต้องไปเตรียมข้อมูลให้กับสถานีโทรทัศน์ทั้งหลาย จึงได้ลงมารื้อข้อมูลจำนวนมาก เรามานั่งทบทวนใหม่ว่ามันเป็นอย่างไร เห็นการร้อยเรียงระหว่างเหตุการณ์ เห็นประเพณีที่ได้มีการคลี่คลายตามยุคตามสมัย
สิ่งเหล่านี้นอกจากความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงได้พระเมตตาให้โอกาส ก็ยังรู้สึกว่าเป็นการได้มาเพิ่มพูนความรู้ ได้มาค้น และที่ว่าค้นนี้ก็ไม่ได้มีแต่เฉพาะของในบ้านเรา ถ้าเพียงแค่ในบ้านเราจะมีหนังสือครบทุกอย่างได้อย่างไร จึงต้องไปหาของบ้านอื่นมาด้วย ทำหน้าที่ในการขวนขวาย เพื่อจะทำข้อมูลไปให้กับสถานีโทรทัศน์ทั้งหลาย
26 ตุลาคมนี้ นอกจากจะได้ถวายความอาลัยต่อพระองค์เป็นครั้งสุดท้ายแล้ว ในเรื่องความเป็นไทยจะได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติมบ้าง
ผมว่าสำหรับงานพระเมรุมาศคราวนี้ คงสามารถพูดได้เต็มปากว่าเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ผมเห็นมาในชีวิตของผม แน่นอนว่าโดยพระบรมราชอิสริยยศที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ เมื่อเทียบกับงานพระเมรุที่ผ่านมา 3-4 ครั้ง ก็ต้องเป็นงานที่มีความงดงาม มีความสมบูรณ์ มีความยิ่งใหญ่ยิ่งกว่างานอื่นๆ ที่ผ่านมา
แต่สิ่งที่ผมได้เห็น และเราได้เห็นร่วมกัน คือ งานเช่นนี้อาศัยความร่วมมือร่วมใจ ความตั้งใจจากคนทั้งหลาย มากหน้าหลายตามาก และเป็นโอกาสที่เราจะได้ถ่ายทอดความรู้ และเป็นโอกาสที่เราจะได้เห็นชิ้นงานที่ปกติแล้วเราไม่มีโอกาสได้เห็น นี่ไม่ใช่ของที่เราจะได้เห็นในยามปกติ ไม่ใช่ของที่นึกจะทำเล่นขึ้นมาได้ แม้โอกาสนี้จะเป็นโอกาสที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้นก็ตาม แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วเราก็จะทำให้ดีที่สุด
ดังนั้น เราจะได้เห็นว่าในเรื่องของสถาปัตยกรรม ทั้งพระเมรุก็ดี เครื่องประดับตกแต่ง ทุกสิ่งที่ประกอบเข้ากันเป็นพระเมรุนี้ ไม่ว่าส่วนใหญ่ส่วนน้อยก็แล้วแต่ ก็ล้วนเกิดจากความตั้งอกตั้งใจของทุกคน
สิ่งเหล่านี้ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน อาจจะเคยเห็นมาก่อนในระดับหนึ่ง แต่ความบริบูรณ์ ความยิ่งใหญ่ของงานนี้ คือที่สุดของสิ่งที่เราได้เห็นมา นั่นก็เป็นมุมหนึ่งที่เป็นทั้งความรู้และวาระที่เราได้ถ่ายทอด ได้เห็นงานที่มีคุณค่าต่างมาอยู่ร่วมกันอย่างลงตัว
อีกเรื่องหนึ่งคือความรู้สึกว่าเราเป็นเจ้าของงานนี้ร่วมกัน คนไทยเป็นเจ้าของงานนี้ร่วมกัน เพราะท่านนายกฯ ได้นำเรื่องนี้ขึ้นกราบทูลขอพระราชานุญาตเพื่อสนองพระเดชพระคุณในการจัดงานนี้ถวาย
เพราะฉะนั้นงานที่ว่านี้ก็คืองานที่ประชาชนคนไทยร่วมกันเป็นเจ้าภาพ เราเห็นความคืบหน้า ความพร้อมเพรียงในการทำงานนี้ ก็เป็นอีกมิติ อีกมุมหนึ่งของความเป็นครอบครัวใหญ่ของเรา ว่าเราจัดงานครั้งนี้ร่วมกัน เพื่อที่จะน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเป็นเรื่องที่จะอยู่ในความทรงจำที่เราจะไม่ลืมอีกนานแสนนาน
ครูบาอาจารย์ผมคิดว่าต่อให้ไม่อยู่ในหลักสูตร ครูที่ฉลาดก็สามารถเล่าเรื่องเหล่านี้สอดแทรกเข้าไปในวิชาสารพัดได้ โดยไม่ต้องตั้งเป็นวิชาใหม่ด้วย
มองคนรุ่นใหม่กับความรับรู้เรื่องราวของรัชกาลที่ 9 อย่างไร
ตรงนี้อาจจะเป็นโจทย์ที่ถามผมเพียงลำพังอาจไม่ถูก อาจต้องถามคนที่อยู่ในวัยใกล้เคียงกับผม หรืออยู่ในช่วงเจเนอเรชันที่ใกล้เคียงกันว่า เราจะทำอย่างไรหนอ ความจริงที่เราได้พบได้เห็นมาจะมีการถ่ายทอดให้เด็กทั้งหลายได้รับทราบ
เด็กสมัยนี้อาจจะนึกไม่ออกเลยว่าเมืองไทยเมื่อ 50 ปีก่อนเป็นอย่างไร ผมเติบโตมาในยุคสมัยที่มีอหิวาตกโรคระบาด มีโรคโปลิโอ พระองค์ต้องสู้กับเรื่องเหล่านี้ ในเรื่องพระบรมราชูปถัมป์ ในเรื่องการรักษาพยาบาล
แต่ทุกวันนี้แม้แต่โปลิโอเด็กยังไม่รู้จักกันแล้ว แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้ามีใครมาบอกผมตอนอายุ 4-5 ขวบ ที่ผมยังต้องฉีดวัคซีนอหิวาตกโรคทุกปีว่า เมืองไทยจะสามารถปลูกสตรอว์เบอร์รีได้ ผมก็ไม่เชื่อ มันเป็นไปไม่ได้ตามหนังสือ มันคือสิ่งที่พอแก่ขึ้นมาแล้วมันกลับมีจริง นี่คือโทษฐานที่อยู่นานเลยได้เห็นสิ่งที่มีอยู่บางอย่างหายไป และสิ่งที่ไม่เคยมี หรือไม่สามารถมีได้กลับมีขึ้นมา
สิ่งเหล่านี้ผมคิดว่าพ่อแม่อาจต้องช่วย ครอบครัวต้องช่วย แต่ผมมีเรื่องที่พึงสังวรระวังอยู่ข้อหนึ่ง ผมเคยเป็นเลขาธิการสภาการศึกษา ใครชอบบอกว่าอยากให้เด็กรู้อะไรให้เอาไปใส่ในหลักสูตร ผมก็มองว่าเราควรเห็นใจเด็ก อยากให้เด็กประหยัดพลังงานก็ต้องเรียนเรื่องประหยัดพลังงาน อยากให้เด็กแข็งแรงก็ต้องไปใส่ในหลักสูตร ความรู้ทั้งหมด พอใครอยากให้รู้อะไรก็เอาไปใส่ไว้ในหลักสูตรทุกที แต่ผมว่ามันน่าจะมีวิธีอื่นในการถ่ายทอดที่ดีกว่าการใส่ไว้ในหลักสูตร
ผมจึงคิดว่าเรื่องเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องใส่ไว้ในหลักสูตรหรอก แต่พ่อแม่ คนที่เป็นผู้ใหญ่ ใช้ความสังเกต ใช้วิธีอันละมุนละม่อมในการเล่า บางทีผมก็คิดว่าเรื่องเหล่านี้คนต่างจังหวัดเขาเห็นมากกว่าเรา เขาได้เห็นว่าการทำมาหากิน ไร่นา พืชสวนทั้งหลายที่เขาได้ประโยชน์โดยตรงจากสิ่งที่พระองค์ท่านได้พระราชทานไว้ เวลาฝนเดี๋ยวนี้ก็มีเครื่องบินมาทำฝนหลวง การชลประทานที่แต่เดิมเขามีปัญหาน้ำท่วม เรื่องฝนแล้ง เขาได้ประโยชน์ขึ้นมา ผมคิดว่าเขามีตัวอย่างตรงที่เขาเล่าได้มาก
เด็กเมืองสิที่เขาจะไม่ค่อยมีความรู้สึกอะไร แล้วเราก็ไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับสิ่งเหล่านั้น แต่สังคมทั้งหมดนั้นมันร้อยเรียงต่อกัน ถ้าเราไม่มีข้าวกิน เรามีปัญหาสารพัด เมืองก็อยู่รอดไม่ได้อยู่ดี
แต่คนเมือง ทุกวันนี้ที่เราขึ้นไปทางคู่ขนานลอยฟ้าพระบรมราชชนนี มันเกิดขึ้นเพราะอะไร ถ้าพ่อแม่ไม่ขี้เกียจขยันเล่าให้ลูกฟังสักหน่อยว่าแต่ก่อนเป็นอย่างไร ถนนนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ผมคิดว่าเรื่องที่ให้เล่ามีอีกเยอะแยะ
ครูบาอาจารย์ผมคิดว่าต่อให้ไม่อยู่ในหลักสูตร ครูที่ฉลาดก็สามารถเล่าเรื่องเหล่านี้สอดแทรกเข้าไปในวิชาสารพัดได้ โดยไม่ต้องตั้งเป็นวิชาใหม่ด้วย
ผมคิดว่าถ้าเราช่วยกันทำคนละเล็กละน้อย เรื่องเหล่านี้ก็มีอยู่มาก สื่อเขามีอยู่แล้วเราไม่ต้องผลิตเพิ่มด้วยซ้ำ ไม่ว่าคุณจะใช้สื่อแบบไหน มีแล้วทั้งนั้น สำคัญคือเราจะเอาสิ่งที่มีอยู่แล้วมาใช้จริงอย่างไร นำมาเล่าอย่างไร ถ้ามีและหยุดอยู่เพียงแค่บนชั้นหนังสือมันก็จบแค่นั้น ผมคิดว่ามีกุศโลบายอีกจำนวนมากที่คนรุ่นเราควรจะคิดกันขึ้นมา
ผมมีความเชื่อมั่นร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าระบอบประมุขที่เป็นพระมหากษัตริย์นี้ เหมาะกับความเป็นไทยของเรามากที่สุดแล้ว
ถ้าย้อนดูประวัติศาสตร์ สถาบันกษัตริย์ได้อยู่คู่กับสังคมไทยเรามานานหลายร้อยปี ความสำคัญของสถาบันกษัตริย์ในฐานะที่เป็นสถาบันหลักของชาติเป็นอย่างไร
สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันเก่าแก่ที่ถามว่าเริ่มเมื่อไรนั้น ไม่มีใครตอบได้ด้วยซ้ำไป ตั้งแต่เรามีความทรงจำเกี่ยวกับบ้านเรา ก็มีสถาบันพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว
สถาบันพระมหากษัตริย์นี้ก็มีการปรับเปลี่ยนไปตามเวลา ด้วยบทบาทหน้าที่ ความคาดหวังในแต่ละยุคสมัยก็ไม่เท่ากัน เป็นสิ่งที่เปลี่ยนไปอยู่เรื่อย
แม้เราจะพูดถึงยุคสมัยของความสำเร็จ ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 9 เหตุการณ์บริบทสิ่งแวดล้อมในช่วงต้นรัชกาลกับเหตุการณ์ที่เราได้ผ่านมาโดยตลอดจนมาถึงเวลาที่สวรรคตนี้ก็ไม่เหมือนกัน
เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเราต้องทำความเข้าใจก่อน สำหรับผม ถ้าผมจะตอบคำถามนี้ให้กับตัวผมเอง หนึ่งคือ ในโลกนี้มีประมุขของรัฐอยู่แค่สองแบบ คือประธานาธิบดี กับสถาบันพระมหากษัตริย์ ผมมีความเชื่อมั่นร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าระบอบประมุขที่เป็นพระมหากษัตริย์นี้ เหมาะกับความเป็นไทยของเรามากที่สุดแล้ว แต่ละประเทศจะมีประธานาธิบดีก็เป็นเรื่องของเขา และเป็นปูมหลังของเขา
การมีสถาบันพระมหากษัตริย์คือประมุขที่เหมาะสมกับลักษณะของประเทศไทยของเราที่สุด สิ่งที่ได้เกิดขึ้นตลอด 70 ปี ในแผ่นดินรัชกาลที่ 9 พระองค์ได้วางรากฐาน และแนวทางสำหรับหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยที่พึงมีพึงเป็นว่าเป็นอย่างไร
สำหรับรัชกาลที่ 9 กล่าวได้ว่า พระองค์ทรงวางรากฐานการเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยนั้น ควรมีภารกิจอะไร และสิ่งที่ทรงพัฒนามาด้วย พระองค์ไม่ได้ทรงบริหารประเทศ นั่นคือหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องทำไป
สิ่งที่พระองค์ทำได้คือ ทำในสิ่งซึ่งเป็นประโยชน์ และทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์มีประโยชน์ต่อคนไทย สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นแนวทางในการดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ในบ้านเราต่อไปในวันข้างหน้า
พระองค์ตรัสว่า คนเรานั้นมีหน้าที่ต่างๆ ถ้าทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองได้ดีแล้ว ทุกอย่างจะประสานสอดคล้องกลมกลืนกัน อย่าไปกะเกณฑ์ว่าคนนู้นทำอย่างนั้น คนที่เราเกณฑ์ได้ก็คือตัวเรานี่ล่ะ ไปเกนฑ์คนอื่นแล้วมันไม่สำเร็จหรอก
อาจารย์ได้ยึดเอาสิ่งใดจากพระองค์มาเป็นหลักชัยในการดำเนินชีวิต
แน่นอนว่าต้องเป็นพระบรมราโชวาทในโอกาสต่างๆ ซึ่งมีมากมายหลายองค์ และแต่ละคนก็อาจจะมีประเด็นที่อยากจะจำไว้เป็นพิเศษ มีพระบรมราโชวาทหลายวาระที่ได้ให้ไว้แล้วมีความหมายมาก
สำหรับผมคือที่พระองค์ตรัสว่า คนเรานั้นมีหน้าที่ต่างๆ ถ้าทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองได้ดีแล้ว ทุกอย่างจะประสานสอดคล้องกลมกลืนกัน อย่าไปกะเกณฑ์ว่าคนนู้นทำอย่างนั้น คนที่เราเกณฑ์ได้ก็คือตัวเรานี่ล่ะ ไปเกนฑ์คนอื่นแล้วมันไม่สำเร็จหรอก
แต่คำว่า ‘ตัวเรา’ สำหรับผมเข้าใจขึ้นมาเป็นส่วนขยายว่า มนุษย์คนหนึ่งเขามีหลายหน้าที่ แต่เราต้องพยายามสร้างดุลยภาพระหว่างหน้าที่ทั้งหลายเหล่านั้น
ผมทำราชการ ตอนที่ยังไม่เกษียณผมก็ต้องดูแลพ่อแม่ พ่อแม่ผมอายุมากแล้ว 80 กว่าแล้ว ต้องไปหาหมอ ต้องดูแลอย่างไรนั้น ตอนเย็นกลับมาต้องกินข้าวกับพ่อแม่นะ นั่งคุยถามสุขทุกข์ในแต่ละวัน
ในขณะเดียวกันผมมีหน้าที่เป็นครู ผมยังสอนหนังสืออยู่ มันก็ต้องไปสอนหนังสือ ต้องตรวจข้อสอบ การเอาหน้าที่ทั้งหมดมารวมกันนี้คือตัวตนของเรา เราต้องสร้างสมดุล ทั้งหมดคือการทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดและด้วยความตั้งใจจริง ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ด้วยความที่วันหนึ่งถ้าเราย้อนกลับไปมองดูว่าเราทำหน้าที่เหล่านั้นครบถ้วนบริบูรณ์ดีหรือไม่ เราก็มีความสุขที่เราทำหน้าที่เหล่านี้ได้ดี การที่เราได้เห็นสิ่งที่เราทำมาแล้วนั้นคือความดีของเรา เราไม่ต้องให้เหรียญตรา เราไม่ต้องให้คนอื่นรู้หรอก
ทุกวันนี้พ่อแม่ไม่อยู่กับผมแล้ว พอมองย้อนกลับไปผมก็ไม่ได้บกพร่องหน้าที่ในการที่เป็นลูก หรือการเป็นครูสอนหนังสือ นี่ก็เป็นรางวัลของเรา ทำดีแล้วก็ได้ดีก็คงเป็นความหมายนี้แหละ
ทั้งหมดนี้ผมคิดว่าถ้าผมน้อมนำพระบรมราโชวาทที่สำคัญมาใช้ ผมอาจจะกล่าวอ้างบางที่ได้ไม่ถูกต้อง แต่พระองค์ได้บอกเราในหลายวาระว่า ทุกคนมีหน้าที่นะ เราต้องทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด ทั้งหมดนี้จะทำให้โลกนี้น่าอยู่ ทำให้ตัวเรามีคุณค่า ผมว่าเท่านี้ก็น่าจะพอแล้วสำหรับผม