×

มองลึกเข้าไปใน ‘ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์’ ผ่านสายตาภัณฑารักษ์ชื่อ นิติกร กรัยวิเชียร

โดย THE STANDARD TEAM
17.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • นิติกร กรัยวิเชียร ตั้งใจที่จะเสนอภาพรวมช่วงเวลาของรัชกาล โดยจัดภาพไล่ตามเวลาเป็น 3 ช่วงคือ ช่วงต้น-กลาง-ปลายรัชกาล แล้วค่อยๆ ผสมกลมกลืนเข้าหากัน ในแต่ละช่วงก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนถึงความสนพระราชหฤทัยของพระองค์ในแต่ละช่วงเวลา
  • ภาพถ่ายในนิทรรศการนี้จะมองเพื่อความเพลิดเพลินให้เป็นเรื่องสวยงามก็ได้ หรือมองอย่างลึกซึ้งเพื่อศึกษา ตีความ และนำมาเป็นประโยชน์ต่อตัวเราเองก็ได้เช่นกัน เหมือนที่นิติกร กรัยวิเชียร กล่าวว่า “ขึ้นอยู่กับคนที่มองว่าจะมองละเอียดแค่ไหน”

     ถึงวันนี้คนไทยส่วนหนึ่งคงได้มารำลึกถึงรัชกาลที่ 9 ด้วยการชมนิทรรศการ ‘ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช’ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครครั้งแล้วครั้งเล่า

 

 

     นิทรรศการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ‘น้อมรำลึกองค์อัครศิลปิน’ จัดขึ้นเพื่อน้อมรำลึกถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในฐานะองค์อัครศิลปิน และพระมหากรุณาธิคุณในฐานะองค์อุปถัมภ์งานด้านศิลปวัฒนธรรมไทย โดยมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมีการจัดแสดงภาพถ่ายฝีพระหัตถ์จำนวน 200 ภาพ ทั้งที่เคยเผยแพร่และไม่เคยเผยแพร่มาก่อน

 

 

     THE STANDARD มีโอกาสพูดคุยกับ นิติกร กรัยวิเชียร ภัณฑารักษ์ประจำนิทรรศการนี้เกี่ยวกับภาพรวมการนำเสนอ ความประทับใจที่ได้รับจากภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ และการระลึกถึงพระองค์ในฐานะกษัตริย์ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อประเทศไทยผ่านพระราชกรณียกิจที่สะท้อนพระเมตตาและความรักต่อพสกนิกรชาวไทยในทุกช่วงของรัชกาล

การถ่ายภาพเป็นงานศิลปะ เป็นสิ่งที่ดี มีประโยชน์ ก็ขอให้นักถ่ายภาพทุกคนอย่าได้ถ่ายเพียงเพื่อความสวยงาม หรือเพียงเพื่อความสนุกเท่านั้น แต่ขอให้เอาความรู้ความสามารถด้านการถ่ายภาพไปทำประโยชน์ให้กับสังคมด้วย ซึ่งถ้าหากทำได้เช่นนั้นแล้ว ก็เท่ากับเป็นการช่วยพัฒนาประเทศอีกทางหนึ่ง

 

ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ช่วงกลางรัชกาลที่นำมาจัดแสดงเป็นงานที่สะท้อนพระราชกรณียกิจมากมาย และสะท้อนว่าพระองค์ทรงงานหนักเพื่อประเทศไทย ทีมงานได้ความประทับใจและเรียนรู้อะไรจากภาพเหล่านี้บ้าง

     ผมอยากเริ่มต้นด้วยพระบรมราโชวาทที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเคยพระราชทานให้กับคณะกรรมการบริหารสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นะครับ ซึ่งคณะกรรมการแต่ละคนก็ล้วนแต่เป็นช่างภาพ เป็นนักถ่ายภาพทั้งสิ้น ข้อความอาจจะไม่เป๊ะอย่างที่พระองค์รับสั่ง แต่มีใจความว่า การถ่ายภาพเป็นงานศิลปะ เป็นสิ่งที่ดี มีประโยชน์ ก็ขอให้นักถ่ายภาพทุกคนอย่าได้ถ่ายเพียงเพื่อความสวยงาม หรือเพียงเพื่อความสนุกเท่านั้น แต่ขอให้เอาความรู้ความสามารถด้านการถ่ายภาพไปทำประโยชน์ให้กับสังคมด้วย ซึ่งถ้าหากทำได้เช่นนั้นแล้ว ก็เท่ากับเป็นการช่วยพัฒนาประเทศอีกทางหนึ่ง

     เราจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่างานของพระองค์มีทุกแนวทาง ในช่วงต้นรัชกาลก่อนที่จะมาถึงช่วงที่คุณถาม เป็นช่วงที่พระองค์กำลังสร้างครอบครัว พระราชโอรส พระราชธิดาแต่ละพระองค์ก็ยังทรงพระเยาว์อยู่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นพระมารดาที่ดูแลลูกๆ อย่างดีเยี่ยม เราจะเห็นได้ว่าภาพฝีพระหัตถ์ต่างๆ เหล่านั้น การที่พระองค์ทรงอยู่ในวัยที่สร้างครอบครัวก็สะท้อนภาพออกมาแนวหนึ่ง

     แม้กระนั้นก็ดี ช่วงเวลาที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในยุคนั้นก็มีภาพที่ภาคอีสาน จะเห็นได้ว่ามีประชาชนมาคอยรับเสด็จอย่างเนืองแน่น และภาพลักษณะนี้เราจะได้เห็นทุกช่วงเวลาของรัชสมัย ไม่ใช่เพียงช่วงใดช่วงหนึ่ง ช่วงต้นรัชกาลก็มี ช่วงกลางก็มี ช่วงกลางนี้เยอะมาก ช่วงปลายรัชกาลก็มี แสดงให้เห็นถึงความผูกพันระหว่างพระองค์กับประชาชนที่ไม่เคยแยกห่างกันเลย แม้กระทั่งวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ที่เสด็จสวรรคต ประชาชนก็ไปรอเฝ้าด้วยความห่วงใยในพระอาการประชวรของพระองค์จนวาระสุดท้าย เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ความผูกพันของพระองค์กับประชาชนนี้มีมาก ไม่เคยขาดหายไปเลย

     กับคำถามของคุณที่ถามผมถึงมุมมองเรื่องการถ่ายภาพในช่วงกลางรัชกาล ผมมองอย่างนี้ครับว่าพระองค์ทรงปฏิบัติเป็นตัวอย่าง ตรงกับพระบรมราโชวาทที่ได้พระราชทานให้นักถ่ายภาพทั้งหลายก็คือว่า ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ไม่ว่าจะเสด็จฯ ไปที่ไหน เราจะเห็นภาพคุ้นตาคือการทรงกล้องถ่ายรูปและมีแผนที่ติดพระองค์ไปด้วย สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าพระองค์ทรงห่วงใยประชาชน

 

 

     ภาพถ่ายในช่วงนั้นที่เห็นได้หลักๆ อันดับแรกเลยคือชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน อันดับสอง สภาพที่ทำกิน อันดับสาม สภาพภูมิประเทศ อันดับสี่ สภาพปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น เราเห็นได้จากในภาพหลายอย่างเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความแห้งแล้ง การตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งมันส่งผลมาถึงชีวิตความเป็นอยู่ คือป่าก็ไม่สามารถที่จะเก็บซับน้ำไว้ได้ เวลาที่ฝนตกหนักๆ ก็น้ำท่วม เวลาที่ฝนห่างช่วงไปก็แล้ง คือไม่มีความพอดี อันนี้เป็นสิ่งสำคัญที่เราเห็นได้จากพระราชกรณียกิจของพระองค์ที่สะท้อนออกมาได้ชัดเจน

 

 

     ผมว่า 70-80% ของช่วงที่ปฏิบัติพระราชกรณียกิจเป็นเรื่องของน้ำ ไปที่ไหนก็จะเห็นแต่น้ำ เพราะว่าน้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการดำรงชีพของมนุษย์ ซึ่งพระองค์ทอดพระเนตรในเรื่องนี้และให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งว่า ถ้าหากไม่มีน้ำแล้ว ประชาชนไม่มีทางที่จะมีความสุข อันนี้คือหลักการที่ผมเห็น คือทรงนำภาพถ่ายเหล่านี้ที่เสด็จฯ ไปยังที่ต่างๆ ทรงถ่ายไว้เพื่อนำมาประกอบกับข้อมูลที่พระองค์ได้ทอดพระเนตรด้วยตัวเอง แล้วนำมาวางแผนเพื่อทรงงานให้ประชาชน

 

ถ้ามองอย่างที่พระองค์เคยรับสั่ง จะมองให้เป็นเรื่องสวยงามก็ได้ เรื่องความเพลิดเพลินก็ได้ แต่ถ้าหากจะมองให้ลึกซึ้งและนำมาเป็นประโยชน์ต่อตัวเราเอง ก็สามารถทำให้แต่ละคนกลับมาถามตัวเองได้ว่า เราได้ทำอะไรตามรอยพระองค์ให้กับสังคมหรือเปล่า ไม่ต้องทำมากถึงขนาดที่พระองค์ทรงทำ เพราะไม่มีใครทำได้อย่างนั้น แต่อย่างน้อยที่สุด หน้าที่ที่ตัวเองรับผิดชอบอยู่ หรือว่าเห็นคนอื่นที่ทุกข์ยากลำบากก็พยายามช่วยเหลือเท่าที่กำลังเราจะทำได้ ก็ถือว่าดีมากพอแล้ว

 

พระองค์เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรส่วนหนึ่ง แล้วทรงนำภาพที่ได้กลับมาใช้เป็นข้อมูลให้เกิดประโยชน์​

     ใช่ครับ ถ้าคุณลองมองดู ไม่ใช่พระองค์เท่านั้น แต่เราจะเห็นภาพที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 แล้วก็สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ปรากฏอยู่ในภาพทุกพระองค์​ในเวลาที่เสด็จฯ เยี่ยมราษฎร เราก็ทราบกันดีว่าแต่ละพระองค์ก็มีความสนพระราชหฤทัยในแต่ละด้าน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงสนพระราชหฤทัยในอาชีพแล้วก็รายได้ของประชาชน จึงเป็นที่มาของการเกิดมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ในขณะเดียวกันเราก็จะเห็นพระเจ้าลูกเธอ พระเจ้าลูกยาเธอ เสด็จฯ ออกเยี่ยมราษฎรเช่นกัน ทรงไต่ถามความทุกข์ความสุขของประชาชน แล้วก็เรื่องหนึ่งที่เป็นเรื่องสำคัญคือการสาธารณสุข ความกินดีอยู่ดี หรือว่าปัญหาสุขภาพของประชาชน ก็ทรงนำปัญหาเหล่านี้มาวางแผนในการแก้ไข ส่งผลให้เกิดเป็นโครงการพระราชดำริมากมาย

 

 

ภาพทั้งหมดช่วยให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ถึงการที่พระองค์ทรงทุ่มเทพระวรกายอย่างไรได้บ้าง

     ผมคิดอย่างนี้นะครับว่าถ้าเป็นคนที่มานิทรรศการอย่างผิวเผินก็อาจจะไม่ได้รู้สึกอะไร อาจจะรู้สึกว่าเป็นภาพธรรมดา เป็นภาพที่มองเห็นทั่วๆ ไป แต่ถ้าหากตั้งใจที่จะมาเพื่อศึกษา หรือมาเพื่อพยายามค้นหาความหมายในภาพก็จะได้ความหมายกลับไปเยอะ มันขึ้นอยู่กับคนที่มองว่าจะมองละเอียดแค่ไหน ถ้ามองอย่างที่พระองค์เคยรับสั่ง จะมองให้เป็นเรื่องสวยงามก็ได้ เรื่องความเพลิดเพลินก็ได้ แต่ถ้าหากจะมองให้ลึกซึ้งและนำมาเป็นประโยชน์ต่อตัวเราเองก็สามารถทำให้แต่ละคนกลับมาถามตัวเองได้ว่า เราได้ทำอะไรตามรอยพระองค์ให้กับสังคมหรือเปล่า ไม่ต้องทำมากถึงขนาดที่พระองค์ทรงทำ เพราะไม่มีใครทำได้อย่างนั้น แต่อย่างน้อยที่สุด หน้าที่ที่ตัวเองรับผิดชอบอยู่ หรือว่าเห็นคนอื่นที่ทุกข์ยากลำบากก็พยายามช่วยเหลือเท่าที่กำลังเราจะทำได้ ก็ถือว่าดีมากพอแล้ว

 

ท่านทรงถ่ายภาพทุกวัน เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่าต้องเป็นเรือนหมื่นเรือนแสน แต่การจะนำภาพถ่ายทั้งหมดมาจัดแสดงก็เป็นไปไม่ได้ ภาพถ่ายเหล่านี้เป็นเพียงตัวแทน

 

ทราบมาว่าภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ในนิทรรศการนี้เป็นการคัดเลือกมาเพียงส่วนหนึ่ง หากยังมีภาพถ่ายฝีพระหัตถ์อีกจำนวนมากที่ไม่ได้นำมาจัดแสดง

     ผมกล่าวอย่างนี้ดีกว่าครับ ผมไม่สามารถที่จะล่วงรู้ได้เลยว่าภาพถ่ายทั้งหมดมีจำนวนเท่าไร แต่ว่าพระองค์ทรงถ่ายภาพทุกวัน เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่าต้องเป็นเรือนหมื่นเรือนแสน แต่การจะนำภาพถ่ายทั้งหมดมาจัดแสดงก็เป็นไปไม่ได้ ภาพถ่ายเหล่านี้เป็นเพียงตัวแทน เป็นตัวอย่างส่วนหนึ่งที่เราได้คัดเลือกเพื่อที่จะมาเป็นบริบทโดยรวมของงานภาพถ่ายของพระองค์ให้ทุกคนได้เห็น

 

 

ในฐานะที่คุณนิติกรเป็นภัณฑารักษ์คัดเลือกรูปมาจัดแสดง มีสารอะไรที่ต้องการสื่อถึงผู้ที่มาชมนิทรรศการครั้งนี้

     จริงๆ แล้วในมุมมองของภัณฑารักษ์ ผมอาจจะไม่ได้มองในลักษณะนั้นเสียทีเดียว ผมมองว่าแล้วแต่อัธยาศัยของคนดู เพราะบางคนที่ชอบถ่ายรูปบุคคลอาจจะมามองหาในเรื่องที่ว่าพระองค์ทรงจัดแสงสวย องค์ประกอบภาพดี อารมณ์ในภาพดี บางคนอาจจะเป็นคนที่ทำงานด้านการพัฒนา ก็อาจจะอยากรู้ว่าสมัยนั้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีอย่างนั้นอย่างนี้ ตอนนี้หลังจากการพัฒนา บ้านเมืองก็เปลี่ยนไปเยอะแล้ว สำหรับผมเองในฐานะภัณฑารักษ์ ผมตั้งใจที่จะเสนอภาพรวมช่วงเวลาของรัชกาล โดยจัดภาพไล่ตามเวลาเป็น 3 ช่วง แล้วค่อยๆ ผสมกลมกลืนเข้าหากัน ในแต่ละช่วงก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนถึงความสนพระราชหฤทัยของพระองค์ในแต่ละช่วงเวลา

     ในช่วงต้นรัชกาลเป็นช่วงเวลาของหนุ่มสาว ถ้าจะพูดกันตามธรรมชาติของคนเรา พระองค์ทรงเน้นภาพครอบครัว เป็นภาพครอบครัวที่อบอุ่นสวยงาม แต่ก็ไม่ได้แปลว่าพระองค์ทรงเน้นแต่ตัวเอง เราเห็นได้เลยว่าพระองค์มีพระราชกรณียกิจที่เสด็จฯ ไป ซึ่งในช่วงเวลานั้นมีพระราชกรณียกิจมากมาย เพียงแต่ไม่ได้คัดเลือกรูปมา แต่เป็นการเจาะจงว่าช่วงเวลานั้นภาพที่ประชาชนคนไทยนึกถึงพระองค์และจำได้จะเป็นภาพในลักษณะนี้

     แน่นอนว่าช่วงกลางรัชกาล ใครๆ ก็รู้ว่าพระองค์ทรงงานหนักมากๆ เพราะฉะนั้นภาพในช่วงนี้จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเป็นพระราชกรณียกิจล้วนๆ จะมีภาพในเชิงศิลปะที่เราเห็นหลายๆ ภาพแซมบ้าง ไม่ว่าจะเป็นภาพพระฉายา (เงา) ของพระองค์เอง หรือภาพในแนวขบขันก็มีบ้าง แต่โดยรวมของช่วงกลางรัชกาลจะเป็นเรื่องพระราชกรณียกิจเป็นหลัก

     ในช่วงปลายรัชกาล พระองค์มีพระชนมพรรษามากขึ้น แล้วพระวรกายไม่ทรงแข็งแรงเท่าเดิม เพราะฉะนั้นเวลาส่วนใหญ่ก็เหมือนกับคนในวัยที่เกษียณแล้ว แม้กระนั้นพระองค์ก็ยังเสด็จฯ ไปเยี่ยมประชาชนเท่าที่พระองค์จะทรงมีพระกำลังเสด็จฯ ได้ แต่ว่าสิ่งที่ทำให้พระองค์ทรงมีความสุขในช่วงเวลานั้นก็คงไม่พ้นสุนัขทรงเลี้ยงที่เราได้เห็น เป็นอีกช่วงที่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนว่าแต่ละช่วงเวลามีความแตกต่างกัน

คนไทยทุกคนคิดถึงพระองค์ ผมเองก็คิดถึงทุกวัน ตั้งแต่วันที่พระองค์เสด็จสวรรคต ไม่เคยมีวันไหนที่ไม่คิดถึง

 

เสียงสะท้อนจากคนที่ได้มาชมเป็นอย่างไร

     ผมมองว่าช่วงนี้ไม่ว่าใครจะจัดงานอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับพระองค์จะได้รับการตอบรับอย่างดีมาก เพราะคนไทยทุกคนคิดถึงพระองค์ ผมเองก็คิดถึงทุกวัน ตั้งแต่วันที่พระองค์เสด็จสวรรคต ไม่เคยมีวันไหนที่ไม่คิดถึง มีความรู้สึกว่าอย่างน้อยงานนี้ก็เป็นงานที่เรามีโอกาสที่จะทำถวายเป็นครั้งสุดท้าย เชื่อว่าเหมือนกับคนที่มาเดินดูงานนี้ ขนาดนี่เป็นวันธรรมดา ไม่ใช่วันเสาร์-อาทิตย์ก็ยังมีคนมากมาย และโดยปกติวันเสาร์-อาทิตย์ก็ไม่ได้มีคนเดินดูงานมากมายขนาดนี้ แต่งานนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนเลยว่าประชาชนชาวไทยรักพระเจ้าอยู่หัว

 

ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ในช่วงที่พระองค์ทรงงานแสดงถึงพระเมตตาและความรักที่พระองค์ทรงมีต่อพสกนิกร…

     และแสดงให้เห็นถึงความรักที่พสกนิกรมีต่อพระองค์ด้วย

 

 

เราคิดว่าภาพที่พระองค์ทรงถ่ายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ที่ขอนแก่น แล้วมีพสกนิกรมารอรับเสด็จจำนวนมากทรงพลังมากเหลือเกิน

     ใช่ครับ นั่นล่ะครับเป็นภาพที่ผมประทับใจ และเป็นภาพที่ผมกล่าวว่าไม่ได้มีเฉพาะในช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง มีทุกช่วงเวลา จนกระทั่งช่วง (ชี้ภาพ) ประชาชนสวมเสื้อสีเหลืองไปเฝ้ารับเสด็จในช่วงที่พระองค์ทรงพระประชวรที่โรงพยาบาลศิริราช เสด็จฯ ไปวันไหนก็มีคนมากมายขนาดนี้ แม้พระองค์ไม่ได้เสด็จฯ ลงมาก็ยังมีคนเฝ้ารับเสด็จ เพราะฉะนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถเกณฑ์มาได้อย่างที่บางคนในสมัยนี้อาจจะพูดกันเลอะเทอะ อันนั้นก็แล้วแต่ภูมิปัญญาของเขา แต่ว่าเรื่องแบบนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นกับใครก็ได้ แล้วไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นทันที เป็นเรื่องที่ต้องสั่งสมบารมี

 

เหตุผลที่เลือกภาพพระฉายาของพระองค์มาเป็นหน้าปกหนังสืองานนิทรรศการครั้งนี้ และพระองค์ทรงถ่ายภาพพระองค์เองอย่างไร พอจะคาดเดาได้ไหม

     คงเป็นช่วงเวลาตอนเย็น แดดใกล้จะตกแล้ว แล้วผมเชื่อว่าพระองค์ทรงพระดำเนินผ่านในช่วงนี้บ่อยๆ แล้วทอดพระเนตร จึงทรงตั้งเวลากล้องไว้แล้วก็ถ่าย เหมือนที่พระองค์ทรงถ่ายรูปพระองค์ตอนทรงแตร

     เหตุผลที่เลือกเพราะหนึ่งเลย เป็นภาพที่ไม่เคยเผยแพร่ที่ไหนมาก่อน สองคือเป็นภาพที่ทรงพลัง สามคือถ้าคุณดูรูปดีๆ จะเห็นว่ามีพื้นที่ว่างด้านหลัง เหมาะกับการที่จะนำมาเป็นปกหลัง องค์ประกอบลงตัวมาก คุณดูปุ๊บ คุณรู้ไหมว่ารูปใคร เป็นรูปพระองค์อย่างไม่ต้องสงสัยเลย นั่นแหละคือคำตอบ

 

 

     **นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จัดแสดงถึงวันที่ 7 มกราคม 2561 ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising