×

‘ดอยคำ’ มรดกธุรกิจเพื่อสังคมของรัชกาลที่ 9 สู่ปวงชนชาวไทย

12.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ดอยคำมีจุดเริ่มต้นจากการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จประพาสชุมชนชนบททางภาคเหนือใน พ.ศ. 2512 พระองค์ทอดพระเนตรการปลูกฝิ่นเป็นพื้นที่วงกว้าง การตัดไม้ทำลายป่าเพื่อการทำไร่เลื่อนลอย และความเป็นอยู่อันแร้นแค้นของชาวไทยภูเขา จึงทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้ง ‘โครงการพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา’ ขึ้นเพื่อสนับสนุนการปลูกพืชเมืองหนาว
  • พื้นที่เพาะปลูกดังกล่าวเป็นชุมชนที่อยู่ห่างไกลจากเมืองและแหล่งรับซื้อ ทำให้สินค้าเกษตรกรถูกกดราคา พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งโรงงานหลวงฯ แห่งแรกขึ้นใน พ.ศ. 2515 ที่ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
  • การเริ่มต้นด้วย ‘การให้’ นี้ได้ต่อยอดไปเป็นการสร้างอาชีพเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตระยะยาวจากการปลูกและแปรรูปมะเขือเทศ ในปัจจุบันโรงงานหลวงฯ ที่จังหวัดสกลนครเป็นโรงงานผลิตน้ำมะเขือเทศของดอยคำ น้ำมะเขือเทศที่มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับที่ 1 และสร้างรายได้ถึง 60% จากรายได้น้ำผลไม้ทั้งหมดของดอยคำ

     ก่อนที่ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Business) จะเป็นแนวคิดที่ถูกพูดถึงและได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้ง ‘สหกรณ์ชาวเขา’ และ ‘โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป’ แห่งแรกตั้งแต่เมื่อ 45 ปีก่อน โดยใช้แนวคิดการนำธุรกิจเข้ามาเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมให้เกษตรกรในท้องที่ทุรกันดาร และกลายเป็นที่มาของ ‘ดอยคำ’ แบรนด์ชั้นนำด้านอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพในปัจจุบัน

 

 

     ดอยคำมีจุดเริ่มต้นจากการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จประพาสชุมชนชนบททางภาคเหนือใน พ.ศ. 2512 พระองค์ทอดพระเนตรการปลูกฝิ่นเป็นพื้นที่วงกว้าง การตัดไม้ทำลายป่าเพื่อการทำไร่เลื่อนลอย และความเป็นอยู่อันแร้นแค้นของชาวไทยภูเขา ซึ่งล้วนก่อให้เกิดปัญหาด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงของชาติ จึงทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้ง ‘โครงการพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา’ ขึ้นเพื่อสนับสนุนการปลูกพืชเมืองหนาว เช่น พีช บ๊วย ท้อ และสตรอว์เบอร์รี เพื่อทดแทนการปลูกฝิ่นเดิม

 

 

     อย่างไรก็ตาม พื้นที่เพาะปลูกดังกล่าวเป็นชุมชนที่อยู่ห่างไกลจากเมืองและแหล่งรับซื้อ ทำให้สินค้าเกษตรกรถูกกดราคา รวมทั้งสินค้าเกษตรในบางช่วงมีผลผลิตล้นตลาด หรือมีขนาดไม่ได้มาตรฐานหากจำหน่ายเป็นผลไม้สด พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้ง ‘สหกรณ์ชาวเขา’ และ ‘โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป’ หรือโรงงานหลวงฯ แห่งแรกขึ้นใน พ.ศ. 2515 ที่ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ จากทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในชุมชนโดยตรง นำมาแปรรูปและจำหน่ายภายใต้แบรนด์ ‘ดอยคำ’ ซึ่งเป็นนามพระราชทานเช่นกัน

 

 

     พ.ศ. 2517 โรงงานหลวงฯ แห่งที่สองได้ถูกก่อตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์เดียวกันที่อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 100,000 บาทเพื่อเป็นทุนหมุนเวียน โรงงานนี้มีผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองแปรรูปที่ขึ้นชื่อ และมีเครื่องจักรผลิตแป้งถั่วเหลืองไขมันเต็มรูปแบบ (Full Fat Soy Flour) เป็นแห่งแรกของประเทศ

     โรงงานหลวงฯ ได้ขยายกิจการไปสู่แห่งที่ 3 จากการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงรถด้วยพระองค์เองไปยังอำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร ใน พ.ศ. 2523 พื้นที่นี้เคยเป็นศูนย์กลาง ‘พื้นที่สีชมพู’ หรือพื้นที่ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย พระองค์ทอดพระเนตรปัญหาความยากจนและความลำบากของราษฎร แม้จะมีการทำนาเป็นอาชีพหลัก แต่คนในชุมชนก็ยังประสบปัญหาสุขภาพ ขาดสุขา มีบ่อน้ำขุดไม่เพียงพอ ขาดสารอาหาร โครงการพระราชดำริจึงเข้าไปพัฒนาด้านสภาพความเป็นอยู่เป็นอันดับแรก

 

 

     การเริ่มต้นด้วย ‘การให้’ นี้ได้ต่อยอดไปเป็นการสร้างอาชีพเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตระยะยาวจากการปลูกและแปรรูปมะเขือเทศ ในปัจจุบันโรงงานหลวงฯ ที่จังหวัดสกลนครเป็นโรงงานผลิตน้ำมะเขือเทศของดอยคำ น้ำมะเขือเทศที่มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับที่ 1 และสร้างรายได้ถึง 60% จากรายได้น้ำผลไม้ทั้งหมดของดอยคำ โรงงานหลวงฯ แห่งนี้ผลิตสินค้าจากมะเขือเทศกว่า 86 ตันต่อวัน เกษตรกรที่เป็นซัพพลายเออร์ปลูกมะเขือเทศเป็นอาชีพเสริมจากการปลูกข้าว ซึ่งมะเขือเทศสามารถสร้างกำไรให้พวกเขาได้ 10,000-20,000 บาทต่อไร่ ต่อปี

     โรงงานหลวงฯ ทั้งสามมีการดำเนินภายใต้การดูแลของมูลนิธิโครงการหลวง จนถึง พ.ศ. 2537 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์รับช่วงดำเนินกิจการโรงงานหลวงฯ ต่อ และจัดตั้งเป็นนิติบุคคลภายใต้ชื่อ ‘บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด’ โดยมีวิสัยทัศน์ในการดำเนินการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการพัฒนาความกินดีอยู่ดีของเกษตรกร ผู้บริโภค คู่ค้า และพนักงาน

 

 

     ใน พ.ศ. 2559 ดอยคำมีรายได้ 1,480 ล้านบาท โดยรายได้ 70% มาจากน้ำผลไม้ และอีก 30% จากผลิตภัณฑ์อื่นๆ บริษัทตั้งเป้าที่จะขยายรายได้เป็น 1,800 ล้านบาทในปีนี้ หลังจากที่ได้มีการ ‘รีแบรนด์’ ครั้งใหญ่ในรอบ 40 ปี ไม่ว่าจะเป็นโลโก้ รวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่สะดุดตาและทันสมัยขึ้น เพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ดีต่อสุขภาพ เช่น น้ำเสาวรส เครื่องดื่มเจียวกู้หลานที่ผสมสารสกัดจากใบหญ้าหวานที่มีปริมาณน้ำตาลลดลง และน้ำมะเขือเทศโซเดียมต่ำ

     การรีแบรนด์ของดอยคำครั้งนี้มุ่งหวังการเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น หลังจากทำการวิจัยตลาดแล้วพบว่า แต่เดิมดอยคำเข้าถึงได้เฉพาะลูกค้าที่อายุ 35 ปีขึ้นไปเท่านั้น และหากเป็นไปตามแผนธุรกิจที่วางไว้ ในอนาคตอันใกล้เราจะเห็นแฟรนไชส์ร้านค้าปลีกดอยคำกระจายไปทั่วประเทศ รวมถึงการส่งออกสินค้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

     ดอยคำไม่เพียงเน้นสร้างคุณค่าทางสังคมให้แก่เกษตรกรและชุมชนเท่านั้น บริษัทยังใช้มาตรฐานสากลด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการผลิต และความปลอดภัยของอาหารหลายรายการ เช่น ISO 14001 ด้านการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม, ISO 50001 ด้านระบบการจัดการพลังงาน, HACCP, GMP, FSSC 22000 ด้านการรับรองความปลอดภัยสำหรับการผลิตอาหาร และ A.C.T. มาตรฐานเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทย รวมทั้งฉลากลดคาร์บอน

 

 

     แม้จะมีจุดกำเนิดจากพระราชปณิธานของพระบามสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเพื่อแก้ไขปัญหาของพี่น้องชาวไทยในเขตทุรกันดาร จนพัฒนาเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องแข่งขันกับธุรกิจทั่วไป ปรับสินค้าและภาพลักษณ์ไปตามความเปลี่ยนแปลงของตลาด แต่ธุรกิจเพื่อสังคมอย่างดอยคำก็ยังคงเป้าหมายเดิมที่ไม่ต่างจากเมื่อ 40 กว่าปีก่อน คือการรับซื้อผลผลิตในราคาที่เป็นธรรมจากเกษตรกร ช่วยเหลือชุมชนให้เติบโต มีอาชีพ มีรายได้ พึ่งพาตนเองได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ถือเป็นอีกหนึ่งมรดกสำคัญที่พระองค์พระราชทานไว้แก่เกษตรกรและคนไทยทุกคนผ่านพระราชวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลและยั่งยืน

 

Photo: www.doikham.co.th

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising