×

ร.10 เสด็จฯ ยกนพปฎลมหาเศวตฉัตร 18 ต.ค. พระเมรุมาศเสร็จสมบูรณ์สมพระเกียรติยศ

17.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • วันพรุ่งนี้ (18 ต.ค.) สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นองค์ประธานในพิธียกนพปฎลมหาเศวตฉัตรประดับยอดพระเมรุมาศ ซึ่งกรมศิลปากรยึดต้นแบบการจัดสร้างฉัตรรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 8 ตามโบราณราชประเพณีงดงามสมพระเกียรติ
  • การเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นองค์ประธานในพิธียกนพปฎลมหาเศวตฉัตรยอดพระเมรุมาศ เป็นดั่งสัญญาณที่ประกาศแก่พสกนิกรทุกหมู่เหล่าว่าการจัดสร้างพระเมรุมาศได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว

     การจัดสร้างพระเมรุมาศในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ใช้เวลาจัดสร้าง 9 เดือน จากกำหนดการ 10 เดือน ซึ่งถือว่าเป็นระยะเวลาที่เร็วขึ้นกว่ากำหนด ด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย รวมถึงจิตอาสาจากทั่วประเทศ เพื่อให้สมพระเกียรติยศสูงสุด

     พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ขอพระราชทานกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงยกนพปฎลมหาเศวตฉัตรยอดพระเมรุมาศ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

     ในการนี้ กองกิจการในพระองค์ฯ ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ทรงรับเชิญเสด็จพระราชดำเนินไปในการนี้ในวันพุธที่ 18 ตุลาคม 2560 ฤกษ์ระหว่างเวลา 17.19-21.30 น.

 

 

ซักซ้อมพิธียกนพปฎลมหาเศวตฉัตรครั้งที่ 2 สมบูรณ์แบบ

     วันนี้ พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ และบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ได้เดินทางมายังมณฑลพิธีท้องสนามหลวงเพื่อตรวจความพร้อมและซักซ้อมการยกนพปฎลมหาเศวตฉัตรยอดพระเมรุมาศอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่มีการซักซ้อมไปแล้วในครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อให้พระราชพิธีเป็นไปด้วยความเรียบร้อยสมพระเกียรติ

 

 

     การซักซ้อมยกนพปฎลมหาเศวตฉัตรในวันนี้ กรมศิลปากรได้ทำการซักซ้อมระบบและทดสอบความมั่นคงแข็งแรงของอุปกรณ์ต่างๆ เป็นครั้งที่ 2 โดยจำลองฉัตรให้มีขนาดและน้ำหนักใกล้เคียงฉัตรองค์จริงมากที่สุด

     ใช้วิธีการวางสลิง แขวนฉัตรบริเวณลานด้านหน้าพระที่นั่งฝั่งทรงธรรม จากนั้นหมุนสลิงผ่านรอกหมุนกว้านขึ้นไปข้างบน เมื่อวัดระยะความสูงของยอดพระเมรุมาศกับองศาแนวเอียงรวมกันประมาณกว่า 100 เมตร ซึ่งด้านบนจะมีผู้คอยประคองฉัตรและทำการติดตั้งเชื่อมสลักป้องกันไม่ให้ฉัตรหมุนจนเสร็จสมบูรณ์ ใช้เวลาในการเคลื่อนฉัตรขึ้นไปยังยอดพระเมรุมาศในการซักซ้อมครั้งนี้จากด้านล่างประมาณ 2 นาที 30 วินาที

 

 

ความสำคัญของ ‘พิธียกนพปฎลมหาเศวตฉัตรยอดพระเมรุมาศ’

     นางสาวศุภร รัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า การจัดสร้างนพปฎลมหาเศวตฉัตรประดับยอดพระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชนั้น ขณะนี้เสร็จเรียบร้อยสมบูรณ์แล้วร้อยเปอร์เซ็นต์ และเป็นสัญญาณที่บอกพสกนิกรทุกคนว่าพระเมรุมาศได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว พร้อมในการประกอบพระราชพิธีอันสำคัญยิ่งของปวงชนชาวไทย

 

 

     สำหรับการออกแบบนพปฎลมหาเศวตฉัตรได้นำต้นแบบจากพระเมรุมาศในรัชกาลที่ 6 และพระเมรุมาศในรัชกาลที่ 8 โดยดำเนินการจัดสร้างตามแบบโบราณราชประเพณีที่ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ ตามความหมายคือ นพ แปลว่า เก้า เศวต แปลว่า ขาว ส่วนฉัตรคือร่มขาวที่กางทั้งหมด 9 ชั้น โดยการจัดสร้างนพปฎลมหาเศวตฉัตรครั้งนี้มีความพิเศษคือมีขนาดใหญ่ มีความสูงตั้งแต่ส่วนปลียอดจนถึงยอดสุด 5.10 เมตร

 

 

     ลักษณะของการทำฉัตร จัดทำด้วยผ้าเบาทิ้งตัวสีขาวมีขลิบทองรวม 3 ชั้น โดยนำผ้า 3 ผืนมาล้อมโครงในการขลิบทอง เส้นขลิบของฉัตรชั้นล่างมีความหนาที่สุดและแขวนประดับด้วยจำปา 14 ช่อห้อยลงมาให้เกิดความสวยงาม​ ที่สำคัญ ที่บริเวณส่วนยอดของฉัตรได้ดำเนินการตามแบบโบราณราชประเพณีคือ นพปฎลมหาเศวตฉัตรต้องมีลักษณะเป็นทรงองค์ระฆัง จากนั้นเป็นบัวกลุ่ม คั่นด้วยลูกแก้ว บัวกลุ่มต่อด้วยปลีปลาย เป็นโลหะทองแดงกลึงรับเพื่อต่อสายล่อฟ้าด้วย อย่างไรก็ตาม การจัดสร้างครั้งนี้มีการใช้ตาข่ายพลาสติกใส่ไว้ในโครงสร้าง เพื่อเวลาที่ฉัตรเจอลมแล้วจะไม่ยุบ ช่วยทำให้การเคลื่อนไหวเป็นธรรมชาติ สามารถกลับมาอยู่ที่เดิมได้ และไม่เป็นสนิม

 

 

     พิธียกนพปฎลมหาเศวตฉัตรในวันพรุ่งนี้ (18 ต.ค.) ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นองค์ประธานเป็นฉัตรขนาดใหญ่ และจะเป็นการยกตัวฉัตรทั้งหมด ดังนั้นจะต้องมีการประกอบแกนฉัตรเป็นเหล็กและมีก้านออกไปเหมือนร่ม การติดตั้งฉัตรต้องสลักเข้าเดือยให้แน่นหนา มีความแข็งแรงสูงสุด โดยเฉพาะปลายฉัตรที่จะต้องทำหน้าที่เป็นสายล่อฟ้า จึงต้องใช้โลหะทองแดงกลึงที่บริเวณส่วนปลาย และจะมีสายทิ้งดิ่งยังข้างล่างโดยได้ดำเนินการไว้เรียบร้อยแล้ว

     ขณะที่การยกฉัตรนั้นจะต้องใช้ความระมัดระวัง สายทิ้งดิ่งจะตกไม่ได้ ช่างจะต้องผูกลวดทองแดงเก็บไว้ เมื่อใส่ฉัตรเข้าไปแล้วจะเชื่อมกับสายทองแดงนี้พอดี และยังต้องกันไม่ให้น้ำไหลผ่านตรงส่วนร่องตกมาที่ฝ้า ซึ่งช่างได้มีการทำสังกะสีกันน้ำฝนไว้เพื่อไม่ให้น้ำรั่วซึมเข้าไปสู่พระเมรุมาศ

 

 

‘นพปฎลมหาเศวตฉัตร’ เครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศ

     ฉัตรเป็นเครื่องสูง มีรูปร่างคล้ายร่มที่ซ้อนกันขึ้นไปเป็นชั้นๆ โดยชั้นบนมีขนาดเล็กกว่าชั้นล่าง เป็นเครื่องสูงที่ใช้ทั้งสำหรับแขวน ปัก ตั้ง หรือเชิญเข้ากระบวนแห่เป็นเกียรติยศ มีหลักฐานว่าไทยเราใช้ฉัตรเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศสำหรับพระมหากษัตริย์ตั้งแต่สมัยอยุธยา รัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือพระเจ้าอู่ทอง นพปฎลมหาเศวตฉัตรถือเป็นฉัตรสำหรับพระมหากษัตริย์ที่ทรงรับพระบรมราชาภิเษกตามโบราณขัตติยราชประเพณีแล้ว

     สำหรับนพปฎลมหาเศวตฉัตรปักยอดพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีขนาดความกว้าง 1.20 เมตร สูง 5.10 เมตร น้ำหนัก 80 กิโลกรัม เป็นฉัตรขาว 9 ชั้น แต่ละชั้นของฉัตรมีระบายขลิบทองแผ่ลวด 3 ชั้น ชั้นล่างสุดห้อยอุบะจำปาทอง ปลียอดฉัตรเป็นทรงองค์ระฆังต่อด้วยบัวกลุ่ม ปลียอดฉัตรทำด้วยทองเหลืองกลึงปิดทอง

 

 

ปิด 16 เส้นทางประกอบพิธีพรุ่งนี้ เปิดให้สื่อเก็บภาพ 20 ตุลาคม

     ในวันที่ 20 ตุลาคมนี้จะเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนเข้าชมความสมบูรณ์ของการจัดสร้างทั้งหมด

     ขณะที่ในวันพรุ่งนี้ (18 ต.ค.) กองอำนวยการร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้แจ้งปิดการจราจรเพื่อจัดพิธียกนพปฎลมหาเศวตฉัตรยอดพระเมรุมาศ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในวันที่ 18 ตุลาคม 2560 โดยจะเริ่มปิดการจราจรตั้งแต่เวลา 15.00 น. จนกระทั่งเสร็จพิธีใน 16 เส้นทาง ดังนี้

     ถนนราชดำเนินใน, ถนนหับเผย, ถนนสนามไชย, ถนนหลักเมือง, ถนนกัลยาณไมตรี, ถนนเจริญกรุง, ถนนพระพิพิธ, ถนนท้ายวัง, ถนนมหาราช (ข้างพระบรมหาราชวัง/ข้างวัดพระมหาธาตุ), ถนนพระจันทร์, ถนนเศรษฐการ, ถนนเชตุพน, ถนนหน้าพระลาน, ถนนหน้าพระธาตุ, ถนนราชินี และซอยสราญรมย์ โดยประชาชนสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1441

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising