เป็นที่น่าสังเกตว่าในการแสดงมหรสพสมโภชครั้งสำคัญอย่างงานออกพระเมรุนั้น นาฏศิลป์ที่ถูกบรรจุไว้มักจะเป็นนาฏศิลป์อันวิจิตรที่มีต้นกำเนิดจากรั้ววัง ไม่ว่าจะเป็นหุ่นหลวง หนังใหญ่ โขน หรือละครใน ทว่าในงานออกพระเมรุ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ยังมีอีกศาสตร์การแสดงที่ถือกำเนิดจากความสนุกนอกรั้ววังที่จะปรากฏบนเวทีที่ 2 ร่วมกับหุ่นหลวง การแสดงที่ว่าได้แก่ละครนอกแบบฉบับปี 2017 ที่นำความสนุกของละครโนราชาตรี ต้นแบบจากปักษ์ใต้มาใส่ท่าร่ายรำอันวิจิตร และความละเอียดของบทร้องกลายเป็นละครกึ่งชาตรี กึ่งละครนอกที่เรียกว่า ‘ละครมโนห์รา’
ละครมโนห์ราที่เป็นส่วนหนึ่งของมหรสพสมโภชในงานออกพระเมรุครั้งนี้ เป็นละครที่กรมศิลปากรได้สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ใน พ.ศ. 2498 โดยวิวัฒนาการมาจากโนราชาตรีของภาคใต้ แต่จะเป็นชาตรีก็ไม่ใช่เสียทีเดียว เพราะตัวละครไม่ได้ร้องเองแบบต้นตำรับละครชาตรี
ละครชาตรีมีดีกว่าละครแก้บน
หากพูดถึงละครชาตรี ความรับรู้แรกที่นึกถึงคือละครแก้บนที่ได้รับความนิยมอย่างมากในภาคใต้ ต่อมาคือความสนุกสนานของเสียงดนตรีที่เร้าใจสลับกับคำร้องและบทพูดที่มักจะใส่อารมณ์ และหยิบยกเรื่องราวที่เกิดขึ้นรอบตัวมาล้อให้จี๊ดใจคนดู อีกสิ่งที่ทำให้ละครชาตรีเข้าถึงทุกกลุ่มวัยคือการหยิบเอาละครพื้นบ้านที่หลายคนรู้จักมาใส่สีสันความสนุก อย่างถ้าเป็นทางภาคใต้ก็จะเล่นเรื่อง พระสุธน-มโนห์รา หรืออย่างที่เพชรบุรีก็จะเป็น แก้วหน้าม้า, พระอภัยมณี, สังข์ทอง ผิดกับละครในที่ถือกำเนิดจากฝ่ายใน จะแสดงได้ก็ในเขตพระราชฐาน ดังนั้น ละครในจึงถูกตีกรอบไว้ด้วยนักแสดงที่เป็นหญิงล้วน บวกทำนองที่เชื่องช้า โชว์ความวิจิตรของเสื้อผ้า ท่าร่ายรำ และความประณีตของงานดนตรี
รศ.ดร. ศุภชัย จันทร์สุวรรณ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์) ผู้ฝึกซ้อมละครใน ละครนอก ในงานออกพระเมรุ ได้ย้อนเล่าถึงขนบของละครในไว้ว่า เป็นละครที่เน้นเรื่องความงามวิจิตรในทุกองค์ประกอบ เพราะต้องแสดงใกล้ชิดกับกษัตริย์ ดังนั้นนอกจากเสื้อผ้าและท่วงท่ารำจะต้องงดงามแล้ว ใบหน้าของนางรำก็จะต้องงดงามที่สุดด้วยเช่นกัน
ทว่าเมื่อวันหนึ่งที่ความสนุกสนานของละครชาตรี หรือโนราชาตรีเป็นที่เล่าขานถึงในรั้ววัง ชาววังก็เลยมีความต้องการที่จะชมละครที่สนุกสนานแบบนอกรั้ววังบ้าง แต่ด้วยขนบของฝ่ายในทำให้ไม่สามารถหยิบแบบแผนของละครชาตรีมาได้ทั้งหมด นั่นจึงทำให้มีการวิวัฒนาการเป็นละครนอก ที่มีทั้งความสนุกสนาน แต่ก็ยังไม่ทิ้งความงามของท่วงท่าการรำ
“สำหรับละครมโนห์ราที่เป็นส่วนหนึ่งของมหรสพสมโภชในงานออกพระเมรุครั้งนี้ เป็นละครที่กรมศิลปากรได้สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ใน พ.ศ. 2498 โดยวิวัฒนาการมาจากโนราชาตรีของภาคใต้ แต่จะเป็นชาตรีก็ไม่ใช่เสียทีเดียว เพราะตัวละครไม่ได้ร้องเองแบบต้นตำรับละครชาตรี ทว่ายังคงใช้เพลงชาตรีทั้งร่ายชาตรีและชาตรีตะลุงต่างๆ ส่วนรูปแบบการแสดงเป็นละครนอกที่โชว์ให้เห็นถึงความงามของท่ารำ มีบทร้องที่ไพเราะ แต่ก็ไม่ใช่ละครนอกเสียทีเดียว เพราะละครนอกต้องใช้เพลงภาคกลาง แต่ละครมโนห์ราใช้เพลงชาตรีที่มีสำเนียงภาคใต้ บทพูดของพรานบุญก็ต้องเป็นภาษาใต้ กรมศิลปากรจึงเรียกละครชุดนี้เสียใหม่ว่าละครมโนห์รา”
ส่งตรงความสนุกจากปักษ์ใต้
ด้วยละครมโนห์รามีรากมาจากละครชาตรี สิ่งแรกที่จะขาดเสียไม่ได้คือกลองตุ๊กและโทน ซึ่งถูกนำมาใช้แทนกลองแขกและตะโพนแบบละครใน ควบคุมวงดนตรีโดยอาจารย์ฐิระพล น้อยนิตย์ ขับร้องและเล่นดนตรีโดยอาจารย์จากวิทยาลัยนาฏศิลป์ทั่วประเทศ
นอกจากพระสุธนและนางมโนห์ราแล้ว ตัวเด่นของเรื่องได้แก่ พรานบุญ ที่ต้องพูดด้วยสำเนียงใต้ที่ชัดเจนมาก ซึ่งพรานบุญในปี 2017 นี้ รับบทโดย คุณศิริชัย นาคพุฒ อาจารย์พิเศษวิทยาลัยนาฏศิลป์ศาลายา ความยากของบทบาทนี้คือการฝึกพูดและร้องเป็นภาษาใต้นานร่วม 3 เดือน โดยมีพรานบุญในอดีตอย่างอาจารย์ประสาท ทองอร่าม มาเป็นผู้ฝึกสอน
“ความยากอย่างแรกคือภาษาใต้ ในขณะที่ผมเป็นคนภาคกลาง ความยากต่อมาคือการเทียบเสียงร้องไปกับปี่ ร้องภาษากลางกับปี่ก็ว่ายากแล้ว นี่ต้องร้องภาษาใต้และออกท่าทางด้วย ก็เป็นความท้าทายอีกอย่างหนึ่ง”
นอกจากบทร้องที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของละครมโนราห์แล้ว เรื่องเครื่องแต่งกายก็แตกต่างจากละครในด้วย ไม่มีชฎา มงกุฎ แต่ตัวพระให้สวมเทริดที่มีความเพรียวกว่า เทริดโนราแบบปักษ์ใต้ ส่วนนางกินรีก็มีปีกหางไม่ได้ห่มสไบ และที่เพิ่มความสนุกคือการใส่บทพูดที่มีการกรีดร้องสมจริง รวมทั้งใส่จริตท่าทางของชาวบ้านจริงๆ ลงไป โดยเฉพาะฉากนางมโนห์ราทั้ง 7 กำลังเล่นน้ำ และฉากนางมโนห์ราถูกพรานบุญจับตัวไป
ด้านการร้องก็กระชับ สั้น ใส่ความกระฉับกระเฉงลงไปแต่ก็ยังไม่ทิ้งท่าร่ายรำที่งดงาม มีการออกแบบกระบวนท่ารำใหม่ที่เรียกว่า รำซัดชาตรีเลือกคู่ ส่วนไฮไลต์ยังคงเป็นฉากมโนราห์บูชายัญ และพระสุธนเลือกคู่ ที่โชว์กระบวนการรำที่อ่อนช้อยสวยงามกว่าละครชาตรีทั่วไป เรียกได้ว่าละครนอกยุคสองพันอย่าง ‘ละครมโนห์รา’ กำลังจะลบภาพเดิมๆ ของละครชาตรีที่ถูกจัดไว้เพียงละครแก้บนพื้นบ้านให้พลิกกลับมาเป็นละครชาตรีรูปแบบใหม่ ที่เต็มไปด้วยความละเอียดของศาสตร์แห่งนาฏศิลป์ไทยหลากหลายแขนง
Photo: ศรัณยู นกแก้ว