×

‘พระสมเด็จจิตรลดา’ พระเครื่องที่รัชกาลที่ 9 ทรงสร้าง กับกุศโลบาย ‘ทำความดีไม่จำเป็นต้องอวดใคร’

โดย happening
12.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • พระสมเด็จจิตรลดา ถูกสร้างขึ้นในช่วง พ.ศ. 2508-2513 และพระราชทานไปแล้วทั้งหมด 2,500 องค์
  • พลตำรวจเอก วสิษฐ เดชกุญชร เป็นคนหนึ่งที่ได้รับพระราชทานพระสมเด็จจิตรลดาจากพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชใน พ.ศ. 2510 และได้เขียนบันทึกความทรงจำอันล้ำค่านี้ไว้ในหนังสือ รอยพระยุคลบาท ว่าพระองค์พระราชทานพระบรมราโชวาทใจความว่า “…ให้นำพระไปปิดทอง แต่ให้ปิดเฉพาะข้างหลังก่อนนำไปบูชา เพื่อเป็นการเตือนตนเองว่าการทำความดีไม่จำเป็นต้องอวดใคร…”

     พระพิมพ์ทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่วปางสมาธิ ศิลปะสมัยสุโขทัย รุ่นพระสมเด็จจิตรลดา หรือพระกำลังแผ่นดิน คือพระพิมพ์​รุ่นเดียวในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่สร้างโดยพระมหากษัตริย์ โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงรวมวัตถุมงคลหลายชนิดผสมกัน ได้แก่ ดินจากปูชนียสถานต่างๆ ทั่วประเทศ, ดอกไม้แห้งจากมาลัยที่ใช้ในพระราชพิธีสำคัญและที่ประชาชนทูลเกล้าฯ ถวายในโอกาสต่างๆ, สีที่ทรงขูดจากผ้าใบภาพฝีพระหัตถ์, สีที่ทรงขูดจากเรือใบพระที่นั่ง และเส้นพระเจ้า (เส้นผม) ของพระองค์เอง

     นอกจากพิมพ์พระที่ ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ปฏิมากรคนสำคัญคนหนึ่งของเมืองไทยเป็นผู้แกะถวายให้พระองค์มีพระบรมราชวินิจฉัย ในขั้นตอนนอกจากนั้น พระองค์ก็ทรงสร้างพระสมเด็จจิตรลดาในทุกกระบวนการด้วยพระองค์เอง ทั้งแกะพิมพ์ เทหยอดพิมพ์ รวมทั้งทรงจัดแต่งองค์พระทุกองค์ที่ถอดออกจากพิมพ์โดยเสร็จสมบูรณ์

     โดยทรงสร้างรุ่นแรกใน พ.ศ. 2508 เพื่อพระราชทานแก่ข้าราชการฝ่ายในโดยไม่ผ่านพิธีพุทธาภิเษกแต่อย่างใด ต่อมาจึงทรงสร้างเพิ่มสำหรับประชาชนทั่วไป โดยพระกำลังแผ่นดินทุกองค์มีใบพระราชทานบ่งบอกลำดับที่กำกับ และทรงลงพระปรมาภิไธยจริงทุกใบ

     พลตำรวจเอก วสิษฐ เดชกุญชร เป็นคนหนึ่งที่ได้รับพระราชทานพระสมเด็จจิตรลดาจากพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชใน พ.ศ. 2510 และได้เขียนบันทึกความทรงจำอันล้ำค่านี้ไว้ในหนังสือ รอยพระยุคลบาท ว่าพระองค์พระราชทานพระบรมราโชวาทใจความว่า

     “…ให้นำพระไปปิดทอง แต่ให้ปิดเฉพาะข้างหลังก่อนนำไปบูชา เพื่อเป็นการเตือนตนเองว่าการทำความดีไม่จำเป็นต้องอวดใครหรือประกาศให้ใครรู้ ให้ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ และถือว่าความสำเร็จในการทำหน้าที่เป็นบำเหน็จรางวัลที่สมบูรณ์แล้ว…”

     ใจความสำคัญของพระพิมพ์รุ่นนี้จึงอยู่ที่การ ‘ปิดทองหลังพระ’ ที่พระองค์ทรงให้ความสำคัญมาตลอด สอดคล้องกับพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2506 ที่ว่า

     “…การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด ว่าที่จริงแล้ว คนโดยมากไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้…”

     พระสมเด็จจิตรลดาถูกสร้างขึ้นในช่วง พ.ศ. 2508-2513 และพระราชทานไปแล้วทั้งหมด 2,500 องค์ ถือเป็นขวัญกำลังใจอันยิ่งใหญ่แก่บุคคลที่ได้รับพระราชทานจากพระหัตถ์โดยตรง

     และยังถือเป็นเครื่องเตือนใจและกุศโลบายอันหนักแน่นที่ทำให้ผู้ที่นำไปบูชาไม่หลงลืมธรรมะ พร้อมทั้งไม่ให้ลืมการทำความดีโดยไม่หวังผลตอบแทนอีกด้วย

 

นิตยสาร happening ฉบับ heart work

 

     วิภว์ บูรพาเดชะ หนึ่งในผู้ก่อตั้งนิตยสาร happening ได้มีไมตรีจิตและอนุญาตให้นำบทความนี้ที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร happening ฉบับ Heart Work ที่รวบรวม 70 เรื่องราว ‘การงาน’ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาเผยแพร่ในเว็บไซต์ THE STANDARD

     หากผู้อ่านสนใจอ่านเรื่องราวทั้งหมด สามารถสอบถามและสั่งซื้อนิตยสาร happening ฉบับ Heart Work ได้ที่ happening mag และ happening shop

 

* หมายเหตุ: รายได้ 10% จากการจำหน่ายนิตยสารเล่มนี้ happening จะนำไปสมทบทุนมูลนิธิพระดาบส

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X