เป็นโชคดีของคนไทยที่เรามีกษัตริย์นักพัฒนาผู้รู้จักถนนทุกเส้น ผืนป่าทุกตารางนิ้ว และน้ำทุกหยดบนพื้นแผ่นไทย พระองค์ทรงตั้งพระทัยมั่นที่จะบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชนชาวไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
จากบทความที่แล้ว THE STANDARD แนะนำ 4 เส้นทางจาก ‘วิชา 9 หน้า’ ที่เราเห็นว่าน่าเที่ยว น่าตามรอย (ตามอ่านได้ที่นี่)
บทความนี้มาต่อกับอีก 5 เส้นทาง 5 วิชาจาก ‘วิชา 9 หน้า’ มีทั้งวิชาที่เกี่ยวกับดิน ป่า และสัตว์น้ำ ทั้งหมดก็เพื่อปากท้องของพสกนิกรชาวไทยทั้งผองอย่างยั่งยืน
- วิชานิเวศปฐมวัย: เนิร์สเซอรีสัตว์น้ำของรัชกาลที่ 9
ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในพื้นที่ชายฝั่งทะเลและหมู่เกาะทางตะวันออก ทรงพบว่าทรัพยากรธรรมชาติริมฝั่งถูกทำลายอย่างหนัก สัตว์น้ำถูกจับขายจนขยายพันธุ์ไม่ทัน ป่าชายเลนก็ถูกบุกรุกพื้นที่กลายเป็นสภาพป่าเสื่อมโทรม ต้องหามาตรการป้องกันและอนุรักษ์โดยด่วน จึงมีพระราชกระแสรับสั่งโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี ขึ้นในปี 2524
โดยมีภารกิจสำคัญตั้งแต่ทดลองเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในน้ำกร่อยชนิดต่างๆ เช่น ปลากะพงขาว หอยนางรม รวมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้อนุรักษ์และขยายพันธุ์ไม้โกงกาง ซึ่งเป็นไม้ชายเลนที่เพาะพันธุ์ได้ยาก ที่นี่จึงเปรียบเหมือนโรงเรียนอนุบาลป่าชายเลนของพระองค์ที่มีแนวคิดพัฒนาแบบครบวงจร คืออนุรักษ์ ขยายพันธุ์ และต่อยอด ส่งผลให้ชีวิตคนคุ้งกระเบนและพื้นที่โดยรอบเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น เกิดความรู้สึกหวงแหนต่อระบบนิเวศและสัตว์น้ำขนาดเล็กในป่าชายเลนให้เติบโตได้ต่อไป
กิจกรรมชวนเก็บหน่วยกิต
- ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
เดินเล่นยังศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน อ่าวคุ้งกระเบน พิพิธภัณฑ์มีชีวิตที่บอกเล่าเรื่องราวระบนนิเวศริมชายฝั่ง เรียนรู้เรื่องพันธุ์ไม้ของจริงผ่านสะพานไม้ทอดยาวเข้าไปในดงป่าระยะทาง 1.6 กิโลเมตร ทั้งต้นโกงกาง แสม ลำพู แวะทักทาย ‘คุณปู่แสม’ ต้นไม้ที่ยืนต้นทอดร่มมานานกว่า 100 ปี นอกจากนี้ยังมีหอดูเรือนยอดไม้ ระเบียง 5 เหลี่ยมสำหรับนั่งชมวิวริมอ่าว และป่าชายเลนในมุมสูง พายเรือคายักลัดเลาะตามลำคลอง อย่าลืมแวะจอดยังอนุสรณ์หมูดุด หรือพะยูน เจ้าแห่งคุ้งกระเบนที่สูญพันธุ์ เหลือไว้เป็นเพียงตำนานแห่งคุ้งกระเบนด้วย
พิกัด: ตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี
เปิดให้บริการ: จันทร์-อาทิตย์ เวลา 8.30-16.40 น.
ค่าเข้าชม: เข้าชมฟรี
โทรศัพท์: 0 3943 3216
Photo: บ้านปลาธนาคารปู บ้านบางสระเก้า
- บ้านปลาธนาคารปู บ้านบางสระเก้า
นี่คือชุมชนเข้มแข็งที่ร่วมกันต่อสู้เพื่อความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนของชุมชน เดิมทีชาวบ้านบางสระเก้ามีอาชีพทำนา ทอเสื่อ ทำประมงบริเวณลำคลองหนองบัวและคลองบางสระเก้า พื้นที่ 3 น้ำนี้มีแพลงตอนและสัตว์ทะเลอยู่มากมาย กุ้งหอยปูปลาชุกชุมจนคนนอกพื้นที่ชอบมารุกรานเรือพื้นถิ่น ใช้เรือดุนลักลอบเข้ามาจับสัตว์น้ำจนระบบนิเวศเสีย สัตว์น้ำลดลง ชาวบ้านจึงเดือดร้อน และกว่า 20 ปีภายใต้การนำของผู้ใหญ่อู๊ด-สถิต แสนเสนาะ ชาวบ้านบางสระเก้าจึงสามารถขับไล่เรือดุนออกนอกพื้นที่ได้สำเร็จ และร่วมกันจัดตั้ง ‘บ้านปลาธนาคารปู’ เพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้อง และหมายฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำให้กลับมาดังเดิม
Photo: บ้านปลาธนาคารปู บ้านบางสระเก้า
นอกจากองค์ความรู้ที่นักท่องเที่ยวสามารถเรียนรู้ได้จากปราชญ์ชาวบ้านแล้วยังมีกิจกรรมอื่นๆ ให้ทดลองทำมากมาย เช่น ทดลองสร้างปะการังเทียม โดยนำยางรถยนต์มามัดเป็นลูกเต๋าแล้วนำไปปล่อยตามคลอง เพื่อเป็นที่หลบภัยของปลาเล็กตามวงจรธรรมชาติ ดูกรรมวิธีการเพาะพันธุ์และอนุบาลปูไข่นอกกระดอง ซึ่ง 1 ตัวสามารถเพาะพันธุ์ปูตัวเล็กได้นับล้าน หรือถ้าเวลาน้อยแต่อยากแวะไปเยี่ยมชม ก็สามารถเข้าไปขอความรู้และรับประทานอาหารฝีมือชาวบ้านได้ แต่ต้องติดต่อล่วงหน้าเท่านั้น
พิกัด: ตำบลบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี
เปิดให้บริการ: ทุกวัน (กรุณาติดต่อล่วงหน้า)
ค่าเข้าชม: เข้าชมฟรี (ไม่รวมค่ากิจกรรม)
โทรศัพท์: 08 1158 9440 (ผู้ใหญ่อู๊ด)
- วิชาปลูกรักษ์: จากกาแฟต้นเดียวสู่ป่าสมบูรณ์
หลังทรงมีพระราชปณิธานที่จะ ‘ช่วยชาวเขาเพื่อให้เขาช่วยเรา’ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชก็พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนหนึ่งแก่ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซื้อที่ดินบนดอยปุยก่อตั้งสวนสองแสนเพื่อทำหน้าที่วิจัยและค้นหาพืชใหม่ๆ ให้ชาวเขาปลูดทดแทน ซึ่งภายหลังทรงมอบหมายให้หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี (ประธานมูลนิธิโครงการหลวง) รวบรวมนักวิชาการเกษตรเพิ่มเติมจนต่อยอดสู่ ‘โครงการหลวง’
ครั้งหนึ่งระหว่างที่เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรบนดอย หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ได้กราบทูลว่าชาวเขาบ้านหนองหล่มในพื้นที่เกษตรหลวงอินทนนท์เริ่มลงมือปลูกกาแฟบ้างแล้ว จึงอยากทูลเชิญเสด็จฯ เยี่ยมชม แต่เนื่องจากไม่มีถนนตัดผ่าน ต้องเดินเท้าเกือบ 2 ชั่วโมงกว่าจะถึงหมู่บ้าน และต้องเดินต่ออีก 1 กิโลเมตรจึงจะพบสวนกาแฟ ปรากฏว่าทั้งไร่ที่ว่ามีกาแฟขึ้นเพียงต้นเดียวเท่านั้น พระองค์จึงมีพระราชดำรัสต่อผู้ติดตามว่า
“เราเพิ่งให้พันธุ์กาแฟไปเมื่อปีกลาย กะเหรี่ยงไม่เคยปลูกกาแฟเลย เหลือต้นเดียวถือว่าก้าวหน้าแล้ว ไม่เหลือเลยมันแย่ แต่นี่ปลูกได้ต้นหนึ่งแปลว่าก้าวหน้าแล้ว ถึงต้องตามไปดู”
จากกาแฟต้นเดียวในวันนั้น สู่สวนกาแฟอาราบิก้าที่นำรายได้มหาศาลสู่ชาวเขาในวันนี้ เช่นเดียวกับน้ำพระราชหฤทัยของพระองค์ที่พยายามผลักดันให้พื้นที่บนยอดดอยกลับสู่ความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง
กิจกรรมชวนเก็บหน่วยกิต
- สถานีวิจัยโครงการหลวงดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่
ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2522 เพื่อถ่ายทอดวิชาความรู้ด้านการทำเกษตรแผนใหม่ ปรับปรุงฐานะความเป็นอยู่ของชาวเขาในละแวกให้หันมาทำการเกษตรแบบถาวร สถานีวิจัยโครงการหลวงดอยอินทนนท์เปรียบได้ดังห้องเรียนใหญ่ ประกอบไปด้วย 4 ห้องย่อย ได้แก่ หน่วยวิจัยขุนห้วยแห้ง สถานที่วิจัยปรับปรุงพันธุ์ไม้มงคล พืชไร่ ดอกไม้ที่นำเข้าจากต่างประเทศ, หน่วยวิจัยแม่ยะน้อย ทำหน้าที่ปรับปรุงพันธุ์กาแฟอาราบิก้าในพื้นที่ให้มีคุณภาพและอร่อย, หน่วยวิจัยผาตั้ง อนุรักษ์พันธุ์ไม้โบราณ กุหลาบพันปี ต้นสนหายาก รวมถึงวิจัยประมงในพื้นที่สูง ทดลองเลี้ยงปลาเรนโบว์เทราต์และสเตอร์เจียน และบ้านขุนกลาง มีหน้าที่ต้อนรับนักท่องเที่ยว ด้วยผลผลิตจากโครงการหลวงทุกสถานี คลังวัตถุดิบเลอค่าทั้งผักผลไม้และเนื้อสัตว์
Photo: สถานีวิจัยโครงการหลวงดอยอินทนนท์
แวะ ‘สวนหลวงสิริภูมิ’ สวนที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อใช้เป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์เฟิร์นของไทยและต่างประเทศ จุดเด่นอยู่บริเวณสวนกูดต้น หรือทรีเฟิร์น (Tree Fern) เฟิร์นขนาดใหญ่และมีลำต้นสูงร่วม 10 เมตร ซึ่งมีประมาณกว่า 10 ชนิด และยังสามารถชมความงามชั้นสุดท้ายของน้ำตกสิริภูมิที่ไหลเย็นทั้งปีด้วย
เดินตามรอยพระบาทสู่บ้านหนองหล่ม ชุมชนปกาเกอะญอ ที่รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาทนานนับชั่วโมง เพื่อแสดงให้ชาวปกาเกอะญอเห็นถึงความสำคัญของกาแฟที่ทรงสอนและแนะนำแนวทางจนบ้านหนองหล่มกลายเป็นแหล่งปลูกกาแฟมีชื่อที่ทำรายได้มากกว่า 600 ล้านบาทต่อปี และพัฒนาต่อยอดกลายเป็นแบรนด์กาแฟ ‘ดอยช้าง’ ดังเช่นปัจจุบัน แน่นอนว่าต้นกาแฟเก่าแก่ที่สุดอันเกิดจากเมล็ดกาแฟพระราชทานก็อยู่ที่นี่ด้วย
พิกัด: 119 หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
เปิดให้บริการ: ทุกวัน (เวลาแล้วแต่กิจกรรม)
ค่าเข้าชม: เข้าชมฟรี
โทรศัพท์: 0 5328 6771
เว็บไซต์: www.royal-inthanon.com
- เดินป่า เรียนรู้วิถีชุมชนปกาเกอะญอ ณ บ้านแม่กลางหลวง
แปลงร่างเป็นชาวเขาไปเยี่ยมชุมชนปกาเกอะญอที่ใช้ชีวิตสมถะเรียบง่ายท่ามกลางธรรมชาติ เดินป่าศึกษาธรรมชาติ เรียนรู้ความสำคัญของทรัพยากร การจัดการตามภูมิปัญญาท้องถิ่น ศึกษาดูนกประจำถิ่นในเส้นทางเดินป่าดอยหัวเสือ เส้นทางดูนกห้วยน้ำขุ่น และเส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกผาดอกเสี้ยว นักท่องเที่ยวนิยมมาชมความสวยงามของนาข้าวขั้นบันได แนะนำมาให้ช่วงเดือนกันยายนถึงกลางเดือนตุลาคม ต้นข้าวเขียวขจีเคล้าสายหมอกบางๆ แต่เลยมาช่วงปลายเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนพฤศจิกายนก็จะเจอต้นข้าวออกรวงสีเหลืองทองอร่ามไปทั่วท้องทุ่ง
พิกัด: บ้านแม่กลางหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
เปิดให้บริการ: ทุกวัน
ค่าเข้าชม: เช้าชมฟรี (ไม่รวมกิจกรรม)
โทรศัพท์: 08 1960 8856 (คุณสมศักดิ์ ศรีภูมิทอง สำหรับที่พักโฮมสเตย์ในหมู่บ้าน)
- วิชารักแรงโน้มถ่วง: ‘แก้มลิง’ มหัศจรรย์แห่งการสังเกต
เมื่อ พ.ศ. 2538 ประเทศไทยประสบเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่เนื่องจากมีพายุหลายลูกพัดผ่านมายังพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสาน ส่งผลให้เกิดฝนตกอย่างหนักจนแม่น้ำหลายสายท่วมล้น กลายเป็นมวลน้ำขนาดใหญ่มุ่งตรงมายังกรุงเทพมหานคร รัชกาลที่ 9 ทรงเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วน และหนึ่งในวิธีแก้ปัญหาในครั้งนั้นคือ ‘การทำแก้มลิง’ โดยจัดหาสระ หนอง คลอง บึง หรือพื้นที่โล่งขนาดใหญ่เพื่อชะลอและรองรับมวลน้ำ ก่อนค่อยๆ ปล่อยลงสู่ทะเล ซึ่งพื้นที่ที่ทรงเลือกไว้คือทุ่งมะขามหย่อง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ด้วยความสำเร็จของแก้มลิงที่ทุ่งมะขามหย่อง นำมาสู่โครงการแก้มลิงอีกหลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือทุ่งทะเลหลวง จังหวัดสุโขทัย ที่สร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในฤดูน้ำหลากและการขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้ง โดยรัฐบาลสั่งให้ขุดคลองลอกพื้นที่บริเวณทะเลหลวงซึ่งเป็นแหล่งเก็บน้ำในอดีต พร้อมออกแบบพื้นที่ให้เป็นรูปหัวใจ
กิจกรรมชวนเก็บหน่วยกิต
- โครงการแก้มลิงในพระราชดำริ ‘ทุ่งทะเลหลวง’ แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์รูปหัวใจ จังหวัดสุโขทัย
โครงการแก้มลิงทุ่งทะเลหลวง เป็นโครงการที่น้อมนำเอาตำราแก้มลิง หนึ่งในวิชาบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริในรัชกาลที่ 9 มาใช้ เพื่อให้เป็นพื้นที่หน่วงน้ำ กักเก็บไว้ใช้หน้าแล้ง และเอาไว้ใช้ในหน้าฝน เป็นแหล่งรองรับน้ำจากแม่น้ำยมที่ไหลบ่าล้นตลิ่งฝั่งขวา น้ำห้วยท่าแพ น้ำแม่มอก ที่ไหลบ่าจากอำเภอสวรรคโลก และน้ำแม่รำพัน น้ำแม่กองค่าย ที่ไหลบ่าจากอำเภอบ้านด่านลานหอย ให้ไหลมาร่วมกันบริเวณที่ลุ่มตามหลักธรรมชาติ
สถานที่เที่ยวในโครงการ นักท่องเที่ยวสามารถแวะสักการะพระพุทธรัตนสิริสุโขทัย พระพุทธรูปเก่าแก่ที่มีอายุกว่า 700 ปี ณ บริเวณมณฑปทรงจัตุรมุข เดินเล่นบนเส้นทางสู่มณฑปที่ถูกก่อสร้างด้วยบรรยากาศแบบย้อนยุคในลักษณะของเสาศิลาศิลปะแบบสุโขทัย ยามเย็นชมพระอาทิตย์อัสดงจากแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์รูปหัวใจ จุดชมพระทิตย์ตกที่สวยที่สุดในบริเวณนั้น
พิกัด: หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านกล้วย อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย
เปิดให้บริการ: ทุกวัน
ค่าเข้าชม: เข้าชมฟรี
โทรศัพท์: 0 5561 1112 (โครงการชลประทานสุโขทัย)
Photo: เครื่องปั้นดินเผาบ้านทุ่งหลวง & โฮมสเตย์ บ้านทุ่งหลวง Sukhothai
- ทดลองปั้นเครื่องปั้นดินเผา เรียนรู้งานฝีมือ ณ ‘บ้านทุ่งหลวง’
แหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผามีชื่อประจำจังหวัด โดยสืบทอดองค์ความรู้มานานนับร้อยๆ ปี เครื่องปั้นดินเผาของบ้านทุ่งหลวงจะใช้ดินจะหนองน้ำ ‘หนองทอง’ นำไปผสมทรายแล้วเผาจนได้สีแดงมันวาว มีความแข็งแกร่ง นอกจากหม้อกรันที่นิยมปั้นขึ้นรูปแล้วยังมีรูปทรงอื่นๆ เช่น กระถาง จาน ชาม หม้อดิน เตาดินเผา
เดินชมกรรมวิธีการผลิตอย่างใกล้ชิดที่เรียกว่า ‘วิทยาลัยใต้ถุนบ้าน’ ถลกแขนเสื้อแล้วทดลองปั้นเครื่องปั้นโดยมีปราชญ์ท้องถิ่นผู้ชำนาญเป็นครูคอยสอนกันได้เลย
พิกัด: 238 หมู่ที่ 2 ตำบลทุ่งหลวง อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย
เปิดให้บริการ: ทุกวัน
ค่าเข้าชม: เข้าชมฟรี
โทรศัพท์: 09 5798 5582 (คุณพาหนุ อยู่แย้ม สำหรับชมแหล่งเรียนรู้ประจำชุมชน)
- วิชาหมอดิน: พลิกตำราหลวง เอาชนะดินเสื่อมโทรม
มีที่ดินหลายแปลงที่ชาวบ้านน้อมเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีสภาพเสื่อมโทรม เพาะปลูกไม่ขึ้น เนื่องจากผู้ถวายคิดว่าพระองค์จะนำที่ดินเหล่านั้นไปสร้างพระตำหนัก ทว่าพระองค์ทรงคิดต่าง ด้วยเห็นความสำคัญของดินยิ่งกว่าใคร ต่อให้สภาพย่ำแย่เพียงใดก็ต้องปรับปรุงแก้ไขให้เกิดประโยชน์ ไม่เช่นนั้นประเทศไทยจะเหลือแต่ทะเลทราย และหนึ่งในโครงการที่พระองค์สามารถเอาชนะได้คือ เขาชะงุ้ม จังหวัดราชบุรี
เพื่อแก้ปัญหาขั้นแรก รัชกาลที่ 9 โปรดเกล้าฯ ให้ขุดอ่างเก็บน้ำและสำรวจที่ดินโดยละเอียดว่าจุดใดพอจะปลูกต้นไม้ได้บ้าง ให้ปลูกตรงนั้นก่อน และปล่อยให้เจริญเติบโตตามธรรมชาติ โดยป้องกันมิให้ใครมาบุกรุกและทำลายในบริเวณที่ขุดดินลูกรังไปขาย พระองค์ทรงแก้ปัญหาด้วยการใช้หญ้าแฝก พืชที่มีรากแข็งแรงสามารถแทงทะลุไปได้ โดยก่อนปลูกให้ปรับสภาพหน้าดินด้วยปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ และปุ๋ยพืชสด กลบซ้ำไปซ้ำมาอยู่ 2-3 ปีจึงสามารถปลูกหญ้าและพืชอื่นๆ ได้ในท้ายที่สุด
กิจกรรมชวนเก็บหน่วยกิต
- ศูนย์ศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
สถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรสำคัญของจังหวัดราชบุรีที่ช่วยพลิกฟื้นผืนดินให้อุดมสมบูรณ์ ส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน รวมทั้งยังเป็นศูนย์กลางในการศึกษาวิจัยและสาธิตทดสอบฟื้นฟูปรับปรุงดินเสื่อมโทรมให้ใช้ประโยชน์ได้ กิจกรรมท่องเที่ยวมีตั้งแต่นั่งรถรางเยี่ยมชมรอบโครงการ เดินชมเส้นทางศึกษาธรรมชาติผืนป่าไม้เต็งรังและเบญจพรรณเกือบ 1,200 เมตร ชมทุ่งดอกทานตะวันและดอกปอเทืองบานเต็มพื้นที่กว้างไกลสุดตา และอย่าลืมสนับสนุนชุมชนด้วยการซื้อสินค้าชุมชนและโครงการด้วยล่ะ
พิกัด: หมู่ที่ 2 ตำบลเขาชะงุ้ม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
เปิดให้บริการ: ทุกวัน เวลา 8.00-17.00 น.
ค่าเข้าชม: เข้าชมฟรี
โทรศัพท์: 0 3222 6744
Photo: 12 เมืองต้องห้ามพลาด+
- ตลาดน้ำเหล่าตั๊กลัก
‘ตลาดน้ำเหล่าตั๊กลัก’ มีความหมายว่า ‘ตลาดเก่า’ เป็นตลาดน้ำแห่งแรกของประเทศไทย เดิมชื่อว่า ‘ตลาดน้ำดำเนินสะดวก’ จนกระทั่งมีการตัดถนนหนทางจึงถูกย้ายจากปากคลองปากพลีไปอยู่สถานที่ใหม่ ซึ่งก็คือตลาดน้ำดำเนินสะดวกในปัจจุบัน เปลี่ยนบรรยากาศมานอนโฮมสเตย์ริมน้ำ ตักบาตรริมน้ำยามเช้า เรียนรู้เรื่องราวของตลาดน้ำ ณ พิพิธภัณฑ์ตลาดน้ำดำเนินสะดวก นั่งเรือพายชมสวน ตกบ่ายกินผัดไทยอาท่า ก๋วยเตี๋ยวเจ๊หมวด หรือนั่งพูดคุยจิบกาแฟ ณ ร้านฮกหลี
พิกัด: ตำบลดำเนินสะดวก อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี
เปิดให้บริการ: เสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ 8.00-13.00 น.
ค่าเข้าชม: เข้าชมฟรี
- วิชาหลอกฟ้า: เปลี่ยน ‘ฝัน’ ให้กลายเป็น ‘ฝน’
โครงการพระราชดำริฝนหลวง เกิดขึ้นจากพระราชดำริส่วนพระองค์เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในพื้นที่แห้งแล้งทุรกันดาร 15 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือใน พ.ศ. 2478 เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์เดลาเฮย์ ซีดาน สีเขียว จากจังหวัดนครพนมไปจังหวัดกาฬสินธุ์ ผ่านจังหวัดสกลนครและเทือกเขาภูพาน ระหว่างเยี่ยมพสกนิกร ทรงรับทราบถึงความเดือดร้อนทุกข์ยากของราษฎรและเกษตรกรที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและการเกษตร เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับถึงกรุงเทพมหานคร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล วิศวกรและนักประดิษฐ์ควายเหล็กเข้าเฝ้าฯ แล้วพระราชทานแนวความคิดนั้นแก่หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล
จากทฤษฎีเริ่มแรกในพระราชดำริ พระองค์ทรงศึกษาค้นคว้าและใช้เวลาอีก 14 ปีจึงสำเร็จ โดยทรงทดลองครั้งแรก ณ สนามบินหนองตะภู ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ก่อนย้ายการทดลองมายังสนามบินบ่อฝ้าย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อพระราชทานแนวคิดต่างๆ ได้ง่ายขึ้น
กิจกรรมชวนเก็บหน่วยกิต
Photo: หอเฉลิมพระเกียรติพระบิดาแห่งฝนหลวง ศูนย์ฝนหลวง สนามบินบ่อฝ้าย
- หอเฉลิมพระเกียรติพระบิดาแห่งฝนหลวง ศูนย์ฝนหลวง สนามบินบ่อฝ้าย
เรียนรู้เรื่องฝนหลวงตั้งแต่ประวัติความเป็นมาจนถึงกรรมวิธีการหลอกฟ้า ชมเครื่องบินลำเล็กที่อดีตเคยใช้ทำฝนหลวงก่อนปลดระวาง มีส่วนจัดแสดงห้องทรงงานสำหรับใช้รับเสด็จ และยังเคยถูกใช้เป็นห้องบรรยายยามที่พระองค์ผันตัวเป็นอาจารย์พิเศษบรรยายเรื่องฝนหลวงให้นักเรียนโรงเรียนวังไกลกังวล
นอกจากนี้ยังมีส่วนจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับฝนหลวงอย่างละเอียดผ่านมัลติมีเดียทั้งภาพ เสียง และวิดีโอเป็นขั้นตอนให้รับชมง่าย พร้อมตำราฝนหลวงพระราชทานที่รัชกาลที่ 9 ทรงประดิษฐ์ภาพด้วยคอมพิวเตอร์เพื่อพระราชทานแก่นักวิชาการฝนหลวงด้วย
พิกัด: ภายในท่าอากาศยานหัวหิน ตำบลบ่อฝ้าย อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
เปิดให้บริการ: จันทร์-ศุกร์ เวลา 8.00-16.00 น.
ค่าเข้าชม: เข้าชมฟรี
โทรศัพท์: 0 3252 0062
- โครงการอ่างเก็บน้ำเขาเต่า อันเนื่องมากจากพระราชดำริ
เดิมทีเขาเต่าเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ริมชายทะเล เมื่อครั้งรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ เยือนประชาชนในเขตหัวหิน พระองค์ทอดพระเนตรเห็นความลำบาก ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่มาก แต่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ไหนจะปัญหาน้ำไหลท่วมพื้นที่การเกษตร พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริให้กรมชลประทานสร้างอ่างเก็บน้ำเขาเต่าขึ้น นับเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านชลประทานแห่งแรกประเทศไทย
นับตั้งแต่นั้นมาหมู่บ้านเขาเต่าจึงมีความเจริญต่างๆ เข้ามาในพื้นที่และกลายเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวชายทะเล อ่างเก็บน้ำเขาเต่าไม่เพียงบำบัดทุกข์ของชุมชน แต่ยังกลายเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนและนักท่องเที่ยวอีกด้วย
พิกัด: เขาเต่า อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
เปิดให้บริการ: ทุกวัน
ค่าเข้าชม: เข้าชมฟรี
โทรศัพท์: 08 9260 0867
Photo: ททท. สนง. ประจวบคีรีขันธ์
- ศูนย์หัตถกรรมทอผ้าบ้านเขาเต่า
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในรัชกาลที่ 9 ที่ทรงส่งเสริมให้ประชาชนในหมู่บ้านมีอาชีพเสริมจากการทอผ้าฝ้ายด้วยกี่กระตุกในช่วงมรสุมที่ไม่สามารถออกไปทำการประมงได้ ด้วยเหตุนี้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดหาครูจากราชบุรีมาสอนทอผ้า ย้อมสี สอนการจักสาน พร้อมทั้งจัดหาอุปกรณ์
นักท่องเที่ยวสามารถเรียนรู้วิธีการทอผ้า 9 เส้น ผ้าพื้นเมืองของเขาเต่าที่มีลักษณะเด่นคือลายผ้า 9 เส้น กล่าวคือมี 9 เส้นใน 1 แถว ลายใดก็ได้ และใช้แต่ผ้าฝ้ายเท่านั้น ช้อปสินค้าหัตถกรรมทอมือจากกลุ่มแม่บ้าน มีทั้งผ้าพับสำหรับนำไปตัดเย็บ และสินค้าพร้อมใช้ทั้งกระเป๋า เสื้อผ้า ฯลฯ
พิกัด: บ้านเขาเต่า ตำบลหนองแก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
เปิดให้บริการ: ทุกวัน
ค่าเข้าชม: เข้าชมฟรี
โทรศัพท์: 08 9260 0867 (คุณอมลวรรณ)
Photo: หนังสือ ‘วิชา 9 หน้า’
อ้างอิง:
- หนังสือ ‘วิชา 9 หน้า’ ศาสตร์พระราชาจากตำราของพ่อ โดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย