×

กษัตริย์เนเธอร์แลนด์ตรัสขอโทษต่อกรณีการบังคับใช้แรงงาน-การค้าทาสช่วงยุคอาณานิคม

03.07.2023
  • LOADING...
กษัตริย์เนเธอร์แลนด์

สมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์แห่งเนเธอร์แลนด์ กษัตริย์พระองค์ปัจจุบัน ได้ตรัสขอโทษต่อกรณีการบังคับใช้แรงงานทาสและการค้าทาสในช่วงยุคอาณานิคม โดยพระองค์ทรงเผยว่า การออกมาขอโทษในครั้งนี้เป็นหน้าที่ทางศีลธรรมที่พระองค์ต้องกระทำ หลังจากที่เนเธอร์แลนด์รวมถึงราชวงศ์ของพระองค์มีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนเมื่อครั้งอดีต 

 

โดยพระประมุขแห่งเนเธอร์แลนด์ได้ตรัสแสดงความเสียใจต่อประเด็นดังกล่าวในโอกาสครบรอบ 160 ปีของการเลิกทาสตามกฎหมายเนเธอร์แลนด์ รวมถึงอดีตอาณานิคมในแถบทะเลแคริบเบียน 

 

“ผมยืนอยู่เบื้องหน้าพวกคุณ ในฐานะกษัตริย์และส่วนหนึ่งของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ วันนี้เราระลึกถึงประวัติศาสตร์ว่าด้วยแรงงานทาสที่เกี่ยวข้องกับชาวดัตช์ ผมขออภัยสำหรับการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติในครั้งนี้ด้วย”

 

พระองค์ยังระบุอีกว่า ประเด็นเรื่องการเหยียดเชื้อชาติและการเลือกปฏิบัติในสังคมยังเป็นประเด็นปัญหาในเนเธอร์แลนด์ และไม่ใช่พลเมืองทุกคนที่จะเห็นด้วยกับจุดยืนของพระองค์ที่ออกมาตรัสขอโทษในครั้งนี้

 

ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา การค้าทาสและการบังคับใช้แรงงานทาสทำให้บรรพบุรุษชาวดัตช์ร่ำรวยมหาศาล พร้อมกับเรียกยุคดังกล่าวว่าเป็นยุคทองของอาณาจักรและวัฒนธรรมของชาวดัตช์ในช่วงศตวรรษที่ 16 และ 17 โดยการเคลื่อนย้ายแรงงานทาสชาวแอฟริกันประมาณ 6 แสนคนไปยังพื้นที่แถบทะเลแคริบเบียนและลาตินอเมริกา 

 

เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา มาร์ก รัตเต นายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ ได้ประกาศขอโทษต่อประเด็นดังกล่าวนี้ในนามรัฐบาลเนเธอร์แลนด์แล้ว พร้อมทั้งระบุว่า สมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์แห่งเนเธอร์แลนด์เองก็ทรงเห็นพ้องในจุดยืนดังกล่าวนี้เช่นเดียวกัน และยอมรับว่ายังมีหนทางอีกยาวไกลให้ร่วมฟันฝ่าและแก้ไข 

 

ระบบทาสในซูรินาเมและอดีตประเทศอาณานิคมอื่นๆ ของเนเธอร์แลนด์ได้รับการยกเลิกอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 1863 และยุติลงโดยสมบูรณ์เมื่อปี 1873 หลังจากช่วงระยะเปลี่ยนผ่านราว 1 ทศวรรษ 

 

โดยงานศึกษาชี้ว่า ราชวงศ์เนเธอร์แลนด์เคยมีรายได้จากการค้าทาสในประเทศอาณานิคมช่วงปี 1675-1770 สูงถึง 545 ล้านยูโร (ราว 2.1 หมื่นล้านบาท)

 

แฟ้มภาพ: Tomas Benedikovic / AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising