×

ไขคำตอบจากหมอ วัยเด็กต้องนอนกลางวัน ถ้าไม่ชอบบังคับได้ไหม มีประโยชน์อะไรที่ต้องนอน

14.01.2023
  • LOADING...

เมื่อวันเด็กแห่งชาติมาถึง สิ่งแรกที่เรามักจะนึกถึงชีวิตในวันเด็กคือช่วงชีวิตวัยอนุบาล ชีวิตที่มีแต่ความสนุก ได้เล่นกับเพื่อนๆ โดยไม่ต้องนึกถึงความเครียดหรือปัญหาอะไรมากนักเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่

 

วัยเด็กในระดับชั้นอนุบาล กิจกรรมหนึ่งที่ถูกระบุในตารางชีวิตคือช่วงตลอดบ่ายของวันจันทร์-ศุกร์ เด็กอนุบาลทุกคน ‘จะต้องนอนตอนกลางวัน’ แต่มักจะมีคำอธิบายที่ไม่ชัดเจนนักถึงเหตุผลของการนอน หรืออาจจะทำให้ชวนตั้งคำถามว่าทำไมต้องมีกิจกรรมลักษณะนี้

 

เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ THE STANDARD สนทนาพิเศษกับ พญ.สินดี จำเริญนุสิต กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านพัฒนาการและพฤติกรรม โรงพยาบาลเวชธานี เพื่ออธิบายและไขคำตอบ ‘เหตุใดเด็กในช่วงวัยอนุบาลหรือเด็กช่วงวัยอายุ 3-5 ปี จึงต้องนอนตอนกลางวัน และการนอนกลางวันนั้นมีประโยชน์อย่างไร?’

 

พญ.สินดีกล่าวว่า การนอนกลางวันของเด็กเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก เพราะการนอนหลับนั้นจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตและเรื่องของพัฒนาการเด็ก หากเด็กนอนหลับได้เพียงพอ จะทำให้เด็กมีการพัฒนาความจำที่ดีขึ้นได้ เนื่องจากในช่วงเวลาที่หลับนั้นสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความจำจะถูกทำงาน เพื่อทบทวนสิ่งที่เราเรียนรู้มาและเกิดการเชื่อมโยงของเซลล์สมองมากขึ้น

 

ดังนั้นการที่เราได้นอนหลับอย่างเพียงพอ หรือแม้แต่การที่เรางีบหลับช่วงกลางวันในระยะเวลาที่ไม่ได้นานเกินไป สมองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความจำจะทำงานได้ดีขึ้นหรือเรียนรู้ได้ดีขึ้น

 

ส่วนสาเหตุใดที่เด็กต้องนอนกลางวัน เพราะเด็กต้องมีชั่วโมงการนอนที่มากกว่าผู้ใหญ่ ซึ่งการนอนแค่ในช่วงกลางคืนอาจจะไม่เพียงพอ จึงต้องให้เด็กนอนกลางวันเพิ่ม ทั้งตอนเช้าและตอนบ่าย ซึ่งการนอนหลับของเด็กจะช่วยให้สมองของเด็กมีการเจริญเติบโตได้ดี

 

พญ.สินดียกตัวอย่างช่วงอายุของวัยเด็กว่า เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 1 ปี จะมีระยะเวลาในการนอนอยู่ที่ 10-15 ชั่วโมงต่อวัน โดยแนะนำว่าจะต้องนอนตอนกลางวันทั้งช่วงเช้าและช่วงบ่าย ประมาณ 2-4 ครั้ง

 

เมื่ออายุ 1-2 ปี ควรนอนอย่างน้อย 11-14 ชั่วโมงต่อวัน ทำให้เด็กบางคนอาจจะไม่นอนเช้าแล้วแต่ยังต้องนอนในตอนบ่ายอยู่

 

เมื่อถึงวัยอนุบาลหรือช่วงอายุประมาณ 3-5 ปี ควรนอนอย่างน้อย 10-12 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งจะเหลือแค่การนอนกลางวันในช่วงบ่ายที่โรงเรียนเท่านั้น

 

พญ.สินดีกล่าวย้ำว่า หากเด็กไม่ได้นอนตอนกลางวันหรือนอนไม่เพียงพอ จะส่งผลเสียต่อพัฒนาการและอารมณ์ของเด็ก เมื่ออารมณ์หรือพัฒนาการไม่ดี ก็จะทำให้การเรียนรู้นั้นแย่ลงไปด้วย ดังนั้นเรื่องของการนอนกลางวันหรือการนอนให้เพียงพอจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น

 

ช่วงอายุแค่ไหนไม่ต้องนอนกลางวัน

 

พญ.สินดีกล่าวถึงช่วงอายุที่เด็กไม่จำเป็นต้องให้นอนกลางวันว่า อย่างที่เราทราบกันดีว่าผู้ใหญ่ควรนอนอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนเด็กในวัยเรียนหรือวัยอนุบาลควรนอนอย่างน้อย 10-12 ชั่วโมงต่อวัน

 

การนอนกลางวันนั้นไม่มีอายุที่ชัดเจนตายตัว โดยทั่วไปแล้วช่วงอายุระหว่าง 4-6 ปี จะเป็นช่วงเวลาที่เด็กส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องนอนกลางวัน เพราะการนอนในตอนกลางคืนนั้นเพียงพอแล้ว

 

🎈 หากไม่ชอบนอนแล้วถูกบังคับ

 

พญ.สินดีกล่าวต่อไปว่า ตามหลักการเรื่องของการพัฒนาสมองนั้น ช่วงวัยอนุบาลเด็กยังจำเป็นต้องให้นอนกลางวัน เพราะจะช่วยเรื่องการพัฒนาสมองของเด็กที่มีความเหนื่อยล้า เนื่องจากเด็กมีการใช้พลังงานเยอะกว่าผู้ใหญ่

 

หากถามว่ามีความจำเป็นถึงขั้นต้องบังคับหรือไม่นั้น พญ.สินดีกล่าวว่า ไม่จำเป็น แม้การนอนจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาสมอง แต่หากเด็กบางคนเริ่มไม่อยากนอนกลางวัน ในขณะที่ตารางการเรียนระบุว่าเด็กยังต้องนอนกลางวันอยู่ ก็จะทำให้รู้สึกเหมือนว่าเป็นการถูกบังคับ

 

พญ.สินดีจึงแนะนำว่าพ่อแม่หรือคุณครูประจำชั้นต้องทำความเข้าใจว่าการบังคับไม่ใช่เรื่องที่ดี หากเราต้องการให้เด็กพักสมองและพักเรื่องของการปลดปล่อยพลังงานในช่วงบ่าย ควรจะทำช่วงเวลานั้นให้มีความเงียบสงบหรือมีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการนอน

 

เด็กบางคนสามารถนอนหลับได้โดยที่ไม่ต้องบังคับ เด็กคนไหนที่ต้องการนอนหรือหลับได้ ก็ให้เขานอน ในขณะเดียวกัน เด็กที่ไม่อยากนอน ก็ให้เด็กคนนั้นๆ ทำกิจกรรมอื่น ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือหรือให้เล่นเบาๆ โดยไม่รบกวนการนอนของเพื่อนคนอื่น ซึ่งจะไม่มีการบังคับเข้ามาเกี่ยวข้อง

 

🎈 การบังคับส่งผลกระทบต่อจิตใจ

 

พญ.สินดีกล่าวว่า หากมีการบังคับจิตใจเกิดขึ้น จะนำมาซึ่งผลกระทบทางจิตใจ “ยิ่งมีการบังคับ จะยิ่งทำให้มีการต่อต้านที่มากขึ้น เพราะเด็กเองก็ไม่มีความเข้าใจและไม่อยากนอนกลางวันอยู่แล้ว ดังนั้นจะทำให้เด็กเครียดและมีประสบการณ์ที่ไม่ดีจากโรงเรียน ซึ่งอาจส่งผลกระทบระยะยาวไปจนถึงการเรียน บรรยากาศในห้องเรียน หรือคุณครู และส่งผลต่อพฤติกรรมอื่นๆ อีกมาก”

 

🎈 เมื่อมองย้อนวัยเด็ก มีความรู้สึกเสียดายเวลา

 

เมื่อเราเหลียวมองตัวเองในปัจจุบันแล้วตั้งคำถามกับว่า ‘ทำไมตอนนั้นเราถึงไม่ชอบนอนกลางวัน’

 

ขณะที่ช่วงชีวิตเมื่อโตขึ้น ต้องทำงาน ไม่มีเวลาหยุดพัก ทำให้นึกถึงวัยเด็กแล้วรู้สึกเสียดาย

 

พญ.สินดีกล่าวอธิบายตามหลักทางการแพทย์ว่า สามารถอธิบายได้ 2 แบบ คือ การที่เราได้ระลึกถึงความหลัง นึกถึงความทรงจำดีๆ ในวัยเด็ก ตอนที่เราแวดล้อมไปด้วยคนที่เรารัก ในขณะเดียวกันก็จะมีคนที่คิดถึงช่วงวัยเด็ก โดยเป็นความรู้สึกเสียดายหรืออยากจะย้อนเวลากลับไป

 

พญ.สินดีกล่าวว่า เคยมีงานวิจัยตามหลักการทางการแพทย์บอกว่า หากคนที่คิดถึงอดีตหรือคิดถึงชีวิตในวัยเด็กบ่อยๆ เคยมีการเอ็กซเรย์สมองแล้วพบว่า คนที่คิดถึงช่วงเวลาในวัยเด็กในแบบที่มีความทรงจำที่ดี จะมีพลังใจในการใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบันได้ดีขึ้น ซึ่งการคิดถึงช่วงเวลาดีๆ ในอดีต ก็นำมาเชื่อมโยงกับปัจจุบันได้

 

แต่การมีความรู้สึกเสียดายช่วงเวลาในวัยเด็กและอยากที่จะย้อนกลับไปนั้น ต้องกลับมาพิจารณาดูให้ดีว่าอะไรที่ทำให้คิดถึงเรื่องนี้ การที่ทำให้เรารู้สึกเสียดายและอยากที่จะย้อนเวลากลับไปนั้น สิ่งนั้นทำให้เราเป็นทุกข์หรือไม่ ซึ่งการเป็นทุกข์นั้นอาจจะหมายถึงช่วงเวลานั้นเราอาจจะเหนื่อยล้าหรือรู้สึกว่าโดดเดี่ยวหรือไม่

 

การที่เรานึกถึงอดีตแล้วเห็นเป็นความทุกข์หรือความกังวล ก็จะเชื่อมโยงไปสู่การที่เราไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน เป็นการคิดวกวน ซึ่งจะนำเข้าไปสู่ภาวะโรคซึมเศร้าหรือภาวะวิตกกังวลได้ หากสิ่งที่เรานึกถึงทำให้เราเป็นทุกข์หรือทำให้เราหลงลืมปัจจุบัน มันอาจจะส่งผลไม่ดีต่อตัวเรา

 

พญ.สินดีได้แนะนำว่าให้หากิจกรรมที่ได้อยู่กับปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการได้พูดคุยกับคนที่เรารัก หากกระทบถึงการใช้ชีวิตหรือมีผลต่อการทำงาน การมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ก็อาจจะถึงเวลาที่ต้องพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อพูดคุยหรือประเมินกันต่อไป

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising