ถ้ามองในระดับปรากฏการณ์ทั้งกัมพูชาและไทย รวมถึงอีกหลายประเทศในอุษาคเนย์กำลังเผชิญชะตากรรมคล้ายกันคือความขัดแย้งที่เกิดจากมรดกของยุคอาณานิคมและอาณานิคมใหม่ภายใต้นาม ‘มรดกโลก’
เรื่องโขนที่ไทยกำลังดราม่ากับกัมพูชาซึ่งคนไทยเถียงกันว่าใครเป็นเจ้าของที่แท้จริงนี้ไม่ใช่เป็นกรณีแรกของปัญหาที่มาจาก ‘Intangible Cultural Heritage’ หรือวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ อันหมายถึง วัฒนธรรม ประเพณี ศิลปะการแสดง หรืออาหารอีกจิปาถะ แต่เคยเกิดขึ้นกับประเทศอื่นแล้ว
ถ้าจำกันได้ เมื่อหลายปีก่อนก็เกิดดราม่าเรื่องผ้าปาเต๊ะ (Batik) ระหว่างอินโดนีเซียกับมาเลเซียไป แต่สุดท้ายผ้าปาเต๊ะของอินโดนีเซียก็ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจนกลายเป็น tension กันเล็กๆ ระหว่างสองประเทศนี้จนถึงปัจจุบัน
ทำไมปัญหาความขัดแย้งนี้จึงได้เกิดขึ้น ทำไมคนกัมพูชาและคนไทยจึงต้องตอบโต้กันไปมาอย่างรุนแรงชนิดที่ประชาคมอาเซียนนั้นไม่มีความหมายเอาเสียเลย
บทความนี้ด้านหนึ่งพยายามจะตอบคำถามข้างต้น แต่ในขณะเดียวกัน เพื่อให้เข้าใจปัญหาได้ก็จำเป็นต้องสืบค้นความเป็นมาของโขนเสียก่อนด้วยไปพร้อมกัน ซึ่งต้องขอออกตัวเสียแต่ตรงนี้ว่าเรื่องนี้ไม่ง่ายเลย
มรดกจากอาณานิคม และสร้างโขนให้เป็นเอกลักษณ์ของชาติ
ดราม่าเรื่องโขนกับมรดกโลกถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้งหลังจากเงียบหายไปสักพักใหญ่ๆ ทั้งนี้เพราะล่าสุดโขนของไทยกำลังจะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ซึ่งจะประกาศราวกลางเดือนธันวาคมนี้อย่างเป็นทางการ
เรื่องนี้ส่งผลกระทบทำให้คนกัมพูชาจำนวนมากออกมาโวยวายกันในโลกโซเชียลยกใหญ่ว่ากัมพูชาต่างหากคือเจ้าของโขนตัวจริง ส่วนไทยเป็นพวกชอบก๊อบปี้ หรือเป็น ‘โจร’ ที่ชอบขโมยนั่นนี่ไป ไม่เฉพาะโขนเท่านั้น
ส่วนไทยเองก็ไม่แพ้ชาติใดในโลก ในบางเพจมีการตอบโต้อย่างแสบสัน โอเค บ้างบอกว่าไทยพัฒนาชุดโขนได้สวยกว่าและการแสดงอ่อนช้อยกว่า ดังนั้นไทยจึงเป็นต้นตำรับ โดยเจ้าเขมรรับโขนไทยไปในสมัยต้นรัตนโกสินทร์นี้เอง
ภายใต้ปรากฏการณ์นี้ 2-3 วันนี้จึงมีนักวิชาการและชาวโซเชียลออกมาให้ความรู้และชี้ให้เห็นต้นกำเนิดของความขัดแย้งหลายทัศนะด้วยกัน คือมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนี้มีรากเหง้ามาจากมรดกยุคอาณานิคมที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน
สุจิตต์ วงษ์เทศ พูดไว้ชัดและถึงกับพยากรณ์ในมติชนออนไลน์ว่าเรื่องโขนนี้คงต้องดราม่ากันอีกนาน ตราบใดที่ไม่มีการชำระประวัติศาสตร์อาเซียน (อ้างอิง: www.matichon.co.th/entertainment/arts-culture/news_167408)
แต่ประวัติศาสตร์ที่ว่านั้นเป็นอย่างไร
สั้นๆ คือประวัติศาสตร์นั้นชอบอธิบายให้ประเทศเพื่อนบ้านเป็นศัตรูหรือเป็นตัวร้าย บ้างก็อยู่ในฐานะที่ต่ำกว่า เช่น ไทยมองเมียนมาเป็นศัตรู มองกัมพูชาเป็นพวกที่ไว้ใจไม่ได้ เลี้ยงไม่เชื่อง ในขณะที่กัมพูชาก็มองไทยเป็นโจรสยาม ประวัติศาสตร์แบบนี้ฟังดูไม่ดีในยุคปัจจุบัน แต่มันก็มีพลังในการสร้างจิตสำนึกให้คนในชาติรู้สึกเป็นพวกเดียวกันและพร้อมจะเกลียดชังชาติอื่น ดังนั้นถ้าไปสำรวจตามเพจต่างๆ ที่โพสต์ว่าด้วยเรื่องโขนก็จะไม่พ้นคำต่อว่าที่ว่ามาข้างต้น
มรดกอีกอย่างที่ตกค้างมาคือสำนึกของความเป็นเจ้าของ สำนึกนี้เกิดขึ้นเมื่อสยามกับกัมพูชาลากเส้นพรมแดนลงบนแผนที่เมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 จึงต้องพยายามค้นหาสิ่งที่เรียกว่าประวัติความเป็นมาและเอกลักษณ์ของชาติ จริงๆ แล้วในเรื่องนี้เราลองมาจินตนาการกันเล่นๆ ว่าถ้าหากสยามในสมัยรัชกาลที่ 4-5 สามารถครอบครองเขมรส่วนในคือ พระตะบอง ศรีโสภณ และเสียมเรียบได้ หรือฝรั่งเศสยึดกรุงเทพฯ ได้ ปัญหาว่า ‘โขนเป็นของใคร’ คงไม่เกิดขึ้น เพราะประวัติศาสตร์ไทยก็อาจจะตั้งต้นจากนครวัด
แต่เอาเป็นว่าถ้าดูจากภาพถ่ายเก่าและเอกสารต่างๆ โขนได้เริ่มถูกนำเสนอในฐานะเป็นเอกลักษณ์ของชาติก็ในสมัยนี้ และเริ่มสืบค้นหาต้นกำเนิดของรามเกียรติ์ ซึ่งรัชกาลที่ 6 ทรงค้นคว้าและพระราชนิพนธ์เป็นหนังสือชื่อว่า บ่อเกิดรามเกียรติ์ ส่วนทางกัมพูชาเองก็มีการศึกษาภาพสลักรามายณะที่ปราสาทนครวัดกันอย่างละเอียดโดยเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส และมีการนำโขนไปแสดงยังฝรั่งเศสเมื่อปี 1906
แต่ในเวลานั้น สำนึกที่มองว่าโขนจะต้องเป็นของชาติใดชาติหนึ่งนั้นยังไม่รุนแรงมาก เพราะคนโดยทั่วไปยังไม่ได้สำนึกถึงการเป็นเจ้าของประเทศอย่างแท้จริง และไม่ได้ถูกกระตุ้นด้วยความคิดแบบชาตินิยมและเชื้อชาตินิยมอย่างเต็มที่
ผมเข้าใจว่าสำนึกที่ทั้งคนไทยและกัมพูชาเริ่มมองว่า ‘โขนเป็นศิลปะประจำชาติ’ นั้น ฝ่ายไทยคงเกิดขึ้นเมื่อมีการบรรจุวิชาโขนในโรงเรียนนาฏศิลป (ปัจจุบันคือวิทยาลัยนาฏศิลป) ขึ้นในปี 1945 (พ.ศ. 2488) ทำให้คนทั่วไปได้เรียนและรู้จักกับโขนมากขึ้น ส่วนทางกัมพูชานั้น หลังปี 1953 เมื่อได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส โขนได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งโดยสถาบันกษัตริย์และได้เริ่มทำให้เป็นงานแมสอย่างแท้จริง ดังจะเห็นได้จากภาพยนตร์ของเจ้านโรดม สีหนุ
ถ้าสรุปอย่างรวบรัดก็คือความรู้สึกที่โขนเป็นเอกลักษณ์ของคนในชาติเกิดขึ้นเมื่อสังคมเปลี่ยนระบอบการปกครองและความคิดของคนในสังคม ทำให้รามเกียรติ์ไม่ใช่สมบัติที่ผูกขาดกับราชสำนักหรือชนชั้นสูงอีกต่อไป
การแสดงโขนของกัมพูชาในงาน Colonial Exposition ที่เมืองมาร์กเซย ในปี 1906
(ภาพ: wikipedia)
‘โขน’ คือลูกผสม มีที่มาจากหลายทาง
ระหว่างเขียนบทความนี้ ผมทั้งอ่านงานจำนวนหนึ่งจากนักวิชาการและสัมภาษณ์คนโขนไปด้วย จึงยิ่งพบความซับซ้อนของเรื่องโขนขึ้นไปอีก เพราะทั้งโขนไทยและกัมพูชานั้นมีพัฒนาการที่ยาวนับพันปี มีหลายประเด็นที่ยังไม่เป็นข้อยุติ ซึ่งในอนาคต ผมว่าไหนๆ ก็จะเป็นมรดกโลกแล้วก็ควรทำวิจัยอย่างจริงจัง ไม่เช่นนั้นก็จะเถียงกันไปมาและภูมิใจกันด้วยความรู้อันตื้นเขิน
คำว่า ‘โขน’ ยังไม่ลงตัว
ถ้าพิจารณาจากคำศัพท์กันก่อน สุจิตต์ วงษ์เทศ เสนอว่าคำว่า ‘โขน’ หรือที่ภาษาเขมรเรียกว่า ‘ลโคน โขล’ มาจากคำในภาษาชวา-มลายูว่า ‘ละคร’ หรือ ‘ละคอน’ ในขณะที่ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ นักวิชาการอิสระ ได้ให้ความเห็นว่า คำว่า ‘โขน’ อาจมาจากคำว่า ‘พูตะ โกละ’ ในภาษาตุลุที่ใช้กันในแคว้นเกรละ ทางใต้ของอินเดีย โดยคำว่า ‘โกละ’ แปลว่า การละเล่น นี่แหละคือที่มาของคำว่าโขน ข้อเสนอนี้คล้ายกับที่อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ธนิต อยู่โพธิ์ เคยสันนิษฐานเอาไว้ แต่สรุปสั้นๆ ก็คือกลุ่มนี้เชื่อว่ารากศัพท์ของคำว่าโขนมาจากอินเดีย
นอกจากนี้ศิริพจน์ยังได้อ้างหลักฐานอีกว่าคำว่า ‘ลโคน โขล’ ปรากฏในจารึกวัดประมา (K.1229) ระบุศักราช พ.ศ. 1522 ว่า “มีชาย ตำแหน่ง วาป คนแห่งเขตธรูวปุระ ได้เข้ามาเป็นพนักงานลโคน โขล ในพระราชวัง” เท่ากับว่าคำว่า ‘โขล’ เก่าที่สุดพบในกัมพูชา หรือไทยเรารับคำว่า ‘โขน’ นี้มาจากภาษาเขมร
ในขณะที่ ดร.อัครินทร์ พงษ์พันธ์เดชา คนโขนและนักวิชาการด้านวัฒนธรรม ได้ให้ความเห็นว่าคำว่าโขนควรมีรากศัพท์มาจากภาษาตระกูลไท โดยมีความหมายว่าหัว ส่วนหัว หรือที่ครอบหัว ดังจะเห็นได้จากชื่อเรียกหลายอย่างที่ใช้คำว่าโขนเข้าไปประกอบ เช่น หัวเรือเรียกว่าโขนเรือ หัวระนาดเรียกว่าโขนระนาด หรือหัวฆ้องเรียกว่าโขนฆ้อง หรือในทางอีสานก็มีผีตาโขน ทางล้านนามีผีโก๋นหรือผีโขน แต่มีบางคนสันนิษฐานไปด้วยว่าคำว่าโขนนี้อาจมาจากภาษาจีนโบราณว่า ‘ขุย’ (ขุล) (khu:l) แปลว่า สวมหน้ากากทำพิธีกรรม
ผมสรุปไม่ได้ เพราะไม่มีความรู้มากพอ แต่เชื่อว่าคำว่าโขนมาจากคำในภาษาตระกูลไทเสียมากกว่า เพราะโขนคือการแสดงที่ตัวละครต้องสวมหน้ากาก และถ้าดูจากชื่อเรียกในภาษาเขมรก็น่าจะแปลทำนองว่าละครสวมหน้ากาก
พิธีกรรมสวมหน้ากากกลายมาเป็นโขน
การแสดงรามายณะในอินเดียไม่มีการสวมหน้ากาก นักวิชาการหลายคนจึงเชื่อว่าประเพณีการสวมหน้ากากในการแสดงที่ดั้งเดิมใช้ในงานพิธีกรรมนี้เป็นของท้องถิ่นในอุษาคเนย์เองเพื่อบูชาผีบรรพบุรุษ ผีตาโขนดูจะเป็นตัวอย่างที่ดีของประเพณีการสวมหน้ากากในงานพิธีกรรมดั้งเดิม ซึ่งมีบางคนนำไปเปรียบเทียบกับภาพวาดที่ผาแต้มอายุกว่า 3,000 ปี
ที่อินโดนีเซียเชื่อว่า ‘โตเป็ง’ (Topeng) เป็นการแสดงสวมหน้ากากที่มีมาแต่ดั้งเดิม โดยถือว่าหน้ากากเป็นตัวแทนของผีบรรพบุรุษ จนเมื่อรับอิทธิพลจากศาสนาฮินดูเข้ามาจึงปรับเอารามายณะและมหาภารตะมาเป็นละครแล้วสวมหน้ากากแบบโตเป็ง หลักฐานเก่าสุดที่พูดถึงโตเป็งปรากฏในพงศาวดารราชวงศ์มัชปาหิตชื่อว่า ‘นครเกียรตาคม’ ซึ่งได้เล่าว่ากษัตริย์ฮะยัม วูรุค (ครองราชย์ปี 1350-1389) ได้สวมหน้ากากทองคำเพื่อเต้นโตเป็งนี้
สรุปสั้นๆ ก็คือนักวิชาการโดยทั่วไปเชื่อว่าหัวโขนเป็นความเชื่อที่สัมพันธ์กับการแสดงหน้ากากบูชาผีบรรพบุรุษอยู่ก่อนแล้วที่จะพัฒนาเป็นหัวโขน
รามเกียรติ์ของไทยคือวัฒนธรรมผสมผสาน
ความซับซ้อนของโขนนี้ยังไม่จบ แน่นอนครับว่าต้นแบบของการแต่งกายของโขนไทยส่วนหนึ่งจะมาจากกัมพูชา ดังจะเห็นได้จากภาพสลักการกวนเกษียรสมุทรที่ปราสาทนครวัด แต่เนื้อเรื่องของรามายณะที่ปราสาทนครวัดนี้กลับใช้ฉบับวาลมิกิ ในขณะที่รามเกียรติ์ของไทยนั้น นักวิชาการในสมัยหลังมานี้เชื่อว่ามาจากรามายณะฉบับกัมพันของอินเดียใต้ต่างหาก
ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงก็จะสอดคล้องกับการแสดง ‘กถักกฬิ’ ของอินเดียใต้ที่แคว้นเกรละ ซึ่งที่นี่ก็มีการใช้กระดาษตกแต่งบริเวณคาง ประกอบการทาสีบนใบหน้าของผู้แสดงก็มีส่วนคล้ายหัวโขนเช่นกัน แต่ไม่ได้สวมไปทั้งหน้า ดังนั้นการแสดงรามเกียรติ์หรือรามายณะที่ใส่หัวโขนในภูมิภาคนี้อาจผสมกับประเพณีการสวมหน้ากากดั้งเดิมในภูมิภาคนี้และผสมผสานเข้ากับอิทธิพลจากอินเดียใต้
แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าหัวโขนของไทยและกัมพูชารับมาจากอินเดียแบบเต็มๆ ดังที่ศิริพจน์ให้ข้อสังเกตว่าหัวโขนทศกัณฑ์ของไทยนั้นเหมือนกับที่นครวัด คือการทำเศียรซ้อนๆ ชั้นกันขึ้นไป ซึ่งต่างจากอินเดียที่ทำหน้าซ้อนออกไปด้านข้าง
แต่การรับการแสดงรามายณะจากอินเดียใต้นี้ ดร.อัครินทร์กล่าวว่าอาจจะรับมาโดยตรงกับคณะพราหมณ์อินเดียจากภาคใต้ของไทย หรือรับผ่านการแสดงวายังวองก์ (วายัง โอรัง) เรื่องรามายณะของชวาอีกทอดหนึ่งก่อนที่จะไปยังกรุงศรีอยุธยา ดังเช่นที่มีนักวิชาการบางสำนักเชื่อว่าละครรำหรือนาฏศิลป์ราชสำนักของไทยอาจจะได้รับการส่งผ่านมาจากโนราชาตรีทางภาคใต้ของไทย เนื่องจากสีกายตัวละครในรามเกียรติ์ที่เราใช้อยู่ตรงกับสีกายตัวละครในการแสดง ‘กถักกฬิ’ ซึ่งมีชื่อเดิมคือ ‘รามกถัก’ หมายถึง การแสดงที่เดิมแสดงเรื่องการพรรณาถึง (เกียรติ์) พระรามเพียงเรื่องเดียว อันมีความหมายทำนองเดียวกันกับคำว่า ‘รามกีรติ’ หรือ ‘รามเกียรติ์’ และตรงกับในชวาเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์
ส่วนท่าทางการเต้นโขนนั้น สุจิตต์ วงษ์เทศ มองว่าเป็นท่าทางที่เป็นส่วนผสมระหว่างการเต้นรำท่ากบของกลุ่มคนนับตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ผสมกับท่าทางการร่ายรำของอินเดีย แต่ดร.อัครินทร์ให้ความเห็นว่าท่าเต้นที่มองดูคล้ายท่ากบนั้น แท้จริงแล้วเป็นหนึ่งในท่าการใช้เท้าในการร่ายรำของนาฏศิลป์อินเดียที่เรียกว่า ‘ภารตนาฏยัม’ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีท่าฟ้อนรำและการเต้นแบบพื้นเมืองผสมในโขนไทย เพราะการร่ายรำแบบภารตนาฏยัมนั้นมีความยากเกินไป
ผมก็ไม่รู้ว่าจะเลือกเชื่อใครดี แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่าในเมื่อเต้นแบบอินเดียนั้นยากเกินไป คนในภูมิภาคนี้ก็คงเอาท่าทางที่คุ้นเคยและศักดิ์สิทธิ์เข้ามาผสมผสาน ส่วนเนื้อเรื่องที่ราชสำนักสมัยกรุงศรีอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์เอามาจากทางใต้ของอินเดียนั้น เพราะในสมัยต้นกรุงศรีอยุธยามีการนำเข้าพราหมณ์และติดต่อการค้ากับทางใต้ของอินเดียมากกว่า ดังเห็นได้จากในตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช
พระราม ในการแสดงกถักกฬิเรื่องรามายณะของอินเดียใต้ที่แคว้นเกรละ
(ภาพ: www.hindumeeting.com)
โขนไทยกับโขนกัมพูชา
โขนไทยมีหลักฐานปรากฏมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ในสมัยที่ราชทูตเซเบเรต์และลาลูแบร์จากฝรั่งเศสมาเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้กล่าวไว้ว่าได้มีการจัดแสดงโขนให้ดูกัน ซึ่งเป็นไปได้ว่าคงเล่นเรื่องรามเกียรติ์
ส่วนสาเหตุที่โขนไทยเข้าไปเผยแพร่ในราชสำนักกัมพูชานั้นเป็นเพราะในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้ทรงรับนักองค์เองเข้ามาในราชสำนักและคงจะได้ฝึกหัดการเล่นโขน จนเมื่อกลับไปครองราชย์ในกัมพูชาจึงได้นำโขนแบบกรุงเทพฯ เข้าไปเผยแพร่ในที่สุด
มรดกโลกคืออาณานิคมใหม่รูปแบบหนึ่ง
จากที่กล่าวมา ผมไม่ได้ต้องการจะลากเส้นตรงแล้วบอกว่าจุดกำเนิดของโขนมาจากไหน เพราะจะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่ยังอีรุงตุงนังและรอการค้นคว้าอีกมาก นอกจากนี้แล้วสิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับต้นๆ ด้วยก็คือการสลายมายาคติที่เข้าใจว่าโขนเป็นของชาติใดชาติหนึ่ง เพราะโขนเป็นเรื่องวัฒนธรรมที่มีมาก่อนรัฐชาติ คนในสมัยนั้นไม่ได้สำนึกว่าใครเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวดังที่หลายคนพยายามชี้ให้เห็นว่าโขนคือวัฒนธรรมร่วม (Shared Culture) นั่นเอง
อย่างไรก็ดี ต่อให้มีคนพยายามเสนอว่าเป็นวัฒนธรรมร่วม โดยส่วนตัวก็คิดว่าในท้ายที่สุดแล้วก็ยังจะเป็นปัญหาอยู่ดี แน่นอนครับว่าการที่วัฒนธรรมสักวัฒนธรรมหนึ่งได้รับการเสนอชื่อให้เป็นมรดกโลกย่อมทำให้ผู้คนทั่วโลกสนใจและเห็นคุณค่ามากขึ้น และทำให้วัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้นี้ได้รับการอนุรักษ์และสืบสาน รวมทั้งยังหมายถึงรายได้ที่จะตามมาจากการท่องเที่ยวอีกมหาศาล นับเป็นความหวังดีที่น่าชื่นชม
แต่กระบวนการที่ยูเนสโกยอมให้ประเทศใดประเทศหนึ่งยื่นจดทะเบียนวัฒนธรรมที่แชร์ร่วมกับประเทศอื่นด้วยนั้น ผมว่ารังแต่จะสร้างปัญหาความบาดหมางและขัดแย้งให้เกิดขึ้นเสียมากกว่า ซึ่งจริงๆ แล้วยูเนสโกควรมองว่าถ้าหากวัฒนธรรมใดที่มีการแชร์ร่วมกันก็ควรให้ประเทศที่มีวัฒนธรรมร่วมกันนั้นดำเนินกระบวนการจดทะเบียนร่วมกัน ซึ่งอย่างนี้ต่างหากที่จะทำให้วัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้กลายเป็นวัฒนธรรมของมนุษยชาติ หรืออีกวิธีคือการกำหนดนิยามให้ชัดเจน เช่น โขนไทย ไม่ใช่ใช้ term กว้างๆ เช่น คำว่าโขน เป็นต้น แต่เอาเป็นว่ามันจะคุ้มกันไหมที่มรดกของมนุษยชาติต้องแลกมาด้วยความขัดแย้งระหว่างคนทั้งสองประเทศ
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- สัมภาษณ์ ดร.อัครินทร์ พงษ์พันธ์เดชา นักแสดงโขนและนักวิชาการอิสระ ซึ่งต้องขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ด้วย
- www.matichon.co.th/education/news_1109707
- en.wikipedia.org/wiki/Topeng
- en.wikipedia.org/wiki/Royal_ballet_of_Cambodia
- www.hindumeeting.com/prapeni/katakari.htm
- www.matichonweekly.com/column/article_1985