×

ไม่ใช่แค่ Smart City แต่คือเครื่องมือแก้จน: ถอดรหัสและส่องความคืบหน้าเมืองอัจฉริยะที่ขอนแก่น

30.04.2022
  • LOADING...
Smart City

HIGHLIGHTS

7 mins. read
  • เราอาจเคยได้ยินเสียงสะท้อนปรามาสประมาณว่า “พูดกันมาตั้งนานหลายปีแล้วก็ยังไม่เห็นขอนแก่นจะสมาร์ทสักที” หรือไม่ก็ “เป็นความพยายามในการปั่นราคาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ภายในจังหวัด” 
  • อันที่จริงแล้ว ‘ขอนแก่นสมาร์ทซิตี้’ และ ‘ขอนแก่นโมเดล’ นั้นเป็นโครงการพัฒนาเมกะโปรเจ็กต์ขนาดมหึมาที่ต้องอาศัยความร่วมมือกันของหลายภาคส่วน ทั้งจากภาครัฐ เอกชน และประชาคมภายในจังหวัด มีกระบวนการหลายขั้นตอนที่ต้องก้าวข้ามผ่านเช่นเดียวกับสมาร์ทซิตี้หลายแห่งทั่วโลก ทั้งยังจำเป็นต้องใช้เวลาในการได้รับการอนุมัติจากภาครัฐ และการพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อไม่ให้ทิ้งใครเอาไว้เบื้องหลัง 

เมื่อพูดถึงสมาร์ทซิตี้ของไทยนั้น เมืองที่ถูกหยิบยกเอามาพูดถึงมากที่สุดนั้นคงหนีไม่พ้นเมืองขอนแก่น แต่แม้เราจะได้ยินเกี่ยวกับเมืองที่ถูกวางไว้ให้เป็นเมืองอัจฉริยะใจกลางภาคตะวันออกเฉียงเหนือแห่งนี้กันมานานแล้ว บางคนก็ยังไม่เข้าใจว่าขอนแก่นจะสมาร์ทแค่ไหน อย่างไร บ้างก็มองบนด้วยเห็นว่าพูดกันมาตั้งนานหลายปีแล้วก็ยังไม่เห็นจะสมาร์ทสักที จนบางคนถึงขั้นปรามาสว่า ‘ขอนแก่นโมเดล’ ที่เขาว่ากันคือความพยายามในการปั่นราคาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ในเมืองขอนแก่นไปเลยก็มี เพื่อถอดรหัสและส่องความคืบหน้าดังกล่าว เราจึงคุยกับ สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย’ ประธานกรรมการ บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด และสรุปออกมาให้ฟังเป็นข้อๆ ให้อ่านและทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กัน

 

 สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย 

ประธานกรรมการบริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง

(Photo Credit : KKTT)

 

 

เมืองอัจฉริยะที่เอกชนคิดและลุกขึ้นมาทำ

จากปัญหาความยากจนที่ฝังรากลึกและการรวมศูนย์อำนาจของประเทศไทย รวมถึงปัญหาขาดแคลนงบประมาณ หากรอให้รัฐเป็นฝ่ายแก้ปัญหาพัฒนาก็คงต้องรอกันไปอีกนาน แนวคิดการพัฒนาเมืองขอนแก่นที่เกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมือของภาครัฐ ทว่ามีภาคเอกชนลุกขึ้นมาทำเป็นตัวตั้งตัวตีจึงเกิดขึ้น โดยกลุ่มนักธุรกิจแนวหน้าในจังหวัดขอนแก่นประมาณ 20 บริษัทได้ร่วมกันลงขันและตั้งกองทุนเปิด บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด (Khon Kaen City Development Co.,LTD. หรือ Khon Kaen Think Tank (KKTT)) ซึ่งแม้จะเพิ่งก่อตั้งอย่างเป็นทางการกันมาในปี 2558 แต่ก็มีความพยายามที่จะพัฒนาเมืองขอนแก่นมาก่อนหน้านั้นแล้ว โดยเริ่มแรกได้มีการกำหนดวิสัยทัศน์ เสวนารับฟังความคิดเห็นจนจัดทำ ‘ขอนแก่นโมเดล’ ออกมาได้สำเร็จ ซึ่งมีความสอดคล้องกับแนวคิดสมาร์ทซิตี้ ผลักดันให้ขอนแก่นกลายเป็นเมืองที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนในจังหวัด เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม 

 

ทั้งนี้สิ่งที่ยากและต้องใช้เวลาในการดำเนินการอยู่นานมากคือการสร้างความร่วมมือระหว่างเอกชนและภาครัฐ ซึ่งความจริงแล้วแนวคิดการพัฒนาเมืองขอนแก่นซึ่งเป็นเมืองสำคัญใจกลางภาคตะวันออกเฉียงเหนือนี้ได้มีการนำเสนอมากับหลายรัฐบาลแล้ว แต่เพิ่งมาสำเร็จในยุคสมัยของรัฐบาล คสช. จนมีการดำเนินเรื่องให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ขอนแก่นสามารถพัฒนาตนเองได้ หลังจากนั้นจึงเป็นเรื่องของการนำเสนอผลการศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility Study) สร้างความเข้าใจกับกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฯลฯ เพื่อขอความอนุมัติและความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ต้องอาศัยทั้งพลังและกินเวลาอยู่ไม่น้อย อย่างไรก็ตาม จังหวัดขอนแก่นได้มีการตั้งคณะกรรมการและได้นำแผนสมาร์ทซิตี้ 2029 ขึ้นเป็น แผนยุทธศาสตร์จังหวัด ไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2561 แล้ว

 

(Photo Credit : https://www.khonkaenthinktank.com/news_view.php?id=70 )

 

ไม่ใช่แค่ Smart City แต่คือเครื่องมือแก้จน

เป้าหมายขอนแก่นโมเดลไม่ใช่แค่ฮาร์ดแวร์ หรือการติดตั้งอุปกรณ์อัจฉริยะที่ดูทันสมัยแต่ไม่ตอบโจทย์ชีวิตผู้คนภายในท้องถิ่น หากมีหัวใจหลักอยู่ด้วยกัน 3 ประการ คือต้องการ

  1. แก้ไขปัญหาความยากจน 
  2. แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ 
  3. สร้างความโปร่งใส 

 

ทั้งนี้เครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ทั้งสามสิ่งนี้เกิดขึ้นได้จริงนั้น มีกุญแจอยู่ที่การพัฒนาให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม ซึ่งจะดึงดูดทั้งการลงทุนและการพัฒนาเข้ามายังพื้นที่ 

 

129 โครงการ ใต้เสาทั้ง 7 ต้นของสมาร์ทซิตี้ 

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายหลักทั้งสาม การพัฒนาขอนแก่นให้เป็นสมาร์ทซิตี้ภายใต้ขอนแก่นโมเดล จึงมีโครงการที่แยกย่อยได้ถึง 129 โครงการ ภายใต้เสาทั้ง 7 ต้น ได้แก่  

 

(Photo Credit : https://www.khonkaenthinktank.com/upload/photo/web/Q8KH6mgn.jpg  )

 

 

  1. Smart Mobility เช่น รถรางขนส่งมวลชน 5 สาย, Smart City Bus รถประจำทางฟรี WiFi สามารถระบุพิกัดและเวลาในการให้บริการ, LRT โครงการขนส่งมวลชนรถไฟฟ้ารางเบา, Smart Loop ส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมโยงของระบบขนส่งรูปแบบต่างๆ, Complete Street ขนส่งมวลชนที่มีการจัดการทางกายภาพที่ดี, Automation and City Logistics, รถไฟฟ้าแบบแชร์ใช้ ฯลฯ 
  2. Smart Living เช่น Medical and Healthcare Application Services พัฒนาฮับการรักษาพยาบาลด้วย IoT นำร่องที่โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่นและโรงพยาบาลศรีนครินทร์, Safety Khon Kaen ใช้เทคโนโลยี IoT ในการจัดการเมืองและความปลอดภัย, สนับสนุน Creative District ใช้เทคโนโลยีส่งเสริมให้มีการแลกเลี่ยนความรู้ระหว่างนักคิดและผู้ประกอบการในพื้นที่, Universal Design ออกแบบอาคารพื้นที่ใช้สอย สิ่งอำนวยความสะดวกที่ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ ฯลฯ​
  3. Smart Citizen เช่น Stakeholder App สร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมของชุมชนผ่านระบบ IoT, Smart Education สร้างระบบนิเวศเพื่อการเรียนรู้ของประชาชน, Idea Bank and Co-working Space สร้างแหล่งการเรียนรู้ Creative Space ในระดับเมือง เพื่อให้เกิดแหล่งการเรียนรู้ ออกแบบ และสร้างสรรค์สำหรับทั้งเยาวชนและผู้ประกอบการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ฯลฯ 
  4. Smart Economy เช่น MICE City เมืองที่เป็นศูนย์กลางจัดประชุมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, Smart Farming เกษตรอัจฉริยะ, Transit Oriented Development (TOD) พัฒนาพื้นที่โดยรอบระบบขนส่งมวลชน, E-SAN Trading Center แหล่งรวบรวมธุรกรรมและสินค้าของภาคอีสาน การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการค้า ฯลฯ
  5. Smart Environment เช่น Urban Park System สร้างพื้นที่สีเขียวให้กับเมือง, Green Building ส่งเสริมการก่อสร้างอาคารสีเขียว, การจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง, ใช้เทคโนโลยี IoT ในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
  6. Smart Governance เช่น Open & Big Data ใช้ IoT ในการเปิดเผยข้อมูลของรัฐกับประชาชน, E-Government ใช้ IoT ในการบริการของรัฐทั้งภายในและระหว่างหน่วยงาน, Innovation and Digital Park สถาบันวิจัยและพัฒนาระดับโลก ส่งเสริมนักวิจัย ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ นักออกแบบ ตลอดจนชุมชน, สร้างนิติบุคคลมืออาชีพในการจัดการปัญหาของเมืองในรูปแบบบริษัทจำกัดขององค์กรปกครองท้องถิ่น ฯลฯ 
  7. Smart Energy เป็นอีกเสาที่แยกออกมาจาก Smart Environment อีกที เช่น พลังงานอัจฉริยะเพื่อเมืองอัจฉริยะ, Smart Grid System สร้างระบบพลังงานหมุนเวียนทดแทน, Electric Vehicle พาหนะพลังงานไฟฟ้า, ส่งเสริม Smart Building ที่ลดการใช้พลังงาน ฯลฯ​ 

 

(Photo Credit : https://www.khonkaenthinktank.com/project.php

 

รางสร้างเมือง-รางสร้างไทย

โครงการรางสร้างเมือง-รางสร้างไทย คือโครงการที่ออกแบบแผนธุรกิจด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานชุมชน กิจกรรมเชิงพาณิชย์ และพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกรอบพื้นที่สวนสาธารณะบึงแก่นนคร จำนวน 6 โครงการ เชื่อมต่อด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ‘รถแทรม’ ระยะทาง 4.4 กิโลเมตร โดยแทรมดังกล่าวได้รับมอบจากเมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำมาศึกษาและทดลองวิ่งเป็นระบบขนส่งสาธารณะรถไฟฟ้ารางเบา ใช้ขนาดราง 1.435 เมตร ระบบไฟฟ้าสายเหนือศีรษะ ใช้แรงดันไฟฟ้ากระแสตรง 600 โวลต์ มีขนาดยาว 12.48 เมตร กว้าง 2.47 เมตร สูง 4 เมตร รองรับผู้โดยสารสำหรับนั่ง 36 ที่ และมีความจุผู้โดยสารได้สูงสุด 80 คน จากนั้นจะมีการจัดทำรถแทรมต้นแบบขบวนใหม่ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ดังที่เพิ่งเปิดตัวไปแล้วในงานเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ ครั้งที่ 2 ซึ่งเพิ่งผ่านมา 

 

 

ล่าช้าหรือเปล่า ความคืบหน้า และจะเดินหน้าต่ออย่างไร 

ดังที่กล่าวและฉายภาพให้เห็นกันไปแล้วว่า ขอนแก่นสมาร์ทซิตี้และขอนแก่นโมเดลนั้นเป็นโครงการพัฒนาเมกะโปรเจ็กต์ขนาดมหึมา ซึ่งอยู่ในแผนแม่บทและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ต้องอาศัยความร่วมมือกันของหลายภาคส่วนทั้งจากภาครัฐ เอกชน และประชาคมภายในจังหวัด โดยเฉพาะการอนุมัติและการได้รับความร่วมมือจากส่วนราชการ ซึ่งเพียงแค่การตั้งวงเสวนารับฟังความคิดเห็นเพื่อให้เกิดวิสัยทัศน์ร่วมกัน ตลอดจนสร้างความเข้าใจจนได้รับการอนุมัติเป็นหนังสือราชการจาก ครม. และกระทรวงต่างๆ จนครบ ก็ต้องกินเวลาไปแล้วหลายปี ขั้นตอนในการเตรียมความพร้อมที่ยาวนานเช่นนี้ทำให้เราอาจได้ยินเสียงสะท้อนปรามาสประมาณว่า “พูดกันมาตั้งนานหลายปีแล้วก็ยังไม่เห็นขอนแก่นจะสมาร์ทสักที” หรือไม่ก็ “เป็นความพยายามในการปั่นราคาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดขอนแก่น” ไปเลยก็มีในประเด็นนี้ประธานกรรมการ บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด อย่างสุรเดช ได้ชี้แจงให้เราฟังว่าหากพิจารณาดูจากโครงการและเสาทั้ง 7 ต้นของการพัฒนาดังกล่าว ก็จะเห็นหลายสิ่งที่เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Smart City Bus ที่เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2560, ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ ขอนแก่น (Khonkaen International Convention & Exhibition Center) และการเกิดขึ้นของ บริษัท Khon Kaen Transit System Co.,LTD. (KKTS) บริษัทของเทศบาลนครขอนแก่นที่ดูแลโครงการขอนแก่น Smart City (ระยะที่ 1) ก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนระบบรางเบา สายเหนือ-ใต้ ต้นแบบในเมืองภูมิภาคจังหวัดขอนแก่น ซึ่งล่าสุดแว่วมาว่าได้ผ่านขั้นตอนสำคัญในการอนุมัติและการจัดการเตรียมการไปแล้ว ซึ่งถ้าหากไม่มีอะไรผิดแผนขึ้นมาอีก เราก็จะได้เห็นการก่อสร้างขึ้นภายในปี 2566 รวมถึงรถแทรมน้อยที่เพิ่งเผยต้นแบบในงานอีสานสร้างสรรค์, สถานีรถไฟทางคู่ลอยฟ้าที่พาดผ่านทั้งอำเภอเมืองและอำเภอบ้านไผ่, การเกิดขึ้นของพื้นที่สร้างสรรค์อย่างย่านศรีจันทร์และกังสดาล, ศูนย์การแพทย์ขนาด 5,000 เตียงที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการ ฯลฯ 

 

ก่อตั้ง Siam Metaverse และออกเหรียญ KGO

(Photo Credit : www.kgotoken.com )

 

ทำ Digital ให้เป็น Utility

ไม่เพียงแต่โครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพ ซึ่งจะเป็นการแก้จน สร้างรายได้ให้กับชาวขอนแก่นเท่านั้น แต่ KKTT ยังมองการณ์ไกลที่จะสร้าง Virtual Income ด้วยการใช้ประโยชน์จากบล็อกเชน และการสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อส่งเสริม Digital Economy ซึ่งได้แก่ 

  1. ก่อตั้ง Siam Metaverse บริษัทซึ่งเป็น Decentralized Autonomous Organization ภายใต้การดูแลของกลุ่มขอนแก่นพัฒนาเมือง (KKTT) ที่จะสร้างระบบนิเวศและโครงสร้างพื้นฐานบนโลกเสมือนจริง
  2. ทำ NFT คนจน เช่น การทำ NFT จากลายผ้าโดยศิลปินพื้นบ้าน 
  3. ออกเหรียญ KGO Digital Utility Token (Knowledge Governance Token) เหรียญดิจิทัลที่ได้รับการพัฒนาขึ้นโดยทีม Siam Metaverse ซึ่งชาวขอนแก่นและชุมชน รวมถึงบางจังหวัดอื่นเริ่มสามารถใช้ประโยชน์จากดิจิทัลโทเคนนี้ได้แล้ว 

 

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็ทำให้เราเริ่มมองเห็นถึงเค้าลางของ Khon Kaen Smart City ซึ่งได้ก่อตัวขึ้นมาให้เห็นบ้างแล้ว และเป็นที่น่าตื่นเต้นว่าในอนาคตถัดจากนี้อีก 1 ทศวรรษข้างหน้า เราจะได้เห็นขอนแก่นพัฒนามากขึ้นอีกขนาดไหน ซึ่งทั้งนี้ก็ไม่ควรเป็นการพัฒนาอย่างรวดเร็วจนเกินไป เพราะการพัฒนาที่ดีนั้นก็ไม่ควรที่จะทิ้งใครเอาไว้เบื้องหลัง

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X