×

สรุป Key Takeaways จากการประชุม Davos 2023 ภายใต้ธีม ‘ความร่วมมือในโลกที่แตกแยก’

21.01.2023
  • LOADING...

ปิดฉากลงไปแล้วสำหรับการประชุม World Economic Forum 2023 หรือ Davos 2023 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-20 มกราคมที่ผ่านมา ภายใต้ธีม ‘Cooperation in a Fragmented World’ หรือ ‘ความร่วมมือในโลกที่แตกแยก’

 

Davos ถือเป็นเวทีการประชุมใหญ่ที่ในแต่ละปีจะมีการเชิญบุคคลสำคัญจากหลากหลายสาขา ทั้งภาคธุรกิจ ภาครัฐ นักวิชาการ สื่อมวลชน และบุคคลที่มีชื่อเสียงชั้นนำของโลก มาร่วมแลกเปลี่ยนและนำเสนอแนวคิด รวมถึงสร้างความร่วมมือทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาระหว่างประเทศ เพื่อรองรับความท้าทายระดับโลก


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


สำหรับการประชุมในปีนี้ แม้ว่าผู้นำจากกลุ่มประเทศ G7 ส่วนใหญ่จะไม่ได้เข้าร่วมการประชุมด้วยตัวเอง แต่ก็ได้ส่งตัวแทนมาร่วมงานอย่างครบครัน นอกจากนี้ภายในงานดังกล่าวก็ยังมีผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรขนาดใหญ่ทั่วโลกอีกไม่น้อยกว่า 634 แห่ง ที่มาร่วมพูดคุยกันในประเด็นสำคัญต่างๆ ไล่มาตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี วิกฤตสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ ไปจนถึงปัญหาการสู้รบในยูเครน

 

ไฮไลต์สำคัญของการประชุม Davos 2023 มีอะไรบ้าง THE STANDARD WEALTH ได้รวบรวมเอาไว้ให้แล้วในบทความนี้

 

1. เศรษฐกิจ

 

การประชุมปีนี้มีการเปิดเผยผลสำรวจมุมมองต่อภาวะเศรษฐกิจโลกของนักเศรษฐศาสตร์จากหลากหลายสำนักทั่วโลก ซึ่งปรากฏว่า 2 ใน 3 ของนักเศรษฐศาสตร์ที่เข้าร่วมสำรวจมีมุมมองว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้

 

โดยตลอดการประชุมยังมีการพูดคุยถึงปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่สำคัญในปีนี้ เช่น แรงกดดันเงินเฟ้อโลกที่อาจกลับมาเพิ่มสูงขึ้นจากการเปิดประเทศของจีน การเพิ่มขึ้นของระดับหนี้ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงความท้าทายในการนำเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 2% ของกลุ่มประเทศตะวันตก

 

อย่างไรก็ดี ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่ยังมองว่าภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้จะออกมาดีกว่าที่หลายฝ่ายเคยกังวลกันในช่วงก่อนหน้านี้ เช่น Christine Lagarde ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ระบุว่า สิ่งต่างๆ ในตอนนี้ดูดีขึ้นกว่าที่เราเคยกลัวกัน ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของ Kristalina Georgieva ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่กล่าวว่า สถานการณ์ในปัจจุบันมีความเลวร้ายน้อยกว่าที่เธอเคยกลัว

 

Georgieva กล่าวในการประชุมว่า แม้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบันไม่ได้ดูดีมากนัก แต่ผู้นำจะต้องหลีกเลี่ยงการมองโลกในแง่ดีหรือแง่ร้ายมากเกินไป โดยเธอเรียกร้องให้ผู้นำยึดหลักการ ‘ปฏิบัติจริง ร่วมมือ ทำในสิ่งที่ถูกต้อง และรักษาเศรษฐกิจโลกให้เป็นหนึ่งเดียวเพื่อประโยชน์ของทุกคน’

 

2. ยูเครน

 

หนึ่งในปัญหาที่ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นหารือกันที่ Davos คือสถานการณ์ความขัดแย้งในยูเครน โดยกลุ่มชาติพันธมิตรได้มีการพูดคุยกันถึงความเป็นไปได้ที่จะยกระดับความช่วยเหลือยูเครนทั้งในด้านอาวุธและการเงิน ขณะที่กลุ่มประเทศที่อยู่นอกความขัดแย้งก็เรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายสามารถหาข้อตกลงบนโต๊ะเจรจากันให้ได้โดยเร็ว เนื่องจากกังวลว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก

 

โดยหนึ่งในไฮไลต์สำคัญคือคำกล่าวของ Jens Stoltenberg เลขาธิการ NATO ที่ระบุว่า “หากเราต้องการเจรจาหาทางออกอย่างสันติในวันพรุ่งนี้ เราต้องจัดหาอาวุธให้มากขึ้นในวันนี้”

 

ขณะที่ Tanja Fajon รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสโลวีเนีย กล่าวว่า เธอรู้สึกประหลาดใจหลังจากที่ฟังบรรดานักการเมืองพูดเกี่ยวกับปัญหายูเครน เพราะดูเหมือนว่าจะไม่มีใครรู้เลยว่าเรากำลังมุ่งหน้าไปในทิศทางใดและทางออกของปัญหาจะเป็นอย่างไร

 

3. การค้า

 

ในประเด็นการค้าโลก Ngozi Okonjo-Iweala ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO) ได้เตือนให้ระวังถึงกระแส Friendshoring หรือกลยุทธ์ทางการค้าที่เลือกทำธุรกรรมทางธุรกิจเฉพาะกับประเทศที่เป็นมิตรเท่านั้น ที่อาจจะมีภาพที่ชัดเจนขึ้นในปีนี้ จากการปรับนโยบายของสามชาติมหาอำนาจ ได้แก่ สหรัฐฯ ยุโรป และจีน โดยมองว่ากระแสดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานไปทั่วโลก ซึ่งจะกระทบต่อการจ้างงาน การย้ายฐานการผลิตในหลายประเทศ

 

Raghuram Rajan อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางอินเดีย ได้กล่าวในที่ประชุมว่า กระแสที่เกิดขึ้นเป็นเกมการแข่งขันของกลุ่มประเทศร่ำรวยที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศที่ยากจนกว่า ซึ่งมีช่องว่างทางการคลังจำกัดและอาจไม่พร้อมรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

 

4. สภาพภูมิอากาศ

 

ราคาน้ำมันในปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ในระดับสูง ทำให้บริษัทผู้ผลิตพลังงานฟอสซิลมีเม็ดเงินสำหรับลงทุนในธุรกิจพลังงานสีเขียวเพิ่มขึ้น แต่การให้คำมั่นสัญญาต่อสิ่งแวดล้อมของบรรดาซีอีโอบริษัทพลังงานฟอสซิลในการจัดหาเงินทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมยังไม่ได้เปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้นมากนัก

 

Greta Thunberg นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ได้เรียกร้องให้อุตสาหกรรมพลังงานให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดมากขึ้น ขณะที่ Keir Starmer นักการเมืองในสหราชอาณาจักร แสดงความไม่พอใจที่ยังมีการลงทุนใหม่ในธุรกิจน้ำมันอยู่

 

ด้าน John Kerry ทูตด้านสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ กล่าวว่า หนทางเดียวที่จะบรรลุเป้าหมายข้อตกลงปารีสได้คือต้องใส่เงินเข้าไปเพิ่มเท่านั้น

 

5. เทคโนโลยี

 

ในเชิงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีปีนี้ ซีอีโอของ Microsoft และอีกหลายบริษัทใน Silicon Valley ได้พูดถึงการเข้ามาของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์อย่าง ChatGPT ที่จะเข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงธุรกิจกับบริษัทของพวกเขา ขณะเดียวกัน ก็มีการพูดคุยกันถึงปรากฏการณ์การปรับลดจำนวนพนักงานครั้งใหญ่ของกลุ่มบริษัทเทคโนโลยี

 

“กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีกำลังเผชิญกับแรงกดดันด้านต้นทุนที่มหาศาล พวกเขาต้องหาทางรักษาประสิทธิภาพขององค์กรให้ได้เท่าเดิมโดยที่จ่ายน้อยลง” Alex Karp ซีอีโอของ Palantir Technologies กล่าว

 

6. จีน

 

Liu He รองนายกรัฐมนตรีของจีน ได้เข้าร่วมการประชุมพร้อมประกาศนโยบายการเปิดประเทศของจีนให้ทั่วโลกรับทราบ แม้การเปิดประเทศของจีนจะได้รับการตอบรับในเชิงบวก แต่เรื่องดังกล่าวก็สร้างความกังวลว่าอาจทำให้สถานการณ์เงินเฟ้อในโลกกลับมาเร่งตัวอีกครั้ง ขณะที่ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ก็ยังเป็นปัจจัยที่ทุกคนเฝ้าจับตา 

 

“เราคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนในปีนี้จะขยายตัวได้ 4.5% แต่คงไม่ใช่เรื่องแปลกหากตัวเลขจะออกมาสูงกว่านั้น” Axel Lehmann ประธานของ Credit Suisse ระบุระหว่างเข้าร่วมประชุม

 

7. กฎหมาย Inflation Reduction Act

 

Inflation Reduction Act หรือกฎหมายเพื่อปรับลดอัตราเงินเฟ้อ เป็นกฎหมายที่ใช้งบประมาณจำนวน 4.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงสุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ โดยมีเป้าหมายในการใช้นโยบายภาษีหลากหลายรูปแบบเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนและเพื่อช่วยลดอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในระยะยาว

 

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่ากฎหมายฉบับนี้จะส่งผลกระทบให้มีการโยกย้ายของธุรกิจในยุโรปไปยังสหรัฐฯ ให้กลุ่ม EU ได้มีการพูดคุยกันว่าจะให้ความช่วยเหลือกับภาคธุรกิจเพื่อป้องกันภาวะดังกล่าว

 

8. บริการทางการเงิน

 

สถาบันการเงินทั่วโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ความเสี่ยงเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่จะทำให้หน่วยงานกำกับต้องการให้สถาบันการเงินดูแลระดับเงินกองทุนให้อยู่ในระดับสูง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจทำให้มีบางแห่งที่ไม่สามารถทำกำไรได้

 

ขณะเดียวกัน สถาบันการเงินจะต้องเผชิญกับแรงกดดันด้านสิ่งแวดล้อมเร็ว ซึ่งจะต้องช่วยส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมสีเขียว รวมถึงปัญหาเชิงภูมิรัฐศาสตร์และความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในโลกไซเบอร์จะเพิ่มความซับซ้อนขึ้น

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X