มนุษย์เคยผ่อนคลายกว่านี้
แต่หลังจากยุคเกษตรกรรม เรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ เราไม่อาจเลี่ยงความเครียดได้เลย สิ่งเร้ามาทั้งในรูปแบบข่าวในทีวี โพสต์ในโซเชียลมีเดีย เศรษฐกิจ การเมือง ตลอดจนอากาศที่เราหายใจ
แต่เคยสงสัยไหมว่า แท้จริงแล้วความเครียดคืออะไรกันแน่ มันเป็นภัยต่อเราเสมอไปจริงหรือไม่ ที่สำคัญคือจะจัดการอย่างไรให้ใช้ชีวิตอยู่กับความเครียดได้?
🟡 ‘ความเครียด’ พลังวิเศษของมนุษยชาติ
แม้เครียดมากจะเป็นภัย แต่เราก็รอดตายได้เพราะความเครียด
ในยุคดึกดำบรรพ์ เมื่อมนุษย์ต้องเผชิญหน้าภัยอันตรายต่างๆ ระบบประสาทซิมพาเทติกจะทำงาน ทำให้เกิดปฏิกิริยา ‘สู้หรือหนี’ (fight or flight)
ฮอร์โมนความเครียด เช่น คอร์ติซอลและอะดรีนาลิน จะหลั่งออกมาเพื่อเพิ่มพลังงานและความตื่นตัว หัวใจจะเต้นเร็วขึ้น เลือดสูบฉีดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อมากขึ้น ร่างกายเตรียมพร้อมสำหรับการตอบสนองฉุกเฉิน เราจะวิ่งหนีอย่างรวดเร็ว หรือพร้อมต่อสู้เพื่อปกป้องตัวเอง ซึ่งช่วยให้มนุษย์ในสมัยนั้นสามารถเอาชนะสถานการณ์คับขันและส่งต่อพันธุกรรมมาถึงเราในปัจจุบัน
🟡 คนยุคใหม่ ไม่เคยหยุดเครียด
ความเครียดที่สัตว์หรือมนุษย์ยุคดึกดำบรรพ์เผชิญนั้นเกิดขึ้นเพียงไม่กี่นาทีหรืออย่างมากก็ไม่กี่ชั่วโมง หลังจากนั้นเหตุการณ์ก็จบลงและกลับสู่ภาวะปกติ
แต่หลังการปฏิวัติการเกษตร ชีวิตของมนุษย์ซับซ้อนมากขึ้น ฮอร์โมนความเครียดถูกกระตุ้นให้ทำงานอยู่ตลอด
สิ่งนี้ส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว ทั้งปัญหาสุขภาพกาย เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดสมอง และปัญหาสุขภาพจิต เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า หรืออ่อนเพลียเรื้อรัง
🟡 ปลุกความเป็น ‘นักวิ่งมาราธอน’ สู้เครียด
แม้ไร้เขี้ยวเล็บ แต่มนุษย์กลับพิเศษกว่าสัตว์อื่น
สัตว์อื่นๆ เมื่อวิ่งถึงจุดหนึ่ง ร่างกายจะร้อนจนไม่สามารถไปต่อได้ แต่มนุษย์มีกลไกการระบายความร้อนที่แตกต่างจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ คือ เหงื่อ ทำให้เราวิ่งหนีและไล่ล่าได้อึดกว่าใคร นั่นแปลว่ามนุษย์ทุกคนมีความเป็น ‘นักวิ่งมาราธอน’ อยู่ในตัว
การปลุกสัญชาตญาณนักวิ่งมาราธอนในตัวเราก็ คือ การออกกำลังกาย ใช้พลังงานอย่างสม่ำเสมอ
การออกกำลังกายช่วยปรับสมดุลของฮอร์โมนความเครียด การเคลื่อนไหวร่างกายยังช่วยให้เราปลดปล่อยพลังงานและความตึงเครียดที่สะสมอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังอายุ 35 ปี เมื่อเราออกกำลังกาย ร่างกายจะหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน ซึ่งเป็นสารแห่งความสุขที่ช่วยลดความเครียดและเพิ่มอารมณ์เชิงบวก
🟡 เปลี่ยนความเครียดเป็นความท้าทาย
การเปลี่ยนวิธีคิดก็ช่วยจัดการความเครียดได้ดีไม่แพ้กัน
หากเรามองสิ่งต่างๆ เป็น ‘ความกดดัน’ ร่างกายจะตอบสนองด้วยความกลัวและหลั่งฮอร์โมนความเครียดออกมาในปริมาณมาก แต่หากเราเปลี่ยนมุมมองเป็นการมองว่าเป็น ‘ความท้าทาย’ หรือ ‘โอกาสในการเติบโตและเรียนรู้’ ร่างกายจะตอบสนองต่างออกไปและไม่เกิดผลเสีย
มีงานวิจัยที่พบว่าเมื่อบุคคลมองความเครียดเป็นความท้าทาย ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนในปริมาณที่เหมาะสม หัวใจจะเต้นเร็วขึ้นแต่เส้นเลือดไม่หดตัว ทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น และสมองส่วนหน้าจะทำงานมากขึ้น ซึ่งช่วยในการวางแผนและแก้ปัญหา
🟡 เข้าใจว่า เราไม่ได้อยู่เพียงลำพัง
อารมณ์ด้านลบเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และเป็นสิ่งที่จัดการได้ สิ่งสำคัญคือการรู้จักฝึกสมาธิ การปล่อยวาง และสร้างทักษะในการจัดการอารมณ์ของตัวเอง
แต่บางครั้งความเครียดก็อาจจะมากเกินกว่าที่เราจะรับมือไหว ควรสังเกตสัญญาณที่บอกว่าเราควรพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อจัดการความเครียดอย่างจริงจัง เช่น
- รู้สึกเครียดมากจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
- มีอาการทางกายที่หาสาเหตุไม่ได้ เช่น ปวดหัวเรื้อรัง ปวดท้อง หรือนอนไม่หลับ
- รู้สึกหมดกำลังใจ ไม่มีความสุข หรืออยากแยกตัวออกจากสังคม
- มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างชัดเจน เช่น รับประทานอาหารมากเกินไปหรือน้อยเกินไป
- มีความคิดอยากทำร้ายตัวเอง
สิ่งสำคัญคือต้องเปลี่ยน Mindset ว่า ‘การขอความช่วยเหลือไม่ใช่ความอ่อนแอ’ การที่เรากล้าเผชิญหน้ากับปัญหาและแสวงหาทางออกต่างหากคือความเข้มแข็งที่แท้จริง การพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา จะช่วยให้คุณได้รับคำแนะนำที่เหมาะสมและเครื่องมือในการจัดการความเครียดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ชมคลิป : https://youtu.be/FV3HXsVXMnw