×

KEY SUCCESS: It’s OK to not be OK

17.07.2024
  • LOADING...

“ผมไม่อยากเห็นใครฆ่าตัวตายอีก”

 

เป็นคำกล่าวของนักกีฬาชั้นนำของโลกที่ยอมรับออกมาว่าตัวเขาเองแม้ว่าจะประสบความสำเร็จบนเวทีสูงสุดอย่างโอลิมปิกเกมส์ ด้วยสถิติเหรียญรางวัลมากที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่ก็ยังเคยมีความคิดที่จะยุติทุกอย่างลงด้วยการจบชีวิตตัวเองมาแล้ว

 

นักกีฬาคนนั้นคือ ไมเคิล เฟลป์ส นักกีฬาที่เป็นเหมือนกับสัญลักษณ์ความสำเร็จ ทั้งของทีมชาติสหรัฐอเมริกาและสำหรับมหกรรมกีฬาโอลิมปิก

 

เฟลป์สคว้าเหรียญทองโอลิมปิกมากที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ 23 เหรียญทอง และคว้าเหรียญรางวัลรวมกันมากที่สุดที่ 28 เหรียญ เมื่อใดก็ตามที่มีการกล่าวถึงชื่อของเขา สิ่งที่ตามมาคือการกล่าวยกย่องความเข้มแข็ง ความเด็ดเดี่ยว และความเป็นเบอร์หนึ่งของวงการว่ายน้ำ

 

แต่แล้ววันหนึ่งเขาก็ออกมายอมรับว่าภาพความสำเร็จที่เห็น กับความเป็นจริงที่เขาพบเจอ คือการเสียสละมากกว่าแค่ร่างกายและเวลาในการฝึกซ้อมมากกว่าคนอื่น แต่มันคือสุขภาพจิตใจที่ถูกหลายคนมองข้ามไป

 

“ผมรู้สึกว่าผมเป็นนักกีฬาว่ายน้ำแค่นั้นเองจริงๆ ไม่ใช่มนุษย์ ผมเลยตั้งคำถามกับตัวเองว่าแล้วทำไมผมไม่จบทุกอย่างลงตอนนี้เลย” เฟลป์สกล่าวผ่านสารคดี The Weight of Gold ที่เล่าถึงแง่มุมความเป็นมนุษย์ของนักกีฬาที่มักจะถูกมองว่าเป็นยอดมนุษย์

 

เขากล่าวแบบนั้นออกมาเพราะเขารู้สึกว่าเมื่อใดก็ตามที่การแข่งขันจบลง เขามักจะพบเจอกับความว่างเปล่า

 

“ผมพูดตรงๆ ได้เลยว่าเมื่อผมมองย้อนกลับไปในอาชีพของผม ผมไม่คิดว่าจะมีใครสนใจที่จะช่วยเราจริงๆ ผมไม่คิดว่าจะมีใครก้าวเข้ามาถามเราว่าโอเคไหม ตราบใดที่เรายังสามารถทำผลงานได้ดี ผมไม่คิดว่าสิ่งอื่นสำคัญสำหรับพวกเขา

 

“ช่วงเวลาที่ตกต่ำที่สุดคือหลังการแข่งขันโอลิมปิกปี 2012 ผมรู้สึกว่าผมไม่อยากที่จะอยู่ในกีฬานี้แล้ว ผมไม่อยากที่จะมีชีวิตอีกต่อไปแล้ว” ไมเคิลให้สัมภาษณ์ผ่าน CNN เมื่อปี 2018

 

“ผมใช้เวลา 3-5 วันในห้องนอน ไม่กิน ไม่นอน รู้สึกไม่อยากมีชีวิตอีกต่อไป”

 

สิ่งที่เฟลป์สต้องการจะบอกคือเมื่อเราเห็นนักกีฬาจากภายนอก จากสื่อต่างๆ ทั้งสื่อกีฬาหรือโฆษณา ที่ยกย่องให้พวกเขาเป็นยอดมนุษย์ที่ไม่มีวันแพ้ แต่เขาไม่ต้องการให้ทุกคนคิดแบบนั้น

 

เขาต้องการให้ทุกคนเห็นว่านักกีฬาก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่มีความรู้สึกที่หลากหลายไม่แพ้กับผู้คนทั่วไป

 

เสียงของเฟลป์สถูกสะท้อนให้ดังขึ้นอีกครั้งในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2021 เมื่อ ซิโมน ไบลส์ ยอดนักกีฬายิมนาสติกสหรัฐฯ ตัดสินใจที่จะไม่ลงแข่งขัน 4 จาก 6 ประเภท เนื่องจากเธอยอมรับว่าสภาพจิตใจไม่พร้อม และจะทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิด Twistie ที่เธอจะสูญเสียการควบคุมร่างกายระหว่างที่กระโดดอยู่ในอากาศ ซึ่งเป็นสิ่งที่เสี่ยงบาดเจ็บมากในกีฬายิมนาสติก

 

เช่นเดียวกับ นาโอมิ โอซากะ นักเทนนิสญี่ปุ่น ที่ตัดสินใจพักการแข่งขันเนื่องจากปัญหาสภาพจิตใจจากการรับมือกับสื่อมวลชนในห้องแถลงข่าว

 

แน่นอนทั้งสองคนโดนโจมตีจากหลายฝ่ายว่าเป็นภาพสะท้อนของผู้คนเจเนอเรชันใหม่ที่อ่อนแอ แตกต่างกับนักกีฬาในอดีตที่ไม่เคยออกมาพูดถึงเรื่องนี้มากเท่ากับพวกเธอ

 

แต่ในทางกลับกัน ยุคสมัยที่แตกต่างย่อมมีผลกระทบต่อสภาพจิตใจมากขึ้น เมื่อการสื่อสารเปิดกว้าง และนักกีฬาทุกคนมีโอกาสรับรู้ทุกคอมเมนต์ ทุกคำพูดที่ทั้งดีและไม่ดีต่อสภาพจิตใจ แน่นอนว่านักกีฬาในปัจจุบันมีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบต่อสภาพจิตใจที่สูงขึ้น

 

โดยผลสำรวจของคณะกรรมการโอลิมปิกสากลเมื่อปี 2021 พบว่า จากผลสำรวจกลุ่มนักกีฬามีจำนวนกว่า 30% ที่มีปัญหาสภาพจิตใจ

 

สิ่งที่เฟลป์ส, ไบลส์ และโอซากะ ทำคือการออกมาแสดงจุดยืนที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของวงการกีฬา ที่ต้องการจะบอกกับทุกคนว่าไม่ว่าคุณจะแข็งแกร่งหรือเข้มแข็งแค่ไหน คุณสามารถที่จะให้อภัยตัวเองในวันที่แพ้หรืออ่อนแอได้

 

“เราต้องให้ความรู้กับผู้คนว่าปัญหาสุขภาพจิตไม่ใช่ความอ่อนแอ” เคที อูห์เลนเดอร์ นักกีฬาสเกเลตันที่ผ่านโอลิมปิกมาแล้ว 4 สมัย และเป็นหนึ่งในผู้ที่เข้าร่วมสารคดี The Weight of Gold กล่าว

 

เฟลป์สยังได้เปิดเผยหลังช่วงที่เขาเกือบตัดสินใจจบชีวิตของตัวเองว่าเขาได้ตัดสินใจขอความช่วยเหลือ และเข้าใจถึงคำกล่าวที่ว่า ‘It’s OK to not be OK’

 

“มันเป็นรอยด่างที่เราต้องรับมือในทุกๆ วัน ผมคิดว่าตอนนี้ผู้คนเริ่มเข้าใจแล้วว่ามันเป็นความจริง คนที่เริ่มพูดคุยถึงมัน และผมคิดว่านี่เป็นหนทางเดียวที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

 

“นี่คือเหตุผลที่สถิติการฆ่าตัวตายสูงขึ้น เพราะหลายคนกลัวที่จะเปิดใจพูดคุยถึงปัญหา

 

“โมเมนต์เหล่านั้น ความรู้สึกเหล่านั้น สำหรับผมเป็นความรู้สึกที่ดีกว่าการคว้าเหรียญทองโอลิมปิกหลายเท่าตัว

 

“ผมรู้สึกขอบคุณที่ผมไม่ได้ตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X