×

3 ความสามารถหลักที่ผู้บริหารต้องมี เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กร

21.01.2025
  • LOADING...
ผู้บริหาร

เริ่มปีพุทธศักราช 2568 แน่นอนว่ายังคงเป็นปีที่เต็มไปด้วยความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงมากมายที่ธุรกิจทั่วโลกต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และแรงกดดันจากภายนอกอื่นๆ ดังนั้นความสามารถในการคิดค้นรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ จึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้บริหารองค์กรควรต้องมี ซึ่งในวันนี้ผมจะขอนำบทความของ strategy+business ภายใต้ชื่อ Kick-start your reinvention

 

โดย PwC นำเสนอความสามารถสำคัญ 3 ประการที่ผู้นำองค์กรและผู้บริหารระดับสูงของ C-Suite ควรต้องมีหากต้องการที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กร มาแลกเปลี่ยนกับคุณผู้อ่านดังต่อไปนี้

 

  1. พัฒนาทักษะในการมองเห็นแนวโน้มและปัจจัยกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงต่างๆ 

 

ผู้นำธุรกิจจำเป็นต้องตื่นตัวอยู่เสมอ เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่กำลังจะมาถึง ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือแม้กระทั่งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในมูลค่าของกิจการ และเปิดโอกาสให้กับคู่แข่งชิงความได้เปรียบในการแข่งขัน นอกจากนี้ผู้นำยังต้องพิจารณาถึงปัจจัยและแรงกดดันอื่นๆ ที่อาจส่งผลต่อตัวธุรกิจและอุตสาหกรรมของตน โดยจะต้องมองหาโอกาสใหม่ๆ ที่พวกเขาอาจไม่เคยคิดจะมองมาก่อนด้วย ทั้งนี้ ก้าวแรกของการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้ประสบความสำเร็จนั้นจะต้องอาศัยความเข้าใจในปัญหา ประสบการณ์ และความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้า รวมถึงปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของพวกเขา

 

  1. ก้าวข้ามแนวคิดและการทำงานแบบดั้งเดิมทั้งภายในและภายนอกองค์กร

 

ผู้นำองค์กรควรก้าวข้ามขอบเขตการทำงานแบบเดิมๆ โดยมองหาโอกาสหรือความร่วมมือกันในระบบนิเวศธุรกิจ เพื่อขยายขอบเขตของอุตสาหกรรม และเพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าและตลาดใหม่ๆ ไปจนถึงข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับลูกค้า ทักษะและความสามารถที่เสริมกันได้ โดยจากการศึกษาของ PwC พบว่า บริษัทที่มีผลการดำเนินงานยอดเยี่ยมมีแนวโน้มมากกว่าบริษัททั่วไปถึง 2 เท่าในการสร้างรายได้มากกว่า 60% จากระบบนิเวศธุรกิจ ทั้งนี้ ระบบนิเวศไม่เพียงเชื่อมโยงกับประสิทธิภาพที่ดีกว่าในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังจำเป็นสำหรับการเปลี่ยนแปลงองค์กรด้วย 

 

โดยบทความระบุว่า ระบบนิเวศจะกลายเป็นเวทีการแข่งขันหลักในเร็วๆ นี้ และจะเป็นมุมมองที่ซีอีโอจำเป็นต้องใช้ในการมองเห็นคุณค่าในอนาคต เช่น ธุรกิจจะได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงในแหล่งที่มาของมูลค่าได้อย่างไร หรือต้นทุนด้านไหนที่จะช่วยสร้างความแตกต่าง ในขณะที่ต้นทุนในด้านไหนที่ควรปรับลดลง ฯลฯ

 

  1. หลุดพ้นจากความเฉื่อยชา 

 

ยังคงมีซีอีโออีกหลายรายที่ยึดติดกับแนวปฏิบัติที่มีอยู่เดิม ซึ่งถือเป็นอุปสรรคในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เมื่อแรงกดดันจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้การยึดติดกับแนวคิดเก่าๆ โดยต่อต้านการเปลี่ยนแปลงองค์กร เช่น การขัดขวางการตั้งแผนกใหม่หรือสายความรับผิดชอบ หรือมองข้ามทักษะที่ใช้ปรับให้เข้ากับความต้องการในอนาคต ย่อมถือเป็นศัตรูตัวร้ายของธุรกิจ ดังนั้นผู้บริหารจึงควรพิจารณาการจัดสรรทรัพยากรที่มีความคล่องตัวมากขึ้นและควรประยุกต์ใช้แนวทางผลิตภัณฑ์ต้นแบบ หรือ Minimum Viable Product (MVP) เพื่อทดสอบตลาดก่อนออกผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ 

 

ทั้งนี้ ข้อมูลของ PwC แสดงให้เห็นว่า อัตราการจัดสรรทรัพยากรที่สูงขึ้นมีความสัมพันธ์กับทั้งอัตรากำไรที่สูงขึ้น (ยกเว้นในระดับที่สูงเกินไปของการจัดสรร) และระดับการเปลี่ยนแปลงที่มากขึ้น 

 

นอกจากนี้การลงทุนในโครงการ MVP จะช่วยลดอุปสรรคในการยอมรับ (Buy-in) ด้วยการสร้างโครงการนำร่องที่มีต้นทุนต่ำ (Low-Cost Pilot) ที่สามารถปรับเปลี่ยนและขยายขนาดได้ ซึ่งในหลายกรณียังสามารถสร้างรายได้สำหรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้อีกด้วย อย่างไรก็ดี การออกแบบโครงการต้นแบบ MVP ควรต้องประกอบไปด้วยองค์ประกอบขั้นต่ำที่จำเป็นในการทดสอบศักยภาพในการสร้างมูลค่าของรูปแบบธุรกิจใหม่

 

ผู้บริหาร

 

จากข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวไป เราจะเห็นได้ว่าแรงกดดันต่อซีอีโอในการเปลี่ยนแปลงธุรกิจเพื่อที่จะนำบริษัทเข้าสู่เส้นทางการเปลี่ยนแปลงไม่เคยรุนแรงเท่านี้มาก่อน ดังนั้นผู้บริหารจำเป็นที่จะต้องเพิ่มความสามารถในการมองเห็นภัยคุกคามและโอกาสใหม่ๆ รวมถึงทบทวนขอบเขตด้วยมุมมองที่มุ่งเน้นการร่วมมือและทำลายความเฉื่อยชาผ่านการเสริมสร้างความสามารถเหล่านี้ ที่จะช่วยให้การเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจและการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ประสบความสำเร็จและเป็นจริงได้ 

 

ภาพ: MoMo Productions / Getty Images 

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising