×

‘ยาบ้า 5 เม็ดไม่ใช่ 10 เม็ด’ ป.ป.ส.-ตร. เห็นตรงกันควรจัดให้เป็นผู้ค้า ตัดตอนพวกสวมรอยอ้างแค่เสพ

01.11.2023
  • LOADING...
Key Messages

จากกรณีที่มีข่าวปรากฏว่ากระทรวงสาธารณสุขเตรียมออกประกาศกำหนดให้ผู้ที่ถือครองยาบ้า (เมทแอมเฟตามีน) จำนวนต่ำกว่า 10 เม็ดนั้นให้ถือเป็นผู้เสพ ไม่ใช่ผู้ค้า โดยเป็นการอ้างอิงจากข้อมูลที่มีการระบุไว้ว่าผู้เสพจะใช้ยาบ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 10 เม็ด ซึ่งเทียบเท่าเสพสารบริสุทธิ์ปริมาณ 150 มิลลิกรัมต่อวันไม่มากเกินกว่านี้

 

ทีมข่าว THE STANDARD ได้ทำการรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากหน่วยงาน ซึ่งเป็นกรรมการในการหารือประเด็นดังกล่าวอีก 2 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมาย และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ในฐานะผู้บูรณาการการบังคับใช้กฎหมายควบคู่กับการฟื้นฟู

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

ในฝั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) รับผิดชอบงานป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำเข้าสู่คณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด เพื่อให้ความเห็นชอบและเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป 

 

“ยังไม่เป็นที่แน่ชัดเรื่องจำนวน แต่ในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อประโยชน์ในการขับเคลื่อนงานด้านการปราบปรามยาเสพติดให้เป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี เรื่องการลดปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดในชุมชน และตัดวงจรผู้ค้ารายย่อยให้หมดไป ก็เห็นควรกำหนดปริมาณยาเสพติดไว้ที่ 5 หน่วยการใช้ หรือ 5 เม็ดเท่านั้น” พล.ต.อ. กิตติ์รัฐกล่าว

 

ทั้งนี้ การกำหนดปริมาณยาเสพติดที่ 5 หน่วยการใช้ หรือ 5 เม็ด ได้ผ่านการหารือจากหน่วยที่เกี่ยวข้องในเวทีการประชุมศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศอ.ปส.ตร.) แล้ว โดยขณะนั้นมี พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานในการหารือ

 

โดยให้เหตุผลว่าเป็นปริมาณยาเสพติดที่ผู้ค้ารายย่อยไม่คุ้มค่าความเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดี หากกำหนดปริมาณยาเสพติดที่ 10 หน่วยการใช้ หรือ 10 เม็ด จะเป็นปริมาณที่ผู้ค้ารายย่อยนิยมจำหน่ายในชุมชน หากถูกจับกุมก็สามารถเลี่ยงการถูกดำเนินคดี โดยสมัครใจเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาได้ และจะทำให้เกิดปัญหาการแพร่ระบาดในชุมชน และเกิดผู้ค้ารายย่อยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งอนาคตผู้ค้ากลุ่มนี้จะพัฒนาไปเป็นผู้ค้ารายใหญ่ต่อไป

 

พล.ต.อ. กิตติ์รัฐกล่าวต่อว่า หากในอนาคตมีการเพิ่มเติมเกณฑ์การกำหนดปริมาณที่ใช้ครอบครองเพื่อเสพชัดเจนแล้ว ผลดีที่ตามมาคือจะช่วยให้การดำเนินการกับผู้ค้ารายย่อย และการคัดแยกผู้เสพเข้าสู่ระบบการบำบัดรักษามีความชัดเจนขึ้น หากคัดแยกผู้ค้ารายย่อยไปสู่ระบบการดำเนินคดีได้มาก และลดความต้องการซื้อจากผู้เสพในชุมชน จะช่วยลดปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดได้

 

เมื่อถามว่าในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะต้องปรับแนวทางเพื่อรับเกณฑ์ใหม่อย่างไรบ้าง พล.ต.อ. กิตติ์รัฐกล่าวว่า กรณีข้อหาครอบครองเพื่อเสพถือเป็นข้อหาใหม่ ยังไม่มีแนวทางปฏิบัติในเรื่องนี้มาก่อน หากมีกฎกระทรวงประกาศใช้จริง ก็เห็นควรให้ ตร. แจ้งให้ทุกหน่วยทราบเพื่อถือปฏิบัติตาม 

 

ซึ่งที่ผ่านมาตลอด 2 ปี การที่ไม่มีกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดที่มีไว้ในครอบครองเพื่อเสพอย่างชัดเจน ถือเป็นปัญหาอุปสรรคในการจับกุมผู้ลักลอบจำหน่ายยาเสพติด โดยผู้ที่ถูกจับกุมจะอาศัยช่องว่างนี้แอบอ้างว่าเป็นผู้เสพ ทำให้เจ้าหน้าที่เองต้องใช้ดุลพินิจในการแจ้งข้อหาหรือดำเนินคดี หรือต้องตรวจสอบพฤติการณ์คดีรายย่อยเพียงเพื่อทราบว่าเป็นผู้ค้าหรือผู้เสพ ทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพ

 

ด้านสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พล.ต.ท. ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนเลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ในที่ประชุมการที่ สธ. เสนอเกณฑ์การครอบครองยาบ้า 10 เม็ด ได้มีการนำเสนอเอกสารทางวิชาการของคณะแพทย์ ที่ระบุว่าการครอบครองเพียง 10 เม็ดให้จัดเป็นผู้เสพ เนื่องจากตามปกติแล้วผู้เสพยาบ้าจะใช้ยาอยู่ที่ 1-3 เม็ด การใช้ยาบ้าจำนวนต่ำกว่า 5 เม็ดผลที่เกิดขึ้นคือจะทำให้ผู้เสพมีอารมณ์ที่ดี สดชื่น มีแรงในการทำงานหนัก แต่ถ้าหากเสพเกินกว่า 5 เม็ดไปจนถึง 10 เม็ดผู้เสพจะมีอาการกระสับกระส่ายไม่สามารถควบคุมตนเองได้

 

ซึ่งกรณีที่มีการเสพมากกว่า 10 เม็ดจะมีผลถึงขั้นเสียชีวิต ฉะนั้นเมื่ออ้างอิงจากเอกสารดังกล่าวแล้ว จึงมีความเห็นว่าผู้เสพน่าจะมีการใช้งานอยู่ที่ 10 เม็ดไม่เกินนี้ หากเกินก็จะเป็นผู้ค้า

 

แต่ทั้งนี้ในมุมมองของผู้บังคับใช้กฎหมาย พล.ต.ท. ภาณุรัตน์ระบุว่า จากการทำหน้าที่ตำรวจมองว่าการจัดเกณฑ์ผู้ครอบครองเพื่อเสพจำนวน 10 เม็ด โทษที่ตามมาคือจะทำให้เกิดผู้ค้ารายย่อยมากขึ้น เพราะในการค้าแต่ละครั้งผู้ค้ารายย่อยจะไม่เกรงกลัวต่อการพกพายาบ้าเพราะสามารถพกพาได้ถึง 10 เม็ด ต่างจากเดิมที่การพกเกินกว่า 5 เม็ดก็ถือว่ามีโทษค้าแล้ว

 

พล.ต.ท. ภาณุรัตน์กล่าวต่อว่า ตนในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) มีหน้าที่ที่จะต้องบูรณาการการบำบัดฟื้นฟู คู่กับการบังคับใช้กฎหมายส่วนตัว ได้มีข้อเสนอว่าเกณฑ์การครอบครองควรจะอยู่ที่ 5 เม็ด ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติงานยึดหลักนี้มาตลอด และเกณฑ์นี้ในผู้ค้ารายย่อยเองก็จะมองว่าไม่คุ้มกับการที่พกพา 5 เม็ดแล้วถูกจับโทษหนัก ซึ่งที่ผ่านมาจากรายงานการจับกุมผู้ใช้สารเสพติด 100 คนจะแบ่งเป็นผู้ค้าจำนวน 12.5 คนเท่านั้น

 

ดังนั้นหากมีการปรับเกณฑ์การถือครองได้มากขึ้น จึงเป็นความเสี่ยงต่อการจะเพิ่มจำนวนผู้ค้ารายย่อย ทั้งนี้ ตนขอยืนยันว่าส่วนตัวได้พิจารณาเกณฑ์จำนวนยาบ้า 5 เม็ดจากหลายองค์ประกอบทั้งฝั่งของวิชาการทางแพทย์ ฝั่งผู้บังคับใช้กฎหมาย และอนาคตที่จะต้องบูรณาการทุกฝ่าย

 

อย่างไรก็ตามการเสนอความเห็นทั้งจากฝั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือแม้แต่กระทรวงสาธารณสุขที่เป็นผู้เปิดประเด็น ยังอยู่ในขั้นของการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเท่านั้น ยังไม่ได้เป็นข้อสรุปที่ชัดเจน ซึ่งลำดับต่อไปในช่วงวันที่ 18-20 ธันวาคม 2566 นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานในการประชุมเพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจนในเรื่องดังกล่าวต่อไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising