×

WHO ประกาศฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ส่งผลต่อไทยอย่างไรบ้าง

25.07.2022
  • LOADING...
ฝีดาษลิง

“เราพบการระบาดที่แพร่กระจายทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ผ่านกลไกการแพร่เชื้อใหม่ที่เรายังเข้าใจน้อยเกินไป และเข้าเกณฑ์ตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ” เป็นเหตุผลโดยสรุปในการประกาศให้ ‘ฝีดาษลิง’ เป็น ‘ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ’ ซึ่ง ดร.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก เพิ่งแถลงข่าวเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (23 กรกฎาคม)

 

ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขฯ สำคัญอย่างไร หลังจากประกาศจะส่งผลอะไรบ้าง และประเทศไทยจะต้องปรับมาตรการควบคุมและป้องกันโรคเพิ่มเติมหรือไม่

 

ภาวะฉุกเฉินฯ คืออะไร

ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern: PHEIC) แปลตรงตัวคือ เหตุการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่มีความเสี่ยงระหว่างประเทศ เช่น การระบาดข้ามประเทศ และตามนิยามขององค์การอนามัยโลก (WHO) ขยายความว่า ‘ต้องอาศัยความร่วมมือจากนานาประเทศในการรับมือกับเหตุการณ์นั้น’

 

เกณฑ์ในการพิจารณาว่าโรค / ภัยสุขภาพเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศหรือไม่ ประกอบด้วย 3 ข้อ คือ

 

  • เป็นเหตุการณ์รุนแรง ฉับพลัน ผิดปกติ หรือไม่คาดคิดมาก่อน
  • มีผลกระทบด้านสาธารณสุขข้ามพรมแดนของประเทศ
  • อาจต้องอาศัยการดำเนินการระหว่างประเทศทันที

 

ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกจะเป็นผู้ประกาศภาวะนี้ตามคำแนะนำของคณะกรรมการภาวะฉุกเฉิน (Emergency Committee) ภายใต้กฎอนามัยระหว่างประเทศ (International Health Regulations: IHR) ค.ศ. 2005 โดยที่ผ่านมามีการประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศจำนวน 6 เหตุการณ์ ได้แก่

 

  • ไข้หวัดใหญ่ H1N1 ปี 2009
  • อีโบลา ที่แอฟริกาตะวันตก ปี 2013-2015 และที่ดีอาร์คองโก ปี 2018-2020
  • โปลิโอ ปี 2014 ถึงปัจจุบัน
  • ไข้ซิกา ปี 2016
  • โควิด ปี 2020 ถึงปัจจุบัน

 

ล่าสุดวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา WHO เพิ่งประกาศให้ ‘ฝีดาษลิง’ เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ จึงนับเป็นเหตุการณ์ที่ 7 ตั้งแต่ประกาศใช้ IHR ฉบับปัจจุบัน และเป็น 1 ใน 3 เหตุการณ์ที่ยังมีสถานะเป็นภาวะฉุกเฉินฯ อยู่ 

 

ทั้งนี้ เจตนารมณ์ของ IHR คือ ป้องกันและควบคุมโรคไม่ให้แพร่กระจายข้ามประเทศ โดยมีผลกระทบต่อการเดินทางและการค้าขายระหว่างประเทศให้น้อยที่สุด (กรณีโควิด WHO จึงไม่แนะนำให้จำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ทว่าการระบาดรุนแรงจนแต่ละประเทศกำหนดเงื่อนไขการเดินทางเข้าประเทศเอง) และไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล / อธิปไตยของแต่ละประเทศ

 

คำแนะนำภาวะฉุกเฉินฯ ของ WHO

กรณีฝีดาษลิงเป็นครั้งแรกที่ผู้อำนวยใหญ่องค์การอนามัยโลกตัดสินใจประกาศภาวะฉุกเฉินฯ ด้วยตนเอง ในขณะที่คณะกรรมการภาวะฉุกเฉิน ซึ่งประชุมหารือกันเป็นครั้งที่ 2 (ครั้งแรกเมื่อปลายเดือนมิถุนายน) มีมติ 8 ต่อ 6 เสียงว่าไม่จำเป็นต้องประกาศภาวะนี้ โดยในการแถลงข่าวกับสื่อมวลชน ดร.ทีโดรส กล่าวว่าได้พิจารณาจากองค์ประกอบ 5 ข้อ ได้แก่

 

  1. ข้อมูลจากประเทศต่างๆ พบว่าไวรัสแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในหลายประเทศอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
  2. เข้าเกณฑ์การประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ 3 ข้อ
  3. คำแนะนำจากคณะกรรมการภาวะฉุกเฉิน ซึ่งยังไม่บรรลุฉันทามติ
  4. หลักการทางวิทยาศาสตร์ หลักฐาน และข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัจจุบันยังไม่เข้าใจไวรัสนี้เพียงพอ
  5. ความเสี่ยงต่อสุขภาพ การระบาดข้ามประเทศ และการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ

 

ปัจจุบันพบผู้ป่วยฝีดาษลิงมากกว่า 16,000 ราย จาก 75 ประเทศ และเสียชีวิต 5 ราย WHO ประเมินความเสี่ยงของฝีดาษลิงว่าอยู่ในระดับ ‘ปานกลาง’ ทั่วโลกและทุกภูมิภาค ยกเว้นในยุโรปที่อยู่ในระดับ ‘สูง’ และมีความเสี่ยงชัดเจนในการระบาดข้ามประเทศ แม้ว่าขณะนี้ความเสี่ยงในการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศจะอยู่ในระดับ ‘ต่ำ’ 

 

ดร.ทีโดรส แบ่งประเทศออกเป็น 4 กลุ่ม โดยแต่ละประเทศอาจจัดอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือหลายกลุ่มก็ได้ ดังนี้

 

  • กลุ่มที่ 1 ประเทศที่ยังไม่มีรายงานผู้ป่วย หรือไม่มีรายงานมากกว่า 21 วัน
  • กลุ่มที่ 2 ประเทศที่พบผู้ป่วยนำเข้า (Imported Case) หรือพบการระบาดจากคนสู่คน 
  • กลุ่มที่ 3 ประเทศที่พบการระบาดจากสัตว์สู่คน
  • กลุ่มที่ 4 ประเทศที่มีศักยภาพในการวินิจฉัยโรค วัคซีน และยารักษา 

 

ขณะนี้ไทยจัดอยู่ในกลุ่มที่ 2 ซึ่ง WHO แนะนำมาตรการที่สำคัญ ได้แก่

 

  • การรับมือที่ต้องประสานงานกัน โดยมีเป้าหมายในการหยุดการแพร่เชื้อจากคนสู่คน โดยเฉพาะ ‘กลุ่มเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อ’ ซึ่งอาจแตกต่างกันตามบริบท และรวมถึงกลุ่มเกย์ ไบเซ็กชวล และชายรักชายอื่นๆ และปกป้อง ‘กลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรง’ ได้แก่ ผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เด็ก และหญิงตั้งครรภ์ 
  • การมีส่วนร่วมและปกป้องชุมชนที่ได้รับผลกระทบ
  • การเฝ้าระวังและมาตรการด้านสาธารณสุข
  • การดูแลผู้ป่วย และการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลและคลินิก
  • การวิจัยวัคซีน ยารักษา และเครื่องมืออื่นๆ
  • การเดินทางระหว่างประเทศ ไม่แนะนำให้จำกัดการเดินทางในคนทั่วไป ยกเว้นกลุ่มที่มีอาการตามนิยามของหน่วยงานด้านสาธารณสุข และผู้สัมผัสใกล้ชิด

 

“การตีตราและการเลือกปฏิบัติอาจเป็นอันตรายเทียบเท่าไวรัส” ดร.ทีโดรส กล่าวถึงกลุ่มเสี่ยงในตอนท้ายว่า “ทุกประเทศควรทำงานอย่างใกล้ชิดกับชุมชนชายรักชาย เพื่อออกแบบการสื่อสารและการให้บริการอย่างมีประสิทธิผล รวมถึงการดำเนินมาตรการเพื่อปกป้องสุขภาพ เคารพสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีของชุมชนที่ได้รับผลกระทบ”

 

ดังนั้น การประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศจึงเป็นการส่งสัญญาณในระดับนานาชาติให้แต่ละประเทศเตรียมรับมือกับฝีดาษลิง ซึ่งต้องมีการลงทุนทรัพยากรที่จำเป็นในการควบคุมโรค การสนับสนุนด้านงบประมาณจากประเทศต่างๆ รวมถึงการแบ่งปันวัคซีน ยารักษา และเครื่องมื่ออื่นๆ เพื่อควบคุมการระบาด 

 

ฝีดาษลิงจะเป็น ‘โรคติดต่ออันตราย’ หรือไม่

ภายหลัง WHO ประกาศให้ฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินฯ อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เรียกประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวานนี้ (24 กรกฎาคม) เพื่อเตรียมแนวทางรองรับสถานการณ์ ทั้งด้านการเฝ้าระวัง การป้องกันและการดูแลรักษา ผลการประชุมมีข้อสรุปดังนี้

 

  • ยกระดับศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) จากระดับกรมควบคุมโรค เป็นระดับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะทำให้ปลัดกระทรวงสามารถสั่งการได้ทั่วประเทศ
  • สามารถนำวัคซีนโรคฝีดาษคนมาใช้ได้หากมีความจำเป็น โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์นำวัคซีนที่องค์การเภสัชกรรมเก็บรักษาไว้ตามมาตรฐานเมื่อ 40 ปีก่อนมาทดสอบ พบว่ายังมีคุณภาพดี
  • โรงพยาบาลทุกแห่งสามารถรักษาผู้ป่วยได้ เพราะส่วนใหญ่ผู้ป่วยหายได้เอง จึงใช้การรักษาตามอาการ และไม่จำเป็นต้องให้ผู้ป่วยอยู่ในห้องความดันลบ
  • วันนี้ (25 กรกฎาคม) จะมีการประชุมคณะกรรมการวิชาการ หารือในรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก รวมถึงการพิจารณาว่าจะยกระดับเป็น ‘โรคติดต่ออันตราย’ หรือไม่

 

ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 แบ่งโรคติดต่อออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 

 

  • โรคติดต่ออันตราย หมายถึง โรคติดต่อที่มีความรุนแรงสูงและสามารถแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็ว
  • โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง หมายถึง โรคติดต่อที่ต้องมีการติดตาม ตรวจสอบ หรือจัดเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง
  • โรคระบาด หมายถึง โรคติดต่อหรือโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคแน่ชัด ซึ่งอาจแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง หรือมีภาวะของการเกิดโรคมากผิดปกติกว่าที่เคยเป็นมา

 

ตั้งแต่วันที่ 8 กรกฏาคมเป็นต้นมา ฝีดาษลิงจัดเป็น ‘โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง’ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ซึ่งในด้านการเฝ้าระวังและควบคุมโรคจะมีความแตกต่างจาก ‘โรคติดต่ออันตราย’ คือ ไม่มีความเร่งด่วนในการแจ้งหน่วยงานด้านสาธารณสุข (แจ้งภายใน 7 วัน แต่โรคติดต่ออันตรายต้องแจ้งภายใน 3 ชั่วโมง) และไม่มีอำนาจในการแยกกักผู้ป่วย / การกักกันผู้สัมผัส / การปิดสถานที่ตามกฎหมาย

 

ส่วนเกณฑ์ในการพิจารณาว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือไม่ ตามนิยามจะต้องเป็นโรคที่มีความรุนแรงสูงและติดต่อได้ง่าย ข้อมูลจากประเทศไนจีเรียระหว่างเดือนกันยายน 2017 – 10 กรกฎาคม 2022 พบผู้ป่วยประมาณ 800 รายมีอัตราป่วยตาย 3% (สูงกว่าโควิดในปัจจุบัน) ส่วนการระบาดนอกทวีปแอฟริกายังไม่พบผู้เสียชีวิต (ผู้เสียชีวิต 5 รายข้างต้นอยู่ในไนจีเรีย 3 ราย และแอฟริกากลาง 2 ราย)

 

ค่าการระบาด (R) ของฝีดาษลิงในขณะนี้มีค่าสูงกว่า 1 ในกลุ่มชายรักชาย เช่น ในสเปนเท่ากับ 1.8 ในสหราชอาณาจักรเท่ากับ 1.6 และในโปรตุเกสเท่ากับ 1.4 นั่นคือ ผู้ป่วย 1 รายสามารถแพร่เชื้อต่อได้ 1-2 คน และมีค่าใกล้เคียงกับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 (ประมาณ 1.5) แต่ในคนทั่วไปมีค่าต่ำกว่า 1 ซึ่งหากปล่อยให้มีการระบาดต่อไปก็อาจพบการระบาดในคนทั่วไปได้

 

นอกจากนี้ โรคติดต่ออันตรายยังอาจพิจารณาเรื่องยารักษาและวัคซีนด้วย ปัจจุบันยังไม่มียารักษาเฉพาะ แต่อาจนำยาต้านไวรัส Tecovirimat (TPOXX) ที่ใช้รักษาฝีดาษคนมาใช้แทนได้ในกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรง แต่ยานี้ยังไม่มีในประเทศไทย ส่วนวัคซีนที่จำเพาะกับฝีดาษลิงมี 2 ยี่ห้อคือ JYNNEOS (Imvamune หรือ Imvanex) และ ACAM2000 แต่ทั้งคู่ยังมีปริมาณจำกัด แม้กระทั่งในสหรัฐอเมริกา

 

โดยสรุป WHO ประกาศให้ฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินฯ เพื่อให้ทุกประเทศเตรียมความพร้อมรับมือการระบาด และจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศในการควบคุมโรค ไทยเป็นกลุ่มประเทศที่พบผู้ป่วยแล้ว จะต้องดำเนินมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเข้มข้น สำหรับการเดินทางระหว่างประเทศ WHO แนะนำให้จำกัดเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการตามนิยามและผู้สัมผัสเท่านั้น ถึงแม้ความรุนแรงจะต่ำ การแพร่เชื้อในคนทั่วไปไม่ง่าย แต่ในกลุ่มเสี่ยงมีโอกาสง่ายมาก ปัจจุบันโรคนี้ยังไม่มียารักษาเฉพาะ ส่วนวัคซีนยังไม่เพียงพอ การเตรียมความพร้อมสำหรับกรณีที่เลวร้ายที่สุดจำเป็นต้องทำ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising