แม้เกมจะจบลงไปหลายวันแล้ว แต่ประเด็นในสนามระหว่างทีมงานผู้ตัดสินและลิเวอร์พูล ยังเป็นประเด็นให้สื่อและแฟนบอลติดตามอย่างต่อเนื่อง
เมื่อล่าสุด (4 ตุลาคม) สมาคมผู้ตัดสินฟุตบอลอาชีพของอังกฤษ (PGMOL) เปิดเผยบทสนทนาของทีมผู้ตัดสินในสนามกับทีมงานในห้อง VAR จากจังหวะตัดสินใจให้ลูกยิงของ หลุยส์ ดิอาซ เป็นช็อตล้ำหน้า ซึ่งในรายละเอียดของบทสนทนาตั้งแต่เริ่มจนจบมีดังนี้
VAR: มีความเป็นไปได้ที่ดิอาซจะล้ำหน้า
ผู้ช่วยผู้ตัดสินที่ 1: กลับมาที่จังหวะล้ำหน้าก่อน
VAR: ขอเช็กล้ำหน้าก่อน รอก่อน รอก่อน
จากนั้นทีม VAR ที่ศูนย์สตอกลีย์พาร์ก ได้แก่ ดาร์เรน อิงแลนด์ ผู้ตัดสิน VAR และผู้ช่วย แดน คุก รวมถึงผู้ควบคุมภาพรีเพลย์ทำการเล่นภาพจังหวะดังกล่าวซ้ำๆ โดยเริ่มจากดิอาซจับบอล และช่วงเวลาที่ซาลาห์ออกบอล
VAR: ขอภาพจังหวะปล่อยบอล จัดมา ขอภาพจังหวะปล่อยบอลด้วย
ผู้ตัดสิน: ได้ ไม่ต้องกังวล
ผู้ควบคุมภาพรีเพลย์: เอาละ ได้ภาพแล้ว
ผู้ตัดสิน: รอก่อนนะ โอเค
ผู้ควบคุมภาพรีเพลย์: ขอภาพมุมแคบ
VAR: ใช่ แล้วขอตีเส้น 2 มิติให้พร้อมหลังเฟรมนี้ หรือสองเฟรมจากนั้น
ผู้ควบคุมภาพรีเพลย์: เฟรมสองไปหรือยัง?
VAR: นั่นแหละ สมบูรณ์แบบ เส้น 2 มิติที่เท้าซ้าย
ผู้ควบคุมภาพรีเพลย์: ขอผมเปลี่ยนมุมหน่อย
VAR: โรเมโร ผมคิดว่าน่าจะมุมนี้?
ผู้ควบคุมภาพรีเพลย์: ผมคิดว่ามุมนี้น่าจะดีกว่านี้ใช่ไหม มุมนี้ได้ไหม?
VAR: ได้
ผู้ควบคุมจังหวะรีเพลย์: ลากเส้น 2 มิติตรงรองเท้า โอเคถูกต้อง
VAR: เอาละ หยุดภาพ
เมื่อมาถึงจุดนี้ VAR อิงแลนด์แจ้ง ไซมอน ฮูเปอร์ ผู้ตัดสินในสนามว่าการตรวจสอบเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งในความหมายคือการตัดสินว่าลูกยิงนี้เป็นลูกล้ำหน้านั้นถูกต้องแล้ว และเกมควรดำเนินต่อไปด้วยการเล่นลูกฟรีคิกของสเปอร์ส
VAR: การตรวจสอบเสร็จสมบูรณ์ ไม่เป็นไร สมบูรณ์แบบ (ภาพแสดงให้เห็นดิอาซไม่ได้ล้ำหน้าชัดเจน) เรียบร้อย
ผู้ตัดสิน: เยี่ยมมาก
VAR: ขอบคุณ
ผู้ตัดสิน: ทำได้ดีมากทุกคน ทำงานได้ดีมาก
หลังจากนั้นฮูเปอร์ได้สั่งให้เริ่มเกมใหม่ หลังจากอธิบายให้ผู้เล่นเห็นว่าลูกยิงประตูของดิอาซ ทาง VAR ยืนยันว่าเป็นลูกล้ำหน้า
แต่ตอนนั้นเองที่ทีม VAR เริ่มกลับมาตระหนักได้ว่า ได้เกิดความผิดพลาดขึ้นแล้ว โดยผู้ควบคุมภาพรีเพลย์ได้แจ้งอิงแลนด์ ผู้ตัดสิน VAR ว่าจังหวะนั้นดิอาซถูกจับล้ำหน้า ก่อนที่คุก ผู้ช่วยจะยืนยันว่ามีการตัดสินผิดพลาดเกิดขึ้น
ผู้ควบคุมภาพรีเพลย์: เดี๋ยวๆ รอก่อน การตัดสินในสนามบอกเป็นการล้ำหน้า คุณโอเคที่จะให้เป็นแบบนี้เหรอ?
ผู้ช่วย VAR: ใช่
ผู้ควบคุมภาพรีเพลย์: คุณโอเคกับเรื่องนี้?
ผู้ช่วย VAR: ประตูนั้นล้ำหน้า นั่นมันผิดนะดาซ (ชื่อเล่นของดาร์เรน อิงแลนด์)
VAR: อะไรนะ?
ผู้ควบคุมภาพรีเพลย์: การตัดสินในสนามบอกว่าล้ำหน้า คุณพอใจกับภาพนี้หรือเปล่า? เขา (ดิอาซ) ไม่ได้ล้ำหน้านะ ภาพที่เราแสดงให้พวกเขาคือลูกนี้ไม่ล้ำหน้านะ
ผู้ช่วย VAR: พวกเขาเล่นกันแล้ว เขาล้ำหน้าไปแล้ว
VAR: โอ้ (คำสบถที่ไม่สามารถออกอากาศได้)
เมื่อถึงตรงนี้ทีมงานผู้ตัดสินตระหนักแล้วว่ามีความผิดพลาดร้ายแรงเกิดขึ้น ทางด้าน โอลี โคเฮาท์ ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการของศูนย์ VAR ซึ่งอยู่คนละห้องกับทีม VAR แจ้งว่าควรชะลอเกมก่อน เพื่อแก้ไขคำตัดสิน
ผู้ควบคุมภาพรีเพลย์: รอก่อนๆ โอลีบอกว่าให้หยุดเกม เขาบอกให้รอก่อนๆ
VAR: ขอโทษที พูดว่าอะไรนะ
ผู้ควบคุมภาพรีเพลย์: โอลีแจ้งเข้ามาบอกว่าให้หยุดเกม การตัดสินจังหวะนี้คือไม่ล้ำหน้า
VAR: ทำอะไรไม่ได้แล้วๆ
ผู้ควบคุมภาพรีเพลย์: โอลีบอกว่าให้ชะลอเกมก่อนๆ
VAR: โอลี?
ผู้ตัดสินที่ 4 (ซึ่งยืนข้างสนาม): ใช่
ผู้ควบคุมภาพรีเพลย์: ชะลอเกม ต้องชะลอเกมใช่ไหม? สั่งหยุดเกมสิ
VAR: พวกเขาเริ่มเล่นใหม่แล้ว เราทำอะไรไม่ได้แล้ว ทำอะไรไม่ได้แล้ว
ผู้ช่วย VAR: ใช่ พวกเขาเล่นต่อไปแล้ว
VAR: ทำอะไรไม่ได้แล้ว
ผู้ช่วย VAR: ไม่
VAR: ผมทำอะไรไม่ได้แล้ว ผมไม่สามารถทำอะไรได้
VAR: (สบถอย่างรุนแรง)
จากนั้นเกมยังคงดำเนินต่อไปด้วยการทุ่มบอลของลิเวอร์พูล และอีก 2 นาทีต่อมา ซนฮึงมิน ก็มายิงให้สเปอร์สขึ้นนำ
ขณะที่ลิเวอร์พูลตอบโต้ด้วยการยิงประตูตีเสมอในช่วงทดเวลาบาดเจ็บครึ่งแรกจาก โคดี กักโป ก่อนที่ทีมเยือนซึ่งเหลือผู้เล่น 9 คนในช่วงหลังมาแพ้เมื่อ โจเอล มาติป ทำเข้าประตูตัวเองในช่วงทดเวลาบาดเจ็บ และส่งให้สเปอร์สกลายเป็นผู้ชนะในเกมนี้ ด้วยสกอร์ 2-1
⚽📢 เหตุที่ทำให้เกิดการเปิดเผยการบันทึกเสียงของ VAR
สำหรับการเปิดเผยการบันทึกเสียงสนทนาระหว่างการทำหน้าที่ตัดสินเกมของผู้ตัดสิน VAR ครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการลุกขึ้นต่อสู้ของลิเวอร์พูล ซึ่งเสียผลประโยชน์จากการตัดสินที่ผิดพลาด
โดยลิเวอร์พูลได้กล่าวประณามว่า เกิดการบ่อนทำลายหลักการที่ยึดมั่นในความถูกต้องของเกมกีฬา พร้อมยืนยันว่าจะ ‘หาหนทาง’ ในการต่อสู้ในเรื่องนี้ ซึ่งหนึ่งในทางที่เลือกคือการขอเปิดเผยไฟล์เสียงบทสนทนาของผู้ตัดสิน VAR ที่ทำหน้าที่ในเกมดังกล่าว
ไม่นับเรื่องที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ดาร์เรน อิงแลนด์ และ แดน คุก ที่ทำหน้าที่ในห้อง VAR ได้รับอนุญาตจากสมาคมฟุตบอลอังกฤษ (FA) ให้เดินทางไปทำหน้าที่ตัดสินเกมฟุตบอลที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ก่อนหน้าจะลงทำหน้าที่ในเกมพรีเมียร์ลีกแค่ 48 ชั่วโมง
มันเหมาะสมหรือไม่ที่ให้ผู้ตัดสินเดินทางไป ‘รับจ๊อบ’ ไกลขนาดนั้น? ซ้ำยังเป็นประเทศที่มีความเชื่อมโยงกับสโมสรในพรีเมียร์ลีกด้วย
ทั้งหมดนี้ทำให้ PGMOL ซึ่งก่อนหน้านั้นได้ออกแถลงว่า การตัดสินนั้น “เป็นความผิดพลาดของบุคคล” จึงต้องยอมจำนนในการยอมมอบไฟล์เสียงบทสนทนานี้ให้กับลิเวอร์พูล ก่อนจะมีการเผยแพร่ต่อสาธารณะผ่านพรีเมียร์ลีก
นี่ถือเป็นครั้งแรกที่ PGMOL องค์กรที่ทำหน้าที่ดูแลการตัดสินของฟุตบอลอังกฤษยอมเปิดเผยหลังเกิดความผิดพลาดและความขัดแย้ง
ก่อนหน้านี้ PGMOL ซึ่งปัจจุบันมี ฮาเวิร์ด เว็บบ์ อดีตผู้ตัดสินชื่อดังนั่งแท่นเป็นผู้นำอยู่ พยายามสร้างความกระจ่างเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของผู้ตัดสิน VAR โดยมีการนำการตัดสินของ VAR ทั้งที่ถูกต้องและผิดพลาดมาออกอากาศในรายการใหม่ Mic’d Up ทางสถานี Sky Sports เพื่อให้เห็นการทำหน้าที่ของผู้ตัดสิน
แต่ในรายการก็เป็นเพียงแค่กรณีตัวอย่างที่เลือกมาออกรายการเท่านั้น ซึ่งหมายถึง PGMOL รวมถึงพรีเมียร์ลีกและสมาคมฟุตบอลอังกฤษ (FA) มีสิทธิในการคัดกรองก่อนว่าจะนำเสนอกรณีใด
⚽📢 ถอดบทเรียนจากความผิดพลาด
สิ่งที่ดีที่สุดในเรื่องนี้คือการที่ PGMOL หลุดพ้นคำครหาว่า ‘มีนอกมีใน’ หรือไม่ในเกมนี้
เพราะลิเวอร์พูลมีผู้เล่นโดนใบแดงไล่ออกจากสนามอีกถึง 2 คน ที่สุดท้ายนำไปสู่การแพ้นัดแรกของฤดูกาลเพราะต้านไม่ไหว โจเอล มาทิป ทำเข้าประตูตัวเองในช่วงทดเวลาบาดเจ็บนาทีสุดท้าย
เรื่องที่ดีอีกอย่างคือแสดงให้เห็นว่า พวกเขาพร้อมจะทำทุกอย่างอย่าง ‘โปร่งใส’ แม้จะชวนให้คิดถึงอีกหลายกรณีที่ผิดพลาดมากมายตลอดหลายปีที่ผ่านมา ที่มีทีมเสียประโยชน์มากมายจากการตัดสินและดุลพินิจของผู้ตัดสินก็ตาม
อย่างไรก็ดีเมื่อความผิดพลาดเกิดขึ้นแบบนี้ PGMOL ไม่มีทางเลือกนอกจากการพยายามปรับปรุงทุกอย่างให้ดีขึ้น ผ่านการถอดบทเรียนในเรื่องนี้
- คำแนะนำถึงผู้ตัดสินภาพวิดีโอ (Video Match Officials) มีการเน้นย้ำถึงการทำงานที่มีประสิทธิภาพ แต่ห้ามละเลยความแม่นยำในการตัดสิน จะมีการย้ำหลักเกณฑ์เรื่องนี้อีกครั้ง
- จะมีการกำหนดขั้นตอนปฏิบัติในการสื่อสารของ VAR (VAR Communication Protocol) ที่จะต้องทำให้การสื่อสารระหว่างผู้ตัดสินและ VAR ชัดเจนขึ้นสำหรับการตัดสินในสนาม
- เพิ่มขั้นตอนในการทำงาน โดย VAR จะยืนยันผลการตัดสินของ VAR ร่วมกับผู้ช่วยผู้ตัดสิน VAR (AVAR) ก่อนจะยืนยันคำตัดสินสุดท้ายให้แก่ผู้ตัดสินในสนาม
เรียกได้ว่าเป็นบทเรียนครั้งใหญ่ของบรรดาผู้ตัดสินในอังกฤษที่หวังว่าจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น
โดยที่หากไม่มีอะไรดีขึ้น เราอาจได้เห็นการลุกขึ้นสู้ของทีมที่เสียประโยชน์จากการตัดสินอีกครั้ง
อ้างอิง: