×

ชมคลิป: เปิดงบหมื่นล้านกองทุน USO ประชาชนได้อะไรจาก กสทช.? | KEY MESSAGES #110

15.12.2023
  • LOADING...

ก่อนหน้านี้เราเคยตั้งคำถามถึงสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ที่ได้งบประมาณจากภาษีประชาชนกว่า 6 พันล้านบาท ทว่าประเด็นของ กสทช. ยังมีความน่าสนใจมากกว่านั้น 

 

ในการทำงานของ กสทช. มีสิ่งที่เรียกว่า ‘บริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม’ (Universal Service Obligation: USO) หรือโครงการ USO คาดว่ามีเงินในกองทุนมากกว่างบประมาณหลักที่ กสทช. ได้เสียอีก โดยปีนี้มีตัวเลข 8 พันล้านบาท และในปีก่อนๆ มีมากถึง 4 หมื่นล้านบาท 

 

เมื่อเป็นอย่างนั้น โครงการ USO คืออะไร หน้าที่หลักของโครงการนี้คือการทำอะไร เงินก้อนใหญ่นี้มีที่มาจากไหน และภายใต้การทำงานที่ระบุว่าจะต้องสร้างประโยชน์ให้กับประชาชน โครงการนี้ทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้มากน้อยแค่ไหน ติดตามทั้งหมดได้ในรายการ KEY MESSAGES 

 

รายได้มหาศาลและหน้าที่ของโครงการ USO 

 

ข้อมูลจากเว็บไซต์ กสทช. ทำให้สรุปถึงโครงการ USO แบบคร่าวๆ ได้ว่า เป็นหนึ่งในภารกิจหลักของ กสทช. ในการให้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานให้ทั่วถึง โดยเฉพาะกับผู้มีรายได้น้อย เด็ก ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาสในสังคม และประชาชนในพื้นที่ห่างไกล 

 

เมื่อมีไอเดียว่าทุกคนควรเข้าถึงอินเทอร์เน็ต สิ่งต่อมาคือการหางบประมาณเพื่อดำเนินนโยบาย กสทช. จึงหารายได้ผ่านการหักรายได้ 2.5% ของโอเปอเรเตอร์โทรคมนาคมทั้งหมดในประเทศ ลองคิดภาพว่า AIS, True-dtac และ NT ต้องหักรายได้ 2.5% เข้ากองทุนนี้ ทำให้ USO มีงบประมาณหลายหมื่นล้านบาท แม้จะหักค่าใช้จ่ายที่ส่งไปยังคลังแล้วก็ตาม 

 

จากข้อมูลบนเว็บไซต์ กสทช. เผยให้เห็นว่า กรอบงบประมาณตามแผนงาน USO ค่อนข้างสูงพอสมควร  

 

แผน USO ฉบับที่ 1 ในปี 2555-2559 มีกรอบงบประมาณ 20,468 ล้านบาท 

แผน USO ฉบับที่ 2 ในปี 2560-2564 มีกรอบงบประมาณ 45,456 ล้านบาท 

แผน USO ฉบับที่ 3 ในปี 2565 มีกรอบงบประมาณ 8,000 ล้านบาท 

แผน USO ฉบับที่ 4 ในปี 2566 มีกรอบงบประมาณ 8,000 ล้านบาท

 

กสทช. ใช้งบของกองทุน USO เพื่อให้บริการ 5 ประเภท ได้แก่

 

  1. บริการ Wi-Fi สาธารณะประจำหมู่บ้าน 
  2. บริการศูนย์อินเทอร์เน็ตสาธารณะ (ศูนย์ USO Net) 
  3. บริการห้องอินเทอร์เน็ตสาธารณะ (USO Wrap) 
  4. บริการสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสำหรับโรงเรียน
  5. บริการสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสำหรับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) 

 

‘เน็ตประชารัฐ’ ความซับซ้อนยุ่งเหยิงในภาระหน้าที่ของ กสทช. และกระทรวงดีอี 

 

วันที่ 22 สิงหาคม 2559 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อนุมัติให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินภารกิจ USO ร่วมกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ปัจจุบันคือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) เพื่อยกระดับบริการโทรคมนาคมพื้นฐานทั่วประเทศ แบ่งกรอบพื้นที่เป้าหมายเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่ 

 

Zone A และ B พื้นที่เขตเมืองและพื้นที่ศักยภาพ จำนวน 30,635 หมู่บ้าน 

Zone C พื้นที่ห่างไกลไม่เกิน 15 กิโลเมตร จำนวน 40,432 หมู่บ้าน 

Zone C+ พื้นที่ห่างไกลมากกว่า 15 กิโลเมตร จำนวน 3,920 หมู่บ้าน 

(Zone C ทั้งหมดรวมเป็น 44,352 หมู่บ้าน) 

 

แผนนี้ถูกเรียกว่าโครงการ ‘เน็ตประชารัฐ’ ทั้งกระทรวงดีอีและโครงการ USO ของ กสทช. ต่างใช้ชื่อเดียวกัน แต่แบ่งดูแลกันคนละพื้นที่และมีการทำงานต่างกัน 

 

พสธร อรัญญพงษ์ไพศาล เลขานุการประจำคณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน ให้ข้อมูลน่าสนใจกับเราว่า โครงการเน็ตประชารัฐเป็นไอเดียแรกเริ่มจากกระทรวงดีอีที่มอบหมายส่งต่อให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันคือบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT เป็นผู้ดำเนินการพัฒนาโครงข่ายในพื้นที่ Zone C จำนวน 24,700 หมู่บ้าน 

 

หน้าที่หลักของโครงการเน็ตประชารัฐคือการทำ ‘Open Access’ สร้างโครงข่ายให้โอเปอเรเตอร์ท้องถิ่นที่ไม่ใช่เจ้าใหญ่และไม่มีทุนมากพอสร้างโครงข่ายเอง ได้มาเชื่อมต่ออุปกรณ์ โทรคมนาคม กระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตในชุมชน

 

แต่พอกระทรวงดีอีทำมาได้ระยะเวลาหนึ่ง งบประมาณที่ได้แบบปีต่อปีไม่เพียงพอ ส่งผลให้การบริการขัดกับหลักการโทรคมนาคมที่การสื่อสารต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ปัญหาหนี้ค้างจ่าย ค่าบำรุงรักษา ค่าโอเปอเรชัน ปัญหาเรื่องความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการให้บริการโทรคมนาคม และไม่ใช่หน่วยงานที่มีภารกิจนี้ตั้งแต่ต้น ท้ายที่สุดต้องขอให้ กสทช. มาทำโครงการนี้ต่อ โดยดูแลหมู่บ้าน Zone C ที่เหลืออีก 15,732 หมู่บ้าน รวมกับพื้นที่โซน C+ อีก 3,920 หมู่บ้าน เป็น 19,652 หมู่บ้าน โดยใช้งบประมาณของ USO

 

พชร นริพทะพันธุ์ ที่ปรึกษาประจำประธาน กสทช. ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำประธานกสทช. ด้านเทคโนโลยีต่างประเทศ พัฒนาธุรกิจ และนโยบายภาครัฐ ชี้แจงประเด็นนี้ว่า โครงการเน็ตประชารัฐเป็นไปตามแผน USO ของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) และเป็นไปตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 17 ที่จัดให้มีบริการทั่วถึงและเท่าเทียม โดยมีโครงการนำร่องที่จังหวัดพิษณุโลกและหนองคาย

 

จนกระทั่ง คสช. ยึดอำนาจ ออกคำสั่งให้หยุดการดำเนินโครงการ USO และนำเงินประมูลคลื่น 4G เข้าคลังเพื่อผันเป็นงบประมาณกลับไปให้กระทรวงดีอี ซึ่ง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ณ เวลานั้น ให้กระทรวงดีอีกำหนดจุดให้โอเปอเรเตอร์ไปดำเนินการ โครงการทั้งหมดจึงไม่ใช่ความคิดของ กสทช. แต่เป็นความคิดและแผนของรัฐบาลยุค คสช. ที่เป็นผู้บริหารประเทศในเวลานั้น

 

ทางด้านของ พสธร มองว่า หรือจริงๆ แล้ว โครงการเน็ตประชารัฐควรอยู่กับ กสทช. ตั้งแต่แรก เพราะภารกิจหลักของ กสทช. คือการให้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานทั่วถึง ที่จะต้องวางแผนแม่บทว่าจะทำอย่างไรให้คนเข้าถึงบริการโทรคมนาคม ดึงดูดให้โอเปอเรเตอร์เข้าไปลงทุนและสร้างเครือข่ายในพื้นที่ห่างไกล และกำหนดหลักเกณฑ์ที่เป็นธรรมกับทุกคน 

 

พื้นที่ ZONE C+ และศูนย์ USO NET ที่ไม่อาจเรียกได้ว่า ‘ประสบความสำเร็จ’

 

พสธรระบุว่าปัญหาใหญ่สุดของ กสทช. ในพื้นที่ ZONE C+ อาจเกิดขึ้นจากการคิดไม่ครบถ้วนตั้งแต่ตอนทำนโยบายแบ่งเขตโซนนิง A B C C+ เพราะพื้นที่ใน ZONE C+ มีทั้งเขตอุทยานแห่งชาติ พื้นที่ป่าสงวน ซึ่งหลายแห่งมีชุมชนอาศัยอยู่ก่อนจะถูกเปลี่ยนเป็นอุทยาน ทำให้โครงการ USO ในโซนนี้ไม่สามารถเข้าไปปักเสาสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้ เพราะจะต้องขออนุญาตหรือขอข้อยกเว้นต่างๆ จากอธิบดีกรมป่าไม้ ที่ตอนนี้คำขอทำสาธารณูปโภคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น น้ำ ไฟ ถนน หรืออินเทอร์เน็ต ก็ค้างอยู่เป็นแสนคำขอ 

 

แม้ กสทช. จะพยายามแก้ปัญหาด้วยการใช้ดาวเทียมยิงสัญญาณบรอดแบนด์ลงมาเพื่อให้เกิดสัญญาณอินเทอร์เน็ต แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถเปิดใช้บริการได้อยู่ดี เพราะถึงจะไม่ใช้เสาสัญญาณ แต่ก็ต้องขออนุญาตเช่นกัน รวมถึงปัญหาที่ว่าชุมชนเหล่านั้นไม่ได้ใช้ไฟฟ้าจากเสาไฟ แต่มาจากเครื่องปั่นไฟและโซลาร์เซลล์ กลายเป็นว่าโครงการหมื่นล้านบาทก็ไม่สามารถใช้งานได้จริง

 

ขณะเดียวกัน การแบ่งงานในพื้นที่โซน C ระหว่าง กสทช. และกระทรวงดีอี ก็ไม่ได้สร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่ห่างไกล พวกเขาไม่สามารถรู้ว่าพื้นที่ที่ตัวเองอาศัยอยู่มีใครเป็นผู้รับผิดชอบ จึงทำให้เกิดความสับสนบ่อยครั้ง เช่น นักการเมืองท้องถิ่นเกิดความไม่แน่ใจว่าควรแจ้งเรื่องปัญหาสัญญาณอินเทอร์เน็ตกับหน่วยงานใด พอแจ้งกับกระทรวงดีอี ทางกระทรวงฯ กลับบอกว่าโครงการเน็ตประชารัฐในพื้นที่นั้นเป็นงานของ กสทช. ต้องขอพิกัดหมู่บ้านเพื่อประสานงานต่อไป ซึ่งหลายครั้งการประสานงานแบบนี้อาจทำให้เกิดการแก้ปัญหาล่าช้า 

 

นอกจากพื้นที่อุทยาน การทำงานในพื้นที่ทั่วไปของ กสทช. ก็มีปัญหาเช่นกัน สำนักข่าวอิศราเคยรวบรวมสถานที่ 52 แห่ง ของโครงการรัฐถูกทิ้งร้าง ซึ่ง 2 ใน 52 แห่ง มีศูนย์ USO NET ในจังหวัดชัยภูมิ ที่ก่อสร้างไม่เสร็จแล้วถูกปล่อยทิ้งร้างหลายปี และศูนย์ USO NET ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ มีแผนก่อสร้างตั้งแต่ปี 2562 แต่จนถึงปี 2565 มีเพียงแค่วัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างบางส่วนถูกวางทิ้งไว้ในพื้นที่ ส่งผลให้ประชาชนไม่ได้เข้าใช้บริการตามจุดมุ่งหมายหลักของโครงการที่วางไว้  

 

เพจเฟซบุ๊กชื่อว่า ต้องแฉ ระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ประจำจังหวัดเพชรบูรณ์ ลงพื้นที่ตรวจสอบแล้วพบว่ามีการยกเลิกการจ้าง เนื่องจากการดำเนินการของผู้รับจ้างไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของ กสทช. จึงจะดำเนินการหาผู้รับจ้างรายใหม่เพื่อดำเนินงานต่อ ซึ่งปัญหาที่ว่านี้ ทาง NT อ้างว่ายังมีศูนย์ USO NET อีก 253 อาคาร ที่ยังไม่ได้ทำเรื่องจ่ายให้กับผู้รับเหมา  

 

เราได้สอบถามความคืบหน้านี้กับทาง กสทช. พชรระบุว่าประเด็นอาคาร USO NET ที่สร้างไม่แล้วเสร็จเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ USO แผนที่ 1 ซึ่งโอเปอเรเตอร์อย่าง TOT รับงานจากกระทรวงดีอีมาสร้างอาคาร 253 แห่ง จาก 2,184 แห่ง ต่อมากระทรวงดีอีส่งคืนมาให้ กสทช. ช่วยดำเนินการต่อเพราะไม่สามารถทำให้แล้วเสร็จได้ ส่งผลให้ กสทช. จำเป็นต้องยกเลิกสัญญา และมีค่าปรับ 713 ล้านบาท เรื่องนี้ไม่มีเหตุผลทำให้เสียหายเชิงตัวเลขงบประมาณ แต่เป็นเรื่องการเสียโอกาสของประชาชนมากกว่า 

 

ขอบเขตภารกิจกว้างขวาง เปิดช่องให้ กสทช. ลองจับงานหลายทาง?

 

ข้อกำหนดเรื่องการทำงานของ กสทช. ระบุว่ามีทั้งการสำรวจพื้นที่ สำรวจความต้องการ ประสานงานกับหน่วยงานรัฐและภูมิภาค ส่งเสริมให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน แต่ถึงอย่างนั้น ตัวอย่างผลงานของ USO ที่มีหลากหลายก็เต็มไปด้วยข้อสังเกต 

 

เช่น การใช้งบประมาณที่เพิ่งผ่านมาไม่นานอย่างแผน USO ฉบับที่ 3 หลายฝ่ายมองว่าแผนงานนี้ใช้งบกว่าครึ่งไปกับระบบโทรคมนาคมเพื่อสาธารณสุขมากกว่าด้านอื่นๆ จนเกินไป ส่วนแผน USO ฉบับที่ 4 พบว่ามีการแบ่งใช้งบประมาณไปกับหน่วยงานรัฐและความมั่นคง มากกว่าการทุ่มความสนใจไปยังการขยายบริการโทรคมนาคม ทั้งที่โครงการ USO ควรมีบริการระบบโทรคมนาคมทุกด้านอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงตาม พ.ร.บ.กิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 เพราะปัจจุบันยังมีอีกหลายครัวเรือนที่ยากจนและเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต 

 

อีกหนึ่งโครงการที่ถูกพูดถึงมากเมื่อช่วงต้นปีนี้คือ โครงการโทรเวชกรรมถ้วนหน้า (Universal Telehealth Coverage: UTHC) หรือ Telehealth ที่คณะอนุกรรมการการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการอนุมัติงบจากกองทุน USO กรอบวงเงิน 3,850 ล้านบาท และเสนอให้คณะกรรมการ กสทช. พิจารณา

 

แผนโครงการ Telehealth ก่อให้เกิดการถกเถียงทั้งภาคประชาชนรวมถึงในบอร์ด กสทช. ว่างานนี้ควรเป็นหน้าที่ของใครกันแน่ และอาจไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การใช้เงินกองทุน USO ที่ระบุไว้ว่าเน้นให้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานแก่ประชาชน

 

กลุ่มไม่เห็นด้วยอย่างเห็นได้ชัดคือกลุ่มผู้นำแรงงาน NT ที่รวมตัวประท้วงเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา เพราะมองว่าเป็นการทำงานซ้ำซ้อนกับโครงการรัฐที่ขอรับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินไปแล้ว และมีความใกล้เคียงกับโครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุข ที่คณะรัฐมนตรีมติอนุมัติไปเมื่อเดือนมกราคม 2566

 

เมื่อเกิดกระแสต่อต้าน มีการถามย้ำถึงความไม่สมเหตุสมผล สุดท้ายในเดือนพฤษภาคม บอร์ด กสทช. ลงมติ 4:3 ให้ยกเลิกโครงการดังกล่าว แต่ก็ยังคงสร้างคำถามทิ้งไว้ว่าทำไม กสทช. ถึงคิดริเริ่มทำสิ่งนี้ทั้งที่มีหน่วยงานอื่นทำอยู่แล้ว และหากผ่าน งบประมาณกว่า 3,850 ล้านบาท จะถูกใช้อย่างคุ้มค่าหรือไม่ 

 

พสธรระบุว่า กสทช. เป็นหน่วยงานที่มีอิสระทางปกครอง อิสระทางการเงิน และอิสระในการบริหารบุคลากร อีกทั้งรัฐธรรมนูญ 2560 ส่งผลให้ สว. ที่เคยมีอำนาจถอดถอนบอร์ด กสทช. ตอนนี้ก็ไม่สามารถทำได้แล้ว หลายครั้งประชาชนจึงเกิดความรู้สึกว่า กสทช. ที่มีความเป็นอิสระสูง ไม่ได้ใช้อำนาจตรงตามวัตถุประสงค์หลักขององค์

 

อีกหนึ่งโครงการที่ถูกพูดถึงคือโครงการพัฒนาทักษะสร้างความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสู่สังคมดิจิทัลใน 5 ภูมิภาค หรือโครงการจ้างอบรม IT คนชายขอบ ที่อยู่ในแผน USO ฉบับที่ 2 วงเงิน 1,420 ล้านบาท และอยู่ในแผนฉบับที่ 4 ปี 2566 มีวงเงิน 1,796 ล้านบาท 

 

โครงการนี้มีการประมูลหาผู้ให้บริการฝึกทักษะแก่กลุ่มเป้าหมาย 5 แสนคน เกิดการพัฒนาทักษะความรู้ด้าน ICT, Smart farming อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นการทำงานซ้ำซ้อนกับการฝึกทักษะของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานและหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ 

 

นอกจากข้อสงสัยเรื่องการทับซ้อนด้านการทำงาน ภคมน หนุนอนันต์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เคยอภิปรายประเด็นนี้เมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา ว่าโครงการดังกล่าวอาจมีการใช้งบประมาณแบบไม่โปร่งใสหรือไม่

 

“โครงการนี้ทำอะไร โครงการนี้จ่ายเงินจ้างบริษัทเอกชนในแต่ละภูมิภาคให้ไปอบรมประชาชนชายขอบใช้เทคโนโลยี ประมูลขายงานกันไปตามภูมิภาคต่างๆ น่าสงสัยว่างบ 1.8 พันล้าน อบรมการใช้เทคโนโลยีให้กับคนชายขอบช่วงเลือกตั้ง มีเป้าหมายเพื่ออะไร กลุ่มเป้าหมายที่ผ่านการอบรมการใช้เทคโนโลยีที่ กสทช. บอกว่ามีกลุ่มเป้าหมาย 5 แสนคนไปอยู่ไหนหมด และตอนนี้ประชาชนเหล่านั้นใช้เทคโนโลยีเก่งขึ้นจริงหรือไม่” 

 

งานวิจัย จับตางบ USO กสทช. 8 พันล้านบาทกับการใช้เงินนอกเหนือภารกิจหลัก ของ ศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์ เผยให้เห็นว่าข้อสังเกตว่า การประมูลครั้งนี้มีกรอบวงเงินงบประมาณเพิ่มจากเดิม ทำให้ค่าฝึกอบรมต่อหัวเพิ่มขึ้นจากไม่เกิน 2,840 บาทต่อคน เป็น 3,467 บาทต่อคน ทั้งที่งบประมาณส่วนนี้ควรลดลงเพราะพัฒนาหลักสูตรเสร็จสิ้นไปแล้ว

 

‘ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการตรวจสอบพบว่ามีผู้ชนะการประมูลอย่างน้อย 3 รายจาก 5 ราย ไม่ได้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการฝึกอบรมหรือแม้แต่กับทักษะในหลักสูตรการฝึกอบรม โดยประกอบกิจการคอมพิวเตอร์กิจการโทรคมนาคมแบบใช้สายและเคเบิลใยแก้วนำแสงทั่วประเทศ ร้านขายปลีกเครื่องเล่นวิดีโอเกม และซอฟต์แวร์สำเร็จรูป ทำให้น่าสงสัยว่าจะสามารถจัดการฝึกอบรมทักษะทั้ง 8 หลักสูตรได้มีคุณภาพจริงหรือไม่’

 

ไม่เพียงเท่านี้ แหล่งข่าวที่มีส่วนร่วมในการจัดอบรมของ กสทช. ให้ข้อมูลกับเราว่า โครงการอบรมแอปพลิเคชันและเทคโนโลยีต่างๆ ค่อนข้างดำเนินไปได้ด้วยดี ฟีดแบคของประชาชนหลายพื้นที่ที่เข้าร่วมบอกว่าได้ประโยชน์ เสียเพียงอย่างเดียวคือพวกเขาไม่มีสมาร์ตโฟนใช้โหลดแอปพลิเคชันที่เข้าอบรม แล้วแบบนี้เรียกได้ว่าเป็นการอบรมที่มีประสิทธิภาพและแก้ปัญหาอย่างถูกจุดหรือไม่ 

 

แต่ทางฝั่ง กสทช. มองต่างออกไป พชรระบุว่าการฝึกอบรม IT คนชายขอบ เป็นแผนที่ถูกกำหนดไว้ภายใต้กรอบทฤษฎี USO ที่จะต้องให้ประชาชนเข้าถึงเทคโนโลยีโดยการฝึกอบรมหรือการให้ความรู้ และเป็นส่วนหนึ่งของ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 เพื่อให้ผู้ด้อยโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีการสื่อสาร 

 

ส่วนพสธรมองไปยังการวางแผนจะทำตั้งแต่แรกเริ่ม เพราะการวางกลยุทธ์โดยรัฐไม่ว่าโครงการใดควรวางให้รอบคอบ เช่น พิจารณาให้ครบถ้วนว่าการนำอินเทอร์เน็ตไปยังพื้นที่ห่างไกลจำเป็นต้องมีอะไรบ้าง ดูเรื่องอุปกรณ์ ผู้คนในพื้นที่มีความต้องการทางเศรษฐกิจแบบไหน แล้วจะใช้อินเทอร์เน็ตไปกับเรื่องใดบ้าง ไม่ใช่แค่นำอินเทอร์เน็ตเข้าไปเพียงอย่างเดียว 

 

ซึ่งสิ่งนี้ไม่ใช่ภาระของ กสทช. เพียงอย่างเดียว แต่เป็นภารกิจเชิงนโยบายของรัฐบาลที่จะต้องแบ่งภารกิจกับหน่วยงานต่างๆ ให้ชัดเจน วางกรอบยุทธศาสตร์ให้ครบว่าใครทำอะไร ผลักดันตรงไหน หากไม่มีการวางแผนแล้วประสานงานอย่างจริงจัง ปัญหาแบบนี้ก็ยังคงมีให้เห็นอยู่เสมอ 

 

ทำไมเราถึงต้องตรวจสอบโครงการ USO 

 

ตอนนี้ กสทช. ทุ่มความสำคัญในภารกิจของตัวเองอย่างเต็มที่แล้วหรือยัง เพราะภารกิจหลักของ กสทช. คือการออกประกาศหลักเกณฑ์ให้เกิดการแข่งขันเสรีและเป็นธรรม ป้องกันการผูกขาด เพื่อให้ผู้ประกอบการรายเล็กสามารถมีอำนาจต่อรองกับรายใหญ่ ทำให้เกิดความหลากหลายในตลาด คุ้มครองผู้บริโภค 

 

ทิศทางการทำงานของ กสทช. ในปัจจุบัน เกิดขึ้นมาจากการที่รัฐมองว่าอินเทอร์เน็ตกลายเป็นสิทธิขั้นมูลฐาน มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ถ้ารัฐไม่สามารถให้คนเข้าถึงสิ่งนี้ได้ ก็จะมีปัญหาต่อการพัฒนาประเทศ

 

แม้มองแบบผิวเผิน หลายคนอาจเข้าใจว่างบประมาณของกองทุน USO ไม่ได้เกี่ยวข้องกับภาษีของประชาชนโดยตรงเหมือนอย่างตัวเลขงบประมาณอื่นๆ ที่ระบุไว้ชัดเจน แต่เราไม่สามารถมองข้ามงบประมาณของกองทุน USO หรือคิดว่างบก้อนนี้ไม่ได้มาจากเงินของตัวเอง เพราะเงินจำนวนมหาศาลถูกแบ่งมาจากรายได้ของโอเปอเรเตอร์ที่เก็บจากผู้ใช้บริการ 

 

เมื่อ กสทช. กลายเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจของรัฐและใช้อำนาจรัฐเพื่อจัดทำ กำกับดูแล และจัดสรรงบประมาณเพื่อบริการสาธารณะตามกฎหมาย ก็จำเป็นจะต้องถูกตรวจสอบว่าใช้งบไปกับอะไรบ้าง แล้วผลงานที่ออกมาประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน ซึ่งท้ายที่สุด การทำงานของ กสทช. ก็จะส่งกระทบแบบลูกโซ่ส่งไปยังประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคอยู่ดี

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising