“ปีที่แล้วผมส่งจดหมายหาซานตาคลอสว่า ผมอยากได้ของขวัญพิเศษอะไรบ้าง และหนึ่งในนั้นก็มีเครื่องบินรบรวมอยู่ด้วย”
ถ้าฟังเผินๆ นี่อาจดูเหมือนคำกล่าวของเด็กชายตัวน้อยที่ฝันอยากได้ของเล่นชิ้นใหม่ ทว่ามันไม่ใช่…เพราะนี่คือคำพูดของ โอเล็กซี เรซนิคอฟ รัฐมนตรีกลาโหมของยูเครน ที่เพิ่งเปิดเผยกับสำนักข่าว CNN ไปหมาดๆ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ตอกย้ำให้โลกรู้ว่า ยูเครนยังคงรอความหวังว่าชาติต่างๆ จะส่งอาวุธยุทโธปกรณ์แสนสำคัญและมีมูลค่ามหาศาลชิ้นนี้มาให้ เพื่อหวังพลิกเกมรบในช่วงฤดูใบไม้ผลิที่กำลังจะมาถึง
หากยูเครนพูดเรื่องนี้เมื่อปีที่ผ่านมา ใครๆ ก็คงคิดว่าโอกาสที่ชาติตะวันตกจะส่งเครื่องบินรบให้ยูเครนนั้นยากเสียเหลือเกิน แต่คงไม่ใช่ในตอนนี้ เพราะเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เยอรมนี สหรัฐอเมริกา และชาติพันธมิตรอื่นๆ ได้ประกาศการตัดสินใจครั้งสำคัญที่จะส่งรถถังประจัญบานที่ผลิตขึ้นด้วยเทคโนโลยีอันล้ำสมัยไปให้ยูเครน ส่งผลให้ในขณะนี้หลายฝ่ายเริ่มตั้งคำถามว่าจะเป็นไปได้ไหมที่ในท้ายที่สุดแล้ว ชาติต่างๆ จะส่งเครื่องบินรบให้กับยูเครน
และอาวุธพิฆาตนี้จะสามารถเปลี่ยนสถานการณ์ในสมรภูมิรบได้จริงหรือไม่
สถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างไร
- โดยทั่วไปแล้ว ผู้นำชาติตะวันตกมักหลีกเลี่ยงที่จะอภิปรายเกี่ยวกับการจัดส่งเครื่องบินรบไปยังยูเครนในการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ ขณะเดียวกัน ประเด็นการส่งเครื่องบินก็ไม่ได้อยู่ในหัวข้อของการประชุมระหว่างยูเครนและชาติพันธมิตรในเมืองแรมสไตน์ของเยอรมนีเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้ด้วย
- แม้ในปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ จะปฏิเสธข้อเสนอของโปแลนด์ที่เสนอส่งเครื่องบินรบจากยุคโซเวียตที่มีอยู่ทั้งหมดให้ยูเครน ผ่านทางฐานทัพอากาศ NATO ในเยอรมนี เพราะมองว่าจะเป็นการทำให้สงครามลุกลามบานปลายได้ แต่ล่าสุดนั้น จอน ไฟเนอร์ (Jon Finer) รองที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ได้กล่าวว่า สหรัฐฯ ‘ยังไม่ได้ตัดสินใจบอกรับหรือปฏิเสธ’ เกี่ยวกับการจัดส่งระบบอาวุธให้กับยูเครน ซึ่งรวมถึงเครื่องบินรบ F-16 ด้วย ซึ่งทำให้หลายฝ่ายมองว่า คำพูดดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นการปฏิเสธไปเสียทีเดียว
- ด้าน จอห์น เคอร์บี โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ เปิดเผยกับสำนักข่าว CNN เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (27 มกราคม) ว่า ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ได้เรียกร้องให้สหรัฐฯ ส่งเครื่องบินรบมาให้ โดยกล่าวว่า “เราเจรจากับฝั่งของยูเครนอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับความต้องการของพวกเขา และเราต้องการสร้างหลักประกันว่า เราทำทุกอย่างอย่างดีที่สุดเพื่อตอบสนองความต้องการของเขาให้ได้ และหากเราทำไม่ได้ ก็จะดูว่าชาติพันธมิตรของเราสามารถดูแลในส่วนนี้ได้หรือไม่”
- ในฝั่งของเนเธอร์แลนด์ก็ได้แสดงออกอย่างมีนัยสำคัญก่อนหน้านี้ หลังจากที่รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศกล่าวกับสมาชิกรัฐสภาเกี่ยวกับการจัดส่ง F-16 ว่า “หากพูดถึงสิ่งที่เนเธอร์แลนด์สามารถจัดหา (ให้กับยูเครน) ได้แล้ว ก็คงจะไม่มีข้อยกเว้นใดๆ”
- ทั้งนี้ เครื่องบิน F-16 ซึ่งถูกสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อช่วงยุค 1970 เป็นอากาศยานรบที่มีความคล่องตัวและมีขีดความสามารถสูง โดยสามารถติดตั้งมิสไซล์แบบอากาศสู่อากาศ หรืออากาศสู่พื้นได้ถึง 6 ลูก ภายใต้ปีกทั้งสองข้าง
- ถึงแม้ว่าปัจจุบันสหรัฐฯ จะไม่ได้สั่งซื้อเครื่องบิน F-16 แล้ว แต่ก็ยังมีหลายประเทศที่ไว้วางใจสั่งซื้อเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่ไว้ประดับกองทัพอากาศของตนเอง เช่น บาห์เรนและจอร์แดน ภายใต้การผลิตของบริษัท Lockheed Martin
- แม้จะยังไม่มีความชัดเจนจากชาติตะวันตก แต่ ยูรี ซัก (Yuriy Sak) ที่ปรึกษารัฐมนตรีกลาโหมของยูเครน ได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNBC เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ส่วนตัวเขามั่นใจว่ายูเครนจะได้ F-16 อย่างแน่นอน โดยกล่าวว่า “ขณะนี้มากกว่า 50 ประเทศทั่วโลกมีเครื่องบินรบรุ่นนี้ ผมไม่เห็นเหตุผลหรือคำอธิบายใดๆ ที่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมยูเครนไม่ควรได้รับ F-16 หรือเครื่องบินขับไล่ไอพ่นรุ่นอื่นๆ”
ทำไมยูเครนถึงเล็งขอ F-16 ตอนนี้
- นักวิเคราะห์มองว่า ยูเครนอาจจะอยากฉวยโอกาสนี้ในการครอบครอง F-16 ในช่วงเวลาที่ยุโรปกำลังจะเลิกใช้ เพื่อหันไปจับจองรุ่นที่ใหม่กว่าอย่าง F-35 แทน ก่อนที่จะขายให้กับชาติอื่น
- ยกตัวอย่างเช่นในเคสของเนเธอร์แลนด์ ปัจจุบันเนเธอร์แลนด์มีเครื่องบิน F-16 เหลืออยู่ 24 ลำ โดยมีแผนที่จะขายทิ้งและเปลี่ยนเป็นรุ่นใหม่อย่าง F-35 ภายในปีหน้า โดยเมื่อปี 2021 เนเธอร์แลนด์ได้ขายเครื่องบินรบ 12 ลำให้กับสหรัฐฯ เพื่อใช้สำหรับเป็นเครื่องบินฝึก
- สำหรับกองทัพยูเครนนั้น การผนวกไครเมียของรัสเซียในปี 2014 และการที่รัสเซียให้การสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในยูเครนตะวันออก ได้กระตุ้นให้ยูเครนต้องเร่งเปลี่ยนจากการใช้อาวุธที่ผลิตขึ้นตั้งแต่สมัยโซเวียต ไปสู่การใช้ยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยกว่าของชาติตะวันตก โดยคาดการณ์ว่าในระยะยาว ยูเครนจะเปลี่ยนมาใช้เครื่องบินรบของชาติตะวันตกด้วย จากที่ตอนนี้ต้องพึ่งพาเครื่องบิน MiG-29 และ Sukhoi Su-27 รุ่นเก่าตั้งแต่สมัยโซเวียต
- ปีเตอร์ ไวนิงกา (Peter Wijninga) อดีตนาวาอากาศเอกประจำกองทัพอากาศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งปัจจุบันผันตัวมาเป็นนักวิเคราะห์ด้านกลาโหม มองว่า รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของยูเครนกำลังพยายามเล่นเกมบางอย่าง เพื่อเตือนทุกฝ่ายว่าคำขอของตนเองนั้นอาจมาถึงเร็วกว่าที่คาดการณ์กันไว้
- จากเคสของเนเธอร์แลนด์นั้น ทำให้เราทราบว่าในขณะนี้มีเครื่องบิน F-16 จำนวนมากที่เตรียมจะถูกขายให้กับประเทศอื่นๆ แต่หากมองอีกมุมหนึ่งก็สามารถตีความได้เช่นกันว่า ‘มีเครื่องบินรุ่นนี้จำนวนมากที่พร้อมส่งมอบไปยังยูเครน’ ซึ่งไวนิงกากล่าวว่า “ผมคิดว่าพวกเขากำลังรอเวลาที่เหมาะสมเพื่อดำเนินการตามคำขออย่างเป็นทางการ”
F-16 จะช่วยพลิกเกมในสมรภูมิรบได้จริงหรือ
- ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า เครื่องบิน F-16 ก็คงไม่แตกต่างจากอาวุธอื่นๆ ที่ชาติตะวันตกส่งมอบให้กับยูเครนก่อนหน้านี้ ในแง่ที่ว่ามันคงไม่ใช่อาวุธที่จะพลิกโฉมยุทธศาสตร์การรบได้อย่างมีนัยสำคัญ
- ทิม สไวจ์ส (Tim Sweijs) ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์แห่งกรุงเฮก (The Hague Centre for Strategic Studies) กล่าวว่า “สำหรับตัวผมเองแล้ว ผมไม่คิดว่า F-16 เพียงลำพังจะเป็นตัวเปลี่ยนเกม แต่หากรวมมันเข้ากับรถถัง กองทหาร และระบบยิงจรวดพิสัยไกลอย่าง HIMARS ที่สามารถกำจัดระบบเรดาร์ของรัสเซีย ก็อาจสามารถช่วยยูเครนพลิกสถานการณ์ได้”
- จัสติน บรองก์ (Justin Bronk) นักวิจัยอาวุโสด้านกำลังทางอากาศจาก Royal United Services Institute กล่าวว่า อุปสรรคสำคัญของยูเครนขณะนี้คือระบบป้องกันทางอากาศที่แข็งแกร่งของรัสเซีย
- “แนวคิดที่ว่าเครื่องบินรบของชาติตะวันตกจะช่วยให้ยูเครนสามารถปฏิบัติการรบทางอากาศเหนือดินแดนที่ถูกรัสเซียยึดครองนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย” บรองก์กล่าว “เพราะความจริงก็คือ เครื่องบินรบของตะวันตกเสี่ยงที่จะเจอกับระบบป้องกันภัยทางอากาศรัสเซียที่เตรียมยิงจรวดจากพื้นสู่อากาศ ไม่ต่างกับที่ยูเครนกำลังเจออยู่ในขณะนี้”
- บรองก์ประเมินว่า สำหรับในระยะสั้นนี้ เครื่องบิน F-16 จะถูกใช้เป็นอาวุธป้องกันสำหรับกองทัพยูเครน มากกว่าที่จะใช้เป็นเครื่องมือสำหรับเน้นบุกโจมตี เช่น การนำไปใช้ยิงสกัดมิสไซล์ของรัสเซียในรูปแบบที่แม่นยำกว่าเดิม และช่วยขัดขวางไม่ให้เครื่องบินรบของรัสเซียฝ่าด่านแนวหน้าไปได้
- อย่างไรก็ตาม บรองก์มองว่า อาวุธโจมตีภาคพื้นที่มาจากการสนับสนุนทางอากาศของชาติตะวันตกส่วนใหญ่จะปล่อยจากความสูงระดับปานกลาง เพื่อให้สามารถโจมตีเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเขามองว่า แทบไม่มีโอกาสที่ F-16 จะสามารถใช้งานได้ดีในเขตแนวหน้า เพราะจะถูกระบบป้องกันภัยทางอากาศภาคพื้นดินของรัสเซียสอยร่วงเสียก่อน
- ขณะเดียวกัน สงครามที่กินเวลายืดเยื้อมาเกือบ 1 ปีก็แสดงให้เห็นว่า ระบบป้องกันภัยทางอากาศที่แข็งแกร่งของทั้งสองฝ่ายไม่ว่าจะเป็นยูเครนหรือรัสเซีย ก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ยังไม่มีฝ่ายใดสามารถชิงความได้เปรียบเหนือน่านฟ้าได้
- ฉะนั้นหากจะให้สามารถใช้งาน F-16 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยูเครนจะต้องบรรลุความเหนือกว่าทางอากาศในระดับหนึ่งก่อน หมายความว่ายูเครนจะต้องทำลายระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-400 ของรัสเซียให้ได้ รวมถึงระบบ S-300 ด้วย
- ด้วยเหตุนี้ นักวิเคราะห์จึงมองว่า การส่งแค่ F-16 ให้นั้นไม่ได้แปลว่าจะทำให้ยูเครนชิงความได้เปรียบไปทั้งหมด ฉะนั้นชาติตะวันตกจะต้องเพิ่มความช่วยเหลืออื่นๆ เพื่อเปิดทางให้ยูเครนบรรลุความได้เปรียบทางน่านฟ้าในแนวรบด้วย
อุปสรรคที่รออยู่
- นักวิเคราะห์กล่าวว่า แม้ในท้ายที่สุดชาติตะวันตกจะตัดสินใจจัดหา F-16 ให้กับยูเครนได้ตามที่หวัง แต่ยูเครนจะเผชิญกับอุปสรรคมากมาย ทั้งประเด็นด้านโลจิสติกส์ไปจนถึงการบำรุงรักษา โดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เคยเอ่ยปากว่า F-16 นั้นมีระบบที่ซับซ้อนมาก ทำให้ยากต่อการใช้งานและการซ่อมบำรุง
- ยูริ อิห์นัต (Yurii Ihnat) โฆษกกองบัญชาการกองทัพอากาศยูเครน กล่าวกับสำนักข่าว CNN ว่า ขั้นแรกนั้นยูเครนจะต้องเทรนทหารให้ใช้งาน F-16 ได้อย่างคล่องแคล่วเสียก่อน และการฝึกดังกล่าวอาจใช้เวลาตั้งแต่ 2-3 สัปดาห์ไปจนถึงนานหลายเดือน ตามแต่ประสบการณ์ของนักบิน
- ขณะที่ แพต ไรเดอร์ (Pat Ryder) โฆษกของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ยืนยันกับ CNN เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า เขาไม่เคยได้ยินข่าวเลยว่ามีนักบินยูเครนคนใดที่กำลังฝึกอยู่ในสหรัฐฯ
- ส่วนปัญหาต่อมาคือ ยูเครนจะต้องตัดสินใจว่าจะใช้งาน F-16 ที่ไหนและอย่างไรจึงจะเหมาะสม
- ที่ผ่านมานั้น ส่วนหนึ่งที่ฝูงบินของยูเครนรอดพ้นจากการโจมตีของรัสเซีย เพราะยูเครนใช้ฐานทัพอากาศที่มีขนาดเล็กกว่า แต่บรองก์เตือนว่าฐานทัพยูเครนส่วนใหญ่ที่พวกเขาใช้สำหรับปฏิบัติการแบบกระจายเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกโจมตีนั้น หากจะนำมาใช้กับเครื่องบินรบตามมาตรฐานตะวันตกแล้ว จะมีข้อด้อยในแง่ของพื้นผิวที่ขรุขระและรันเวย์ที่ค่อนข้างสั้น และหากยูเครนจะต้องสร้างฐานทัพใหม่เพื่อรองรับ F-16 ก็อาจถูกรัสเซียถล่มโจมตีเอาได้ง่ายๆ
- ส่วนปัญหาที่ใหญ่ที่สุดนั้น คือประเด็นในด้านการซ่อมบำรุงที่มีความซับซ้อนสูง ดังเช่นก่อนหน้านี้ที่สหรัฐฯ เคยลังเลที่จะส่งรถถัง M1 Abrams ให้ เพราะปัญหาในแง่ของความซับซ้อนในการดูแลเครื่องยนต์แบบกังหันก๊าซ
- ปัจจุบันมีหลายประเทศในยุโรปที่ใช้งาน F-16 รวมถึงประเทศใกล้เคียงอย่างโปแลนด์ ซึ่งแปลว่าหากเครื่องบินเกิดปัญหาขัดข้องรุนแรง ก็ยังสามารถจัดส่งไปในประเทศใกล้เคียงเพื่อซ่อมบำรุงได้ แต่สำหรับการดูแลรักษาและซ่อมบำรุงแบบวันต่อวันนั้น ยูเครนก็ยังต้องเป็นผู้รับผิดชอบอยู่ดี
- “เครื่องบินเหล่านี้มีความซับซ้อนอย่างไม่น่าเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของซอฟต์แวร์” บรองก์กล่าว “พวกมันได้รับการออกแบบและสร้างด้วยวิธีที่แตกต่างอย่างมากจากเครื่องบิน MiG-29 และ Sukhoi Su-27 ที่ช่างเทคนิคชาวยูเครนคุ้นเคยในแง่ของการปฏิบัติการและบำรุงรักษา” ฉะนั้นกว่าที่ช่างเทคนิคของยูเครนจะเข้าใจกลไกของ F-16 ก็อาจต้องใช้เวลาฝึกอบรมหลายเดือน หรืออาจต้องส่งช่างเทคนิคจากชาติตะวันตกเข้ามาในพื้นที่ แต่นั่นก็เสี่ยงจะถูกรัสเซียโจมตีอีก
ปัญหาทางการเมืองที่ยังไม่คลี่คลาย
- ไวนิงกากล่าวว่า เหนือกว่าปัญหาด้านโลจิสติกส์ คือเรื่องของปัญหาทางการเมือง
- ในฝั่งของเยอรมนีที่ถึงแม้จะไม่ได้ใช้งาน F-16 ได้ออกมายืนยันหนักแน่นว่า ทางการจะไม่มีการจัดส่งเครื่องบินรบรุ่นใดๆ ให้กับยูเครนแน่นอน โดย โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนีย้ำว่า NATO ไม่ได้ทำสงครามกับรัสเซีย และเยอรมนีจะไม่ยอมให้สงครามที่เกิดในยูเครนลุกลามบานปลายไปถึงระดับนั้น
- ส่วนสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ทางการจะพูดคุยเกี่ยวกับแนวคิดในการจัดส่งเครื่องบินรบกับยูเครนและชาติพันธมิตร โดยเน้นว่าการเจรจาจะเป็นไปด้วยความระมัดระวังอย่างสูง
- โดยนักวิเคราะห์มองว่า การมี F-16 ในครอบครองจะเปิดโอกาสให้ยูเครนสามารถโจมตีรัสเซียด้วยอาวุธที่ผลิตขึ้นในสหรัฐฯ ในพื้นที่ที่อยู่ห่างจากแนวหน้าในสมรภูมิรบ รวมถึงพื้นที่ที่อยู่นอกเหนืออาณาเขตของยูเครนด้วย
- ไวนิงกากล่าวว่า “หากมี F-16 ยูเครนสามารถบินไปยังกรุงมอสโกและทิ้งบอมบ์ใส่เครมลินได้เลย ผมไม่คิดว่ายูเครนจะทำจริงๆ หรอก แต่มันก็มีความเสี่ยงในแง่ดังกล่าว ซึ่งอาจนำไปสู่สถานการณ์ที่รุนแรงกว่าเดิม ซึ่งพวกเราทุกคนไม่อยากให้มันเกิดขึ้น”
- แต่ในอีกมุมหนึ่ง บรองก์กล่าวว่า การส่งมอบ F-16 ไม่น่าจะทำให้สถานการณ์ลุกลามบานปลายอย่างที่หลายฝ่ายกังวล เพราะเขามองว่าลำพังเครื่องบินรบรุ่นนี้ไม่ได้เป็นอาวุธโจมตีร้ายแรง นอกเสียจากว่าจะมีประเทศใดจัดหาอาวุธทำลายล้างอย่างจรวดร่อน (Cruise Missile) เสริมไปให้ด้วย ซึ่งจนถึงปัจจุบันก็ไม่เคยมีประเทศใดที่ส่งเสียงว่าจะจัดส่งอาวุธดังกล่าวให้
- ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่า หากจะลดความเสี่ยงต่อประเทศใดประเทศหนึ่ง การจัดส่ง F-16 จะต้องเป็นไปในลักษณะที่คล้ายคลึงกับรูปแบบการจัดส่งรถถัง Leopard 2 คือกลุ่มชาติพันธมิตรต้องร่วมใจกันส่งเป็นหมู่คณะ เพื่อไม่ให้ประเทศใดประเทศหนึ่งถูกมองว่าเป็นผู้ออกหน้าสนับสนุนยูเครนเพียงลำพัง
แฟ้มภาพ: Omar Marques / Getty Images
อ้างอิง:
- https://www.yahoo.com/now/little-increased-capabilities-high-risk-220837719.html
- https://www.cnbc.com/2023/01/26/ukraine-aims-for-f-16-fighter-jets-after-winning-battle-for-tanks.html
- https://www.reuters.com/world/europe/ukraine-sets-sights-fighter-jets-after-securing-tank-supplies-2023-01-25/
- https://www.bbc.com/news/world-europe-64446937
- https://edition.cnn.com/2023/01/26/europe/ukraine-tanks-fighter-jets-intl/index.html
- https://www.euronews.com/my-europe/2023/01/25/ukraine-will-need-fighter-jets-after-tanks-former-president-says
- https://www.voanews.com/a/germany-won-t-send-fighter-jets-to-ukraine-says-scholz/6938988.html
- https://www.politico.eu/article/ukraine-volodymyr-zelenskyy-russia-war-after-tanks-the-west-mulls-discussion-on-fighter-jets/
- https://www.bbc.com/thai/international-60704696