ข้อเสนอของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่ว่าอยากจะยึดครองและเป็นเจ้าของฉนวนกาซา พร้อมสนับสนุนให้ชาวปาเลสไตน์อพยพออกจากดินแดนนี้อย่างถาวรนั้น ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจากประชาคมโลก โดยเฉพาะประเทศในโลกอาหรับ
หลายฝ่ายมองว่า ข้อเสนอที่คลุมเครือนี้ของทรัมป์อาจสะท้อนถึงสัญญาณการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ เกี่ยวกับตะวันออกกลางครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษ พร้อมทั้งสร้างแรงกระเพื่อมกระทบกับแนวคิด ‘สองรัฐ’ (Two-State Solution) ที่มุ่งหวังจะสถาปนารัฐปาเลสไตน์ที่ประกอบด้วยฉนวนกาซาและเวสต์แบงก์ ขึ้นมาเคียงข้างอิสราเอล
ข้อเสนอนี้มีขึ้นขณะที่มีการหยุดยิงระหว่างอิสราเอลและฮามาส ท่ามกลางคำถามมากมายเกี่ยวกับอนาคตของฉนวนกาซาภายหลังความขัดแย้ง
ขณะที่ เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล กล่าวชื่นชมทรัมป์ว่าเป็นผู้นำที่คิดนอกกรอบและมองในมุมที่แตกต่าง ทั้งยังระบุด้วยว่าข้อเสนอนี้ของทรัมป์คุ้มค่าที่จะให้ความสนใจหรือน่าติดตาม
📍 ทำไมทรัมป์ต้องการให้สหรัฐฯ เข้ายึดครองฉนวนกาซา
เดิมทีฉนวนกาซาเคยถูกอียิปต์ยึดครองเป็นระยะเวลาเกือบ 2 ทศวรรษ ก่อนที่จะถูกอิสราเอลยึดครองในช่วงสงคราม 6 วันเมื่อปี 1967 โดยอิสราเอลพยายามชี้แจงว่า การยึดครองฉนวนกาซาสิ้นสุดลงตั้งแต่ปี 2005 หลังอิสราเอลยอมรื้อถอนชุมชนชาวยิวและถอนกำลังทางทหารออกจากพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งขณะนี้ราว 3 ใน 4 ของสมาชิกองค์การสหประชาชาติต่างรับรองสถานะความเป็นรัฐให้กับปาเลสไตน์ แม้ว่าสหรัฐฯ และอิสราเอลจะไม่ยอมรับก็ตาม
นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งมองว่าทรัมป์ในฐานะที่เป็นนักธุรกิจและนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ อาจมองเห็นประโยชน์หรือโอกาสที่สำคัญของสหรัฐฯ ในการถือครองดินแดนนี้ในระยะยาว ซึ่งอาจเป็นผลบวกต่อคนหลายกลุ่ม ทั้งยังอาจสะท้อนว่าแนวทางการทูตของสหรัฐฯ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาพิพาทระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ที่ดำเนินมานานหลายทศวรรษนั้นอาจล้มเหลวหรือยังไม่ประสบผลสำเร็จ แม้จะมีความพยายามผลักดันข้อตกลงสันติภาพหรือผลัดเปลี่ยนประธานาธิบดีสหรัฐฯ มาแก้ไขวิกฤตนี้กี่ยุคกี่สมัยแล้วก็ตาม แต่สุดท้ายสถานการณ์ก็ยังบานปลาย กลายเป็นเหตุถล่มโจมตีอิสราเอลครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2023 และเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามอิสราเอล-ฮามาสจนถึงปัจจุบัน
ทรัมป์เสนอให้ชาวปาเลสไตน์ทั้งหมดอพยพออกจากฉนวนกาซา และไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศอื่นๆ เป็นการถาวร โดยเฉพาะประเทศที่มีแนวคิดสนับสนุนชาวปาเลสไตน์อย่างอียิปต์และจอร์แดน
ผู้นำสหรัฐฯ ระบุว่า ขณะนี้ฉนวนกาซาได้รับความเสียหายอย่างหนักจากสงคราม ทั้งยังอ้างว่าเหตุผลเดียวที่จะทำให้ชาวปาเลสไตน์อยากกลับมาที่ฉนวนกาซาก็เป็นเพราะว่าพวกเขาไม่มีทางเลือกอื่น พร้อมระบุว่า สหรัฐฯ จะเข้ายึดครองฉนวนกาซา โดยจะพัฒนาดินแดนแห่งนี้ให้ปลอดภัยและเจริญรุ่งเรือง สร้างงานสร้างอาชีพ เก็บกู้ระเบิดและวัตถุอันตรายออกไปจากพื้นที่ สร้างเมืองและโครงสร้างพื้นฐานขึ้นใหม่จากซากปรักหักพัง จนกลายเป็นบ้านที่น่าอยู่ของประชากรโลก เป็นริเวียราของตะวันออกกลาง
ด้าน สตีฟ วิตคอฟฟ์ ผู้แทนพิเศษสหรัฐฯ ประจำตะวันออกกลาง คาดการณ์ว่า แผนยึดครองและพัฒนาฉนวนกาซาอาจใช้ระยะเวลานานหลายปี และในช่วงเวลานั้นชาวปาเลสไตน์จำเป็นจะต้องไปอาศัยอยู่ที่อื่น
โดยมีชาวปาเลสไตน์ตัดสินใจอพยพออกจากฉนวนกาซาและตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศอื่นๆ กว่า 150,000 คนนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2023
เมื่อถูกถามว่า ชาวปาเลสไตน์จะได้รับอนุญาตให้กลับมาอาศัยอยู่ที่ฉนวนกาซาหรือไม่ ทรัมป์ระบุว่า ประชากรโลกจะเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ที่นั่น ก่อนที่จะกล่าวเสริมว่า รวมถึงชาวปาเลสไตน์ด้วยเช่นกัน ก่อนที่ มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ จะออกมาแก้ต่างว่า ข้อเสนอดังกล่าวที่เสนอให้มีการโยกย้ายถิ่นฐานของชาวปาเลสไตน์ออกจากฉนวนกาซาจะเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น
แต่อย่างไรก็ตาม ผู้นำหลายชาติในโลกอาหรับออกมาปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว พร้อมทั้งระบุว่า ข้อเสนอของทรัมป์คุกคามเสถียรภาพของตะวันออกกลาง และปิดกั้นโอกาสในการเกิดสันติภาพและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
ขณะที่กลุ่มฝ่ายขวาจัดที่สนับสนุนเนทันยาฮูต่างแสดงความพอใจกับข้อเสนอที่สหรัฐฯ จะยึดครองฉนวนกาซา เพราะนั่นอาจมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงที่คณะรัฐมนตรีจะหลุดจากเก้าอี้ อีกทั้งยังช่วยทำให้อนาคตทางการเมืองของเนทันยาฮูน่าสนใจขึ้นอย่างมาก หลังได้รับกระแสกดดันจากสงครามอิสราเอล-ฮามาสที่ยืดเยื้อมานานกว่า 1 ปีแล้ว
📍 ทรัมป์สามารถยึดครองฉนวนกาซาได้หรือไม่ถ้าเขาต้องการ?
ความพยายามโยกย้ายประชากรโดยใช้กำลังหรือการบีบบังคับขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง อีกทั้งชาวปาเลสไตน์รวมถึงชาวอาหรับอาจมองว่าข้อเสนอนี้เป็นไปเพื่อขับไล่ชาวปาเลสไตน์ออกจากดินแดนบ้านเกิดของพวกเขาอย่างชัดเจน ซึ่งอาจนำไปสู่ความไม่พอใจและความไม่มีเสถียรภาพที่มากขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลาง
ผศ. ดร.มาโนชญ์ อารีย์ อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลาง แสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า การที่ทรัมป์จะยึดครองฉนวนกาซาเป็นเรื่องที่ ‘เกิดขึ้นได้ยาก’ เมื่อดูจากสิ่งที่นักข่าวถามเรื่องความเป็นไปได้ในการใช้กำลังทหาร ทรัมป์กลับตอบแบบแบ่งรับแบ่งสู้ว่า “ก็เป็นไปได้หากจำเป็น” แต่อาจารย์มองว่าการจะเข้ายึดครองพื้นที่จะทำไม่ได้เลยหากไม่ส่งทหารเข้าไป ดังนั้น ผศ. ดร.มาโนชญ์ จึงเชื่อว่าข้อเสนอนี้อาจเป็นแค่คำขู่มากกว่า และมีความเป็นไปได้ว่าการขู่รอบนี้อาจต้องการกดดันให้ฮามาสยอมรับข้อเสนอบางอย่าง
สอดคล้องกับความเห็นของ ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ นักวิจัยประจำ German Institute for Global and Area Studies ที่มองว่าการวิเคราะห์นโยบายทรัมป์ควรมองมิติว่าเขาต้องการอะไรจากสิ่งที่เขาพูด เพราะว่าคำสั่งพิเศษฝ่ายบริหาร (Executive Order) ที่เซ็นไปโดยมากเป็นการพูดบลัฟฟ์หรือขู่ขวัญให้กลัว เพื่อให้นำไปสู่การเจรจาบางอย่าง ซึ่งในที่นี้เป็นไปได้ว่าอาจเป็นการกดดันในขั้นตอนการเจรจาหยุดยิงเฟสที่ 2 กับฮามาส
ก่อนหน้านี้ทรัมป์ก็เคยผลิตซ้ำวาทกรรมเกี่ยวกับการขยายดินแดนของสหรัฐฯ ในทำนองเดียวกันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการที่ต้องการให้สหรัฐฯ เข้าควบคุมเหนือเกาะกรีนแลนด์ของเดนมาร์ก การขู่ยึดคลองปานามาให้กลับมาอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐฯ รวมถึงการเชิญชวนให้แคนาดาเข้ามาเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าทรัมป์หมายถึงสิ่งนั้นจริงๆ หรือจะผลักดันสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นจริงๆ หรือไม่ หรือทั้งหมดเป็นไปเพื่อผลประโยชน์บางอย่างในการเจรจาต่อรอง
ขณะที่ ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ยุทธศาสตร์ทหาร และความมั่นคง ระบุว่า ความเคลื่อนไหวของทรัมป์ก่อให้เกิดความกังวลไปทั่วโลก เพราะเท่ากับยืนยันว่าผู้นำสหรัฐฯ ละทิ้งชุดความคิดแบบเสรีนิยมในนโยบายต่างประเทศ โดยสะท้อนตัวตนของความเป็นทรัมป์ที่เชื่อว่า ‘สหรัฐฯ ไม่ต้องสนใจใคร’ สหรัฐฯ ไม่สนใจกฎกติการะหว่างประเทศ (Rule-Based International Order) แบบเดิมแล้ว และสหรัฐฯ อาจกลายเป็นตัวปัญหาเสียเอง
นอกจากนี้สิ่งที่เกิดขึ้นยังสะท้อนชุดความคิดแบบจักรวรรดินิยม (Imperialism) ที่มีการขยายดินแดนเป็นส่วนสำคัญของการสร้างจักรวรรดิไม่ต่างจากผู้นำรัสเซียและจีน ส่งผลให้โลกอาจเผชิญกับสภาวะที่รัฐมหาอำนาจทั้ง 3 ขับเคลื่อนด้วยมุมมองแบบจักรวรรดิ (Imperial Vision) ที่ต้องการมีดินแดนภายใต้อำนาจของตนเอง และไม่ยอมรับระเบียบแบบเดิมที่ถือเอาอธิปไตยของรัฐเป็นสำคัญ
อ.สุรชาติ ยังวิเคราะห์ต่อว่า กระแสยึดครองฉนวนกาซาจะทำให้กลุ่มขวาจัดชาวยิวเดินหน้าขยายนิคมชาวยิวมากยิ่งขึ้น เพราะถ้าชาวปาเลสไตน์ถูกผลักออก กลุ่มขวาจัดชาวยิวจะรุกเข้ายึดพื้นที่ดังกล่าวแทน โดยทรัมป์จะทำให้โลกตะวันตกกระอักกระอ่วน เพราะนโยบายสหรัฐฯ ไม่เป็นเสรีนิยม แต่เป็นจักรวรรดินิยม เช่น จีนและรัสเซีย ซึ่งจะทำให้ผู้นำอิสราเอลได้ใจที่จะใช้ไม้แข็งในการแก้ปัญหาในฉนวนกาซา เลบานอน และเขตเวสต์แบงก์ ทั้งหมดนี้จะทำให้สถานการณ์ในภูมิภาคตะวันออกกลางยุ่งยากยิ่งขึ้น อีกทั้งบทบาทของสหรัฐฯ ก็จะได้รับการยอมรับน้อยลงในประชาคมโลก
แฟ้มภาพ: Shutterstock, Reuters
อ้างอิง:
- https://www.bbc.com/news/articles/cn4z32y12jpo
- https://www.reuters.com/world/middle-east/hamas-official-says-trumps-remarks-about-taking-over-gaza-are-could-ignite-2025-02-05/
- https://edition.cnn.com/2025/02/05/politics/how-trump-decided-gaza-strip-take-over/index.html
- https://www.bbc.com/news/articles/c4g9xgj2429o