×

ย้อนรอย ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ กับเหตุผลที่ทนเจ็บเพื่อไปต่อ

18.01.2024
  • LOADING...

‘ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท’ นโยบายเติมเงินลงกระเป๋าประชาชนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระบบ คือนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน

 

โครงการดิจิทัลวอลเล็ตถูกพูดถึงจนเป็นที่รับรู้และมีปฏิกิริยาของสังคม ‘ครั้งแรก’ ในงานปราศรัยใหญ่ของพรรคเพื่อไทย ที่ธันเดอร์โดม สเตเดียม เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 โดย ‘เศรษฐา ทวีสิน’ หนึ่งในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย

 


 

เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย

เปิดตัวนโยบายโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทบนเวทีปราศรัยใหญ่ของพรรคเพื่อไทย

เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566

 

ช่างภาพ: ฐานิส สุดโต

 


 

‘เศรษฐา’ อดีตผู้บริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ กล่าวปราศรัยขณะนั้นว่า ตลอดชีวิตตนเองได้พบเจอกับความไม่เท่าเทียมทั้งทางฐานะและโอกาสที่ฝังลึกอยู่ในสังคมไทย ตนเองพยายามเข้าไปมีส่วนร่วมในการผลักดันความเท่าเทียมทางฐานะและโอกาสเสมอมา แต่ทางเดียวที่จะแก้ไขความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ได้คือภาครัฐที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง เพื่อให้ลูกหลานได้มีสังคมและชีวิตที่ดีกว่า

 

แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยจึงได้ประกาศขณะปราศรัยต่อหน้าคนกรุงเทพฯ หลายพันชีวิตว่า ในฐานะผู้นำประเทศไทยคนถัดไป เขาจะยกระดับเศรษฐกิจไทยด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง ด้วยการเติมเงิน ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ให้คนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปได้ใช้ซื้อของในชีวิตประจำวันจากร้านค้าในรัศมี 4 กิโลเมตร ตามที่อยู่บนบัตรประชาชน

 

“ผมขอประกาศ พรรคเพื่อไทยเราคิดใหญ่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนทั่วประเทศ เราจะเติมเงินดิจิทัลจำนวน 10,000 บาท” เศรษฐาประกาศบนเวทีด้วยน้ำเสียงอันหนักแน่น 

 

หลังจากที่พรรคเพื่อไทยได้ประกาศเดินหน้าหาเสียงในการเลือกตั้ง 2566 ด้วยนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท มีทั้งเสียงที่ ‘เห็นด้วย’ และ ‘ไม่เห็นด้วย’ จากนักวิชาการและนักการเมือง 

 

‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวของพรรค ได้แสดงความคิดเห็นว่า ไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์ แต่เชื่อว่า ‘ประชาชนไม่ใช่ยาจก’ 

 

ขณะที่ ‘ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์’ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก็มองว่า เมื่อได้ยินคำว่า 10,000 บาทก็มีความรู้สึกเหมือนมุกเดิมๆ ที่เคยทำมา เปลี่ยนจากกองทุนหมู่บ้านหมู่บ้านละ 1 ล้านบาทเป็นดิจิทัล 10,000 บาท

 

ทำให้ ‘เศรษฐา’ ต้องขนทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์ชี้แจงเป็นกรณีเร่งด่วนว่า การออกนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทนั้นเพราะเขาเชื่อว่า 8 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยบอบช้ำอย่างมาก ประชาชนรายได้ลด-รายจ่ายเพิ่ม เปรียบเหมือนอยู่ในภาวะซึมลึก ซึมยาว ซึมนาน จึงต้องมีนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 

 

“ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทเป็นการกระตุกเศรษฐกิจให้คนไข้ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาฟื้นลุกขึ้นมายืนได้ หากพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งได้จัดตั้งรัฐบาล นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตจะดำเนินการทันที” เศรษฐากล่าว 

 

จากนั้น ‘สนธิญา สวัสดี’ อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้ตรวจสอบนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทของพรรคเพื่อไทยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ปี 2560 หรือไม่ โดยอาศัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 224 เพื่อให้ กกต. ได้พิจารณาวินิจฉัยตรวจสอบตามมาตรา 244 (5) 

 

เนื่องจากทุกพรรคการเมืองที่จะเสนอนโยบายจะต้องชี้แจงเงินที่มา ความเสี่ยง และสิ่งที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการนั้นๆ และเมื่อใดที่นโยบายไม่สามารถทำได้จริง เท่ากับหลอกลวงเพื่อให้ได้คะแนนนิยม จะนำไปสู่ความผิดตามกฎหมายมาตรา 92 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง มีสิทธิที่จะถูกยุบพรรคได้

 

“ไม่อยากเห็นประเทศไทยเหมือนประเทศเวเนซุเอลา ที่ทำนโยบายประชานิยมจนทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ” สนธิญากล่าว

 


 

เศรษฐา ทวีสิน และ แพทองธาร ชินวัตร สองแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยแกนนำพรรค

ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนระหว่างติดตามผลการนับคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ 

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 

 

ช่างภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม

 


 

เดือนพฤษภาคม 2566 พรรคเพื่อไทยแพ้การเลือกตั้งในรอบสองทศวรรษ ตอนนั้นขณะที่พรรคก้าวไกลเดินหน้าเจรจาหาเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาล นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตก็ยังเป็นหนึ่งในนโยบายที่ถูกสังคมจับตามองว่าจะถูกสานต่อหรือไม่

 

ขณะเดียวกัน ที่ประชุม กกต. ได้พิจารณาไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย กรณีขอให้ตรวจสอบนโยบายหาเสียงกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาทของพรรคเพื่อไทยว่าเข้าข่ายสัญญาว่าจะให้ และหลอกลวงให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครตามมาตรา 73 (1) (5) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. 2561 หรือไม่ 

 

ทั้งนี้ กกต. เห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นนโยบายที่พรรคการเมืองใช้หาเสียงเมื่อได้เป็นรัฐบาลแล้ว จึงไม่อยู่ในข่ายฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้ง จึงมีมติยกคำร้อง

 

เดือนมิถุนายน 2566 ‘เผ่าภูมิ โรจนสกุล’ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมการเลขานุการและโฆษกคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ได้แถลงว่า พรรคเพื่อไทย ‘ต้องพับ’ นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เนื่องจากนโยบายดังกล่าวต้องใช้งบประมาณกว่า 5.6 แสนล้านบาท ขณะที่พรรคก้าวไกลในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาลต้องใช้เงินในปริมาณที่ใกล้เคียงกันสำหรับนโยบายด้านสวัสดิการเช่นกัน

 

เดือนกรกฎาคม 2566 หลังจากพรรคก้าวไกลไม่สามารถส่ง ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ เป็นนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ จึงได้ส่งไม้ต่อให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

 

เดือนสิงหาคม 2566 พรรคเพื่อไทยยืนยันอย่างเป็นทางการว่า ‘จะเดินหน้า’ นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตต่อไปแน่นอน ขณะนั้นได้คาดการณ์ว่าประชาชนจะได้เงินดิจิทัลวอลเล็ตในช่วงต้นปี 2567 ประมาณเดือนมกราคม หรือเดือนกุมภาพันธ์

 

เมื่อรัฐบาลออก ‘ยืนยัน’ ว่าจะสานต่อนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตให้ถึงฝัน ขณะเดียวกันก็ถูกตั้งคำถามถึง ‘เรื่องความเป็นไปได้’ จากกลุ่มบุคคลที่คัดค้านและไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว

 

เนื่องจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเป็นนโยบายที่ใช้งบประมาณค่อนข้างสูง และรัฐบาลยังไม่ได้แจกแจงถึงแหล่งที่มาของงบประมาณ แต่ให้ความมั่นใจเพียงอย่างเดียวว่าจะไม่มีการกู้เงิน

 


 

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี 

ขณะกำลังสนทนากับ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2023 

 


 

เดือนกันยายน 2566 เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้แสดง ‘ความกังวลใจ’ เกี่ยวกับแนวทางการดำเนินนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล โดยมองว่าแม้ตัวเลข GDP ในช่วงครึ่งปีแรกของไทยอาจดูไม่ค่อยสวยนัก แต่การบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวได้ดี ซึ่งสะท้อนว่าการบริโภคไม่ใช่หมวดที่จำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจในเวลานี้ 

 

ผู้ว่าการ ธปท. มองว่า การแจกเงินเป็นไปแบบเจาะจงเป้าหมายเฉพาะกลุ่ม หรือ Targeted ก็จะช่วยประหยัดงบประมาณได้มากกว่าการแจกแบบวงกว้าง เพราะไม่ใช่ทุกคนต้องการเงิน 10,000 บาท ขณะเดียวกันก็ ‘ไม่เห็นด้วย’ กับการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็น Means of Payment 

 

เดือนตุลาคม 2566 นักวิชาการและคณาจารย์เศรษฐศาสตร์ระดับแถวหน้าของประเทศไทยจำนวน 99 คน เช่น วิรไท สันติประภพ, ธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกแถลงการณ์ร่วมเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต พร้อมยก ‘8 เหตุผล’ ที่มองว่าเป็นนโยบายที่ ‘ได้ไม่คุ้มเสีย’

 

  1. เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในภาวะฟื้นตัว โดยสำนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวประมาณ 2.8% ในปี 2566 และขยายตัว 3.5% ในปี 2567 จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมากเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมามีการบริโภคส่วนบุคคลเป็นตัวจักรสำคัญ 

 

นอกจากนี้ การกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศอาจทำให้เกิดเงินเฟ้อสูงขึ้นมาอีก หลังจากเงินเฟ้อได้ลดลงจาก 6.1% มาอยู่ที่ 2.9% ในปีนี้ ท่ามกลางราคาพลังงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในระยะหลัง การกระตุ้นการบริโภคช่วงนี้อาจทำให้เงินเฟ้อคาดการณ์ (Inflation Expectation) สูงขึ้น นำไปสู่สภาวะขึ้นดอกเบี้ยในที่สุด

 

  1. เงินงบประมาณของรัฐมีจำกัดย่อมมีค่าเสียโอกาส การใช้เงินจำนวนมากถึง 5.6 แสนล้านบาทอาจทำให้รัฐเสียโอกาสการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในการสร้าง Digital Infrastructure หรือการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ล้วนสร้างศักยภาพในการเจริญเติบโตในระยะยาว แทนการใช้เงินเพื่อการกระตุ้นการบริโภคระยะสั้นๆ ซึ่งไม่สมเหตุสมผลต่อการสร้างภาระหนี้สาธารณะให้เป็นภาระแก่คนรุ่นต่อไป ค่าเสียโอกาสสำคัญคือการใช้เงินสร้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้ประชาชน

 

  1. การกระตุ้นเศรษฐกิจให้รายได้ประชาชาติ (GDP) ขยายตัว โดยรัฐแจกเงิน 5.6 แสนล้านบาทเข้าไปในระบบเป็นการคาดหวังเกินจริง เพราะปัจจุบันข้อมูลเชิงประจักษ์จากงานวิจัยทำให้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า ตัวทวีคูณทางการคลัง (Fiscal Multiplier) ที่เกิดจากการใช้จ่ายของรัฐในลักษณะเงินโอนหรือการแจกเงินมีค่าต่ำกว่า 1 และต่ำกว่าตัวทวีคูณทางการคลังสำหรับการใช้จ่ายโดยตรงและการลงทุนของภาครัฐ

 

การที่ผู้กำหนดนโยบายหวังว่านโยบายนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจจึงเป็นสิ่งเลื่อนลอย ไม่มีใครเสกเงินได้ ไม่มีเงินงอกจากต้นไม้ ไม่มีเงินที่ลอยมาจากฟ้า ไม่ว่าจะแอบซ่อนมาในรูปใดก็ตาม สุดท้ายประชาชนจะต้องจ่ายคืนเสมอ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น หรือราคาสินค้าแพงขึ้นเพราะเงินเฟ้อ อันเนื่องจากการเพิ่มปริมาณเงิน

 

  1. ในวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น เริ่มตั้งแต่ปี 2565 เพราะเงินเฟ้อสูงขึ้นมาก การก่อหนี้จำนวนมาก ไม่ว่ารัฐบาลจะออกพันธบัตรหรือกู้เงินจากรัฐวิสาหกิจ หรือกู้สถาบันการเงินของภาครัฐ ล้วนแต่จะทำให้รัฐบาลและคนทั้งประเทศต้องเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น 

 

หนี้สาธารณะของรัฐปัจจุบัน 10.1 ล้านล้านบาท หรือ 61.6% ของ GDP ต้องมีภาระจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้นในยามที่ต้องชำระคืนหรือกู้ใหม่ จึงมีผลต่อภาระเงินงบประมาณของรัฐในแต่ละปี โดยยังไม่นับเงินค่าดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตคนละ 10,000 บาทนี้ด้วย

 

  1. ในช่วงที่โลกเผชิญกับวิกฤตโรคระบาดและภาวะเศรษฐกิจถดถอย รัฐบาลแทบทุกประเทศต่างจำเป็นต้องขาดดุลการคลังและสร้างหนี้จำนวนมากเพื่อใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุข กระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดและภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลายประเทศได้แสดงเจตนารมณ์ที่ฉลาดรอบคอบ โดยลดการขาดดุลภาครัฐและหนี้สาธารณะลง (Fiscal Consolidation) เพื่อสร้าง ‘พื้นที่ว่างทางการคลัง’ (Fiscal Space) เอาไว้รองรับวิกฤตเศรษฐกิจในอนาคต 

 

นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทดูจะสวนทางกับสิ่งที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยมีอัตราส่วนรายรับจากภาษีเพียง 13.7% ของรายได้ประชาชาติ (GDP) ถือว่าต่ำกว่าประเทศอื่นๆ มาก การทำนโยบายการคลังโดยไม่รอบคอบระมัดระวังและไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคตยังจะส่งผลต่ออันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของประเทศ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการกู้เงินของทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนไทยสูงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็นด้วย

 

  1. การแจกเงินคนละ 10,000 บาทให้ทุกคนที่อายุเกิน 16 ปี เป็นนโยบายที่สร้างความไม่เป็นธรรมในสังคมอย่างยิ่ง เศรษฐีและมหาเศรษฐีที่อายุเกิน 16 ปีล้วนได้รับเงินช่วยเหลือทั้งๆ ที่ไม่มีความจำเป็น

 

  1. เมื่อประเทศเข้าสู่สังคมสูงวัย เช่น ประเทศไทย การเตรียมตัวทางด้านการคลังเป็นสิ่งจำเป็น ขณะที่จำนวนคนในวัยทำงานลดลง แต่สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ภาระการใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการและสาธารณสุขจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ผู้บริหารประเทศที่มองการณ์ไกลจึงควรใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า รวมถึงรักษาวินัยและเสถียรภาพทางด้านการคลังอย่างเคร่งครัดด้วยเหตุผลต่างๆ ข้างต้น

 

  1. ระบบบล็อกเชนปกติต้องทำการตรวจสอบความถูกต้องของทุกธุรกรรมโดยผู้ใช้ทุกคนที่เกี่ยวข้อง ข้อดีคือทำให้ไม่สามารถฉ้อฉลข้อมูลได้ ขณะเดียวกันก็เป็นจุดตายของระบบด้วย เพราะแต่ละธุรกรรมจะต้องใช้เวลาเฉลี่ยในการตรวจสอบ 1-1.5 ชั่วโมงต่อธุรกรรม ยิ่งใช้เวลามากขึ้น เมื่อจำนวนธุรกรรมและผู้ใช้เพิ่มขึ้น เวลาที่ใช้ก็จะยิ่งเพิ่มเป็นทวีคูณ จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้ในการเอามาใช้กับระบบซื้อ-ขายตามปกติ

 

จากนั้น ‘วิรังรอง ทัพพะรังสี’ ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ได้เชิญชวนประชาชนร่วมลงชื่อคัดค้านนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล เพื่อส่งต่อให้ผู้ตรวจการแผ่นดินใช้อำนาจส่งเรื่องไปยังศาลปกครองหรือศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวของรัฐบาลขัดต่อพระราชบัญญัติเงินตรา พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และบทบัญญัติในส่วนของหน้าที่ของรัฐหรือไม่

 

ตามด้วย ‘นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม’ ประธานพรรคไทยภักดี ได้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้พิจารณาไต่สวนและมีความเห็นส่งศาลปกครอง เพื่อระงับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล 

 

“ต้องการขอให้ระงับยับยั้งโครงการนี้ เพราะหากยังเดินหน้าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง” นพ.วรงค์ กล่าว

 

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งคณะกรรมการ 31 คนตรวจสอบนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตด้วย 

 


 

(จากซ้าย) เผ่าภูมิ โรจนสกุล, ดนุชา พิชยนันท์, เฉลิมพล เพ็ญสูตร, 

เศรษฐา ทวีสิน (ยืน), 

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์, ลวรณ แสงสนิท และ พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช 

ร่วมงานแถลงรายละเอียดนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท

เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 

 

ช่างภาพ: ฐานิส สุดโต

 


 

เดือนพฤศจิกายน 2566 นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง, พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี, ลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง, ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, เฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และ เผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แถลงรายละเอียดเกี่ยวกับการเติมเงินให้ประชาชนในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่าใช้งบประมาณทั้งสิ้น 600,000 ล้านบาท 

 

นายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อแจกเป็นเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทให้แก่คนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป รวม 50 ล้านคน เริ่มเดือนพฤษภาคม 2567

 

“ขอฝากนโยบายนี้ให้ประชาชนทุกคนร่วมกันใช้สิทธิด้วยความภาคภูมิใจ…” เศรษฐากล่าว

 

เมื่อรัฐบาลได้แถลงอย่างเป็นทางการว่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตจะมีการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทนั้น กลุ่มบุคคลที่คัดค้านนโยบายมองว่า ‘มีความสุ่มเสี่ยง’ เหมือนกับกรณี พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตีตกเนื่องจากเห็นว่า ‘ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน’

 

‘คำนูณ สิทธิสมาน’ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) แสดงความคิดเห็นว่า พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ตนเห็นว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 140 หาก พ.ร.บ. นั้นเป็นไปตามเงื่อนไข พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 53

 

แต่การตรากฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินตามมาตรา 53 ของกฎหมายดังกล่าวไม่ใช่ทำได้ทุกกรณี แต่มีเงื่อนไขกำกับไว้ให้ทำได้เฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน แต่นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตกลับไม่มีความจำเป็นเช่นนั้น  

 

ขณะที่ ‘ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล’ ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แสดงความคิดเห็นว่า พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทสำหรับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตไม่สามารถทำได้ โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องอาศัยแหล่งเงินกู้ต่างประเทศ และไม่มีความจำเป็นจะต้องนำเงินไปใช้ในต่างประเทศ 

 

‘ศรีสุวรรณ จรรยา’ ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 140 ประกอบมาตรา 53 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 หรือไม่ 

 


 

ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ 

 


 

อย่างไรก็ตาม ‘ธนินท์ เจียรวนนท์’ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ แสดงความเห็นถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทว่า ‘เห็นด้วย’ และ ‘สนับสนุน’ โดยเชื่อว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมทั้งเชื่อมั่นว่าประเทศไทยภายใต้การนำของรัฐบาลชุดใหม่จะต้องเจริญรุ่งเรืองแน่นอน

 

เดือนธันวาคม 2566 จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้ส่งความเห็นเกี่ยวกับการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงินในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งกฤษฎีกาจะส่งกลับมาในช่วงต้นปี 2567 ว่า ‘ทำได้’ หรือ ‘ทำไม่ได้’ พร้อมยืนยันว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตยังอยู่ในกรอบเวลาเดิม คือช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 เหมือนเดิม 

 

เดือนมกราคม 2566 ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ‘ขอเลื่อน’ การประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ครั้งที่ 1/2567 ออกไปก่อน เนื่องจากได้รับหนังสือจากกฤษฎีกา และจะมีข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ด้วย 

 

สำหรับเอกสาร ‘ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต’ ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หลุดเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้

 

ในการดำเนินโครงการฯ รัฐบาลต้องศึกษาและวิเคราะห์ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมว่าผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ จะไม่ตกแก่พรรคการเมือง หรือบุคคลรายใดรายหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง 

 

โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีศักยภาพมากกว่าผู้ประกอบการรายย่อย และบุคคลที่มิได้เป็นคนจนหรือมิใช่กลุ่มเปราะบางที่แท้จริง พร้อมกับต้องมีขั้นตอนหรือวิธีการที่เป็นรูปธรรมชัดเจน เพื่อให้โครงการฯ สามารถกระจายการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างทั่วถึง


 

ในการหาเสียงของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ต่อเมื่อพรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาลและได้มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 สำหรับโครงการดังกล่าวมีความแตกต่างกัน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ควรดำเนินการตรวจสอบว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ และนำ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาประกอบการพิจารณา มิฉะนั้นจะเป็นบรรทัดฐานสำหรับพรรคการเมืองที่สามารถหาเสียงไว้อย่างไรก็ได้ เมื่อได้รับเลือกตั้งแล้วไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม 


 

ขณะเดียวกัน จากตัวเลขภาวะเศรษฐกิจของหน่วยงานต่างๆ ที่ได้จากการศึกษา ตัวทวีคูณทางการคลัง รวมทั้งตัวบ่งชี้ภาวะวิกฤตของธนาคารโลกและ IMF ปรากฏว่าอัตราความเจริญเติบโตของประเทศไทยยังไม่เข้าข่ายประสบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจแต่อย่างใด เพียงแต่ชะลอตัวเท่านั้น 

 

ดังนั้น ในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืนจำเป็นต้องพิจารณาโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เช่น การบริโภค ภาคเอกชน อัตราการว่างงาน การใช้จ่าย การลงทุนภาครัฐ และการเพิ่มทักษะให้แก่แรงงาน เป็นต้น

 

การดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ โครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต จะต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าและความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลอดจนผลกระทบและภาระทางการเงินการคลังในอนาคต ภายใต้หลักธรรมาภิบาล 4 ด้าน คือ ความโปร่งใส การถ่วงดุล การรักษาความมั่นคงของระบบการคลัง และความคล่องตัว 

 

โครงการนี้มีผลเสียมากกว่าผลดี กล่าวคือ ต้องกู้เงินจำนวน 5 แสนล้านบาท ในขณะที่ตัวทวีคูณทางการคลังมีเพียง 0.4 การกู้เงินเป็นการสร้างภาระหนี้แก่รัฐบาลและประชาชนในระยะยาว ซึ่งจะต้องตั้งงบประมาณในการชำระหนี้จำนวนนี้เป็นระยะเวลา 4-5 ปี กระทบต่อตัวเลขการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ 


 

การดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาประเด็นความเสี่ยงด้านกฎหมายอย่างรอบคอบ ประกอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 (มาตรา 172), พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 (มาตรา 53), พ.ร.บ.เงินคงคลัง พ.ศ. 2491 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (มาตรา 4, 5, 6) ตลอดจนกฎหมายคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญและระเบียบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินโครงการเกิดประสิทธิภาพสูงสุดและเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย  

 

คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการประเมินความเสี่ยงในการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตอย่างรอบด้าน โดยกำหนดแนวทางหรือมาตรการในการบริหารความเสี่ยงและการป้องกันการทุจริต 

 

ตลอดจนมีกระบวนการในการตรวจสอบทั้งก่อน ระหว่าง และหลังจากการดำเนินโครงการฯ ซึ่งอาจพิจารณานำข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องการบูรณาการและป้องกันการทุจริตของโครงการภาครัฐ (โดยการติดตามประเมินผลการดำเนินงาน) ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2553 มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้โครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตสามารถดำเนินการได้อย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง 


 

การดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือประชาชนภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่เข้าขั้นวิกฤต ควรพิจารณากลุ่มประชาชนเป้าหมายที่เปราะบางที่สุดที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 อาทิ กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน

 

ในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้กับโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาถึงความจำเป็นและความเหมาะสม ตลอดจนระยะเวลาและงบประมาณที่ต้องใช้ในการพัฒนาระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และระยะเวลาในการดำเนินโครงการ ซึ่งเป็นการแจกเงินเพียงครั้งเดียว โดยให้ใช้จ่ายภายใน 6 เดือน การพิจารณาใช้แอปพลิเคชันเป๋าตังจะเป็นประโยชน์และเหมาะสมกว่า 

 

ขณะที่ ศิริกัญญา ตันสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่มีการเผยแพร่เอกสารของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่องโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่า ตนเองคิดว่าเป็นคำแนะนำที่รัฐบาลอาจจะรับฟังเอาไว้ แต่ไม่จำเป็นต้องทำตาม เรื่องของการดำเนินนโยบายมันเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลโดยตรง 

 

ศิริกัญญายังกล่าวแนะนำรัฐบาลว่า อยากให้รัฐบาลอยู่นิ่งๆ อยากให้คิดให้ถี่ถ้วนอีกครั้งว่ามันมีโอกาสที่จะเป็นไปได้ด้วยวิธีการใดบ้าง ตอนที่หาเสียงเลือกตั้งยังไม่มีอำนาจรัฐ ยังไม่มีแขนขาที่เป็นข้าราชการ อาจจะยังคิดไม่ออกว่าต้องทำด้วยวิธีการใด แต่วันนี้มีข้าราชการคอยมาเป็นแขนขา คอยช่วยคิดให้แล้ว ก็อยากให้อยู่นิ่งๆ แล้วคิดก่อนว่าจะเดินหน้าอย่างไรได้บ้าง หรือจำเป็นจะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีการใด 

 


 

เศรษฐา ทวีสิน, แพทองธาร ชินวัตร และ ชัยเกษม นิติสิริ 

3 แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย และแกนนำพรรค

ที่มีฉากหลังเป็นป้ายหาเสียง ‘นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต’ 

ก่อนเข้าอาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 

เพื่อรับสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ 

เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2566

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 


 

ขณะที่ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์​ รัฐมนตรี​ช่วยว่าการ​กระทรวง​การคลัง​ แถลงยอมรับว่าเห็นเอกสารของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ที่หลุดออกมา และได้ดูเนื้อหาโดยละเอียดแล้ว ซึ่งถือว่าเขียนได้ชัดเจนและแรงพอสมควรในการคัดค้านการเดินหน้าโครงการนี้ รัฐบาลก็จะรับฟังเพื่อนำมาประกอบการพิจารณา 

 

ตอนนี้ยังไม่แน่ชัดว่าเป็นเอกสารของจริงที่จะส่งให้รัฐบาลหรือไม่ จึงต้องรอดูว่าคณะกรรมการชุดใหญ่ของ ป.ป.ช. จะมีมติส่งความเห็นมาให้รัฐบาลอย่างเป็นทางการเมื่อใด แต่ยืนยันว่ารัฐบาลมีหน้าที่รับฟังทุกความเห็น และต้องยอมรับว่าไม่มีใครเห็นพ้องต้องกันในทุกเรื่อง แต่อยากให้เห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชน

 

“วันนี้ถ้าดูกรอบเวลาไม่น่าจะทันเดือนพฤษภาคม หากไม่ทันก็ต้องเรียนด้วยความเคารพ แต่รัฐบาลยืนยันว่าเราจะต้องเดินหน้านโยบายแจกเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตต่อไป” จุลพันธ์กล่าว 

 

จุล​พันธ์กล่าวย้ำว่า ขณะนี้ตนเอง ‘ยังไม่เห็น’ โอกาสที่ต้องยกเลิกโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ขณะเดียวกันรัฐบาลชุดนี้ไม่ได้เป็นอนุบาลทางการเมือง มองเห็นและเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นว่าคืออะไร และพยายามทำทุกอย่างให้เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 


 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising