×

ไทยกำลังเผชิญกับ 5 ความเปราะบางทางเศรษฐกิจ และ 1 ความเปราะบางทางสังคมฉุดรั้งการเติบโต

12.10.2021
  • LOADING...
economic vulnerability

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้เผยแพร่บทความวิจัยในหัวข้อ ‘โครงสร้างเศรษฐกิจสังคมไทย: ความเปราะบางท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง’ ซึ่งฉายภาพ 5 ความเปราะบางทางเศรษฐกิจ และอีก 1 ความเปราะบางทางสังคมที่ประเทศไทยต้องเผชิญจากความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในบริบทโลกใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม โดยความเปราะบางทางเศรษฐกิจที่ไทยจะต้องเผชิญ 5 ประการประกอบด้วย

 

1. เศรษฐกิจไทยเปราะบางต่อความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะการพึ่งพาต่างประเทศในระดับสูง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ความเปราะบางจากการพึ่งพิงจีนและสหรัฐอเมริกาในหลายด้าน อาทิ การส่งออกไปยังสองประเทศที่มีมูลค่ารวมกันเกือบ 1 ใน 3 ของการส่งออกทั้งหมด การท่องเที่ยวที่พึ่งพิงนักท่องเที่ยวจีนสูงถึง 28% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด

 

2. หากปรับตัวไม่ทันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี อาจทำให้ไทยตกขบวนรถไฟได้ โดยคณะผู้วิจัยยกตัวอย่างความเปราะบางของโครงสร้างการส่งออกไทย ที่พบว่ามีมูลค่าเพิ่มที่ไทยสร้างได้อยู่ในระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นกลางและขั้นสูง ชี้ให้เห็นว่าการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างชาติมายังธุรกิจไทยยังมีไม่สูงนัก

 

3. ภาวะโลกร้อนจะส่งผลใหญ่หลวงต่อไทยหากไม่เร่งปรับตัวตั้งแต่วันนี้ โดยคณะผู้วิจัยยกตัวอย่างที่อาจยังไม่เคยกล่าวถึงกันมากนัก คือความเปราะบางของภาคอุตสาหกรรมไทยที่กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อน้ำท่วมจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น โดยมากกว่า 1 ใน 3 ของแรงงานนอกภาคเกษตรทั้งประเทศ มากกว่า 20% ของจำนวนสถานประกอบการ และมากกว่า 10% ของธุรกิจในอุตสาหกรรมส่งออกหลักอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว

 

4. การเข้าสู่สังคมสูงอายุส่งผลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจไทยหลายด้าน โดยหากมองความเปราะบางของโครงสร้างแรงงานไทย พบว่ามีสัดส่วนแรงงานสูงวัย (มากกว่า 50 ปี) เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าในช่วงไม่ถึง 20 ปีที่ผ่านมา โดยเพิ่มจาก 3.4% ในปี 2545 มาสูงถึง 9.9% ในปี 2562

 

5. วิกฤตโควิดได้สร้างหลายแผลเป็นต่อเศรษฐกิจไทย ตัวอย่างสำคัญคือ ความเปราะบางทางการเงินของครัวเรือนไทยที่เพิ่มขึ้น โดยพบว่าครัวเรือนไทยเริ่มผิดนัดชำระหนี้ และมีหนี้เสียเป็นวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกลุ่มผู้กู้อายุน้อย ซึ่งมีหนี้เร็วและมีสัดส่วนผู้กู้ที่มีหนี้เสียมากอยู่แล้วก่อนเกิดวิกฤต

 

สำหรับประเด็นทางสังคม งานวิจัยนี้ได้ฉายภาพความเปราะบางของสังคมไทยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น และอาจเป็นอุปสรรคสำคัญในการที่หลายภาคส่วนจะร่วมมือกันดำเนินนโยบายเพื่อแก้ไขความเปราะบางทางเศรษฐกิจได้อย่างลุล่วง

 

คณะผู้วิจัยได้ทำการสำรวจออนไลน์ในโครงการ ‘คิดต่าง อย่างมีภูมิ’ ตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงกันยายน 2564 จากกลุ่มตัวอย่างกว่า 2,000 รายที่สามารถสะท้อนความหลากหลายทางเศรษฐกิจและสังคมของไทยได้ และพบว่าความสมานฉันท์ในสังคมไทยอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับคุณภาพสังคมด้านอื่นๆ โดยเฉพาะในมิติของความเชื่อมั่นในองค์กรที่อยู่ในระดับต่ำในกลุ่มคนรุ่นใหม่ 

 

หากวัดจากทัศนคติและค่านิยม ผู้วิจัยพบว่าคนรุ่นใหม่มีค่านิยมค่อนไปทางเสรีนิยมมากกว่าคนรุ่นเก่าอย่างมีนัยสำคัญ และความ ‘คิดต่าง’ ของคนในสังคมอาจนำไปสู่ความแตกแยกทางสังคมได้ เพราะกลุ่มที่คิดต่างมักมีความรู้สึกไม่ดีต่อคนต่างความคิด และมองความต่างระหว่างสองกลุ่มมากเกินกว่าความเป็นจริง

 

นอกจากนั้น คณะผู้วิจัยยังพบว่า ความต่างวัยและพฤติกรรมการบริโภคสื่อด้านเดียวมีความสัมพันธ์ต่อความแตกแยกทางสังคมอย่างมีนัยสำคัญ ในทางกลับกัน ความมั่นคงในชีวิต การพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนที่คิดต่าง อาจช่วยลดความแตกแยกได้ และที่น่าสนใจคือ คนที่คิดต่างอาจไม่ได้ต่างอย่างที่คิด โดยแท้จริงแล้วคนสองกลุ่มมีความเห็นตรงกันในเชิงนโยบายหลายประการ เช่น รัฐควรจัดเก็บภาษีให้มากขึ้นเพื่อพัฒนาบริการขั้นพื้นฐานให้มีคุณภาพสูง คะแนนเสียงของทุกคนควรมีค่าเท่ากันในการเลือกตั้ง เป็นต้น

 

ทีมวิจัยสรุปว่า ผลการศึกษานี้สะท้อนความเปราะบางของสังคมไทย ซึ่งหากไม่แก้ไขก็อาจเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาความเปราะบางทางเศรษฐกิจ นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้น ดังนั้นการปลดล็อกความเปราะบางทางสังคมถือเป็นกุญแจสำคัญ และสามารถเริ่มแก้ไขได้ด้วยการ ‘คิดต่าง อย่างมีภูมิ’ โดยเปิดใจที่จะมองเห็น เข้าใจมุมมองคนคิดต่าง รับฟังคนรอบข้าง คนคิดต่าง รับข้อมูลหลากหลาย พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และร่วมมือแก้ไขปัญหาด้วยกันระหว่างหลายภาคส่วน เพื่อสร้าง ‘ความสมานฉันท์ในสังคมไทย’ ซึ่งจะนำมาสู่การแก้ไขปัญหาความเปราะบางของประเทศอย่างตรงจุด ทันเวลา และนำมาสู่สังคมไทยที่มีการพัฒนาที่ทั่วถึงและยั่งยืน

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X