×

ฟางเส้นสุดท้ายของ ‘พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์’ หลังเจอคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน กับอนาคตในอาชีพตำรวจ

โดย THE STANDARD TEAM
06.08.2024
  • LOADING...

วันนี้ (6 สิงหาคม) เป็นระยะเวลา 104 วันที่ พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ หรือ ก.พ.ค.ตร. 

 

เป้าหมายเพื่อขอให้วินิจฉัยว่า คำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนที่ลงนามโดย พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ณ ขณะนั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะมองว่าตนเองนั้นไม่ได้รับความเป็นธรรมจากคำสั่งที่เกิดขึ้น

 

จนท้ายที่สุดไม่ต้องรอให้ครบกรอบเวลา 120 วัน ในวันนี้ผลวินิจฉัย ก.พ.ค.ตร. ได้ตอกย้ำตามคณะอนุกรรมการข้าราชการตำรวจเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัย (อนุ ก.ตร.วินัย) และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ว่าคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนนั้น ‘ชอบด้วยกฎหมาย’ และ ‘ใช้ดุลยพินิจที่เหมาะสม’

 

ผล ก.พ.ค.ตร. ครั้งนี้จะใช่บทสรุปหรือฉากสุดท้ายในอาชีพตำรวจของ พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ หรือไม่

 

THE STANDARD ชวนย้อนดูเหตุการณ์ที่ผ่านมากว่า 100 วัน ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง และจากนี้จะไปจบลงที่ตรงไหน

 


 

104 วันเพื่อคำสั่งที่มองว่าไม่เป็นธรรม

 

  • 18 เมษายน 

พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ ในขณะนั้นเป็นรักษาการ ผบ.ตร. มีคำสั่งให้ พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ ออกจากราชการไว้ก่อน พร้อมตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง เนื่องมาจากมีหมายจับคดีอาญาเกี่ยวพันกับคดีเว็บพนันออนไลน์

 

  • 25 เมษายน 

พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ เดินทางเข้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติยื่นอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค.ตร. และร้องเรียนต่อ ก.ตร. มองว่าคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนเป็นไปโดยมิชอบ พร้อมแสดงแผนผังชุดข้อมูล ‘ขบวนการ 4×100 สยบปีกพระพรหม’ ขยายความกลุ่มนายตำรวจชุดตรวจค้นบ้าน ชุดออกหมายเรียก-ขอหมายจับ จนไปถึงการที่รักษาการ ผบ.ตร. ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง และสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน

 

  • 29 เมษายน 

คณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงเรียกประชุมเพื่อกำหนดแนวทางในการสอบสวน พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ พร้อมพวก 5 คน เป็นครั้งแรก สืบเนื่องจากตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรปราการ มีคำสั่งที่ 746/2566 ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2566 และคำสั่งที่ 114/2567 ลงวันที่ 6 มีนาคม 2567 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน พ.ต.ท. คริษฐ์ ปริยะเกตุ (ผู้ใต้บังคับบัญชา พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์) 

 

จากกรณีต้องหาคดีอาญาในความผิดฐานสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และได้มีการกระทำผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน และร่วมกันฟอกเงิน ตามคดีอาญาที่ 391/2566 ของสถานีตำรวจนครบาล (สน.) เตาปูน และตามหมายจับของศาลอาญา ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2566

 

  • 30 เมษายน

พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ ร้องคัดค้านกรรมการในคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงบางราย ให้เหตุผลว่าเป็นคู่ขัดแย้งกับตนเอง เกรงว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม

 

  • 13 พฤษภาคม 

สำนักงานตำรวจแห่งชาติยื่นเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ตีความคำสั่งกรณีให้ พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ ออกจากราชการไว้ก่อน (เป็นครั้งแรกในการยื่นเรื่องให้ตีความคำสั่งให้ออกจากราชการของตำรวจชั้นผู้ใหญ่) 

 

  • 16 พฤษภาคม 

คณะกรรมการสอบสวนความขัดแย้ง 2 นายพล (พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. และ พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์) ขอขยายเวลาสอบเพิ่มอีก 30 วัน หลังพบข้อมูลเงินซับซ้อน (แต่งตั้งเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567)

 

พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ ได้ยื่นถอนฟ้อง พล.ต.ท. ธิติ แสงสว่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) กับพวก รวม 30 นาย ในฐานความผิดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ จากการทำคดีเว็บพนันเครือข่ายมินนี่

 

  • ช่วงเดือนพฤษภาคม 

พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ จัดกิจกรรมรณรงค์ให้ประชาชนร่วมลงชื่อกล่าวหาถอดถอนกรรมการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ต้องสงสัย ทุจริตต่อหน้าที่ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ภายใต้หัวข้อ ‘ปฏิบัติการกวาดบ้านให้ ป.ป.ช.’ โดยยื่นหนังสือถึงประธานรัฐสภา

 

  • 5 มิถุนายน 

คณะทำงานสอบสวนคดีเว็บพนันออนไลน์เครือข่ายมินนี่ ไม่ร่วมประชุมกับ ป.ป.ช. พร้อมยื่นคำชี้แจงขอสำนวนคดีคืนจาก ป.ป.ช. ยืนยันว่าเป็นอำนาจของตำรวจ

 

  • 12 มิถุนายน 

คณะกรรมการสอบสวนความขัดแย้ง 2 นายพล สอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว

 

  • 19 มิถุนายน 

ก.พ.ค.ตร. ให้ พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ ทำคำแก้อุทธรณ์ส่งให้ทางคณะกรรมการเพื่อรวบรวมพร้อมพยานหลักฐาน ส่งให้กับคู่กรณี (พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์) ทั้งนี้ในสำนวนยื่นอุทธรณ์ของ พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ มีกรรมการ ก.พ.ค.ตร. 1 คนที่ขอถอนตัวออกไป 

 

  • 20 มิถุนายน 

วิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี นำแถลงผลสรุปความขัดแย้ง 2 นายพล โดยส่ง พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ กลับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วน พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ ให้รอผลวินิจฉัย ก.พ.ค.ตร.

 

  • 21 มิถุนายน 

เพจเฟซบุ๊ก ‘สุรเชษฐ์ หักพาล’ เปิดให้ hakparn.com เป็นพื้นที่ให้ประชาชนส่งเรื่องร้องเรียนต่างๆ พร้อมประกาศกลับมาทำงานตำรวจ

 

  • 22 มิถุนายน  

พล.ต.อ. เอก อังสนานนท์ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ผู้ทรงคุณวุฒิ ระบุว่า ข้อสังเกตของคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนของ พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ ไม่ใช่ความเห็น (หากเป็นความเห็นต้องปฏิบัติตาม) 

 

ขณะเดียวกัน อนุ ก.ตร.วินัย มีมติว่า คำสั่งให้ พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ ออกจากราชการไว้ก่อน ชอบด้วยกฎหมาย 

 

  • 24 มิถุนายน 

ผู้ช่วย ผบ.ตร. นำคณะทำงานหารือปมคำสั่งออกจากราชการไว้ก่อนของ พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ ว่าถูกต้องหรือไม่ ตามคำแนะนำคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อเสนอ พล.ต.อ. ต่อศักดิ์

 

  • 25 มิถุนายน 

พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ ยื่นหนังสือถึง พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ เพื่อให้พิจารณาเพิกถอนคำสั่งการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยและให้ออกจากราชการไว้ก่อนของตนเอง

 

ระบุในท้ายหนังสือร้องเรียนว่า หาก ผบ.ตร. ไม่ดำเนินการหรือประวิงเวลา จะเข้าข่ายกระทำความผิดตามมาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

 

  • 26 มิถุนายน 

วงประชุม ก.ตร. เห็นชอบว่าคำสั่งให้ พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ ออกจากราชการไว้ก่อน ชอบด้วยกฎหมาย

 

  • 3 กรกฎาคม 

พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ ยื่น 2 เรื่องต่อ ป.ป.ช. คือ คดีฟอกเงินที่ สน.เตาปูน ดำเนินการ และยื่นกล่าวหานายกรัฐมนตรี กรณีแต่งตั้ง พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ เป็น ผบ.ตร. โดยมิชอบ (วันที่ 22 เมษายน ได้ยื่นฟ้องไปแล้ว และถอนฟ้องในวันที่ 23 เมษายน)

 

  • 8 กรกฎาคม 

คณะพนักงานสอบสวนคดีเว็บพนันเครือข่ายมินนี่ นำสำนวนคดีที่มีชื่อผู้ใต้บังคับบัญชาของ พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ ส่งมอบให้ ป.ป.ช.  

 

  • 30 กรกฎาคม

ก.พ.ค.ตร. พิจารณาวินิจฉัยการอุทธรณ์คำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนของ พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ ครบองค์คณะ 6 คน พร้อมเชิญคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายให้ข้อมูลด้วยวาจา

 

  • 6 สิงหาคม

ที่ประชุม ก.พ.ค.ตร. มีคำวินิจฉัยว่า คำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนของ พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ ที่กฎหมายและกฎ ก.ตร. กำหนด และเป็นการใช้ดุลยพินิจที่เหมาะสม จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

 

90 วันกับฟางเส้นสุดท้าย

 

ถึงแม้คำสั่งให้ ‘ออกจากราชการไว้ก่อน’ ที่ถูกวินิจฉัยจาก ก.พ.ค.ตร. ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นศาลปกครองในองค์กรตำรวจ จะมองว่าชอบด้วยกฎหมาย พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ ต้องออกจากราชการ 

 

แต่ตราบใดที่นายกรัฐมนตรียังไม่นำความกราบบังคมทูลให้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พ้นจากตำแหน่งตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ จะยังคงสถานะข้าราชการตำรวจและรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

 

ขณะที่ฟางอีกเส้นหนึ่งที่ พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ จะคว้าไว้ได้คือ การฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุดภายในระยะเวลา 90 วันนับแต่วันที่ทราบคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร. เพื่อขอให้ศาลยกเลิกคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน และขอให้มีคำสั่งคุ้มครอง ทุเลาบังคับคดี คืนสิทธิความเป็นตำรวจ และตำแหน่งรอง ผบ.ตร. ของตัวเอง 

 

แต่ฟางที่กล่าวมานี้อาจไม่ได้คว้ามาง่ายนัก เพราะเมื่ออ้างอิงจากหลายกรณีที่ผ่านมาที่หลายนายพลยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด ต่างก็ต้องใช้เวลาหลายปี เกือบทั้งหมดตัวคดีเองก็จบไม่ทันการเกษียณอายุราชการ 

 

การที่ พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ มีกำหนดเกษียณอายุราชการในปี 2574 เท่ากับว่ามีเวลาอีก 7 ปีในการต่อสู้เพื่อตัวเอง หากจะมองว่าเหลือเวลาอีกนาน ก็มองได้ แต่หากมองว่าเหลือเวลาไม่นานพอก็มีหลายกรณีเป็นตัวอย่างให้เห็น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising