- วันนี้ (28 พฤษภาคม) เวลา 13.30 น. ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ แถลงข่าวการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ทางเลือก Sinopharm มีชื่อทางการว่า ‘BBIBP-CorV’ เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated Vaccine) เช่นเดียวกับ Sinovac และ Covaxin เป็นวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติใช้ในกรณีฉุกเฉินจากองค์การอนามัยโลก (WHO) สามารถฉีดได้ตั้งแต่กลุ่มผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยไม่มีข้อบ่งชี้ที่จำกัดเรื่องอายุ
- นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการ อย. กล่าวในงานแถลงข่าวว่า วันนี้ อย. ได้อนุมัติการขึ้นทะเบียนวัคซีน Sinopharm ที่มีการยื่นนำเข้าโดยบริษัท ไบโอเจเนเทค จำกัด สดๆ ร้อนๆ ในเวลา 3 นาทีก่อนเที่ยง (11.57 น.) ขณะที่ อนุทิน ชาญวีรกูล กล่าวว่า ไม่ทราบว่าวันนี้จะเป็นเหตุบังเอิญหรือความโชคดี เพราะวันนี้ Sinopharm ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย. แล้ว
- เลขาธิการ อย. ยืนยันว่า วัคซีน Sinopharm ชุดนี้เป็นวัคซีนที่ผลิตโดยสถาบันชีววัตถุแห่งกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน (BIBP) ซึ่งได้การรับรองจากองค์การอนามัยโลกเพื่อใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน สาเหตุที่ต้องบอกแหล่งผลิตเพราะวัคซีน Sinopharm มี 2 ตัว อีกตัวหนึ่งผลิตที่อู่ฮั่น (WIBP) ซึ่งยังไม่ได้รับการรับรองจาก WHO
- นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดเผยว่า เบื้องต้นจะมีการนำเข้าช่วงเดือนมิถุนายนนี้ ประมาณ 1 ล้านโดส
- การกระจายวัคซีนจะกระจายให้กับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่สนใจจะจัดซื้อพร้อมประกันวัคซีน ซึ่งจะมีการกำหนดราคาขายราคาเดียวกันทั่วประเทศต่อไป
- นพ.นิธิ ย้ำว่าวัคซีน Sinopharm จัดหามาโดยงบประมาณรายได้ของราชวิทยาลัยฯ เองและเป็นวัคซีนทางเลือก ซึ่งจะไม่ปนกับวัคซีนที่รัฐบาลจัดมาให้ประชาชนทั่วไป
- ถ้ามีหน่วยงานไหนต้องการจะขอซื้อต้องมาติดต่อที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยที่มีติดต่อมาแล้วคือ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พร้อมย้ำว่าสถาบันจะไม่แสวงหากำไรจากการดำเนินการนี้
- คนที่ลงทะเบียนฉีดวัคซีนกับสถาบันจุฬาภรณ์จะได้ฉีดวัคซีนฟรีของรัฐบาล คือ Sinovac หรือ AstraZeneca ไม่ใช่ Sinopharm
- เมื่อถามราคาเบื้องต้น นพ.นิธิกล่าวว่า ราคาเบื้องต้นไม่เกิน 1,000 บาท รวมค่าประกัน
- กรณีหลังฉีดวัคซีน Sinopharm แล้วเกิดความเสียหายขึ้น ยืนยันว่าวัคซีนนี้จัดซื้อมาในราคารวมค่าประกันอยู่แล้ว
- ส่วนบริษัทเอกชนที่อ้างว่าสามารถนำเข้าวัคซีนSinopharm ได้ 20 ล้านโดสมาติดต่อกับรัฐบาลแต่ถูกปฏิเสธนั้นไม่เกี่ยวข้องกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
- เมื่อถามว่านี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของวัคซีนทางเลือกให้เอกชนรายอื่นๆ นำเข้ามาได้ใช่หรือไม่ นพ.นิธิยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้ห้ามหรือกีดกัน แต่เอกชนที่ติดต่อไปเข้าไปไม่ได้เพราะเขาไม่คุยด้วย การที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ทำได้เพราะเป็นหน่วยงานที่รับรองโดยรัฐ
พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ