×

สรุปประเด็นถกสถานะ ‘Sex Worker’ ที่รัฐต้องเหลียวแล ปิดทางฉวยโอกาสปล่อยเป็นธุรกิจสีเทา

20.12.2021
  • LOADING...
Sex Worker

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่พรรคเพื่อไทยมีการเสวนาหัวข้อ ‘Sex work is work: โสเภณีก็เสรีไปเลยสิค้า’ เนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อผู้ค้าบริการทางเพศสากล วิทยากรประกอบด้วย ณฤดี จินตวิโรจน์ สมาชิก The Change Maker ผู้เสนอนโยบายการค้าบริการถูกกฎหมาย, สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) และ จักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส. เชียงใหม่ ทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ซึ่งติดภารกิจที่รัฐสภา แต่ส่งข้อความแสดงความเห็นมายังผู้ดำเนินรายการ ดำเนินรายการโดย ชานันท์ ยอดหงษ์ หรือ ปกป้อง ผู้รับผิดชอบนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลายทางเพศ พรรคเพื่อไทย 

 

ชานันท์กล่าวว่า วันยุติความรุนแรงต่อผู้ค้าบริการทางเพศสากล 17 ธันวาคม มีที่มาเนื่องจากเป็นวันรำลึกเหตุการณ์ความรุนแรงที่ Sex Worker ถูกฆาตกรรมต่อเนื่องที่อเมริกาในปี 1982 มี Sex Worker จำนวน 4 คนที่ถูกรัดคอ และฆาตกรโยนศพทิ้งแม่น้ำกรีน สื่อตั้งสมญานามให้ว่า นักฆ่าแห่งแม่น้ำกรีน (The Green River Killer) ตลอดระยะเวลาที่ยังไม่พบฆาตกรต่อเนื่อง มี Sex Worker ถูกฆ่าถึง 48 ศพ ครอบครัว และองค์กรต่างๆ ที่สนับสนุนสิทธิผู้ทำอาชีพนี้จึงกำหนดเป็นวันรำลึกถึงผู้ตกเป็นเหยื่อเพราะเป็นการฆ่าที่มองคุณค่าความเป็นคนไม่เท่ากัน ฆ่าด้วยความเกลียดชัง

 

ชานันท์กล่าวอีกว่า บางคนมองว่าการทำให้ Sex Worker ถูกกฎหมายจะไปสั่นคลอนจริยธรรมศีลธรรมอันดีของสังคม แต่ที่จริงแล้วทุกอาชีพก็มีคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นคนเช่นเดียวกัน หากทำให้เป็นเรื่องผิดกฎหมายก็จะมีผู้ใช้ช่องทางในธุรกิจสีเทาสีดำเรียกส่วยเอารัดเอาเปรียบข่มขู่หาประโยชน์จากช่องทางนี้ หากทำให้เป็นเรื่องถูกกฎหมายก็จะยุติการฉวยโอกาส ยุติความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับอาชีพ Sex Worker ซึ่งพรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ เนื่องจากเป็นเรื่องปากท้องและศักดิ์ศรีความเป็นคน       

 

  • อาชีพที่ควรได้รับการยอมรับ 

 

ณฤดี จินตวิโรจน์ สมาชิก The Change Maker ผู้เสนอนโยบายการค้าบริการถูกกฎหมาย กล่าวว่า จากการได้ไปสัมภาษณ์พบปัญหาว่ามีผู้ขายบริการถูกทำร้ายร่างกายและถูกบังคับให้ทำนอกเหนือจากข้อตกลงกับลูกค้า กรณีผู้ขายบริการถูกผู้ซื้อบริการทำร้าย เมื่อไปแจ้งตำรวจว่าถูกทำร้ายร่างกาย ตำรวจจะจับปรับปล่อยผู้ขายบริการ กลับกลายเป็นว่าผู้ถูกทำร้ายร่างกายถูกจับเพราะทำผิดข้อหาค้าประเวณี ถูกปรับเป็นเงิน 500 บาท หลังจากนั้นจะถูกนำไปขังอย่างน้อย 24 ชั่วโมง แล้วก็ปล่อยออกมา วนเวียนแบบนี้ จริงๆ แล้วเขาไม่ควรถูกกระทำแบบนี้ อาชีพนี้ควรเป็นอาชีพถูกกฎหมาย ซึ่งเคยถูกกฎหมายมาแล้วในอดีต แต่มีการแก้กฎหมายทำให้การค้าประเวณีผิดกฎหมาย   

 

เท่าที่คุยมา Sex Worker ต้องการการยอมรับเป็นอาชีพอาชีพหนึ่ง บางคนต้องการขึ้นทะเบียนเพื่อรับสวัสดิการ แต่มีอีกกลุ่มเป็นฟรีแลนซ์ที่ค้าบริการทางเพศทางออนไลน์ไม่ต้องพึ่งต้นสังกัดหรือเอเจนต์ เขาอยากเป็นฟรีแลนซ์ จดทะเบียนอาชีพอิสระโดยไม่ต้องระบุรายละเอียดอาชีพ      

 

ข้อมูลปี 2558 รายได้จากคนต่างชาติที่มาเที่ยวผู้หญิงในเมืองไทยมีประมาณ 200 ล้านบาท เป็นเงินเยอะมาก ถ้านำขึ้นมาเป็นเงินบนดินจะสามารถนำไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานประเทศได้   

  • เสนอให้ Sex Worker มีสถานะ ‘ลูกจ้าง’ ในสถานบริการ ไม่ต้องเขียนกฎหมายใหม่ 

 

สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) กล่าวว่า การขึ้นทะเบียนหรือการตีทะเบียนไม่ได้ช่วยแก้อะไร แต่จะเป็นการไปตอกตะปูซ้ำเข้าไปอีก มีพี่ๆ น้องๆ บอกว่าไม่ต้องการการขึ้นทะเบียนเพราะไม่ได้เป็นการปลดล็อก ถ้าขึ้นทะเบียนจะเป็นการตีกรอบที่เข้มขึ้น ถ้าเคลื่อนให้อยู่ภายใต้กฎหมายแรงงาน ไม่ต้องบอกว่าเป็นอาชีพ แต่ให้มีสถานะเป็นลูกจ้างภายใต้กฎหมายแรงงาน ก็ไม่จำเป็นต้องบอกว่าทำอะไร เช่นเดียวกับลูกจ้างในโรงงาน เราไม่ต้องการการขึ้นทะเบียน

 

สุรางค์กล่าวด้วยว่า ทำงานขับเคลื่อนประเด็นนี้มาเป็นปีที่ 32 แล้ว ได้เกาะติดเรื่องนี้ เดิมการค้าประเวณีไม่ได้ผิดกฎหมาย ในมิติทางกฎหมายเพิ่งผิดเมื่อปี 2503 มีกฎหมายปรามการค้าประเวณี มีโทษปรับ จำคุก จึงกลายเป็นว่าคนทำงานเป็นอาชญากร ส่วนมิติทางศาสนาก็มองว่าการประกอบอาชีพนี้เป็นสิ่งไม่ดี มิติทางสังคมก็มองว่าเป็นอาชีพชั่วร้าย ทั้ง 3 กรอบนำมาสู่การเลือกปฏิบัติและใช้ความรุนแรง ผลักเขาออกจากความเป็นมนุษย์ ปิดกั้นการเข้าถึงสิทธิ 

 

กฎหมายมีการยกร่างใหม่เมื่อปี 2539 เป็นกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี โดยระบุว่าการค้าประเวณีเกิดจากปัญหาเศรษฐกิจ และผู้ค้าประเวณีเป็นผู้ซึ่งด้อยสติปัญญาและการศึกษา จึงลดโทษ พร้อมระบุว่าควรให้การคุ้มครองผู้ค้าประเวณี แต่เมื่อไล่ดูกฎหมายทั้งฉบับ ไม่มีมาตราไหนให้การคุ้มครอง มีเพียงถ้าถูกจับจะนำไปฝึกอาชีพ เรามองว่าไม่ใช่การคุ้มครอง 

 

สังคมไทยควรจะต้องเรียนรู้ การมีอยู่ของกฎหมายตั้งแต่ปี 2503 ไม่ได้แก้ปัญหา ไม่ได้คุ้มครอง Sex Worker เลย ในมุมของเราควรคว่ำกฎหมายปรามการค้าประเวณีออกไป และไม่ต้องเขียนกฎหมายใหม่ แต่ไปแก้ไขกฎหมายอีกฉบับคือกฎหมายสถานบริการ ซึ่งเดิมระบุว่าใครบ้างเปิดสถานบริการได้ คุณสมบัติคืออะไร แต่ยังไม่มีการพูดถึงสถานะคนทำงานในสถานบริการ 

 

ข้อเสนอคือ กำหนดสถานะคนทำงานในสถานบริการให้มีสถานะเป็นลูกจ้าง ส่วนคนเป็นเจ้าของสถานบริการให้มีสถานะเป็นนายจ้าง

 

เมื่อมีนายจ้าง มีลูกจ้าง ก็ไม่ต้องเขียนอะไรใหม่ เพราะมีกฎหมายคุ้มครองแรงงานอยู่ ต้องคุ้มครองพนักงานบริการ หรือ Sex Worker ในสถานบริการให้เป็นแรงงานในระบบ และถ้าเขาอยู่ในพื้นที่อิสระก็เป็นแรงงานนอกระบบเหมือนภาคแรงงานทั่วไปที่มีทั้งแรงงานในระบบและนอกระบบ ซึ่งเข้าถึงกลไกการคุ้มครองได้ ไม่ต้องไปทำอะไรใหม่ เขาจะมีสถานะเป็นแรงงานเสียภาษี ตอนนี้พี่น้องเสียเงินค่าปรับรายวันมากกว่าเสียภาษีมากกว่าจ่ายประกันสังคม ถามว่าเมื่อเกิดเหตุขึ้นมาเขาได้รับการคุ้มครองอะไรไหม เมื่อมีการล็อกดาวน์จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด อาชีพนี้เป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบแต่ไม่ได้รับการคุ้มครอง ทั้งที่รายได้หลักของประเทศมาจากการท่องเที่ยว มาจากพวกเขาด้วย 

 

ในมุมหนึ่งอาชีพนี้หารายได้ช่วยประเทศ แต่พอพูดมุมที่ควรจะได้รับการคุ้มครองก็ไม่ได้รับความเปลี่ยวแล ในช่วงโควิด จากคนที่เคยมีงานทำเป็นเสาหลักครอบครัว ตอนนี้กลายเป็นคนไม่มีเงิน ลองไปพัทยาหรือพัฒน์พงษ์ ตอนนี้จะพบพี่น้องนอนริมชายหาด นอนริมถนน กลายเป็นคนไร้บ้าน 

 

เราไม่เอากฎหมายปราบปรามการค้าประเวณี ไม่เอากฎหมายฉบับใหม่ แต่ให้ไปดูกฎหมายสถานบริการ ใส่สถานะให้เขาเป็นลูกจ้างกรณีคนทำงานในสถานบริการ ถ้าไม่อยู่ในสถานบริการก็เป็นแรงงานนอกระบบที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองกฎหมายแรงงาน   

 

ตลอดระยะเวลา 32 ปีที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้มา บางช่วงรู้สึกดีใจที่เหมือนใกล้จะถึงฝัน แต่ก็กลับไปอยู่ที่เดิม เริ่มใหม่ก็กลับไปอยู่ที่เดิม เหตุเพราะมีคนเสียประโยชน์ เราต้องยอมรับความเป็นจริงว่ามีคนได้ประโยชน์เยอะแยะมากมายจากการทำให้ธุรกิจนี้เป็นสีเทาๆ การทำให้อาชีพนี้ยังผิดกฎหมาย สุภาษิตไทยบอก ไม่มีใครทุบหม้อข้าวตัวเอง ถ้าทำให้ไม่ผิดกฎหมาย ผลคือ ที่เคยเก็บได้เขาก็จะเก็บไม่ได้ มีคนเสียประโยชน์ แต่ถึงแม้จะเจอตอ เราก็ต้องแก้กันไป       

 

สุรางค์ยังได้กล่าวถึงความแตกต่างของกฎหมายค้ามนุษย์กับกฎหมายค้าประเวณีว่า กฎหมายค้ามนุษย์คุ้มครองบุคคลที่ถูกบังคับไม่สมัครใจมาค้าประเวณี และคุ้มครองเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีไม่ให้มาอยู่ในอาชีพค้าประเวณี ซึ่งเห็นด้วยที่มีกฎหมายค้ามนุษย์ให้ยังคงอยู่ แต่กฎหมายปรามการค้าประเวณีจะเป็นปัญหากับผู้ที่ทำงานโดยสมัครใจไม่มีใครบังคับและอายุเกิน 18 ปี จึงขอให้ยกเลิกกฎหมายปรามการค้าประเวณี

 

  • ส.ส. เพื่อไทย เห็นด้วยทำให้ถูกกฎหมาย

 

จักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส. เชียงใหม่ ทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ซึ่งติดภารกิจที่รัฐสภา แต่ส่งข้อความมาที่ผู้ดำเนินรายการว่า เห็นด้วยกับการผลักดันโสเภณีถูกกฎหมาย เพราะนอกจากจะมีกฎหมายคุ้มครอง รัฐสามารถเข้ามาดูแลได้โดยตรง มีบริการสาธารสุขเบื้องต้น ลดปัญหาการค้ามนุษย์ ลดการเก็บส่วยหรือภาษีเถื่อน การลักลอบเข้าเมือง แล้วยังมีประโยชน์ต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจอีกด้วย

 

ในอดีตแม้ธุรกิจโสเภณีจะให้บริการกับคนส่วนใหญ่ในประเทศ แต่ก็มีงานวิจัยชี้ว่า การบริการดังกล่าวมีไว้ให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศอีกด้วย ทำให้ในปี 2531 มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 21 ซึ่งการบริการดังกล่าวก็เป็นตัวแปรหลักที่ทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของมูลค่าดังกล่าว ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบันก็เป็นตัวแปรหลักเช่นกัน

 

และหากผลักดันให้ให้โสเภณีถูกกฎหมาย จะทำให้มูลค่าเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ GDP ซึ่งรายได้ในช่วงปี 2536-2538 พบว่าอยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาท หากนำตัวเลขเหล่านี้มาพิจาณาถึงอัตราเงินเฟ้อ การเติบโตของธุรกิจ และจำนวนแรงงานที่เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันอาจจะมีค่าถึง 2-2.5% ของ GDP คือมีค่าประมาณ 3-3.75 แสนล้านบาท นอกจากนี้คาดการณ์ว่าในปัจจุบันอาจจะมีจำนวนโสเภณีประมาณ 2-2.5 แสนคน ซึ่งเราจำเป็นที่จะต้องดูแลแรงงานในภาคบริการเหล่านี้

 

แปลว่าประเทศจะได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ แต่หากยังมีการพิจารณาว่าการค้าประเวณีในไทยที่ผิดกฎหมาย ย่อมเป็นการปิดประตูโอกาสในการจัดเก็บภาษีดังกล่าวไปโดยปริยาย นับว่าน่าเสียดายไม่น้อย เพราะอุตสาหกรรมขายบริการน่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 3 แสนล้านบาทในแต่ละปี ซึ่งตัวเลขเงินหมุนเวียนดังกล่าวมีมูลค่าถึง 10% ของมูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย

 

นอกจากนี้ยังมองว่า ‘โสเภณี’ คือมนุษย์ ที่ต้องได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย โดยจากตัวนโยบายทะเล 5 สี ซึ่งสีสุดท้ายที่จักรพลได้นำเสนอไปคือ ‘สีรุ้ง’ ที่มีการผลักดันเรื่องของ Soft Power และศักยภาพของประเทศในด้านต่างๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็เป็นการค้าบริการถูกกฎหมาย เพราะการบริการดังกล่าวจะนำมาสู่รายได้ต่อประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม

 

มองว่าคนทำงานบริการนี้ต้องได้รับการยอมรับให้มีเสรีในการประกอบอาชีพและเท่าเทียมกับอาชีพอื่น ตามทฤษฎี Free Will หรือเจตจำนงเสรี ซึ่งมนุษย์ควรมีอิสระและความสามารถในการเลือกระหว่างการกระทำมากกว่าหนึ่งอย่าง โดยไม่ต้องมีใครหรืออะไรมาบังคับและกำหนดการกระทำ Free will เป็นอิสระในการมีความคิดและการมีเจตจำนงเป็นของตัวเอง เพราะฉะนั้นตามเหตุผลแล้ว ยิ่งเรามีอิสระมากเท่าไร เราก็ควรที่จะมีความสุขมากเท่านั้น ซึ่งจักรพลเน้นย้ำถึงเรื่องของความสุขมวลรวมโดยตลอด และให้ความเคารพกับทฤษฎีดังกล่าว และเคารพการตัดสินใจของทุกคนบนพื้นฐานสิทธิเสรีภาพ เคารพในการการตัดสินบนร่างกายของตัวเอง

 

อย่างไรก็ตาม การได้รับความยอมรับจากบุคคลยังไม่พอเพียงแน่นอน อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญและเป็นก้าวสำคัญซึ่งนำไปสู่โสเภณีเสรีคือ การได้รับการยอมรับจากกฎหมาย หากแรงงานในภาคบริการดังกล่าวไม่ได้รับความยอมรับจากกฎหมาย ผลลัพธ์ที่ได้จะรุนแรงกว่าที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการบริการด้านสาธารณสุขที่ไม่ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ ไม่มีสวัสดิการทางสังคมที่ควรจะได้รับ ความปลอดภัยในการทำงานทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการก็จะไม่มี ทั้งหมดนี้ชี้ไปถึงแม่กุญแจที่ต้องได้รับการปลดล็อกคือกฎหมาย หากแม่กุญแจตัวนี้ยังปลดล็อกไม่ได้ จุดมุ่งหมายของโสเภณีเสรีก็จะเป็นแค่ทฤษฎีที่มีคุณค่าแต่ไม่เคยได้นำมาปฏิบัติ

 

ในส่วนท่าทีของพรรคต่อ ‘โสเภณีเสรี’ นั้น จักรพลมองว่าพรรคเพื่อไทยมีความพร้อมที่จะทำให้การบริหารดังกล่าวได้รับการยอมรับทางกฎหมาย โดยจะเป็นไปตามความต้องการของภาคประชาชนและ NGO พรรคเพื่อไทยพร้อมเปิดพื้นที่รับปัญหาและรับฟังเสียงความต้องการของ Sex Worker และผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยตรงว่ามีต้องการการยอมรับทางกฎหมายอย่างไรบ้าง ในระดับใด ซึ่งช่องทางแรกจะดำเนินการผ่านทางมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ หรือ SWING ก่อน ในการหาข้อมูล แล้วเริ่มทำวิจัยเพื่อผลักเป็นนโยบายของพรรค

 

โดยขั้นตอนวิจัยจะต้องรวมรวมข้อมูลในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลด้านจำนวน รายได้ ความเป็นอยู่ การได้รับบริการจากภาครัฐ ปัญหาที่พบ เพื่อทำไปสู่ขั้นตอนวิจัยต่อไป เชื่อว่าหากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล จะมีการออกแบบนโยบายบริการด้านนี้ให้เหมาะสมและสร้างประโยชน์แก่ทุกฝ่าย โดยหลังจากวิจัยแล้วจะทำเป็นร่าง พ.ร.บ. แก้ไขกฎหมายเพื่อ Decriminalize อาชีพนี้ แต่ทั้งนี้จะคำนึงถึงประโยชน์ด้านสิทธิ สวัสดิการของ Sex Worker เป็นหลัก

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X