หลัง จัสติน บีเบอร์ นักร้องชาวแคนาดาต้องเลื่อนทัวร์คอนเสิร์ต 3 งานในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2565 เขาโพสต์คลิปชี้แจงผ่านอินสตาแกรมว่าเขาป่วยเป็นโรคที่ชื่อว่า ‘Ramsay Hunt Syndrome’ (รัมเซย์ ฮันต์ ซินโดรม) ทำให้ไม่สามารถขยับใบหน้าข้างขวาได้ โรคนี้เกิดจากอะไร ป้องกันได้หรือไม่ และอาการแบบนี้เกิดจากโรคอะไรได้บ้าง
- หากใบหน้าอัมพาตหรือกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง ซึ่งมักสังเกตได้จากอาการปากเบี้ยว โรคที่ต้องระวังเป็นอย่างแรกคือ โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เพราะเป็นโรคที่ต้องรีบรักษา โดยผู้ป่วยจะมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น พูดไม่ชัด แขนขาอ่อนแรงหรือชาครึ่งซีก แพทย์จะตรวจร่างกายเพื่อแยกโรคนี้ออกไปก่อน หากไม่ใช่จะยังมีอีกหลายโรคที่เป็นไปได้
- โรคอื่นที่เป็นไปได้อาจแบ่งตามกลไกการเกิดโรค ได้แก่ โรคภูมิต้านตนเอง อุบัติเหตุที่กะโหลกศีรษะ หรือเนื้องอก แต่ที่พบบ่อยคือโรคติดเชื้อ ทำให้เส้นประสาทใบหน้าอักเสบ เช่น Bell’s Palsy (เบลล์พัลซี) ซึ่งสัมพันธ์กับไวรัสโรคเริม และ Ramsay Hunt Syndrome ซึ่งสัมพันธ์กับไวรัสโรคอีสุกอีใส/งูสวัด
- เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2565 จัสติน บีเบอร์ นักร้องชาวแคนาดาวัย 28 ปีชี้แจงผ่านอินสตาแกรมว่า เขาไม่สามารถขยับใบหน้าข้างขวาได้ “เหมือนที่คุณเห็น ผมกะพริบตาข้างหนึ่งไม่ได้ ผมยิ้มข้างหนึ่งของใบหน้าไม่ได้ จมูกข้างหนึ่งก็ขยับไม่ได้ โดยตอนนี้ผมอัมพาตครึ่งหน้า” เขากล่าวผ่านคลิปหลังต้องเลื่อนทัวร์คอนเสิร์ตในช่วงนี้เพื่อรักษาตัว
- ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายขึ้น Ramsay Hunt Syndrome คือ ‘โรคงูสวัดที่บริเวณหู’ โรคงูสวัดเป็นการกำเริบของไวรัสอีสุกอีใสที่เคยติดมาก่อนหน้า ซึ่งไวรัสจะแฝงอยู่ตามปมประสาทแล้วกำเริบขึ้นมาในช่วงที่ร่างกายอ่อนแอ เป็นผื่นขึ้นตามผิวหนังที่เชื่อมกับปมประสาทนั้นๆ มักพบตุ่มน้ำใสเป็นปื้นตามลำตัว แต่ Ramsay Hunt Syndrome จะพบที่หู
- บริเวณนี้มีปมประสาทของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ซึ่งควบคุมกล้ามเนื้อใบหน้า รับรู้ความรู้สึกบริเวณหูและรับรสจากลิ้น ทำให้ผู้ป่วยมีอาการใบหน้าอัมพาตครึ่งซีก ปวดหู และตุ่มน้ำใสในรูหู/ใบหู อาการอื่น เช่น เสียงดังในหู หูหนวก คลื่นไส้/อาเจียน/บ้านหมุน เพราะปมประสาทนี้อยู่ใกล้กับเส้นประสาทคู่ที่ 8 (รับรู้การได้ยินและการทรงตัว)
- การกำเริบของไวรัสมีสมมติฐานว่าเกิดขึ้นในช่วงที่ระดับภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำลง ปัจจัยเสี่ยงเช่นเดียวกับโรคงูสวัดที่ตำแหน่งอื่น ได้แก่ ความเครียด โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง อายุที่มากขึ้น อย่างไรก็ตามโรคนี้พบได้ไม่บ่อย ประมาณ 5 รายต่อประชากร 1 แสนราย ในขณะที่โรค Bell’s Palsy พบได้บ่อยกว่า (15-30 รายต่อประชากร 1 แสนคน)
- ผู้ป่วยส่วนใหญ่หายกลับมาเป็นปกติ โดยการรักษาแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 1) การรักษาด้วยยา แพทย์จะจ่ายยาต้านไวรัส 7-10 วัน และยาลดการอักเสบ และ 2) การรักษาตามอาการ เช่น ยาแก้ปวด การใช้น้ำตาเทียมและเทปปิดเปลือกตาเวลานอนเพื่อป้องกันกระจกตาบาดเจ็บ การทำกายภาพบำบัดหรือกระตุ้นด้วยไฟฟ้าเพื่อลดอาการกล้ามเนื้อลีบ
- การป้องกันโรคนี้สำหรับทุกคนคือดูแลสุขภาพให้แข็งแรง จัดการความเครียด และพักผ่อนให้เพียงพอ สำหรับผู้ที่ไม่เคยป่วยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อนควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย เด็กโตและผู้ใหญ่ควรฉีดวัคซีนโรคอีสุกอีใส ซึ่งในประเทศไทยยังเป็นวัคซีนทางเลือกและมีราคาแพง ส่วนผู้ใหญ่อายุ 50 ปีขึ้นไปอาจฉีดวัคซีนโรคงูสวัด
อ้างอิง:
- กรมการแพทย์เตือน ‘รัมเซย์ ฮันต์ ซินโดรม’ เชื้อไวรัสทำลายเส้นประสาท อัมพาตหน้าครึ่งซีก
- Justin Bieber reveals facial paralysis after shows cancelled https://www.bbc.com/news/world-us-canada-61767457
- Ramsay Hunt Syndrome https://jnnp.bmj.com/content/71/2/149
- Ramsay Hunt Syndrome https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK557409/