ปิดฉากไปแล้วสำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO (North Atlantic Treaty Organization) ประจำปี 2024 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 9-11 กรกฎาคมที่ผ่านมา
การประชุมปีนี้มีความน่าสนใจหลายประการ ทั้งในโอกาสครบรอบ 75 ปีของ NATO ที่ก่อตั้งเมื่อวันที่ 4 เมษายน 1949 และเป็นครั้งแรกที่สมาชิกใหม่อย่างสวีเดนได้เข้าร่วมการประชุม ในขณะที่ยังเป็นครั้งสุดท้ายของ เยนส์ สโตลเตนเบิร์ก เลขาธิการ NATO ที่จะหมดวาระสิ้นเดือนกันยายนนี้ หลังรับตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2014
ขณะที่การประชุมปีนี้ยังมีขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ตึงเครียดและท้าทาย โดยหลายประเด็นใหญ่ที่ถูกหยิบยกขึ้นหารือบนเวทีประชุมตลอด 3 วัน เช่น ทิศทางอนาคตของ NATO จากนี้ และท่าทีของ NATO ต่อสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงการรับมือภัยคุกคามจากการขยายอิทธิพลของจีน
ในส่วนของยูเครนนั้น ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ได้เข้าร่วมประชุมด้วย และได้รับคำมั่นสัญญาหลายประการจากผู้นำ NATO ที่ยืนยันจะให้ความช่วยเหลือยูเครนในระยะยาว แม้ว่าเขาจะยังมีคำถามสำคัญที่ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน
นอกจากนี้ทั่วโลกยังจับจ้องถึงผลกระทบจากสถานการณ์การเมืองของ ‘พี่ใหญ่ NATO’ อย่างสหรัฐอเมริกา ที่จะมีการจัดเลือกตั้งประธานาธิบดีปลายปีนี้ โดยมีการตั้งข้อสังเกตถึงอนาคตของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ตลอดจนความกังวลใจของสมาชิก NATO หากอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ไร้ความเชื่อมั่นใน NATO ได้กลับเข้าครองอำนาจทำเนียบขาวอีกครั้ง
ประณามรัสเซีย-ช่วยยูเครนระยะยาว
ที่ประชุม NATO รอบนี้ยังคงจับมือประณามรัสเซียในการก่อสงครามยูเครน โดยย้ำว่า เป็นการกระทำที่บ่อนทำลายความมั่นคงของโลกอย่างร้ายแรง นอกจากนี้ยังแสดงท่าทีต่อต้านการใช้ ‘วาทกรรมนิวเคลียร์’ ที่ขาดความรับผิดชอบและการส่งสัญญาณขู่ เช่น การประกาศประจำการอาวุธนิวเคลียร์ในเบลารุส
ที่ประชุม NATO ระบุข้อความชัดเจนในปฏิญญาวอชิงตันว่า “พันธมิตร NATO จะยับยั้งและป้องกันภัยคุกคามทางอากาศและขีปนาวุธทั้งหมดด้วยการปรับปรุงการป้องกันทางอากาศและขีปนาวุธแบบผสมผสาน” และยืนยันว่า “NATO ยังคงมุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามขั้นตอนที่จำเป็นทั้งหมด เพื่อรับประกันความน่าเชื่อถือ ความมีประสิทธิผล ความปลอดภัย และความมั่นคงของภารกิจป้องปรามด้วยนิวเคลียร์”
อย่างไรก็ตาม แม้ผู้นำ NATO จะแสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อพฤติกรรมของรัสเซีย แต่ในอีกทางหนึ่งก็ยังคงเต็มใจที่จะรักษาช่องทางการติดต่อสื่อสารกับรัฐบาลมอสโก เพื่อ ‘ลดความเสี่ยงและป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งและความตึงเครียดบานปลาย’
สำหรับท่าทีต่อยูเครนนั้น ผู้นำ NATO ได้ประกาศคำมั่นสัญญาให้ความช่วยเหลือในหลายด้าน เช่น
- เสริมความแข็งแกร่งของระบบป้องกันภัยทางอากาศเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งรวมถึงการเพิ่มระบบขีปนาวุธจากพื้นสู่อากาศ Patriot อีก 4 ระบบ และระบบป้องกัน SAMP/T
- ให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครนเป็นเงินอย่างน้อย 43,000 ล้านดอลลาร์ภายในปีหน้า
- แต่ละชาติสมาชิกแยกหรือร่วมกันดำเนินการสนับสนุนความมั่นคงของยูเครน
- สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ และเดนมาร์ก ประกาศว่า เครื่องบินขับไล่ F-16 ลำแรกที่ NATO จัดหาให้ จะถูกส่งให้กองทัพยูเครนภายในฤดูร้อนนี้
- ผู้นำ NATO ประกาศในปฏิญญาวอชิงตันว่า “อนาคตของยูเครนอยู่ใน NATO” และ “ยูเครนกำลังอยู่บนเส้นทางที่ไม่อาจย้อนกลับในการรวมกลุ่มยูโร-แอตแลนติกโดยสมบูรณ์ ซึ่งรวมถึงการเป็นสมาชิกของ NATO” แต่สโตลเตนเบิร์ก ย้ำว่าการเข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO ของยูเครนจะเกิดขึ้นหลังสงครามกับรัสเซียสิ้นสุดลง
ทางด้านประธานาธิบดีเซเลนสกีประกาศยอมรับการสนับสนุนจากพันธมิตร NATO ที่เสนอให้ความช่วยเหลือทางทหารครั้งใหม่ และยินดีต่อเส้นทางที่เปิดให้ยูเครนเข้าร่วม NATO ในอนาคต แต่เขายังเน้นย้ำความต้องการให้ความช่วยเหลือในการรับมือกับรัสเซียส่งไปยังยูเครนเร็วยิ่งขึ้น และต้องการให้ยกเลิกข้อจำกัดในการใช้อาวุธของสหรัฐฯ เพื่อโจมตีเป้าหมายทางทหารในรัสเซีย
“หากเราต้องการชนะ หากเราต้องการมีชัย หากเราต้องการกอบกู้ประเทศของเราและปกป้องประเทศ เราจำเป็นต้องยกเลิกข้อจำกัดทั้งหมด”
ท่าทีแข็งกร้าวต่อจีน
หนึ่งในความกังวลของผู้นำ NATO ที่แสดงออกชัดเจนระหว่างการประชุมครั้งนี้คือ ท่าทีของจีนที่มีการขยายอิทธิพลและถูกมองเป็นภัยคุกคามมากขึ้น
กรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครนนั้น NATO ใช้ภาษาที่รุนแรง โดยกล่าวหาว่าจีนเป็น ‘ตัวขับเคลื่อนที่ชี้ขาดการทำสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน’ ผ่านสิ่งที่เรียกว่า ‘ความร่วมมือแบบไร้ขีดจำกัด’ และเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่สำหรับอุตสาหกรรมกองทัพของรัสเซีย ซึ่งกำลังเป็นการช่วยเหลือรัสเซียให้เอาชนะมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก และเพิ่มการผลิตอาวุธเพื่อใช้ในยูเครนมากยิ่งขึ้น
พร้อมกันนี้ NATO ยังเรียกร้องให้จีน ในฐานะสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council: UNSC) ยุติการสนับสนุนทั้งหมดต่อความพยายามในการทำสงครามของรัสเซีย
การเมืองสหรัฐฯ กับ NATO
การเข้าร่วมประชุม NATO ของประธานาธิบดีไบเดนถูกจับจ้องจากทุกสายตา หลังจากที่เขาเผชิญเสียงวิจารณ์จากความล้มเหลวในการดีเบตคู่ชิงประธานาธิบดีกับอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งหลายฝ่ายกังวลต่ออายุของเขาที่อาจเป็นอุปสรรคในการบริหารประเทศ
ความกังวลนี้สะท้อนไปถึงวงประชุม NATO ชัดมากยิ่งขึ้น หลังไบเดนกล่าวในที่ประชุม NATO-Ukraine Council วานนี้ (11 กรกฎาคม) โดยเรียกประธานาธิบดีเซเลนสกีว่าประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ก่อนที่จะรู้ตัวและรีบแก้ไข แต่ก็ทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมตกใจกันเล็กน้อย
หลังจากนั้นไบเดนยังผิดพลาดซ้ำอีกในการแถลงข่าวนอกรอบการประชุม เพื่อยืนยันความพร้อมในการลงสมัครชิงประธานาธิบดี โดยเขาเรียกรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส ว่ารองประธานาธิบดีทรัมป์
ทั้งนี้ ผู้นำ NATO ทุกคนให้ความเคารพไบเดน โดยเพิกเฉยหรือเลี่ยงที่จะตอบคำถามเกี่ยวกับสุขภาพ รูปลักษณ์ภายนอก ตลอดจนการพูดและการเข้าใจในประเด็นต่างๆ ของเขา ในขณะที่ยกย่องความเป็นผู้นำของไบเดนและความสำเร็จของ NATO ที่เกิดขึ้นในช่วงการดำรงตำแหน่งของเขา
ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ยืนยันว่าไบเดนยังเป็นหนึ่งในผู้ที่มีความรู้เชิงลึกมากที่สุดเกี่ยวกับประเด็นระหว่างประเทศ
อีกประเด็นที่หลายฝ่ายมีความกังวลสำหรับผลกระทบจากการเมืองสหรัฐฯ คือ กรณีที่ทรัมป์ได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ และอาจมีการถอนสหรัฐฯ ออกจากการเป็นสมาชิก NATO
โดยไบเดนใช้โอกาสบนเวทีประชุม NATO สร้างความมั่นใจว่า เขายังมีคุณสมบัติที่สามารถเอาชนะทรัมป์ และชี้ว่า การที่ทรัมป์ไม่ได้มีจุดแข็งในนโยบายต่างประเทศ ส่งผลให้ชาติยุโรปมีความกังวล
ในขณะที่สโตลเตนเบิร์กกล่าวว่า เขาไม่กังวลเกี่ยวกับความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ที่มีต่อพันธมิตร NATO แม้ว่าทรัมป์จะได้กลับมาเป็นผู้นำสหรัฐฯ เนื่องจากในสภาคองเกรสก็มีการสนับสนุนจากทั้งสองฝ่าย
สำหรับทรัมป์ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีการให้สัมภาษณ์สถานีวิทยุ FOX News Radio โดยเขาตอบคำถามว่า ต้องการให้สหรัฐฯ ออกจาก NATO หรือไม่ ซึ่งทรัมป์ยืนยันคำตอบว่า ‘ไม่’ แต่ต้องการให้สมาชิก NATO ปฏิบัติตามข้อผูกพันในการใช้จ่ายงบประมาณกลาโหมให้ถึง 2% ของงบประมาณประจำปี
ภาพ: Leah Millis / Reuters
อ้างอิง:
- https://apnews.com/article/nato-summit-ukraine-biden-china-d9f2b83dc0956d75f6f75efe85cbefb4
- https://www.reuters.com/world/key-points-natos-washington-summit-declaration-2024-07-10/
- https://www.aljazeera.com/news/2024/7/11/what-has-nato-promised-ukraine-at-summit-and-did-gaza-figure-in-talks
- https://www.nato.int/cps/en/natohq/official_texts_227678.htm